xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรแดนโสมเกรด A โอกาสดีที่มีไม่กี่ประเทศในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เกาหลี ฟีเวอร์" เป็นปรากฎการณ์ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ เข้าสู่ประเทศเกาหลีได้มากมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว...อย่างที่ทราบกันว่าผลพวงจาก "ซีรีย์เกาหลี" หลายเรื่องที่ฉายไปทั่วเอเชีย ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามหลายแห่งได้ผ่านตาผู้ชมพร้อมกับฉากอันโรแมนติก กลายเป็นเสน่ห์ของประเทศเกาหลีไปในทั้นทีทันใด

เสน่ห์นั้นยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงบรรยากาศลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ ในตอนนี้ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากบรรดาบลจ.ต่างๆ ที่กำลังเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างคึกคัก...แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนลงทุน ผู้ลงทุนควรวิเคราะห์ความเสี่ยงให้กับตัวเองด้วย...และเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ "ผู้จัดการกองทุนรวม" ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี รวมถึงแนวโน้มการลงทุนผ่านผู้บริหารของ บลจ. ต่างๆ ว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

กำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวถึงความน่าสนใจของการไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ว่า เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีสูงมาก โดยระดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ A ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้อยู่ระดับ F1 ซึ่งเป็นเรตที่ดีมากและสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีระดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ B+

ทั้งนี้ เมื่อมองถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีนั้น มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมใกล้เคียงกับไทยหรืออาจจะมากกว่าเล็กน้อย เพราะเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยเริ่มมีสัญญาณที่ดีของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ให้เห็นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ที่มีการดึงนัลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น เหตุเพราะประเทศเกาหลีใต้ต้องการเงินลงทุนภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นจึงให้ดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลที่มาก

ส่วนเรื่องของผลตอบแทนนั้น จากเมื่อเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่ผ่านมามีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 3.2 - 3.3% แต่ในขณะนี้แต่ละบลจ.มีอัตราผลตอบแทนในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีอยู่ที่ 3.4 - 3.8%

ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในเครดิตลิงค์โน้ตของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องดูคือ สถาบันการเงินที่ออกเครดิตลิงค์โน้ตนั้นมีระดับความน่าเชื่อถือ (Rating) อยู่ที่ระดับใด ซึ่งสถาบันการเงินนั้นควรควรจะมี Rating ดีกว่าหรือเท่ากับตราสารหนี้ในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี

"กำพล" กล่าวถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้นี้ในช่วงนี้ว่า เป็นโอกาสที่ดีเพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรของรับบาลไทย รวมทั้งมีระดับความน่าเชื่อถือที่ดีและความเสี่ยงในเรื่องการชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลียังไม่มี แต่การลงทุนในต่างประเทศนั้นยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงอยู่เช่นกัน ทั้งเรื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางด้านการเมือง ซึ่งนักลงทุนต้องมองถึงเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ส่วนแนวโน้มในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีจะเป็นอย่างไรนั้น เขาบอกว่า ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ผลตอบแทนคงจะไม่สูงมากนัก เพราะเป็นวัฎจักรของเรื่องดีมานด์กับซับพลาย เมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้วการเข้าไปลงทุนคงจะชะลอตัว

นที ดำรงค์กิจการ
ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บลจ. นครหลวงไทย บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีเพิ่มขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ผลตอบแทนในสกุลวอนด์ปรับตัวสูงขึ้น และผลตอบแทนระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนของ 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกิดจากการลงทุนที่ต้องแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ก่อนจะแปลงผลตอบแทนมาเป็นเงินบาท

สำหรับความน่าสนใจของการลงทุนในเกาหลีเอง เรามองจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศในแง่ของตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ซึ่งในปัจจุบันซับพลายในตลาดตอนนี้ถือว่ามีสูงพอสมควร ดังนั้นในแง่ของผู้เล่นอย่างไทยซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหม่ มองว่าน่าจะยังมีโอกาสจากส่วนต่างของการลงทุนในประเทศนี้

ส่วนการลงทุนในพันธบัตรระฐบาลเกาหลีที่มีทางเลือกออกมาให้ 2 รูปแบบ ทั้งการลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่าน Credit Linked Note (CLN) นั้น หากพูดถึงผลตอบแทนแล้ว เชื่อว่าการลงทุนโดยตรงน่าจะให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า เพราะถ้าลงทุนผ่านรูปแบบของ Credit Linked Note แล้วผู้ลงทุนอาจจะเสียค่าต๋ง เนื่องจากลงทุนผ่านสถาบันการเงินที่อิงกับเครดิตของพันธบัตรเกาหลีอีกที อย่างไรก็ตาม การลงทุนผ่าน Credit Linked Note อาจจะให้ผลตอบแทนสูงในกรณีที่เครดิตของผู้ออกตราสารไม่ดี

นอกจากนี้ ในแง่ของความน่าเชื่อถือแล้ว หากมองการลงทุนแบบ Credit Linked Note ผู้ลงทุนจะต้องมองถึง 2 ปัจจัย ทั้งความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารเอง รวมทั้งต้องดูความน่าเชื่อถือของพันธบัตรที่ผู้ออกนั้นอ้างอิงด้วย

"นที" กล่าวว่า การที่มีกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ประเมินค่อนข้างลำบากว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะภาพของการเงินทั่วโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนในอนาคตด้วยว่าจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปได้หรือไม่

อาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.อยุธยา กล่าวว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลีจัดเป็นโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสมมาก ทั้งในด้านของผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการลงทุนในประเทศ และในด้านของอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเกาหลี ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าของรัฐบาลไทย และกองทุนนี้มีการป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินไว้ทั้งจำนวนแล้ว ทำให้สามารถประมาณการอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนี้ในสกุลเงินบาทได้ ซึ่งโอกาสการลงทุนที่ให้ข้อดีทั้ง 2 ข้อดังกล่าวมีไม่กี่ประเทศในโลก

เนื่องจากตลาดเงินและตลาดดอกเบี้ยของประเทศเกาหลี มีความผันผวนมากทำให้การประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนในสกุลเงินบาทจึงมีช่วงค่อนข้างกว้าง โดยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนจริงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในช่วงนั้น ณ ปัจจุบัน อยู่ในระดับประมาณ 3.6-3.9% สำหรับกองทุนอายุ 1 ปี และประมาณ 3.7-4.10% สำหรับกองทุนอายุ 1.5 ปี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศเกาหลีได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจาก ความผิดปกติของโครงสร้างของเส้นอัตราผลตอบแทนระหว่าง Government bond yield curve และ Swap curve อันเนื่องมาจากการจำกัดการกู้ยืมในสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้ Government Bond yield curve อยู่สูงกว่า Swap curve ซึ่งแตกต่างจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทเกาหลีไม่สามารถกู้เงินโดยตรงในสกุล USD ได้ บริษัทเหล่านั้นจึงต้องใช้ธุรกรรม Swap มาช่วยให้มี exposure ในสกุลเงินที่เขาต้องการ (USD) ความต้องการทำธุรกรรมในลักษณะนี้ (ออกหุ้นกู้สกุล KRW แล้ว Swap เป็น USD) จากบริษัทต่างๆ ในประเทศเกาหลีมีสูงมากๆ และเป็น demand ที่มีในตลาด Swap จึงทำให้ Swap curve ปรับลดลงเรื่อยๆ จนต่ำกว่า Government bond yield curve ส่งผลให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ Benchmark ที่เรียกว่า Swap curve

กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ และ Credit Linked Note ที่กำลังจะเปิดขายหน่วยลงทุนในขณะนี้
- บลจ.กสิกรไทย อยู่ระหว่างเปิดขายกองทุนเปิดเค พันธบัตรเกาหลี 1 ปี อี โดยจะเสนอขายถึงวันที่ วันที่ 31 มีนาคม 2551 นอกจากนี้ ยังมีกองทุนเปิดเค พันธบัตรเกาหลี 1 ปี เอฟ ที่จะเสนอขายระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายนนี้

- บลจ.กรุงไทย เปิดขายกองทุนรวมกรุงไทยตราสารหนี้ต่างประเทศ1ปี1 ( KYTFIF1Y1) และกองทุนรวมกรุงไทยตราสารหนี้ต่างประเทศ 1ปี 2 (KTFIF1Y2) เป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในพันธบัตรภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันนี้ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 4 เมษายน 2551

- บลจ.บัวหลวง เปิดขาย กองทุนรวมธนสารพลัส 2/08 อายุประมาณ 10-12 เดือน มีนโยบายรับซื้อหน่วยลงทุนคืนอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 3.4% ต่อปี ส่วนกองทุนรวมธนสารพลัส 3/08 อายุ 16-18 เดือน และกองทุนรวมธนสารพลัส 4/08 อายุประมาณ 22-24 เดือน มีนโยบายรับซื้อหน่วยลงทุนคืนอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 4.0% ต่อปี ทั้งสองกองทุน โดยทั้ง 3 กองทุนมีนโยบายลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้

- บลจ.ไทยพาณิชย์ อยู่ระหว่างเปิดขาย กองทุนไทยพาณิชย์ฟอร์เรนโนท (1Y2) ซึ่งเปิดขายวันสุดท้ายถึง 31 มีนาคม 2551 โดยกองทุนดังกล่าวจะลงทุนในพันธบัตรในประเทศเกาหลีใต้ 50% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเครดิตลิงค์โน้ตพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เสนอขายในต่างประเทศ

- บลจ.พรีมาเวสท์ จะเปิดขายกองทุนเปิดพรีมาเวสท์ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสท์เม้นท์ ฟันด์ อายุโครงการประมาณ 1 ปี โดยมีนโยบายลงทุนในเครดิตลิงค์โน้ตที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างประเทศ ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับเครดิตความสามารถชำระคืนเงินของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับคือประมาณ 3.8% ต่อปี เปิดขายวันสุดท้าย 31 มีนาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น