xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตบอนด์เอเชียรุ่ง-แห่ระดมทุนพัฒนาปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ผู้บริหารบลจ. เผยตลาดบอนด์เอเชียอนาคตสดใสในระยะยาว เหตุประเทศในภูมิภาคต้องออกพันธบัตรระดมทุนมาใช้พัฒนาประเทศ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนขยับตัวสูงขึ้นบวกกับความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ไทยได้รับอานิสงส์จากยกเลิกเกณฑ์ 30% ดึงเม็ดเงินเข้ามาในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ ด้านผลตอบแทนกองทุนบอนด์เกาหลีใต้มีสิทธิขยับลง หลังคาดการณ์รัฐบาลจะประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 8 พ.ค.นี้

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในระยะยาวประเทศในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องออกพันธบัตรของตนเองเพื่อนำเงินเข้ามาพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งการออกพันธบัตรนำเงินมาพัฒนาประเทศนั้น ต้องอาศัยเงินทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพันธบัตรดังกล่าว ดังนั้น นักลงทุนจะมองในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก รวมถึงความเสี่ยงของการลงทุนในพันธบัตรในระดับที่ตํ่า โดยเห็นได้ชัดในขณะนี้คือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงมีความเสี่ยงในระดับที่ตํ่าและมีเรตติ้งสูงกว่าประเทศไทย ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ นักลงทุนเลือกลงทุนในสถาบันการลงทุนประเภทกองทุนรวมมากกกว่า เพราะกองทุนรวมมีการปิดความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้วทำให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว

ส่วนในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวนั้น นายกำพล กล่าวว่า ผลตอบแทนการลงทุนยังคงอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรเอง แต่แนวโน้มในระยะยาวแล้วมีความน่าลงทุนอยู่ รวมถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอื่นในเอเชียด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียจะเติบโตสูงขึ้นในระยะยาว โดนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น เวียดนามและจีน ในขณะเดียวกันประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เสรี เป็นไปตามระบบทุนนิยม ซึ่งส่งผลดีต่อการลงทุนถายในประเทศ รวมทั้ง การเกิดวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ ซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่หันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในเอเชีย ซึ่งอาจส่งผลต่อการลงทุนบ้างแต่คงไม่มาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ

นายกำพล ยังกล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของประเทศไทยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตราการกันสำรอง 30% ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าหลังนี้ไปการลงทุนในประเทศไทยทั้งในพันธบัตรรัฐบาลและตลาดตราสารหนี้ น่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ. ) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนการลงทุนจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผลตอบแทนในรูปสกุลเงินวอนปรับตัวลดลง จากการที่มีการคาดการณ์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเกาหลีใต้ ในวันที่ 8 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ อาจจะพิจารณาปรับลดอัตราลดดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ กระแสเงินทุนไหลเข้าไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินวอนต่อดอลล่าร์สหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจากภาวะตลาดในปัจจุบันส่งผลให้การลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ในรูปสกุลเงินบาท มีโอกาสปรับตัวลดลงได้ และอาจจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้มีโอกาสปรับตัวลดลงเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ควรหาโอกาสลงทุนในช่วงเวลานี้

โดยในขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมกรุงไทยตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี6 (KTFIF1Y6) ในระหว่างวันที่ 6 -12 พฤษภาคมนี้ โดยกองทุนมีมูลค่าโครงการ 1,860 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 10-12 เดือน โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้อายุ 1 ปีอยู่ที่ประมาณ 4.10% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของกองทุน บริษัทสามารถระดมเงินจากการลงทุนในกองทุนพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ได้แล้วกว่า 8,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุน KTFIF1Y6 เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารภาครัฐต่างประเทศ เช่น พันธบัตรภาครัฐประเทศเกาหลีใต้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) และกองทุนจะทำการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน

ส่วนความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินวอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ของบริษัท เนื่องจากการลงทุนของบริษัทจะมีการป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด(Fully Hedge) และไม่ได้เข้าไปเก็งกำไรในค่าเงินวอน นอกจากนี้ ยังเป็นการเข้าไปลงทุนโดยตรง ไม่ได้ลงทุนผ่าน Credit Linked Note หรือ Structured Note ทำให้กองทุนไม่ได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน

นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัท เป็นการลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ระยะสั้น อายุไม่เกิน1ปี ซึ่งจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของประเทศ (Sovereign Credit Rating ) โดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้ง เกาหลีใต้อยู่ที่ระดับF1 ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และกองทุนมีเงื่อนไขการลงทุนในตราสารภาครัฐต่างประเทศที่ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ ( Investment Grade ) เช่น พันธบัตรภาครัฐต่างประเทศที่มีอันดับเครดิต 2อันดับแรก ดังนั้น การลงทุนจึงเป็นไปตามหนังสือชี้ชวน และเป็นไปตามเกณฑ์ก.ล.ต.

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายการบริหารกองทุนที่มุ่งเน้นความปลอดภัยในเงินทุนของลูกค้าเป็นหลัก ส่งผลให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา นอกจากนี้ บริษัทมีหน้าที่ในการเสาะแสวงหารูปแบบการลงทุนใหม่มานำเสนอ โดยเน้นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี และความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ลูกค้ายอมรับได้

Q2บอนด์ยาวปรับตัวลง
บลจ.กรุงไทย รายงานถึงการลงทุนตลาดตราสารหนี้ในประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุโดยปรับลดลง 11-74 bp ทั้งนี้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และ ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วจนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และอาจเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรโดยการซื้อพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาว

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาสตัวเลขระดับเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่ธปท. อาจจะไม่พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยล่าสุดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส1ปี51 ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 50 ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2 คาดว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาครัฐอายุคงเหลือยาวยังมีแนวโน้มปรับตัวลง ในขณะที่ตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น อายุไม่เกิน1 ปี มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาสที่ 1 ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.93%ต่อปี และล่าสุดผลตอบแทน อยู่ที่ประมาณ 3.23% ต่อปี เนื่องจากนักลงทุนมีการทยอยขายตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว และกลับมาลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยRP1 วันตามเดิม ที่ระดับ 3.25%ต่อปี เพราะมีความกังวลตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และกดดันให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นอีกแรงกดดันที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหา Sub-Prime ของสหรัฐก็ยังคงเรื้อรังและทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)ส่งผลให้สภาวะตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะผันผวน
กำลังโหลดความคิดเห็น