xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเงินไม่เข้ากองทุนอ้อย มติครม.ขึ้นน้ำตาลมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กอน.”เตรียมหารือวันนี้ เร่งออกประกาศรีดเงินเข้ากองทุนฯเหตุมติครม.ไม่มีสภาพบังคับใช้ได้หวั่นซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ‘น้ำตาลขม’ เงินไม่ถึงชาวไร่ตามที่รัฐบาลคุยโอ่ คาดไม่เกินมิ.ย.ชาวไร่เตรียมรับเงิน 169 บาทต่อตันผ่านบัญชีที่ชาวไร่เปิดกับธ.ก.ส.เผยเป็น นโยบายประชานิยมแบบถนัดรัฐบาลลูกกรอก ปูฐานเสียงชาวไร่อ้อยล่วงหน้า ขณะที่ “สุวิทย์”ได้สองต่อ หวังฐานเสียงจ.ขอนแก่นเพิ่ม

จากกรณีที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาอ้อยและน้ำตาลทรายโดยที่ไม่มีสัญญานมาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า ใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลครั้งนี้?

แม้ว่ารัฐบาลจะระบุเหตุผลในเวลาต่อมาว่า รายได้จากการปรับเพิ่มราคาขายน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงาน กิโลกรัมละ 5 บาท นั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะนำไปเป็นรายได้เพื่อใช้ในการชำระหนี้ในส่วนของชาวไร่อ้อย โดยมิได้นำไปแบ่งปันรายได้เข้าระบบหรือแบ่งปันให้แก่โรงงานแต่อย่างใด และสำหรับเงินที่กองทุนกู้ยืมจากธ.ก.ส. เพื่อนำมาเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/51 ให้แก่ชาวไร่อ้อยอีกตันละ 169 บาท นั้น กองทุนจะจ่ายตรงผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ของชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าหีบในโรงงานในฤดูการผลิตดังกล่าว

ดังนั้น การขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ชาวไร่อ้อยได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งหมด ในภาคส่วนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งนักการเมืองก็มิได้ประโยชน์ในส่วนนี้

ทว่า ล่าสุด แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า กอน.จะหารือในวันนี้(12พ.ค.) เพื่อออกระเบียบในการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯจากการขึ้นน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกก.ดังกล่าว เนื่องจากมติครม.รองรับเพียงอย่างเดียวไม่ถือเป็นสภาพบังคับให้โรงงานจัดส่งรายได้ดังกล่าวเข้ากองทุนฯได้ โดยการออกระเบียบจะมีผลย้อนหลังไปจนถึง 30 เม.ย. และการจ่ายเงินจะผ่านบัญชีชาวไร่ที่จัดทำร่วมกันทุกฝ่ายที่มีอยู่เดิมแล้วโดยไม่มีใครแทบได้จับเงินเพราะธ.ก.ส.จะส่งเงินผ่านบัญชีให้ชาวไร่ตรง

สำหรับรายได้ดังกล่าวได้ถูกจัดทำแผนเพื่อการชำระหนี้ธ.ก.ส.แล้วซึ่งจะเป็นแผน 4 ปี จากหนี้รวมของใหม่และเก่า 2.47 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 5% จะได้รวมประมาณ 2,554 ล้านบาท โดยรายได้จากการขึ้นราคาน้ำตาลจะคิดที่ 80% หรือประมาณปีละ 8,900 ล้านบาท รวมกับการแยกภาษีมูลค่าเพิ่มอีกปีละ 1,300 ล้านบาท

“ยอมรับว่าชาวไร่อ้อยนั้นจะเป็นผู้ได้แต่ก็ต้องแลกกับการที่หากชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชอื่นๆ หมดท้ายสุดอุตสาหกรรมนี้อยู่ไม่ได้คนไทยก็ต้องเดือดร้อนในการนำเข้ามาที่ราคาแพงกว่าอยู่ดี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเองก็จะลำบาก การบริโภคน้ำตาลทรายแพงอย่ามองเพียงมุมใดมุมหนึ่งต้องมองให้เป็นระบบแต่ที่ผ่านมาถูกมองเป็นการเมืองเพราะการเมืองเบรกการขึ้นราคามาตลอดเช่นกันทั้งที่บางช่วงควรต้องปรับก็ไม่ให้ปรับ แต่บางช่วงไม่ควรปรับก็ต้องปรับเพราะทางตันรายได้ไม่พอจะกู้เพิ่มแล้ว ”แหล่งข่าวกล่าว

**จับตาเงินเข้า-ไม่เข้ากองทุน
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นหากทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ผู้ที่ได้รับผลกระโยชน์ก็ควรจะเป็นชาวไร่อ้อย เพราะ รัฐบาลใช้วิธีการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 50/51 เพิ่มเป็น 169 บาทโดยจากเดิมรัฐบาลเก่าให้เพิ่ม 100 บาทต่อตันจากราคาอ้อยคำนวณได้ 600 บาทต่อตันด้วยการกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) 62 บาทต่อตันส่วน 38 บาทต่อตันโรงงานจ่ายหรือคิดเป็นเงิน 4,200 ล้านบาทและรัฐบาลสมัครมาเพิ่มให้อีก 107 บาทเพื่อทำให้ราคาอ้อยเพิ่มเป็น 807 บาทต่อตันหรือต้องกู้เงินรวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้าน

“ เป็นการกู้เงินให้ชาวไร่เพิ่มขึ้น 169 บาทต่อตันฟรีๆ เทียบกับอดีตที่ท้ายสุดชาวไร่ต้องโดนใช้หนี้ด้วยการหักราคาอ้อย แต่ครั้งนี้ขึ้นน้ำตาล 5 บาทต่อกก.ไปใช้หนี้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้หนี้ธ.ก.ส.ซึ่งก็คล้ายกับการแทรกแซงราคาพืชทั่วๆ ไป “แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับประโยชน์ที่จะตกกับฝ่ายการเมืองในเรื่องเม็ดเงินรายได้นั้น หากเทียบกับอดีตที่ผ่านมาจะกระทำได้ยาก เนื่องจากครั้งนี้มีมติครม.รองรับที่จะต้องนำเงินเข้ากองทุนฯจากการขึ้นน้ำตาลทั้งหมดเพื่อส่งจ่ายกับธ.ก.ส.ดังนั้นเมื่อน้ำตาลทรายโควตาก.(บริโภคในประเทศ)ที่เหลือรวม 13.6 ล้านตันเมือรวมกับค้างกระดานทั้งเก่าและใหม่ก็สามารถตรวจสอบรายได้ที่จะผ่านเข้ากองทุนฯได้ไม่ยาก ซึ่งตรงกันข้ามกับการขึ้นน้ำตาลทุกครั้งโดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ผ่านมา 3 บาทต่อกก.สมัยรัฐบาลทักษิณที่เข้าระบบทำให้รายได้ทั้งหมดผ่านโรงงานและหากเงินดังกล่าวจะจ่ายการเมืองจึงเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก

อย่างไรก็ตามจะต้องจับตาว่าในทางปฏิบัติทำหรือไม่เช่นกัน เพราะมติครม.นั้นไม่มีสภาพบังคับใช้กับโรงงานได้ในอดีตที่ผ่านมาการหักเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายหรือการจ่ายเงินค่าธรรมเนียม ค่ารักษาเสถียรภาพเข้ากองทุนฯทั้งโรงงานและชาวไร่เองก็ยังไม่ยอมจ่ายเช่นกัน

นอกจากนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า การขึ้นราคาน้ำตาลถึง 5 บาทในคราวเดียว ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนถ้วนหน้า เป็นเรื่อง ‘ช็อก’ ตลาด ขณะที่โรงงานน้ำตาลตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะ สามารถสร้างผลกำไรได้ทันที กิโลกรัมละถึง 5 บาท มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสต็อคที่มีอยู่
จากข้อมูลของสำนักนโยบายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล สอน. ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ระบุว่า ภาวะ การผลิต การบริโภค และ สต็อก ปรากฏว่า มีการผลิตทั้งสิ้น 2.15 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 2.01 แสนตัน และ สต็อก 4.59 ล้านตัน

แหล่งข่าวยังมองว่า ประโยชน์ที่ฝ่ายการเมืองจะได้เห็นชัดเจนคือฐานเสียงจากชาวไร่อ้อยนับล้านคนทั่วประเทศที่ระดับหัวหน้าคะแนนของฝ่ายการเมืองจำนวนไม่น้อยคือบรรดาแกนนำชาวไร่ หัวหน้าโควตาอ้อย โดยเฉพาะนาย สุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในจังหวัดขอนแก่นในคราวที่ผ่านมาแต่ปรากฏว่ากลับไม่ได้รับเลือกเนื่องจากพบว่าฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะระดับหัวคะแนน การขึ้นราคาน้ำตาลให้กับชาวไร่จึงเป็นการหาเสียงอลักษณะประชานิยมกับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อปูทางไว้รอเลือกตั้งล่วงหน้า

**โรงงานน้ำตาลยันไม่ได้ซักบาท
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายที่มีสมาชิก 46 โรงงาน กล่าวว่าการขึ้นราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้โรงงานน้ำตาลไม่ได้อะไรสักบาทเพราะจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) แต่ชาวไร่อ้อยนั้นได้เต็มๆ เพราะการขึ้นน้ำตาลครั้งนี้คือการกู้เงินธ.ก.ส.ให้กับชาวไร่ฟรีๆ โดยไม่ต้องรอขายน้ำตาลเลย แล้วกองทุนนำไปใช้หนี้ภายหลัง

“ก็ถือเป็นการช่วยชาวไร่อ้อยให้อยู่ดีขึ้นเขาก็จะได้ไม่หนีไปปลุกพืชอื่นๆ ที่ได้ราคาดีกว่าระยะยาวโรงงานถือว่าได้ แต่การขึ้นราคาน้ำตาลแล้วหลายฝ่ายบอกว่าทำให้คนไทยกินน้ำตาลแพงกว่าต่างประเทศนั้นยืนยันได้ว่าหากไม่มีอุตสาหกรรมนี้อยู่ในประเทศนำเข้ามาได้เลยเพราะต้องบวกภาษี บวกค่าขนส่งแพงกว่ามาก วันนี้คนไทยยังกินน้ำตาลที่ถูกมากๆ “นายประกิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น