สภาพัฒน์ กระตุกหางรัฐบาล รับมือวิกฤตอาหาร-พลังงาน ชงแผนยุทธศาสตร์ชุดใหม่เข้าที่ประชุม ครม.วันนี้ “เลี้ยบ” หน้ามืด งัดสารพัดมาตรการ ประเคนใส่ระบบ ศก.หลังนโยบายประชานิยมกระตุ้น ศก.ส่อเค้าล้มเหลวไม่เป็นท่า “สมศักดิ์” มั่นใจไทยยังไม่เผชิญวิกฤตเหมือนทั่วโลก เพราะยังมีพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอ
วันนี้ (22 เม.ย.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีวาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการจัดทำ “ยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงาน” เพื่อเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยอมรับว่า วันนี้ จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบการกำหนดแผนรับมือวิกฤตอาหารและพลังงาน เพื่อกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย เนื่องจากวิกฤตของอาหาร และพลังงานเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงที่ต้องร่วมกันวางแผนรับผิดชอบสัมพันธ์กัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม โดยจะต้องวางแผนว่า ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้างในการผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก และรับมือกับพลังงานด้วยการปลูกพืชพลังงาน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า สถานการณ์อาหารของไทยยังไม่วิกฤตเหมือนกับวิกฤตโลก เพราะพื้นที่เพาะปลูกยังมีเพียงพอไม่ให้คนไทยต้องได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อน
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ อย่าไปมุ่งเน้นที่จะส่งออก เนื่องจากมีราคาเป็นแรงจูงใจอย่างเดียว ควรต้องคำนึงถึงการบริโภคภายในของเราเองด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม โดยจะลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองให้แก่การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่นอกโครงการจัดสรร จากเดิมที่ลดค่าธรรมเนียมเฉพาะบ้านที่อยู่ในโครงการจัดสรรเท่านั้น
ด้าน กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอปรับเพิ่มวงเงินก่อสร้างอีก 15% ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กม.
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เสนอขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางเพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
**เลี้ยบ หน้ามืด ประเคนสารพัดมาตรการกู้วิกฤต
โดยวานนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ โดยจะเน้นการพัฒนาความรู้ สร้างรายได้ให้กับทุกกลุ่ม ทั้งแรงงาน ราชการ เอกชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเกษตรกร เพื่อส่งเสริมรายได้และอาชีพให้เพียงพอรองรับปัญหาน้ำมันแพงและอัตราเงินเฟ้อ โดยจะดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งมาตรการประชานิยมที่ออกไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมัน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า และค่าครองชีพ
“ผมเชื่อว่า มาตรการใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ครั้งนี้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ร้อยละ 6 ตามเป้าหมาย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังประเมินว่า ถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าปีก่อน”
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาค่าครองชีพส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีเงินเดือนประจำ รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งค่าแจ้งแรงงานขั้นต่ำ คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนรายได้จากการท่องเที่ยว เดือนมิถุนายนนี้จะเริ่มด้วยโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยประดับประดาแสงไฟ เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวช่วงกลางคืน และร้านอาหาร เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวล่องเรือในช่วงกลางคืนมากกว่า 3,000 คนต่อคืน หรือ 100,000 คนต่อเดือนในปัจจุบัน
นพ.สุรพงษ์ กล่าวเสริมว่า ตนเองยังมีแผนที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยจะปรับปรุงแผนในการพัฒนาพื้นที่พิเศษบริเวณถนนราชดำเนิน จะใช้พื้นที่บริเวณสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและบริเวณใกล้เคียง ในระยะ 5 ปีข้างหน้าพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในระดับโลก ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เดิมแม้ว่าจะมีแผนงานอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แผนที่จะพัฒนาไปสู่ระดับสากลได้
“คงไม่ใช่พัฒนาให้เป็นโครงการฌองส์เอลิเซ่ เหมือนในประเทศฝรั่งเศสตามแผนเดิม แต่จะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมระดับโลก จะสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติ มีการจัดประกวดออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อให้คนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้โครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ”
นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองได้มอบหมายให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายอุทิศ ขาวเทียน ร่วมกันร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่พิเศษราชดำเนิน คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือน เบื้องต้นวางงบฯพัฒนาโครงการในปี 2552-2555 จำนวน 1,600 ล้านบาท
ด้านการพัฒนาตลาดทุน ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน และจะมีพิจารณามาตรการภาษีกำไรจากการขายหุ้น แนวทางการดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
สำหรับภาษีจากการซื้อขายหุ้น จะดูความเหมาะสมและเท่าเทียมกันของการจัดเก็บภาษีตลาดหุ้นไทยและตลาดตราสารหนี้ด้วยการนำรูปแบบการจัดเก็บภาษีของตลาดโลกมาอ้างอิงในการพิจารณา การลดความซ้ำซ้อน ภาษีการซื้อขายหุ้นและเพื่อลดอุปสรรคในการควบกิจการของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท.