xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ ‘ศ.พิเศษ ประสพสุข บุญเดช’ แคนดิเดตประธาน ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนจะถึงวันศุกร์ที่ 14 มีนาคมนี้ ที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการรับรองจะยกมือเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ข่าวคราวของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อจากเพื่อนสมาชิกเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานสภาสูงก็เริ่มจะหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธาน ส.ว.ยิ่งถูกจับตาจากสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีกจากกรณีที่มีประชาชนพยายามรวบรวมรายชื่อให้ครบ 20,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 164 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งโดยตามรัฐธรรมนูญแล้วรายชื่อเหล่านั้นต้องถูกมอบให้ประธานวุฒิสภาที่กำลังจะถูกเลือกในวันศุกร์นี้

เท่าที่จับกระแสจากบรรดาหน้าหนังสือพิมพ์ตอนนี้มีผู้ที่ได้รับแรงสนับสนุนและส่งชื่อเข้าชิงตำแหน่งอันทรงเกียรติดังกล่าวจำนวนหลายคนไม่ว่าจะเป็น ส.ว.สายเลือกตั้ง อย่างเช่น นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์, พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี หรือ ส.ว.สายสรรหาอย่าง ‘เสธ.อู้’ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.ระบบสรรหาที่ได้รับการเสนอเชื่อจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, สมัคร เชาวภานันท์ อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ รวมถึงตัวเต็งอย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ประสพสุข บุญเดช ส.ว.สายสรรหาที่มีข่าวว่าได้รับแรงหนุนจาก ส.ว.สายวิชาการ

สำหรับ ศ.พิเศษ ประสพสุข นั้นแม้ว่าในทางการเมืองจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูนัก แต่ในสายตุลาการแล้วคนที่ชื่อประสพสุขนั้นถือว่าเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งในฐานะอดีตประธานศาลอุทธรณ์ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายครอบครัว-ทรัพย์สินทางปัญญา และอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม หลายคนคงสงสัยว่าจริงๆ แล้วเหตุใดอดีตตุลาการผู้นี้จึงจับพลัดจับผลูกลายเป็นแคนดิเดตในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาสูงได้?

ประสพสุข บุญเดช จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2509 เป็นศิษย์เก่า มธ.รุ่นเดียวกับนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่าง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รวมถึงนายประจวบ ไชยสาส์น จากนั้นก็จบเนติบัณฑิตก่อนไปต่อเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นจึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มธ.2 ปี ก่อนจะย้ายไปทำงานเป็นผู้พิพากษา

สำหรับงานด้านตุลาการนั้น ประสพสุขผ่านงานมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5, ประธานศาลอุทธรณ์จนเกษียณอายุราชการในปี 2548 ทางด้านวิชาการนอกจากจะเคยเป็นอดีตอาจารย์ มธ.แล้วปัจจุบันประสพสุขถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัวและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ในส่วนของานทางด้านบริหารเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปี 2544 รวมถึงการรับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัย ศ.ประภาสน์ อวยชัย เป็น รมว.ในช่วงปี 2533 ด้วย

สำหรับความพร้อมของท่านต่อการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา รวมถึงทัศนะของท่านต่อการเมืองไทย ณ วันนี้นั้น ‘ผู้จัดการออนไลน์’ มีรายละเอียดมานำเสนอเป็นบทสัมภาษณ์แบบคำต่อคำ

ผู้จัดการ : ในฐานะที่ท่านมาจากทางด้านศาลตุลาการมาก่อน ทำให้มีบางคนกังวลว่า “ตุลาการ” อาจไม่รู้เท่าทันเกมการเมือง หรืออาจจะคล่องสู้นักการเมืองหรือทหารที่ถูกเลือกเข้ามาไม่ได้ ตรงนี้คิดว่าอย่างไร?
ประสพสุข : ผมไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะเวลาทำงาน ผมทำงานเป็นทีม มันจะต้องมีคนมาคอยแนะนำว่าเกมการเมืองมันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ผมกลับคิดว่ามาโดยไม่รู้จักฝ่ายไหน มาเป็นกลางๆ ไม่เอนเอียงและเข้ากับฝ่ายไหนไม่มีอคติกับฝ่ายไหน ผมว่าน่าจะดีกว่า

ผู้จัดการ : จากที่ติดตามนักกฎหมายที่เข้ามาในเกมการเมืองบางคนก็ดี บางคนก็แย่ไปเลย บางคนก็เชี่ยวชาญไปเลยอย่างเช่น อ.มีชัย ฤชุพันธ์ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือ อ.วิษณุ เครืองาม ท่านเคยขอคำปรึกษาจากคนเหล่านี้ไหม
ประสพสุข : ผมคิดว่าพออะไรลงตัวแล้วจะไปขอคำแนะนำจาก อ.มีชัย เพราะว่าท่านเป็นผู้รอบรู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย คงต้องไปขอคำแนะนำจากท่านว่าจะต้องทำอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร

ผู้จัดการ : แล้วตอนที่สมัครคิดว่าอยากจะมาเป็นประธานหรือรองประธานสภาฯ หรือไม่
ประสพสุข : ไม่ได้คิดเลย ก็เข้ามามาเป็น ส.ว. ก็คือส.ว. แต่พอเข้ามาแล้วมีเพื่อนส.ว.มาบอกว่าผมน่าจะเป็น แล้วผมก็มาคิดว่าผมพอจะทำได้ก็เป็นเพราะผมเนี่ย ถ้าทำไม่ได้ผมก็ไม่เอา อย่างผมเป็นพวกศาลอยู่เค้าคาดหวังว่าจะรู้กฎหมายทุกอย่าง เค้าก็มาถามกฎหมายผม ผมก็ไม่รู้หรอกถ้ามาถามกฎหมายล้มละลายกับผม ผมบอกผมไม่เชี่ยวชาญต้องไปถาม อ.วิชา มหาคุณ ถ้าเผื่อบอกขนส่งระหว่างประเทศ ผมก็บอกผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญนะ ก็เชี่ยวชาญทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าเชี่ยวชาญขนส่งระหว่างประเทศ ต้องไปถามท่านอ.อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ คือผมว่าผมเข้าใจตนเองถ้าไม่พร้อมทำไม่ผมก็ไม่ทำนะครับ

ผู้จัดการ : หนักใจไหมที่มีแคนดิเดตหลายคน?
ประสพสุข : ผมไม่รู้สึกอะไรนะครับ เพราะต่างคนว่าต่างคนก็ต่างเสนอตัวเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ ก็อยู่ที่ท่านสมาชิกเป็นคนที่ตัดสินใจจะเลือก ท่านสมาชิกจะเลือกคนที่อยู่ในดุลยพินิจเด็ดขาดของท่าน ก็ไม่ได้หนักใจอะไรนะครับ

ผู้จัดการ : มีหลายคนบอกว่าจริงๆ แล้วประธาน ส.ว.น่าจะมาจากการเลือกตั้งมากกว่า
ประสพสุข : ผมคิดว่ากฎหมายก็บอกว่าทั้ง ส.ว.ที่มาจากการคัดสรรและเลือกตั้ง ก็เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะมากลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบข้อผิดข้อถูกในสังคมไม่ควรจะแบ่งแยกกัน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบและลงประชามติจากคน 14 ล้านคนจึงน่าจะยอมรับได้

ผู้จัดการ : ทราบมาว่าท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากจะให้มีรองประธานวุฒิสภาที่ทำงานด้านสตรีและเด็ก
ประสพสุข : ผมมีแนวความคิดว่าน่าจะมีรองประธาน ส.ว.ผู้หญิงบ้าง เพราะว่าผมเคยทำงานเป็นผู้ปรึกษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งมีแผนกเยาวชนและครอบครัวและผมก็ทำงานอยู่ตรงนี้มาตลอด ทำให้รู้ปัญหาในทางปฏิบัติในเรื่องเด็ก สตรี และผู้ยากไร้ด้อยโอกาส มาตลอด เพราะฉะนั้นหากได้สุภาพสตรีซึ่งเป็นใครก็ได้มาเป็นรองประธาน ก็จะช่วยทำให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการพินิจพิเคราะห์กลั่นกรองปัญหาอย่างถูกต้อง

ผู้จัดการ : แล้วคิดว่าในใจนี้ หนุนใครบ้างไหม?
ประสพสุข : ไม่ละครับ ผมคิดว่าใครๆก็เป็นได้ อยู่ที่ว่าท่านเพื่อนๆ วุฒิสภา ที่จะเลือก ทุกคนเป็นได้ทั้งนั้นและผมคิดว่าผมทำงานร่วมกันใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีปัญหาอะไร

ผู้จัดการ : แล้วอย่างคุณรสนา (โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ) ท่านคิดว่าเหมาะกับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาไหม?
ประสพสุข : คุณรสนา ก็ได้นะครับ ได้ข่าวว่าคุณรสนา บอกว่าไม่เอา เพราะท่านบอกว่าจะไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการดีกว่า ซึ่งผมว่าน่าจะได้ประโยชน์ มากกว่าเป็นรองประธาน

ผู้จัดการ : คิดว่าความแตกต่างของ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญปี 2550 มีอะไรบ้าง รวมถึงโอกาสในการตรวจสอบจะมีมากขึ้นอย่างไรบ้าง
ประสพสุข : หน้าที่และความรับผิดชอบคล้ายๆ กัน แต่คุณสมบัติต่างกันมากๆ คือคุณสมบัติถูกออกแบบมาให้เป็นกลางทางการเมืองอย่างชัดเจน และโอกาสในการตรวจสอบหากเป็นกลางก็มีโอกาสตรวจสอบได้เยอะ แล้วตอนนี้เหลือ 20,000 คน ประชาชน 20,000 ชื่อ ก็สามารถตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพการตรวจสอบอย่างดียิ่ง ผมก็คิดว่า ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพมีสมรรถภาพ ที่จะทำการตรวจสอบได้อย่างดียิ่ง

ผู้จัดการ : คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำกับสมัยก่อนไหมครับ ที่มีวาระ 6 ปี แล้วก็แบ่งกันบริหารคนละ 2 ปี คราวนี้จะมีไหมคะคนละครึ่งเทอม หรือคนละหนึ่งปี
ประสพสุข : ผมว่าแล้วแต่สมาชิกนะ อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ อย่างผมเองถ้าผมได้รับเลือกผมก็ไม่ได้ติดยึดอะไรหรอก ถ้าเมื่อไหร่ท่านสมาชิกวุฒิสภาบอกผมให้ พอแล้ว ผมก็จะพอแล้ว หรือว่าผมรู้สึกว่าตัวว่า ผมทำอะไรไม่ได้เลย ผมก็จะพิจารณาตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าจะตื้ออยู่ไป ผมพอแล้วกับชื่อเสียงเกียรติยศสายสะพายผมก็ได้สาย 4 แล้ว ผมไม่ได้มุ่งหวังอะไรอีกแล้ว

ผู้จัดการ : หมายความว่าหากทำงานแล้วไม่มีเอกภาพในส.ว.เอง ท่านก็พร้อมที่จะเอาตัวเองออกไป
ประสพสุข : มิได้ ผมหมายถึงว่าทำแล้วไม่สามารถรักษาเกียรติภูมิของวุฒิสภา มีคนอย่างคลางแคลง บอกว่า โอ้โฮ ... ประธานมีอคติไม่เข้ากับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ หาทางกลั่นแกล้งคนนั้นคนนี้ไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายอะไร ผมรับรองว่าผมพิจารณาตนเองได้ ผมไม่อยู่หรอก

ผู้จัดการ : ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายคิดว่า ส.ว. ควรจะมีความรู้กฎหมายเยอะกว่า ส.ส.ไหม? เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการพิจารณาร่างที่มาจากส.ส.
ประสพสุข : ผมว่าความรู้กฎหมายน่าจะพอๆ กันได้ แต่น่าจะมีความถนัดเชี่ยวชาญในอาชีพต่างๆ เพราะมันเป็นสภาที่กลั่นกรองไม่ใช่สภาที่เสนอ ส.ว.ไม่สามารถเสนอกฎหมายได้ แต่จะกลั่นกรองว่ากฎหมายนี้ดีต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน ต่อเศรษฐกิจหรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องเป็นคล้ายๆ กับพวกเทคโนแครต คือผู้เชี่ยวชาญในเฉพาะด้านและของเราพร้อม ซึ่งแต่ละท่านก็พร้อมเชี่ยวชาญในทุกสาขา มาจากวิชาการ วิชาชีพและเอกชน ทำให้สามารถกลั่นกรองกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้จัดการ : กังวลเรื่องแรงกดดันจากทางรัฐบาลหรือทางสภาผู้แทนฯ หรือไม่ เพราะมีข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่า ทางด้านการเมืองจะเข้ามายุ่งกับวุฒิสภาอยู่เรื่อย เพราะการถอดถอนรัฐมนตรี หรือการออกกฎหมายอะไรก็ต้องผ่านสภาสูงก่อน กลัวใบสั่งหรือไม่?
ประสพสุข : ตรงนี้ผมไม่กลัวเพราะว่า ส.ว.ปี 50 ปลอดจากการเมืองอยู่แล้ว เชื่อว่า144 ท่านในตอนนี้ ซึ่งอีกหน่อยจะกลายเป็น 150 ท่าน มีวุฒิภาวะอยู่แล้ว และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอยู่แล้ว จึงไม่ได้มุ่งหวังอะไรอีกแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถมากดดันหรือทำอะไรได้

ผู้จัดการ : แล้วไม่กลัวคู่แข่งในตอนนี้หรือคะ เพราะมีข่าวออกมาว่า การเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อที่จะกดดันฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งให้เข้ามาชิงดำ?
ประสพสุข : คิดว่าอยู่ที่ท่านสมาชิกเลือกไม่มีปัญหาอะไรหรอก ทุกท่านมีวิจารณญาณที่ดีและรักประเทศชาติกันทุกคน

ผู้จัดการ : มีกระแสข่าวมาว่ามีการล็อบบี้กันอย่างหนักเลย?
ประสพสุข : ผมก็ฟังจากสื่อมวลชนนี่ล่ะครับ

ผู้จัดการ : แล้วได้มีการพูดคุยกับสมาชิก ส.ว.คนอื่นไหม?
ประสพสุข : ส่วนตัวโดยตรงไม่ค่อยมี แต่ที่มีก็ท่าน ส.ว.ที่ทั้งเลือกตั้งและคัดสรร ที่สนับสนุนผม ท่านก็ไปคุยกับท่านอื่นๆ อะไรอย่างนั้น

ผู้จัดการ : อาจารย์คิดว่า ฐาน ส.ว.ที่จะเลือกอาจารย์มาจาก ส.ว.สายไหนบ้าง?
ประสพสุข : ผมคิดว่าคนที่จะเลือกผมคือสายบริสุทธิ์แล้วกัน ไม่ได้เข้ากับฝ่ายใดหรอกแต่อยากจะเห็นให้ผมทำงาน กรุณาอย่าไปแบ่งเลยว่ามาจากสายทหาร สายวิชาการ

ผู้จัดการ : ท่านมองว่า ฝ่ายการเมืองหรือทางสภาผู้แทนฯ เขาพยายามจะครอบงำวุฒิสภาหรือไม่ อย่างพรรคพลังประชาชนพยายามผลักดันเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นกังวลหรือไม่ว่าจะกระทบกับ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา เขาอาจจะแก้ในบางส่วนที่ท่านคิดว่าท่านไม่อยากให้แก้เลย และในรัฐธรรมนูญปี 2550 ควรจะแก้ตั้งแต่ตอนนี้
ประสพสุข : ผมคิดแบบนี้ ผมเคยให้ความเห็นไปแล้ว ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 50 น่าจะทดลองใช้ไปอย่างน้อย 1 ปี ให้เห็นว่ามันมีข้อบกพร่องผิดพลาดอะไรหรือเปล่า สนองประโยชน์ประเทศชาติ ประโยชน์ประชาชนหรือเปล่า ถึงจะแก้ไม่ใช่ยังไม่ได้ลองเลยแล้วมาแก้ ผมว่ามันน่าจะเร็วเกินไป

ผู้จัดการ : คือหากพรรคพลังประชาชนจะเสนอให้แก้ โดยส่วนตัวท่านยังไม่เห็นด้วย?
ประสพสุข : ครับ ผมคิดว่าน่าจะลองใช้ดูก่อน

ผู้จัดการ : ท่านมองการเมืองในปัจจุบันอย่างไร เนื่องจากบางคนบอกว่า การเมืองตอนนี้กำลังมาถึงทางตัน หรืออาจจะมีข้อครหาที่ว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมาจาก คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เก่า มาจากสายทหาร หรือทางด้านทุนเก่าที่ส่งคนเข้ามาในสภา?
ประสพสุข : คือจริงๆ ผมก็ไม่ทราบที่มาของแต่ละท่านหรอก แต่คงไม่มีอะไรหรอกเพราะว่าต้องปลอดจากการเมืองพอประมาณ อย่างที่บอกผมเชื่อในวุฒิภาวะของแต่ละท่าน

ผู้จัดการ : คิดว่าหากได้รับเลือกเป็นประธานสภา ที่มีเรื่องอะไรเร่งด่วน ที่ท่านคิดว่าทางวุฒิสภาจะต้องรีบทำก่อน?
ประสพสุข : ที่เร่งด่วนก็ตามกฎหมายกำหนด เรื่องเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเห็นชอบและกลั่นกรองอีกทีและตุลาการศาลยุติธรรมอีก 2 ท่านที่ต้องเร่งด่วน ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ที่ต้องรีบทำเร็ว

ผู้จัดการ : ถ้าเป็นประธาน ส.ว. มันจะต้องอยู่บนภาวะหน้าที่ที่มีแต่ความกดดัน กลัวไหม?
ประสพสุข : ผมก็ไม่ได้ว่าจะกดดัน ไม่ได้กลัวอะไรหรอกคือที่ไม่กลัวเพราะเค้าให้มาเป็น ต้องเป็นให้ได้ แล้วความกดดันมันจะมากดดันเราได้อย่างไรเพราะเราไม่ได้เป็นฝ่ายใครเราไม่ได้แกล้งใคร เป็นผู้พิพากษาสามารถตัดสินประหารชีวิตคนก็ได้นะไม่เห็นกดดันอะไรเลย แล้วผมก็ไม่เคยเห็นจำเลยมาต่อว่า ว่าไปแกล้งเค้าเพราะไม่ได้แกล้ง ในคำพิพากษาต้องเขียนชัดเลย พยานโจทย์คนนั้นเบิกความ ว่าจำเลยคนนี้เอาปืนไปยิง ไอ้คนนั้นเห็น ตรวจพิสูจน์และเขียนให้เค้าเห็นชัดเจนว่ามันเป็นอย่างนี้

ผู้จัดการ : การทำหน้าที่ศาลกับประธาน ส.ว.ก็คงไม่เหมือนกัน
ประสพสุข : เหมือนสิ เหมือนในแง่ที่ทุกอย่างต้องใช้การตัดสินใจที่เด็ดขาด ข้อสำคัญต้องไม่เป็นอคติ ไม่ต้องแกล้งใครแต่ต้องไม่ช่วยใคร คนทำดีย่อมได้ดี ต้องถือหลักกฎหมายไม่ใช่หลักอำเภอใจ

ผู้จัดการ : อาจารย์มองว่าตัวเองพร้อมหรือไม่ที่จะเป็นประธานวุฒิสภา?
ประสพสุข : ผมคิดว่า ผมพร้อมแล้วกัน พร้อมที่จะเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น