xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ฟันธง แถลงการณ์ร่วมที่ “นพเหล่” เซ็น มีผลเหมือนหนังสือสัญญา เข้าข่าย มาตรา 190

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ – “บวรศักดิ์” กูรูด้านนิติศาสตร์เขียนบทความตอกหน้ารัฐบาล-กระทรวงต่างประเทศ ระบุ แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ “นพดล” ลงนาม เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามหลักสากล ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามถือว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เขียนบทความเรื่อง “แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา : การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฯ กับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ” จำนวน 2 ตอน ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และเว็บไซต์มติชนออนไลน์ โดยให้ทัศนะทางนิติศาสตร์ ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communique) ที่ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนาม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นั้น มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190

โดยตอนหนึ่ง มาตรา 190 นั้นระบุว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ...”

อ่าน แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับเต็ม ได้ที่นี่

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาว่าเอกสารชิ้นนั้นๆ เป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ ไม่สามารถจะพิจารณาแต่เพียง “ชื่อเอกสาร” เท่านั้น แต่ต้องดูเนื้อหาและลักษณะว่าที่องค์ประกอบครบ 4 ประการหรือไม่ด้วย โดยองค์ประกอบดังกล่าวประกอบไปด้วย

1.ทำขึ้นระหว่างรัฐ หรือรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง ซึ่งรัฐและองค์การระหว่างประเทศ ก็คือ ผู้ทรงสิทธิในกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับเอกชน

2.ความตกลงนั้นอาจทำเป็นหนังสือ ถ้าทำเป็นหนังสือก็เป็นไปตามอนุสัญญาเวียนนา แต่ความตกลงนั้นอาจทำด้วยวาจาก็ได้ แต่อนุสัญญาเวียนนาไม่ใช้บังคับ และใช้มาตรา 190 ก็ไม่ได้

3.เป็นข้อตกลงที่ “มุ่งต่อผลให้เกิดพันธะทางกฎหมาย” (intention to create legal relations) คือ มีผลผูกพัน (binding) ให้ต้องปฏิบัติตาม พูดภาษาชาวบ้าน ก็คือ หวังให้เกิดผลทางกฎหมายนั่นเอง

4.เป็นข้อตกลงที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ

ต่อมา ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ผู้นี้ ยังพิเคราะห์ถึงองค์ประกอบของ แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดยระบุว่า “เนื้อความของแถลงการณ์ร่วมมี 5 ข้อ คือ ข้อ 1.เนื้อความเป็นการแถลงฝ่ายเดียวของไทย สนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร หลังจากไทยเคยคัดค้านมา 2 ปี ข้อ 2.และ ข้อ 3.เนื้อความเป็นการแถลงฝ่ายเดียวของกัมพูชา ส่วน ข้อ 4.ข้อ 5.เนื้อความเป็นการแถลง 2 ฝ่ายตรงกันมีข้อความสงวนสิทธิ์โดยเฉพาะข้อ 5.ว่า “การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารจะไม่กระทบ (shall be without prejudia to) สิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยในการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) ของสองประเทศ” และจะร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการในการอนุรักษ์ปราสาทร่วมกัน ตามมาตรฐานอนุรักษ์ระดับสากล โดยจะนำแผนจัดการร่วมเสนอในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 ปี 2010

“ทั้งนี้ เนื้อความ ข้อ 1.ข้อ 2.และข้อ 3.เป็นการแถลงฝ่ายเดียว แต่ข้อ 4.ข้อ 5.เป็นการแถลงร่วมกัน โดยเฉพาะข้อ 5.มีเนื้อความ “สงวนสิทธิ์” ของทั้ง 2 ประเทศเหนือดินแดน

“ซึ่งถ้าพิเคราะห์องค์ประกอบ 4 ประการ ของสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ประกอบคำพิพากษาศาลโลก และเนื้อความของแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว คงต้องวินิจฉัยตรงไปตรงมาว่า คู่กรณีไทย-กัมพูชา ต่างมุ่งให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายแน่นอน โดยเจตนาภาษาที่ใช้ “shall be without prejudia to the right of the kingdom of Cambodia and the kingdom of Thailanอ เป็นภาษากฎหมายที่มุ่งผลผูกพันโดยตรงต่อการ “สงวนสิทธิ์” ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาโดยผู้มีอำนาจทำการแทน 2 รัฐเป็นหนังสือ และอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

“ทั้งยังมีการลงนาม (signature) โดย 3 ฝ่าย ครบองค์ประกอบ 4 ประการของความเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญาเวียนนา


“ยิ่งพิจารณาพฤติการณ์ก่อนหน้าทำแถลงการณ์ร่วมยิ่งเห็นชัดว่า ไทยเคยคัดค้านการขึ้นทะเบียน เพราะกัมพูชาใช้แผนที่ที่ไทยยอมรับไม่ได้ เนื่องจากนำพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ จนกัมพูชายอมถอนแผนที่ดังกล่าว และใช้แผนที่ใหม่ ก็ยิ่งเห็นชัดถึงการ “สงวนสิทธิ์”

“อนึ่ง การแสดงเจตนา 2 ฝ่ายในการก่อการเปลี่ยนแปลงการ โดยการสงวน หรือการระงับ ซึ่งสิทธิใดๆ ในทางกฎหมายถือว่า เป็นการแสดงเจตนาที่มุ่งโดยตรงต่อการก่อนิติสัมพันธ์ทั้งสิ้น

“เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล อ้างว่า แถลงการณ์ร่วมไม่ใช่หนังสือสัญญาจึงไม่ถูกต้อง ที่สำคัญก็คือการที่ ครม.เปลี่ยนคำว่า “แผนที่” (map) เป็น “แผนผัง” ก็ย่อมแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการสงวนสิทธิ์เกี่ยวกับเขตแดน ถ้าจะพิสูจน์เป็นอื่น กระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องหาพฤติการณ์ก่อนและหลังการทำแถลงการณ์ร่วมมาพิสูจน์เป็นอื่นตามแนวคำพิพากษาศาลโลก”

พร้อมกับชี้ให้เห็นด้วยว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190

“ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องนำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การไม่ปฏิบัติตามมาตรา 190 จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน” นายบวรศักดิ์ ระบุ





--------------------
อ่านบทความฉบับเต็ม
- แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา : การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฯ กับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตอนที่ 1
- แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา : การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฯ กับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตอนที่ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น