xs
xsm
sm
md
lg

ทีมกู้ชีพเร่งมือแข่งมัจจุราชจีนเชื่อยอดเสียชีวิตสูง5หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมกู้ชีพแข่งกับเวลา เร่งช่วยเหลือเหยื่อธรณีไหวเสฉวนเริ่มงวดลงทุกที เชื่อหลายหมื่นชีวิตใต้ซากตึก อาจสังเวยชีวิตแล้ว ล่าสุดรัฐบาลอนุญาตทีมกู้ภัยต่างชาติชุดแรกเข้าร่วมภารกิจกู้ชีพ ด้านปลัด สธ. นำทีมผู้บริหารชุดแรก 5 คน ไปพม่าหารือ เตรียมความพร้อมให้หน่วยแพทย์พระราชทานฯ จิตแพทย์ชี้ ต้องเยียวยาจิตใจเป็นลำดับแรก ด้านผู้ว่าฯกทม.เตรียมถกเจ้าของอาคาร 3,000 รายทั่วกรุง 23 พ.ค.นี้ รับมือเหตุไม่คาดคิด ขณะที่รัฐบาลไทยตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหยื่อนาร์กีส

รัฐบาลจีนคาดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 พ.ค.) ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเวิ่นชวน มณฑลเสฉวน ได้คร่าชีวิตประชาชนทะลุ 50,000 รายแล้ว ขณะที่โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตภายใต้ซากตึกที่ถล่มด้วยแรงสั่นสะเทือนนั้นงวดลงทุกนาที

ตัวเลขเหยื่อสังเวยชีวิตให้แก่ธรณีพิโรธครั้งมหากาฬในจีน ที่ทางการจีนสรุปในวันศุกร์ (16 พ.ค.) พุ่งขึ้นเป็น 22,069 ราย เพิ่มจากตัวเลข 14,463 ที่สรุปเมื่อวันพุธอย่างน่าใจหายถึงกว่า 7,000 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำงานแข่งกับเวลาสุดชีวิตในการช่วยเหลือเหยื่ออีกกว่า 50,000 ราย ที่กำลังเผชิญความเป็นความตาย ถูกฝังอยู่ในซากปรักหักพัง สูญหายไปอย่างไม่รู้ชะตากรรรม นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บระนาวอีกราว 159,000 คน

โดยวันนี้ หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางมายังเสฉวน มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เพื่อตรวจดูความคืบหน้าในการกู้ภัย และบรรเทาทุกข์ พร้อมทั้งปลอบขวัญประชาชน ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหารและคณะแพทย์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ได้เดินทางมายังพื้นที่ประสบภัยภายหลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมง

พร้อมกล่าวระหว่างบินตรงไปยังเหมียนหยัง อีกเมืองหนึ่งในเสฉวนที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวเมื่อวันจันทร์ว่า “ การกู้ภัยดำเนินสู่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด และทุกฝ่ายต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเอาชนะความยากลำบาก และบรรลุจุดหมายในความพยายามบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัย ”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเศร้าสลดก็ยังมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เมื่อทางหน่วยกู้ชีพสามารถนำตัวเด็กนักเรียนคนหนึ่งออกมาจากซากโรงเรียนถล่มในอำเภอเป่ยชวนได้สำเร็จ หลังจากหนูน้อยติดอยู่ในซากตึกถึง 80 ช.ม. หรือประมาณ 3 วันกว่าโดยไม่ได้ทานอาหารและน้ำเลย นอกจากนี้หน่วยกู้ภัยกล่าวด้วยว่า พวกเขายังได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือที่อ่อนแรงจากคนอื่นๆ อีก

ในด้านความช่วยเหลือของนานาประเทศนั้น ล่าสุด ทางการจีนได้ไฟเขียวให้ทีมกู้ชีพจาก ญี่ปุ่น ,รัสเซีย, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เข้ามาร่วมทีมค้นหาเหยื่อธรณีพิโรธ นับเป็นครั้งแรก ที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้ทีมกู้ภัยต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติในประเทศ พร้อมประกาศขอบริจาคเครื่องมือในการขุดตัก ค้อน และเครนหลายหมื่นอัน

ขณะที่หน่วยกู้ภัยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคณะกู้ภัยต่างชาติชุดแรกที่ได้เข้ามาช่วยเหลือจีน มุ่งหน้าสู่เมืองๆ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญ 44 คนเดินทางมาช่วย รวมทั้งทีมช่วยเหลืออีก 55 คนจากสิงคโปร์ พร้อมทั้งนำสุนัขดมกลิ่น ระบบค้นหาผู้รอดชีวิต เครื่องตัด-ขยายไฮโดรลิค มาร่วมด้วย

ทีมแพทย์ไทยชุดล่วงหน้าเข้าพม่าแล้ว

สำหรับความช่วยเหลือจากประเทศไทยนั้น เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา นพ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง รวม 5 คน ออกเดินทางสู่กรุงย่างกุ้ง เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขพม่า พร้อมสำรวจพื้นที่ประสบภัยที่หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร 32 ราย จะเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในวันที่ 17 พ.ค.นี้

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้วางแนวทางการช่วยเหลือไว้ 3 ส่วน คือ การรักษาพยาบาล, การควบคุมโรคระบาด และการเยียวยาสุขภาพจิต ส่วนรายละเอียดจะต้องหารือกันกับพม่าอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ ทางกระทรวงจะส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติม ”นพ.ปราชญ์ กล่าว

ต้องเร่งเยียวยาจิตใจคนพม่า

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เดินทางไปประสานความช่วยเหลือที่ประเทศพม่า กล่าวว่า ลำดับแรก คงจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจของประชาชนชาวพม่า ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกพายุถล่มก่อน ซึ่งจะได้แนะนำว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป รวมถึงจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าด้วย

"สำหรับแผนงานใน 2 สัปดาห์แรก ของทีมแพทย์จากกรมสุขภาพจิต จะเน้นการถ่ายทอดเทคนิค และประสบการณ์ให้กับบุคคลที่ใกล้ชิด กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโดนพายุถล่มมากที่สุด เพื่อที่จะได้นำไปเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของเหยื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว"นพ.วชิระ กล่าว

ขณะที่ รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ทีมคณะแพทย์ของรพ.จุฬาฯมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการให้ความช่วยเหลือนานาประเทศตลอดเวลา ในฐานะสภากาชาด โดยแพทย์ที่เข้าไปในรอบแรก จะประเมินสถานการณ์กลับมาเป็นระยะ เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป

สำหรับในวันนี้(17 พ.ค.) เวลา 08.00 น. ที่ บน.6 กองทัพอากาศ ดอนเมือง หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ชุดแรกจำนวน 32 คน พร้อมยา วัคซีนและเวชภัณฑ์จะเดินทางไปปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กีสในประเทศพม่าและจะอยู่ให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวพม่า ถึงวันที่ 31 พ.ค.

กทม.นัดตึกสูงถก 23 พ.ค.นี้

วานนี้ (16 พ.ค.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังนำคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมอาคารสาธารณะเพื่อความปลอดภัยจากสาธารณภัย ณ อาคารลุมพินีเพลส ซึ่งเป็นอาคารแบบที่พักอาศัย และอาคารเอ็มไพร์ ทาว์เวอร์ซึ่งอาคารสำนักงานให้เช่า ย่านสาทร ว่า หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2548 เป็นต้นมา เจ้าของอาคารต่างๆ ได้มีการตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น โดยได้มีการออกแบบโครงสร้างของอาคารให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 5 ริกเตอร์ แม้ว่ากฎกระทรวงเรื่องการกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 เพิ่งจะมีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2550

ทั้งนี้ ในส่วนอาคารที่สร้างก่อนกฎกระทรวงประกาศใช้ ตนได้สั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เร่งตรวจสอบอาคารทั่วกทม. เพื่อดูแลและซักซ้อมระบบป้องกันภัย และเรียกเจ้าของอาคารสูงทั่วกรุงกว่า 3,000 รายในวันที่ 23 พ.ค.นี้เพื่อซักซ้อมถึงมาตรการความปลอดภัยอีกครั้ง

ตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหยื่อนาร์กีส

นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีสในสหภาพพม่า ว่า คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. เพื่อรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการ เบื้องต้นจะจัดตั้งศูนย์รับบริจาคที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน และที่กองคลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในทำเนียบรัฐบาล โดยจะเปิดรับบริจาคในช่วงเวลา 8.00 – 18.00 น. ของทุกวันเริ่มตั้งแต่วันนี้(17)

สำหรับสิ่งของที่อยากจะเน้นบริจาค คือ เครื่องไถนาขนาดเล็ก เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก สังกะสี ตะปู โครงเหล็ก และอุปกรณ์การก่อสร้าง นอกจากนี้ยังเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประเภทออมทรัพย์ สาขาย่อยทำเนียบรัฐบาล ชื่อบัญชี “ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัตินาร์กีส” เลขที่บัญชี 067-0-04241-2

คณะกรรมการชุดนี้จะทำการวางระบบการรับบริจาคทั้งหมด และจะดำเนินการจัดส่งไปยังประเทศพม่า อย่างไรก็ตามทราบว่าขณะนี้ธุรกิจโครงเหล็กได้บริจาคโครงเหล็กมาแล้วมูลค่า 100 ล้านบาท

“มท.1” ยกสิทธิมนุษยชนลุงหมักช่วยพม่า

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงปัญหาโรคระบาดในประเทศพม่าที่มีแนวโน้มที่อาจระบาดเข้ามายังประเทศไทยว่า เรื่องการควบคุมโรคระบาดเป็นหน้าที่ของ-กระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของ-กระทรวงมหาดไทยจะดูเรื่องความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย รวมถึงสถานที่พักและสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้อพยพที่จะเข้ามาในประเทศไทย ส่วนจำนวนของผู้อพยพนั้น จังหวัดที่เป็นรอยตะเข็บติดกับประเทศพม่าว่าผู้อพยพมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งการจะผลักดันออกไปนั้น ต้องระมัดระวังเพื่อมิให้กระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกจับตามองอยู่

อหิวาฯ เริ่มระบาดในพม่า

ทีมช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในพม่ารายงานพบการเกิดเชื้อโรคอหิวาตกโลกในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน ขณะที่เด็กๆ กว่า 20% ป่วยด้วยโรคท้องร่วง องค์กรบรรเทาภัยพิบัติมีความต้องการยารักษาโรคเป็นอย่างมากในขณะนี้เพื่อนำไปรักษาผู้ประสบเคราะห์จากเหตุการณ์พายุนาร์กิสพัดถล่มกว่า 2 ล้านคน

เหยื่อพายุดังกล่าวกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยังคงมีซากศพเน่าเปื่อยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่ได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนและถูกต้อง รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุครั้งนี้ต่างอยู่อาศัยกันอย่างเบียดเสียดในที่พักชั่วคราวที่ถูกจัดไว้ให้

"เราได้รับการยืนยันถึงการพบโรคอหิวาฯ ในพื้นที่ดังกล่าว" นางมอรีน เบอร์มิงแฮม (Maureen Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่ากำลังมีการติดตามและจับตาดูโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด สภาพในขณะนี้นับว่ามีความเสี่ยงสูงมาก แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคอหิวาฯ แต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

จากรายงานล่าสุดจากสำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรมสหประชาชาติ หรือ OCHA (UN Office for Humanitarian Affairs) กล่าวว่า เด็กๆ ประมาณ 20% ในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำ มีอาการป่วยจากโรคท้องร่วงที่เกิดหลังจากที่ถูกพายุถล่มเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สื่อของทางการพม่ารายงานว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตหรือสูญหายมากกว่า 71,000 ราย ขณะที่องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ประชาชนกว่า 2.5 ล้านคนกำลังต้องการอาหาร ที่พักและยารักษาโรคอย่างเร่งด่วน

จัดฉากนำทูตเข้าเขตภัยพิบัติ

นักการทูตในกรุงย่างกุ้งเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ทางการพม่ากำลังจะนำนักการทูตประเทศต่างๆ เดินทางเข้าไปในเขตปากแม่น้ำอิรวดีในวันเสาร์นี้ แต่ไม่มีใครทราบว่าจะไปถึงไหน และจะได้เห็นอะไรบ้าง

"เราไม่คิดว่าจะได้เห็นสภาพที่แท้จริงและคงไม่ได้มีอิสระมากพอที่จะได้เห็นสิ่งที่พวกเราอยากจะเห็น.. มันคงจัดขึ้นอย่างดีมาก" นักการทูตคนหนึ่งกล่าว

การเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ถูกกำหนดขึ้นเวลาเช้าตรู่วันเสาร์ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่นักการทูตตะวันตกจะได้เดินทางเข้าไปในเขตนั้นภัยพิบัติที่เจ้าหน้าที่ยูเอ็นกล่าวว่ามีประชาชนผู้ประสบภัยกว่าล้านคนกำลังรออาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรค

ทำไม่ไม่รับ จนท.กู้ภัย?-ไม่ตอบ

ส่วนนายลูยส์ มิเชล (Louis Michel) ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายกิจการมนุษยธรรม สหภาพยุโรปกล่าวในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันศุกร์ว่า พม่ายังไม่เปลี่ยนใจและยืนกรานไม่รับเจ้าหน้าที่กับผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยจากต่างชาติเข้าไปช่วยเหลือ จะรับแต่สิ่งของกับเงินเช่นเดิม

รัฐบาลทหารได้ปฏิเสธที่จะให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติเข้าไปติดตามการส่งสิ่งของความช่วยเหลือสู่ประชาชนในเขตภัยพิบัติ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความโกรธเคืองให้กับประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก เจ้าที่ยูเอ็นเตือนว่ามีโอกาสที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกเท่าๆ กันกับเหยื่อพายุนาร์กิส

นายมิเชลซึ่งไปถึงกรุงย่างกุ้งวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีกำหนดเดินทางออกจากพม่าในเย็นวันศุกร์นี้โดยไม่ได้เห็นอะไรมากนัก นอกจากถูกนำไปยังค่ายพักพิงชั่วคราวของผู้ประสบภัยที่อยู่รอบนอกกรุงย่างกุ้ง ซึ่งทุกๆ อย่างถูกจัดเอาไว้อย่างดี

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU กล่าวอีกว่า ทางการพม่าปฏิเสธที่จะให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ยอมอนุญาตให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติเดินทางเข้าไปช่วยเหลือประชาชนเรือนล้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยโดยตรง เช่นในเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยหรืออินโดนีเซียเมื่อเกือบ 4 ปีก่อน

"พวกเขาไม่ตอบคำถาม และพวกเขาไม่ให้เหตุผลใดๆ" นายมิเชลกล่าว

ทางการพม่าได้ปรับตัวเลขใหม่ ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 43,318 คน อีก 28,000 คนยังคงสูญหาย ขณะองค์การกาชาดสากลประมาณว่าจำนวนผู้เสียชีวิตออาจจะสูงกว่า 200,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น