xs
xsm
sm
md
lg

พปช.รุมทึ้งเก้าอี้ปธ.สภาแบ่งกลุ่มเชียร์ “ชัย-สมศักดิ์”-สมชายขออยู่ศธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภาด้วยนั้น ยังเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการแสดงสปริตจริงหรือต้องการเปิดทางให้พรรคพลังประชาชนสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นประธานสภาฯ เพื่อคุมเกมส์การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่พรรคพลังประชาชนต้องการกันแน่ เนื่องจากหากให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาเพื่อคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นไปตามที่ต้องการได้เนื่องจากนายประสพสุข มีความเป็นกลางไม่สามารถสั่งได้
ล่าสุดนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่ากระแสข่าวที่ว่า นายยงยุทธ ลาออกเพื่อที่จะให้หาคนใหม่เข้ามาแทนเพื่อคุมเกมส์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้นนั้น เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะคิด แต่ตนเป็นกลางอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการที่นายยงยุทธลาออกเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วและคงจะมีการหาคนใหม่เข้ามาแทน
นายประสพสุข กล่าวว่าคงไม่ฝากอะไรกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯคนใหม่ คิดว่าสภาผู้แทนฯ เลือกคนมาถูกต้องอยู่แล้ว สำหรับตน ใครจะมาเป็นก็ได้ อยู่ที่เสียงข้างมากที่จะเลือกขึ้นมา
ส่วนจะมีปัญหาต่อการประชุมร่วมรัฐสภาหรือไม่นั้น ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ถ้าตนนั่งเป็นประธานคนเดียวไม่มีคนเปลี่ยนก็อาจจะลำบากบ้างนิดหน่อย แต่คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และจะสามารถควบคุมการประชุมได้แน่นอน ซึ่งตนเห็นว่า ทุกคนคงอยากจะเห็นความเป็นกลาง ยิ่งตนเป็นกลางยิ่งดีใหญ่ เพราะถ้าไม่เป็นกลางอาจจะเกิดปัญหาได้

ส.ว.ฟันธงลาออกเพื่อคุมเกมส์แก้รธน.
ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่าการลาออกของนายยงยุทธ เป็นเกมส์การเมืองไม่ใช่สปิริต เพราะหากนายยงยุทธไม่ลาออก แต่ยุติการทำหน้าที่ชั่วคราว นายประสพสุข ก็จะทำหน้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องหาคนของพรรคพลังประชาชนมาเป็นประธานเพื่อรวบรัดตัดตอนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่พรรคพลังประชาชนต้องการ คือ การหนีมาตรา 237 และ 309 และเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้
“ไม่ใช่เรื่องสปิริต แต่การประชุมรัฐสภาคือประเด็นสำคัญ เพราะประธานในที่ประชุมสามารถชี้ให้คนพูดหรือหยุดพูด หรอืจะเอาหรือไม่เอาญัตติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาก็ได้ เมื่อพรรคพลังประชาชน เห็นว่าอาจารย์ประสพสุข ไม่เอื้อต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงใช้เกมส์นี้ ถ้าคุณยงยุทธลาออกตั้งแต่โดย กกต.วินิจฉัยอาจจะชี้ว่าเป็นสปิริต แต่มาลาออกช้าไปสองเดือนเศษจึงเห็นชัดเจนว่า นี่คือเกมส์ที่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ “

“ชัย”มีปัญหาที่ดินรถไฟเป็นปธ.ไม่ได้
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับท่าทีของวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและตัวของประธานวุฒิสภาก็ต้องวางตัวเป็นกลาง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านประธานวุฒิสภามีจุดยืนชัดว่า ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน 1 ปี แล้วค่อยมาแก้ไข
ส่วนการสรรหาผู้ที่เหมาะสมเป็นประธานสภาฯคนใหม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นวิบากกรรมของพรรคพลังประชาชน เพราะนักการเมืองที่มีอยู่เป็นนักการเมืองแถวสอง และแถวสาม การจะหาตัวบุคคลมาทำหน้าที่ประธานสภาฯ อย่างสง่างามจึงหายาก และต้องวนเวียนอยู่กับคนไม่กี่คน ซึ่งพรรคพลังประชาชน ต้องคิดหนักเพราะหากนำนายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน มาเป็นประธานสภาฯก็จะมีเสียงต่อต้านเพราะมีปัญหาที่ดินรถไฟที่บุรีรัมย์ ส่วนคนอื่นตนมองไม่เห็นว่าจะเป็นใคร ทั้งนี้พรรคพลังประชาชนต้องเสนอบุคคลที่รอบคอบไม่ใช่มาดำรงตำแหน่ง 2-3 เดือนแล้วต้องเลือกใหม่ ทำให้รัฐสภาต้องวนเวียนอยู่กับปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น การเลือกประธานสภาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องสง่างาม เที่ยงธรรม และยอมรับได้ คือเป็นที่ยอมรับของนักการเมืองและสังคม

อภิสิทธิ์เตือนปธ.สภาต้องเป็นกลาง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการลาออกจากประธานสภาฯและประธานรัฐสภา เป็นเอกสิทธิของ นายยงยุทธ มุมมองของแต่ละฝ่ายในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยมีข้อสังเกตว่าเมื่อจะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นจังหวะพอเหมาะกับการลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้มีประธานรัฐสภาคนใหม่ ซึ่งคงมาจากพรรคพลังประชาชนมาทำหน้าที่ประธานประชุมร่วม 2 สภา
“ผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง แต่อยากย้ำว่าตำแหน่งประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองในการทำหน้าที่ และการพิจารณากฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้ายิ่งไปสร้างเงื่อนไขในลักษณะที่เอาประโยชน์กันทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น สมมติถ้าเป็นความพยายามจะควบคุมตรงนี้ ก็อยากเตือนเอาไว้ว่า คงไม่เป็นผลดี”
ส่วนที่รัฐบาลเตรียมจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้านั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอดูญัติติก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้ายื่นมาแล้วไม่แสวงหาจุดร่วม ในสังคม และในหมู่สมาชิกรัฐสภาด้วยกันก็จะทำให้การพิจารณาลำบากและยืดเยื้อ อย่างไรก็ตามพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาประกบเพราะสามารถแปรญยัติได้อยู่แล้ว

สมชายกอดเก้าอี้แน่นไม่ไปจากศธ.
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ได้หารือกันภายในพรรคพลังประชาชนว่าจะให้ใครมาเป็นประธานสภาฯ สำหรับตนที่มีข่าวว่าจะไปเป็นประธานสภาฯนั้นเห็นว่าเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งแค่ 2 เดือน การทำงานก็เป็นไปด้วยดี และก็เห็นว่าตนไม่เหมาะสมที่จะเป็น ประธานสภาฯ เพราะไม่มีประสบการณ์การทำงานของสภาฯมาก่อน
นายสมชาย กล่าวว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่จำเป็นต้องมีโควต้ามาจาก ส.ส.ภาคไหน ขอให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญงานในสภาฯ ซึ่งไม่ใช่ตนเอง สำหรับการลาออกของนายยงยุทธ ไม่ใช่เป็นการเปิดทางให้ ส.ส. พรรคพลังประชาชนมาทำหน้าที่ประธานสภาฯเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าใครมาเป็นก็ไม่สามารถออกเสียงได้ ทำได้แต่เพียงการควบคุมการประชุมเท่านั้น และประธานวุฒิสภา ก็ต้องสลับการทำหน้าที่อยู่แล้ว
ส่วนกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนให้ไปดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม และให้นายยงยุทธ มาดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ยังอยากทำงานในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ และเชื่อว่าคงไม่มีการปรับเปลี่ยนให้ตน ไปกระทรวงอื่น เพราะกระทรวงศึกษาฯเป็นกระทรวงใหญ่ ที่มีความอบอุ่น และได้รับความร่วมมืออย่างดีในการทำงานร่วมกับข้าราชการประจำ ส่วนเรื่องที่ตนเอง เคยทำงานด้านยุติธรรมมาก่อนนั้น คงไม่ได้หมายความว่าจะมีความเชี่ยวชาญกว่า คนอื่น และรัฐมนตรีที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็สามารถทำงานได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีการปรับ ครม. เพราะ ครม.ยังอยู่ครบ ขาดเฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ อยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

สมศักดิ์เหนียมไม่เสนอตัวเอง
ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า โดยสถานการณ์แล้วพรรคพลังประชาชนคงต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อใหการทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทันต่อสมัยประชุมสภาฯที่จะสิ้นสุดลงในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนตนนั้นจะไม่ขอเสนอตัวเองเข้ารับการพิจารณา แต่ขอให้อยู่ในดุลพินิจของพรรคที่จะคัดเลือกผู้มีความเหมาะสม สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นประธานสภาฯคนใหม่นั้นควรมีคุณสมบัติเดียวที่สำคัญ คือความสง่างาม ซึ่งถือว่าครอบคลุมคุณสมบัติ ที่ควรมีทั้งหมด

ปชป.แนะตั้ง “อภิวันท์”นั่งปธ.สภา
ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนที่จะมาแทนนายยงยุทธนั้นเป็นสิทธิของพรรคพลังประชาชนที่จะแต่งตั้งใคร แต่ถ้าจะใช้คนที่มีประสบการณ์แล้ว และเป็นที่ประจักษ์ของสมาชิก ส่วนตัวคิดว่า พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นผู้เหมาะสมที่จะรับตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะเห็นว่ามีความเป็นกลาง
“ท่านอภิวันท์รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย มีความประนีประนอม อาจจะมีข้อด้อยในการวินิจฉัยคำ แต่ก็ปรับปรุงได้”
ส่วนที่มีข่าวว่าจะเสนอชื่อนายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เป็นประธานสภาฯนั้น นายเทพไท กล่าวว่า เป็นสิทธิของพรรคพลังประชาชน การเสนอใครควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนบ้าง

6พ.ค.รู้ใครเป็นปธ.สภาคนใหม่
ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าว ว่า พรรคจะเร่งหาบุคคลมาแทนนายยงยุทธให้ทันในสมัยประชุมสภาฯนี้ โดยคาดว่าในวันอังคารที่ 6 พ.ค.ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคจะมีการขอมติในที่ประชุมเพื่อเสนอบุคคลเป็นประธานฯ ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมสภาฯในวันพุธที่ 7 พ.ค. เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในระหว่างที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาเรื่องสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ ตั้งข้อสังเกตว่า การลาออกของนายยงยุทธนั้นเป็น เพราะรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นในการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจเพราะพรรคประชาธิปตย์มักจะวิจารณ์คนอื่นโดยไม่ดูเหตุผล ทั้งๆที่ เมื่อครั้งที่นายยงยุทธอยู่ในตำแหน่งก็กล่าวหาอย่างหนึ่ง แต่พอเห็นว่าการลาออกน่าจะช่วยให้กระบวนการในสภาดำเนินไปได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ก็กลับมาจ้องจับผิด


“เด็กเนวิน”ชู “ชัย”ประมุขนิติบัญญัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนายยงยุทธ ลาออกจากประธานสภาฯ ปรากฎว่าภายในพรรคพลังประชาชนแต่ละกลุ่ม ก๊วนต่างเคลื่อนไหวเพื่อพลักดันคนของกลุ่มตัวเองให้ดำรงรงตำแหน่งนี้
โดบยนายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน กลุ่มบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนในฐานะวิปรัฐบาล ได้ทำงานร่วมกับนายชัย ชิดชอบ ประธานวิปรัฐบาล มากว่า 3 เดือน เห็นว่านายชัย ซึ่งทำหน้าที่ทั้งประธานวิปรัฐบาลและประธานในที่ประชุมพรรคด้วยนั้น มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะทั้งเรื่องของการจับประเด็นต่างๆ ความอาวุโส ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ การเป็นคนประนีประนอม และสามารถจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับที่ประชุมได้ทุกครั้งที่มีปัญหานั้น เรียกได้ว่าชั่วโมงนี้ต้องให้นายชัยเท่านั้น เพราะนายชัยมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้วนั้นนายชัยเป็นคนถอนตัวออกมาเองเพื่อหลีกทางให้กับนายยงยุทธ ติยะไพรัช ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่นายชัยจะต้องเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ส.ส.อีสานของพรรคประมาณ 90 กว่าคน ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า นายชัยมีความเหมาะสมมากที่สุดและพร้อมที่จะสนับสนุน

อีสานแยกหนุน “ชัย-สมเกียรติ์”
ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ส.ส.ในกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ จะผลักดันนายชัย เป็นประธานสภาฯเป็นสิทธิที่จะเสนอได้ ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่พรรคจะมีกระบวนการพิจารณา ซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะเป็นตำแหน่งที่ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงมองอยู่ โดยเฉพาะในภาวะการเมืองหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ อกีทั้งยังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นหน้าเป็นตา และควรคำนึงถึงความรู้สึก ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย
นอกจากนี้ การตั้งประธานสภาฯนั้นต้องมีมาตรฐานที่พัฒนาขึ้น คนที่ได้รับเกียรติตรงนี้ต้องเป็นความหวังของสังคมได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มส.ส.อาวุโสภาคอีสานส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนนายสมศักดิ์ นายไพจิต กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เป็นคนเจียมเนื้อเจียมตัว เป็นผู้น้อย มีเสียงสนับสนุนในพรรคไม่มาก แต่ก็เป็นคนมีความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาฯ ด้วยความทุ่มเท ดังนั้นนายสมศักดิ์ก็เป็นคนหนึ่งที่พรรคจะนำไปเทียบกับคนอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กลุ่มส.ส.อาวุโสจากภาคอีสานที่มีประมาณ 48 คน ได้พยายามผลักดันนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ขณะที่กลุ่มของ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ส.อีสานนั้น พยายามผลักดันนายชัย ชิดชอบ ส.ส.ระบบสัดส่วน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา

ส.ส.เหนือทวงโควต้าภาคตัวเอง
ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่าในวันที่ 6 พ.ค.นี้ จะมีการประชุม ส.ส.ภาคเหนือพรรคพลังประชาชน เพื่อหารือถึงผู้ที่เหมาะสมจะเป็นประธานสภาฯ อย่างไรก็ตามตามปกติ องค์ประกอบของประธานสภาฯและรองประธานสภาฯนั้น จะมีตัวแทนจาก 3 ภาค ดังนั้นอย่างน้อยจะต้องมีตัวแทนจากภาคเหนือเข้าไปด้วย ซึ่งถ้าหากภาคเหนือส่งคนที่เหมาะสมก็น่าที่จะได้เป็นประธานสภาฯ แต่ถ้าหากส่งคนระดับรองลงไปก็ควรที่จะได้เป็นรองประธานสภาฯ ส่วนจะส่งใครนั้นคงต้องรอการประชุมส.ส.ภาคเหนือก่อนเพื่อซาวเสียงว่าใครจะได้เป็น

ธีรยุทธเตือนดันรธน.ส่อรุนแรง
นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนว่า ปัญหาจะยืดเยื้อมาก จะนำไปสู่การชุมนุมประท้วง และอาจมีความรุนแรงย่อยๆ เกิดขึ้น เพราะในประวัติศาสตร์ทุกประเทศที่ประสบปัญหาเมื่อนักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมขึ้นสู่อำนาจเป็นขวัญใจของชาวบ้าน ปัญหาจะเกิดตามมาเกือบทุกแห่ง มีการรัฐประหารเหมือนกับเหตุการณ์ 19 ก.ย. หลังจากนั้นจะมีความรุนแรงของมวลชน มีความรุนแรงย่อยมีรัฐประหารย่อย (มินิคูเดอต้า)
“จะสังเกตว่ามีทั้งรัฐประหารใหญ่ที่ทำสำเร็จ และรัฐประหารย่อยที่มีความขัดแย้งกันเองระหว่างทหาร ที่คิดต่างกัน เมืองไทยก็เคยเกิดขึ้น อนาคตก็อาจจะมีสิทธิเกิดขึ้น แต่ประวัติศาสตร์เกือบทุกประเทศที่ใช้นโยบายประชานิยม เจอปัญหานี้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าบ้านเมืองจะเริ่มเข้าสู่วิกฤติรอบสอง นายธีรยุทธ กล่าวว่า มีคนซึ่งมองปัญหาต้นเหตุอยู่ที่การคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจผิดพลาดตั้งแต่สมัยก่อน และพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับคมช. ที่ผ่านมาก็มีการประท้วงร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจะยืดเยื้อ แต่ไม่เข้มข้นเท่าไหร่ และทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากยังยืนยันแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเอกสิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญของส.ส.แต่ความถูกต้องชอบธรรม คนเห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เลือกตั้งมาถ้าใช้อำนาจผิดก็ไม่ชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรม ผู้ประท้วงจะมีความชอบธรรมหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ความชอบธรรมมีหลายด้าน ปัญหาการเมืองเรามีหลายมิติมาก เมื่อได้รับเลือกตั้งมาความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีปัญหาและอยู่ได้ ครบ 4 ปีแต่จะมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นหรือไม่ ใช้อำนาจ มิชอบหรือไม่ หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ เมื่อเกิดปัญหาใหม่ ก็จะเกิดความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ต้องแยกกันว่าคนประท้วง ไม่ได้ประท้วงเรื่องกระบวนการเลือกตั้ง แต่ประท้วงเรื่องพฤติกรรมรัฐบาลในช่วง 4 ปี
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลทำไม่ดีในช่วง 4 ปี คนก็มีสิทธิประท้วงได้ ทุกยุคทุกสมัยก็จะมีคนประท้วงอยู่ตลอดเวลา แต่จะบานปลายถึงขั้นขับไล่รัฐบาลหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ที่จะนำไปสู่ขั้นขับไล่รัฐบาลถ้าไปสู่ขั้นนั้นแสดงว่า นั่นเป็นวิกฤติแล้ว เราต้องภาวนาว่ารัฐบาลต้องอย่าพัฒนาตัวเองไปสู่ขั้นที่คนเขาจะคัดค้านขับไล่ ต้องหยุดตัวเองให้เป็น
นายธีรยุทธ ยังกล่าวถึงบทบาทกองทัพว่า ที่ ผบ.ทบ. เสนอต่อสาธารณะชนจะไม่ปฏิวัติจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศบอบช้ำจากการรัฐประหารครั้งที่แล้วพอสมควร ในแง่ของภาพพจน์ และทางปฏิบัติจริงๆ ได้พิสูจน์ว่า บุคลากรของกองทัพเอง หรือ ของกลุ่มชนชั้นนำที่เรียกว่า อำมาตย์ ค่อนข้างมีวิสัยทัศน์แบบอนุรักษ์นิยมเกินไป ค่อนข้างล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ และความสามารถ ในการจัดการปัญหาก็ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นจะมีรัฐประหารอีกหนจะเป็นการซ้ำเติม ให้ประเทศแย่ลงไปอีกเพราะมันคลี่คลายปัญหาไม่ได้
“ผมยังห่วงความรุนแรงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และถ้าเกิดก็จะยืดเยื้อเกิดบ่อย และขยายตัว กองทัพอาจจะอ้างสถานการณ์เข้ามาแทรกแซง ห่วงตรงนี้ ซึ่งตรงนี้ มองในอีกหลายปีข้างหน้า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมหลายด้าน เพราะปัญหาการเมืองมีหลายวิกฤติเมื่อรับเลือกมาก็มีความชอบธรรม แต่กลับจะมีการใช้อำนาจ การลิดรอนสิทธิประชาชน”

เผยสังคมลดความสำคัญทางวัยวุฒิลง
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลยืนยันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจแก้ไขกฎหมายให้ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองพ้นผิด และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับมาเล่นการเมืองอีกจะเป็นความชอ บธรรมหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า คนจะมองว่า เอื้อให้กับคดีความคอร์รัปชั่น และมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ ส่วนกรณี 111 คน เป็นเรื่อง ปลายเหตุมากกว่า ถ้ารัฐบาลเสนอดีๆ ก็จะมีคนรับฟัง
ส่วนคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะจบสิ้นปลายปีนี้ จะเป็นการจุดชนวน หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากตัดสินคดีอย่างใดอย่างหนึ่ง คนคงไม่พอใจ ที่ผ่านมา สังคมไทยพยายามแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งด้วยวิธีการต่างๆ ทุกวิธีแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าองค์กรอิสระ คตส. ,ป.ป.ช. มีหน้าที่ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐาน หาความจริง และศาลก็จะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าศาลตัดสินมาเราก็ควรจะฟังและถือเป็นข้อเท็จจริง จะเป็นหนทางเดียวที่จะจบเรื่องในบ้านเมืองได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันถึงความเสื่อมของสังคมไทย ที่ประสบขณะนี้ คือความเสื่อมจากผู้ใหญ่ที่เตือนแล้วมักไม่มีใครฟัง อย่างที่ ผบ.ทร.บอกว่าจะมีผู้ใหญ่มาแก้ไขบ้านเมือง จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนยืนยันในภาพรวมว่า การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก บทบาททางวัยวุฒิ จนกระทั่งบทบาทความสามารถได้ถูกลดความสำคัญลง ความสำคัญจะกลายไปสู่ประชากรมากขึ้น กระบวนการเลือกตั้งมีบทบาทสำคัญในการคัดสรรคน มีกระบวนการ คนก็พอใจหรือเป็น ส.ส.ที่รากหญ้าเลือกมา ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่กระบวนการ คุณวุฒิก็ลดความสำคัญลงไปทั่วประเทศโดยทุกภาคเฉลี่ยลดลง
ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมไทยหรือผู้ใหญ่ควรจะเป็นผู้แก้ปัญหาความขัดแย้ง นายธีรยุทธ กล่าวว่า ในพื้นฐานสังคมจะต้องตัดสินด้วยตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะกระบวนการของประชาชน แต่ก็ยังมีภาระหน้าที่ที่คนอื่นทำได้ เช่น หน้าที่ในการออกมาแสดงความเห็น ทัศนคติเตือนสติคนก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ไม่ทำก็ไม่ได้ แต่อย่าไปมอบหมายให้ให้เกินสถานะหรือบทบาท

ติงไม่ควรใช้อำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
ส่วนจุดยืนในการแก้รัฐธรรมนูญ ควรจะทำในเรื่องของการป้องกันคอร์รัปชั่น แต่ไม่ควรจะแก้ไขมาตรา 237 หรือผลประโยชน์ทางการเมืองใช่หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญมาจาก คมช. แต่ก็ผ่านกระบวนการลงประชามติ ถือว่ายังผ่าน ความชอบธรรมในส่วนนี้อยู่ แต่ยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไข ซึ่งก็ต้องอยู่ใน กระบวนการที่เหมาะสม สังคมควรจะใช้โอกาสมาพูดคุยกันว่า กติกาใหญ่ของบ้านเมือง ใช้สติปัญญา เหตุผล ความรู้ เพื่อที่จะแก้ไข เชื่อว่าเป็นโอกาสที่ดี ไม่ใช่แก้แบบใช้อำนาจ ไม่ใช่บรรทัดฐานที่ดี
สำหรับข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า ที่มาของ องค์กรอิสระมาจากการสรรหา ก็ทำได้โดยเลือกให้สถาบันหรือองค์กร ตรงนี้ไม่ใช่ เฉพราะรัฐธรรมนูญปี 50 แต่รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ใช้สถาบันทางวิชาการ เป็นหลัก ในการให้บุคคลเข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ แต่ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 50 ก็ได้ลดความสำคัญของสถาบันวิชการลง และเพิ่มให้กับสถาบันศาล แต่อำนาจต้องเป็น อำนาจตรวจสอบ ไม่ใช่อำนาจที่จะใช้บริหารหรืออำนาจทางนิติบัญญัติเอง อย่างไรก็ตามบางมาตราก็มีการก้าวล่วงในเรื่องอำนาจ ซึ่งคิดว่ายังขาดความเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น