xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวและน้ำมัน - ประเด็นการเมืองร้อนแรง

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ข่าวที่ฮือฮามากในระยะนี้คือข่าวเกี่ยวกับการขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะเดียวกันก็เกิดข่าวการที่ข้าวขาดแคลนจนหลายประเทศงดการส่งข้าวออก เช่น เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น และต่างก็วิเคราะห์กันว่าที่การเพาะปลูกมีผลผลิตน้อยนั้นเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาทางสภาพอากาศ การใช้ที่ดินทางเกษตรเพื่อปลูกผลิตผลเกษตรที่นำไปสู่การแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมและพลังงานคือไบโอดีเซล เป็นต้น จนเกิดความวิตกวิจารณ์กันว่าการขาดแคลนอาหารอาจทำให้เกิดทุพภิกขภัย ความปั่นป่วนและไร้เสถียรภาพทางการเมือง อาจเกิดการจลาจลและฆ่ากันตายเพราะแย่งอาหารกันกิน

แต่สิ่งที่ฮือฮามากก็คือกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำเตือนของธนาคารโลกที่ว่า ประเทศที่ผลิตอาหารอย่าเอาพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชน้ำมันหรือปลูกอย่างอื่น ซึ่งคำเตือนดังกล่าวนั้นหมายถึงการต้องพยายามไม่สร้างการขาดแคลนอาหารในโลก แต่ขณะที่ธนาคารโลกกล่าวเช่นนั้นคงลืมไปว่าที่ต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชเพื่อทดแทนน้ำมันนั้นก็เพราะการขึ้นราคาน้ำมันของผู้ผลิตนั่นเอง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าใครคือต้นเหตุและตัวการที่แท้จริง

คำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทย มีเนื้อหาคำต่อคำดังต่อไปนี้คือ “เมื่อก่อนบาร์เรลละ 100 ก็บ้ากันแล้ว ตอนนี้มาถึง 117 ดอลลาร์ (นายสมัครพูดก่อนจะขึ้นเป็น 119 ดอลลาร์) ไอ้พวกเวิลด์แบงก์มันพูดว่า ประเทศที่ผลิตอาหารอย่าเอาพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชน้ำมันหรือปลูกอย่างอื่น ผมถาม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ว่าเวลามันด่าเรา เคยด่ามันกลับไปบ้างหรือเปล่าว่า พวกมึงขึ้นน้ำมันแบบนี้ไม่มีเหตุผล ขึ้นเอา ขึ้นเอา น้ำมันยังไม่หมดโลกเลย แต่ขึ้นราคากันแบบไม่มีเหตุผล พวกมันไปสุมหัวประชุมกัน เวิลด์แบงก์กลัวอาหารการกินจะขาดแคลน แล้วไอ้พวกขายน้ำมันทำเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนเคยคิดจะจัดการกันบ้างหรือเปล่า ขึ้นราคาไม่มีเหตุผล พอโลกปั่นป่วนหัวเราะชอบใจกันใหญ่ แต่พอข้าวราคาแพงขึ้นมาหน่อยทำมาชี้นิ้วว่า อย่าไปปลูกพืชเพื่อทดแทนน้ำมัน โธ่...” (จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 24 เมษายน 2551 หน้า 6)

คำสัมภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีอาจจะดูเป็นการพูดจาโผงผางตรงไปตรงมาซึ่งไม่สอดคล้องกับวิธีการทางการทูต แต่หลายคนอาจจะมองว่ามีน้อยคนนักที่จะกล้าพูดแสดงความคิดเห็นอย่างแข็งกร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศใหญ่ซึ่งกุมกลไกสำคัญของเศรษฐกิจโลก อันได้แก่ ธนาคารโลก

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างแน่นอนสำหรับบุคคลที่มีความคิดอิสระและมีใจเป็นธรรม มีข้อมูลและความรู้พอสมควร คงจะสามารถยืนยันได้ว่า สิ่งที่นายสมัคร สุนทรเวช พูดมานั้นไม่ผิดเพราะข้อเท็จจริงบ่งบอกอย่างเห็นชัดว่าโลกปัจจุบันหลังสงครามเย็นเป็นโลกที่อยู่ภายใต้การครอบงำของมหาอำนาจตะวันตกมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ โยงใยกับยุโรปตะวันตก และขณะเดียวกันก็มีญี่ปุ่นมาสมทบ ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ระเบียบของโลกนั้นไม่ว่าจะทางการเมือง การพัฒนา การเงิน การค้า ถูกจัดระเบียบโดยมหาอำนาจเหล่านี้ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่สหประชาชาติเป็นองค์กรทางการเมืองที่ต้องการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ แต่สหรัฐฯ ซึ่งมีอังกฤษเป็นลูกคู่เป็นผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญ เรื่องใดก็ตามที่อาจจะขัดต่อความรู้สึกของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติก็จะไม่นำเข้ามาพิจารณา ตัวอย่างเช่น กรณีสงครามเวียดนามและการยกกองทัพเข้าบุกอิรักของสหรัฐฯ โดยเข้าไปละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้น รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กระทำโดยสมัชชาสหประชาชาติไม่มีโอกาสได้พิจารณาทั้งสิ้น

ในส่วนของการพัฒนานั้น ธนาคารโลกก็จะเป็นตัวกำหนดทิศทางซึ่งมีตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว มุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการจำเริญเติบโตจนนำไปสู่การทำลายหลายส่วนที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม การถมคลองในกรุงเทพฯ ทั้งหมดจนทำให้คำว่า เวนิสตะวันตก หายไปจากความทรงจำก็คือการปฏิบัติตามแนวการพัฒนาที่มุ่งความเจริญทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ในส่วนของการเงินนั้นก็มี IMF เป็นตัวกำหนด บางครั้งก็เสนอนโยบายที่ผิดๆ หรือขัดแย้งกันเองในองค์กร หรือขัดแย้งกับธนาคารโลก จนประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลเกิดความสับสนไม่แน่ใจ การค้าเสรีก็ถูกกำหนดในองค์การการค้าโลก ซึ่งประเทศเล็กๆ ที่มีอำนาจการผลิตต่ำเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาซึ่งจะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประเทศใหญ่โดยมีคัมภีร์การอ้างคือ การค้าเสรีและระบบเศรษฐกิจตลาด แต่จะนำไปสู่ราคายาที่แพงลิบลิ่วจนคนยากจนเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว

สภาพโลกร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็มาจากประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นมหาอำนาจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ไม่เคยแสดงท่าทีที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะนักธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นผู้ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบุชอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องการให้เสียค่าใช้จ่ายในการทำให้หมอกควันที่ส่งจากโรงงานเบาบางลง แม้ขณะนี้จะมีความตื่นตัวมากขึ้นโดยการรณรงค์ของอดีตรองประธานาธิบดีอังกอร์ก็ตาม

การพูดจาของประเทศมหาอำนาจรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวนี้จึงต้องฟังหูไว้หู เพราะขณะเมื่อเอ่ยถึงการค้าเสรีก็จะเกิดคำถามว่า การค้าเสรีหมายถึง ใครดีใครได้ คนแข็งแรงรังแกคนอ่อนแอกว่าเช่นนั้นหรือ การโจมตี การเอาเปรียบเรื่องการค้าเสรีด้วยการออกกฎเกณฑ์นอกกรอบภาษีก็ดี การอ้างเรื่องการทุ่มเรื่องตลาดก็ดี การโจมตีเงินตราต่างประเทศโดยได้กำไรสูงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศต่างๆ จนนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ความปั่นป่วนวุ่นวายจนเสียชีวิตและเลือดเนื้อ แต่เมื่อสถาบันการเงินที่ทำการโจมตีเงินตราต่างประเทศขาดทุน ประเทศมหาอำนาจก็จะละเมิดหลักการค้าเสรีหรือหลักกลไกทันที ด้วยการให้เงินค้ำจุนสถาบันการเงินดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในสมัยคลินตันที่เข้าไปพยุงสถาบันการเงิน 13 แห่งในสหรัฐฯ

ในส่วนของน้ำมันนั้นมีการรวมกลุ่มกันผูกขาดการผลิตและการขาย มีองค์กรจัดตั้งแบบผูกขาด (cartel) กำหนดราคาได้ตามชอบใจ ทำการค้ากำไรเกินควร นำไปสู่การกักตุนรวมทั้งเก็งกำไรจนสร้างความปั่นป่วนอันเป็นที่ทราบกันทั่วไป แต่เป็นจริงอย่างที่นายสมัครได้กล่าวไว้ การขอให้ประเทศผู้ผลิตข้าวไม่ปลูกพืชเพื่อทดแทนน้ำมันนั้นก็จะเกิดคำถามสำคัญว่า การที่ต้องทดแทนน้ำมันนั้นเกิดขึ้นเพราะน้ำมันขาดแคลนหรือไม่ เกิดขึ้นเพราะน้ำมันสูงขึ้นด้วยการปั่น และการกำหนดราคาเนื่องจากการผูกขาดใช่หรือไม่ และที่มีการตื่นตัวปลูกพืชแทนน้ำมันเพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปหลายประเทศก็พยายามส่งเสริมเพื่อขายเทคโนโลยี และเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตน้ำมันทั้งในตะวันออกกลางและที่อื่นใช่หรือไม่

ถ้าเป็นเช่นนั้นต้นเหตุของการปลูกพืชเพื่อทดแทนน้ำมันนำไปสู่การขาดแคลนอาหารก็มาจากการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น จากกลไกที่พิกลพิการ เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ได้ ขาดจริยธรรม และการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ เข้าลักษณะมือถือสาก ปากถือศีล ใช้ตรรกที่เข้าข้างพวกเดียวกันเองโดยไม่สำรวจข้อบกพร่องในด้านศีลธรรมและจริยธรรมของกลุ่มตน

คำวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถ้าหากคนของธนาคารโลกก็ดี หรือสมาชิกของมหาอำนาจที่เอ่ยนามมาหลายครั้งก็ดี เห็นว่าไม่ถูกต้อง ขาดข้อมูล หรือใช้วิธีการคิดแบบผิดๆ ก็ควรจะตอบมาให้เป็นกิจลักษณะ และในความเป็นจริงแล้วสิ่งซึ่งมีการกล่าวโดยนายสมัคร สุนทรเวช ก็คือสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้สึกเช่นเดียวกับนายสมัคร เป็นแต่ว่าไม่มีเวทีที่จะแสดงออก หรือในบางกรณีก็มาจากคนซึ่งไม่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง ถูกล้างสมองดื่มด่ำไปกับวิธีการคิดที่ไม่รอบคอบเนื่องจากทำการศึกษาจากประเทศดังกล่าวโดยท่องจำ ไม่สามารถครองความเป็นอิสระในทางวิชาการได้จึงเอาทฤษฎีมาใช้ทั้งดุ้น มองข้ามมิติอื่นที่ถูกปกปิดหรือบิดเบือน

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือ กรณีสงครามอิรัก มีสื่อภาษาอังกฤษที่มีเจ้าของเป็นคนไทยได้นำเอาข่าวจาก CNN มาเผยแพร่ให้กับประชาชนคนไทยเห็นสงครามในอิรัก โดยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า CNN หรือสื่อต่างประเทศดังกล่าวนั้นบ่อยครั้งมิได้มองปัญหาอย่างวัตถุวิสัย มีการบิดเบือนข้อมูล เสนอข่าวแต่เพียงข้างเดียว เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าการยกกองทัพสหรัฐฯ ไปบุกอิรักไม่ผิด สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งซึ่งเป็นของรัฐบาลได้นำเอาข่าวของ Fox News ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเสมือนกระบอกเสียงของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเสนอข่าวนั้นมีบางครั้งบอกว่า We have won ทนที่จะเป็นสื่ออย่างเป็นกลาง แต่แสดงความเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างเห็นเด่นชัดที่สุด

จากที่กล่าวมาแล้วก็ได้มีการตื่นตัวรวมทั้งมีการประท้วงคัดค้านในกรณีการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศที่รายงานเรื่องการจลาจลในทิเบต โดยชาวจีนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเป็นการให้ข่าวเพียงข้างเดียว มองจากมุมเดียว จึงมีการแสดงการคัดค้านไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีทีท่าว่าอาจจะมีการคว่ำบาตรโดยไม่ซื้อสินค้าที่มีการลงทุนในประเทศจีน

คำถามหนึ่งก่อนที่จะจบบทความนี้คือ ถ้าประเทศตะวันตกมีศรัทธาอย่างจริงจังในระบบเศรษฐกิจตลาด พร้อมหรือไม่ที่จะเปิดตลาดแรงงานเพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการจำกัดจำนวนที่จะเข้าเมือง และถ้ามีความเชื่อในเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนอันเป็นหลักการสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจริง สมควรหรือไม่ที่ห้างสรรพสินค้าต่างชาติในประเทศไทยแห่งหนึ่งฟ้องร้องสื่อมวลชนที่เสนอข่าวเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่วิเคราะห์วิจารณ์ทำนองว่าเป็นการค้ากำไรที่ไม่ยุติธรรม

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็น double standard หรือมาตรฐานสองชั้นของประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารในขณะนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีอาจถูกมองว่าพูดจาไม่เหมาะสม ผิดหลักการทางการทูต และในทางการเมือง แต่สิ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช พูดไม่ผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น