ผู้จัดการออนไลน์ -- พม่าอนุญาตให้แพทย์จากประเทศไทยจำนวน 30 คน เดินทางเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากไซโคลนนาร์กีส คาดว่า จะเดินทางได้ในวันศุกร์ (16 พ.ค.) นี้
กระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงเรื่องนี้ในวันพุธ ระบุว่า คณะแพทย์ของไทย ซึ่งประกอบด้วยแพทย์จากสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กับโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง จะปฏิบัติงานในพม่าเป็นเวลาราว 2 สัปดาห์
ทั้งหมดจะทำหน้าที่รักษาคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บ ปฏิบัติงานด้านป้องกันโรค และให้การปรึกษาทางจิตอีกด้วย คำแถลงกล่าว
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี นอกจากคณะแพทย์จากไทยแล้ว ทางการพม่ายังร้องขอผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ จากหลายประเทศในทวีปเอเชีย รวมทั้งจากบังกลาเทศ จีน และอินเดียด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารพม่านี้ยังคงไม่ออกวีซ่าเข้าเมืองให้แก่ผู้เชี่ยวชาญจากโลกตะวันตกนับร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ
“ผมเข้าใจว่า พม่าได้ขออย่างเจาะจงว่าประเทศเพื่อนบ้านจะสามารถช่วยพม่าแก้ปัญหาได้" อามันดา พิตต์ (Amanda Pitt) โฆษกสำนักงานประสานความร่วมมือกิจการมนุษยธรรม (OCHA) แห่งสหประชาชาติกล่าว
โฆษกผู้นี้กล่าวอีกว่า พม่าได้ร้องขอเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้านราว 160 คน ไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พม่าเองปฏิบัติงานกู้ภัยช่วยเหลือดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ พม่าได้ร้องขอการช่วยเหลือไปยังประชาคมระหว่างประเทศ แต่ต่อมาก็ได้ชะลอการออกวีซ่าให้แก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น แต่ยังเปิดรับสิ่งของและเงินช่วยเหลือต่อไป
โครงการอาหารโลก (World Food Programme) แถลงว่า มีผู้ประสบภัยพิบัติราว 750,000 คน กำลังต้องการอาหารอย่างเร่งด่วน แต่ถึงปัจจุบัน WFP สามารถให้ได้เพียงประมาณ 50,000 คนเท่านั้น