xs
xsm
sm
md
lg

‘เฟด’ ต้องเปลี่ยนวิธีก่อน ‘เงินเฟ้อผสมฝืด’ มาเต็มตัว

เผยแพร่:   โดย: ฮอสเซน อัสคารี และนูเรดดีน กรีเชน

The Fed and the stagflation specter
Hossein Askari and Noureddine Krichene
2/04/2008

ในช่วง 7 ปีที่แล้ว เฟดใช้นโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มากเกินไป ซึ่งประกอบด้วยการลดดอกเบี้ย โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อ มาถึงเวลานี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วที่จะยับยั้งเงินเฟ้อได้ การดึงดันใช้วิธีปัจจุบันต่อไปจะทำให้วิกฤตยิ่งเลวร้าย

ดัชนีเศรษฐกิจหลายๆ รายการที่ปรากฏออกมาในระยะนี้ ล้วนแต่พาให้ต้องวิตกกลัดกลุ้ม พร้อมกับนำมาซึ่งความหวาดหวั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกภายในยุคที่ปัจจัยต่างๆ สามารถส่งผลกระทบถึงกันและกันได้อย่างกว้างขวาง นับจากเดือนสิงหาคม 2007 มาถึงปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลงลึกถึงระดับ 1.55 ดอลลาร์ต่อยูโร จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 1.37 ดอลลาร์ต่อยูโร ในเวลาเดียวกัน ราคาน้ำมันก็ทะยานถึงระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมกับส่งให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องกินต้องใช้ พากันปรับตัวสูงขึ้นไปทุกสิ่ง ด้านราคาทองคำซึ่งแม้จะปรับลดลงมาบ้างก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับราคาเมื่อปีที่แล้ว ก็นับว่าสูงขึ้นอย่างมาก จากระดับ 670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในเวลาเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ กับราคาสินค้าหมวดอาหาร พร้อมใจกันพุ่งสูงขึ้นในทุกถิ่นทั่วโลกด้วยอัตราเพิ่มที่ร้อนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

พร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวเหล่านี้ วิกฤตสินเชื่อได้ฉายแสงทะมึนแห่งลางร้ายทาบบนระบบการเงินของโลก เป็นที่หวาดผวาต่อฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะในแวดวงรัฐบาลของนานาประเทศ ภาคธุรกิจ และกระจายไปทั่วในระดับรายบุคคลรอบโลก ในการนี้ ปัจจัยที่รองรับอยู่ภายใต้สภาพการณ์ชวนเครียดทั้งปวง ที่แท้คือการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนและหละหลวม สำทับด้วยการกำกับดูแลภาคการเงินอย่างหละหลวมพอๆ กัน ซึ่งปัจจัยทั้งคู่นี้ส่งผลไปหนุนเนื่องเป็นภาวะราคาเฟ้อพุ่งสูงในภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งในราคาสินค้าและบริการทั้งหลาย

ภาวะราคาเฟ้อที่ว่านี้ หมายถึงปรากฏการณ์ควบคู่ทั้งอัตราเพิ่มขึ้นสูงในด้านราคา กับอัตราอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วในด้านค่าเงิน และนัยยะของภาวะราคาเฟ้อสำหรับครัวเรือนและมนุษย์เงินเดือน หมายถึงการที่ความยากจนขยายตัว เนื่องจากครัวเรือนและมนุษย์เงินเดือนยังมีรายได้เท่าเดิม ดังนั้นปริมาณอาหารและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นทั้งหลายย่อมลดน้อยลง นอกจากนั้นภาวะราคาเฟ้อยังเข้าไปเบียดบังดุลเงินสดที่ผู้คนและบริษัทธุรกิจครอบครองอยู่ กล่าวคือ รายได้แท้จริงถูกกันกร่อนให้กระถดหายไป ขณะที่สินทรัพย์ทางการเงินส่วนใหญ่ก็สูญเสียอำนาจซื้อไปไม่มากก็น้อย

คนที่มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินบำนาญเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบรุนแรงในยามที่ค่าครองชีพถีบทะยานสูง ภาวะราคาเฟ้อทำให้ผู้กู้เงินได้ประโยชน์ แต่ต้นทุนไปตกอยู่กับผู้บริโภคและเจ้าหนี้ พร้อมกับกัดกร่อนการออมเงิน และสร้างความเสียหายมากมายในด้านของสวัสดิการสังคม

เมื่อภาวะราคาเฟ้อขยายตัวด้วยอัตราเร่งที่สูงขึ้น สินค้าก็เข้าถึงตลาดได้น้อยลง ขณะที่ผู้ผลิตทำเงินได้มากขึ้นด้วยปริมาณสินค้าที่ลดลง ภาวะเงินเฟ้อเป็นตัวทำลายศักยภาพการแข่งขัน ทำลายความสามารถทางการผลิต สร้างความบิดเบือนด้านภาวะราคา และเพิ่มต้นทุนการทำธุรกรรม ยิ่งถ้าคนงานรู้สึกเหลืออดและลุกขึ้นมาเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเพื่อชดเชยอำนาจซื้อที่หายไป ภาวะเงินเฟ้อจะยิ่งเร่งปรากฏการณ์ลบทั้งหลายให้พุ่งสูงลิ่วตามๆ กันขึ้นไป

คำถามสำคัญตรงนี้จึงมีอยู่ว่า โลกของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา มาถึงสภาพเงินเฟ้อขยายตัวรุนแรงได้อย่างไร และได้มาถึงจุดจบของความมั่งคั่งอันยืนยาวกว่า 3 ทศวรรษ ได้อย่างไร

สาเหตุพื้นฐานประการหนึ่งคือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เฟด) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2000 โดยเป็นนโยบายที่หนุนการขยายตัวมากเกินไป ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่เฟดมักตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมือง หรือถูกกดดันให้ใช้มาตรการทางการเงินไปสนับสนุนการเพิ่มภาวะขาดดุลของภาครัฐ (ดู มิลตัน ฟรีดแมน: A Program for Monetary Stability ตีพิมพ์ปี 1959) ด้วยเหตุเหล่านี้ นักวิชาการอย่างฟรีดแมน ได้สร้างกฎสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินซึ่งทำให้การทำงานของพวกเฟดสามารถถูกประเมินผลงานได้ และได้เตือนห้ามการใช้อำนาจที่ขาดขอบเขต

ในช่วง 7 ปีที่แล้ว เฟดใช้นโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มากเกินไป ซึ่งประกอบด้วยการลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมานับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ในขณะที่การกู้ในตลาดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเต็มไปด้วยสินเชื่อที่ทำกันอย่างขาดความรับผิดชอบ ส่งผลในทางเร่งภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัย นอกจากนั้น ยังไม่ใส่ใจกับการอ่อนตัวรวดเร็วในค่าเงินดอลลาร์

ภายในโลกโลกาภิวัตน์ ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ก็ล้วนแต่เดินนโยบายการเงินในทำนองเดียวกันกับเฟด อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของประเทศใหญ่ทั้งหลาย พากันลดต่ำลงไม่มากก็น้อย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุปสงค์แพร่ลามไปทั่วโลก ไม่ว่าจะในด้านของสินค้า บริการ สินทรัพย์ หรือสินค้าการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์

นโยบายลดดอกเบี้ยที่เฟดใช้ ช่วยลดต้นทุนของเงินกู้ที่รัฐบาลอเมริกันจัดหาไปสนับสนุนนโยบายขาดดุลของตน ซึ่งทวีตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าปริมาณหนี้ในความรับผิดชอบของรัฐบาลอเมริกันพุ่งขึ้นหนึ่งเท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 6 ปี ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยก็ไต่ระดับขึ้นด้วยอัตราขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ เคียงข้างไปกับราคาเชื้อเพลิง ราคาทอง และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอย่างมากมาย

ในอันที่จะดึงให้อัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ได้นั้น เฟดอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดการเงินอย่างเหลือเฟือ เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบแบงก์พาณิชย์ที่ต้องมีเม็ดเงินเพียงพอแก่การกันสำรองสินทรัพย์เสี่ยง และเพียงพอแก่การขยายสินเชื่อ ปริมาณเงินทวีตัวขึ้นเร็วกว่าการเติบโตแท้จริงและแซงหน้าอุปทานด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ในเมื่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินขาดการรองรับของสินค้าและบริการ ผลกระทบที่ปรากฏเด่นชัดจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ก็คือการที่ระดับราคาสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ความสืบเนื่องจากนโยบายการเงินที่หละหลวมนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำนาย

เฟดมุ่งหน้าสู่เป้าหมายหลายด้านภายในเวลาเดียวกัน ได้แก่ การฟื้นระดับราคาที่อยู่อาศัย เพื่อที่ว่าผู้ที่เป็นเจ้าของจะคิดตลอดเวลาว่าตนยังมั่งคั่งอยู่และสามารถจับจ่ายฟุ่มเฟือยต่อไปได้อีกนาน ในอีกด้านหนึ่งเป็นการรักษาระดับดัชนีหุ้นให้อยู่ในทิศทางขาขึ้น พร้อมกับอนุรักษ์ให้มีการจ้างงานเต็มที่ ในกระบวนการที่เฟดใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เฟดใช้วิธีที่จะลดผลกระทบด้านลบจากปัญหาเงินเฟ้อลงให้น้อยที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นบ่งชี้ชัดว่าเฟดถูกครอบงำด้วยความเชื่อว่าจะสามารถบรรลุทุกเป้าหมายได้อย่างพร้อมพรัก ด้วยการลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ดังนั้น เฟดจะออกโรงอย่างรีบเร่งเมื่อเกิดสภาพการณ์หุ้นตกต่ำรุนแรงด้วยมาตรการลดดอกเบี้ยกับการอัดฉีดสภาพคล่องหลายพันล้านดอลลาร์เข้าไปแบบไม่มีกำหนดการที่จะถอนถอยกลับจากแนวทางผ่อนปรนอย่างที่สุดนี้

ความเสียหายโดยเฟด
นับเนื่องถึงขณะนี้ เฟดยังไม่เคยตระหนักเลยว่าการดำเนินการของพวกตนได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงเพียงใด นับจากเดือนสิงหาคม 2007 เมื่อเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยลงอย่างเอาจริงเอาจัง การปั๊มสภาพคล่องหลายพันล้านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการโปรยเงินกระดาษเข้าไปโดยไม่มีผลผลิตแท้จริงรองรับ และมีแต่จะเพิ่มแรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าและบริการ

สถานการณ์นับวันแต่ละย่ำแย่หนักข้อมากขึ้น หากเฟดหลีกเลี่ยงที่จะใช้การดำเนินการด้วยความหละหลวมเช่นนี้ ความเสียหายที่ปรากฏอยู่ในดัชนีทางการเงินคงไม่ปรากฏร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่ เฟดนั้นเพียงหวังจะได้เจอกับมหัศจรรย์ที่ยังไม่เคยมีธนาคารกลางรายใด หรือรัฐบาลชุดใดสามารถทำได้ นั่นคือการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการขยายตัวด้านเงินเฟ้อและการที่สภาพการณ์ทางการเงินเสื่อมถอยรุนแรงมากขึ้น

ความเป็นจริงได้แสดงตัวออกมาแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงมาได้สร้างวงจรแห่งความชั่วร้ายที่ประกอบขึ้นจากการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์และการพุ่งสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิง ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมอาจจะลดต่ำลง แต่การเพิ่มในด้านราคาเชื้อเพลิงและปัจจัยการผลิตจะไปกินในส่วนที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ยนั่นเอง และลงท้ายแล้วต้นทุนการผลิตโดยรวมก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ส่วนที่แย่กว่านั้นคือ มันไปบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือน

ในระดับระหว่างประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์นับแต่จะสูญเสียฐานะความเป็นเงินตราที่ชาติต่างๆ นิยมใช้เป็นทุนสำรองนั้น การหมุนเวียนของเงินทุนที่เคยหลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐฯ ก็มีแต่จะลดน้อยไป การค้าของโลกจะหันไปถือเงินตราสกุลอื่นตราบเท่าที่เงินตราสกุลเหล่านี้ยังมั่นคงสมราคากับอำนาจซื้อแท้จริงของประเทศนั้นๆ ถ้าเงินสกุลเจ้าใดสูญเสียอำนาจซื้อ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือประเทศต่างๆ (ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค) ก็จะทยอยถอยออกจากการถือเงินตราสกุลนั้นๆ พร้อมกับลดการป้อนผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้แก่ประเทศเจ้าของเงินตราสกุลดังกล่าว สิ่งอื่นๆ ที่จะตามมาคือ การค้าโลกจะชะลอลงอย่างมากมาย และเช่นเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะชะลออย่างฮวบฮาบด้วย

ทางออกแก่ปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบัน ไม่ในกลวิธีใดใหม่เอี่ยม หากเป็นวิธีที่ พอล โวล์กเกอร์ อดีตประธานเฟดเคยใช้ความกล้าหาญและการมองการณ์ไกล ผลักดันนโยบายยาขมออกมากอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในทศวรรษ 1970 และช่วงต้นทศวรรษ 1980 นโยบายของโวล์กเกอร์ประกอบด้วยการควบคุมการโตของปริมาณเงิน และให้โอกาสแก่ระบบเศรษฐกิจที่จะปรับตัวได้กับนโยบายการเงินที่เน้นความมั่นคงและปลอดภัย

การควบคุมฐานเงินคือหลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในทฤษฎีปริมาณเงิน และแนวคิดนี้ได้รับการแนะนำให้ใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์คนดังคือ มิลตัน ฟรีดแมน ผู้ล่วงลับไปแล้ว ในการนี้ เงินที่รัฐบาลสามารถสั่งพิมพ์เพิ่มได้ตามใจชอบ ไม่ใช่เครื่องมือที่ควรนำมาใช้แก้ปัญหาการขาดดุลชำระเงิน หรือแก้ปัญหาตลาดหุ้นตกต่ำ หรือแก้ปัญหาใดๆ ไม่ว่าปัญหาเหล่านั้นจะร้ายแรงราวใดก็ตาม

ตลาดงานที่มีการจ้างงานเต็มที่มักถูกอ้างว่าเป็นเป้าหมายหนึ่งของนโยบายทางการเงิน พร้อมกับเป็นข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมของธนาคารกลางที่จะผ่อนปรนนโยบายทางการเงิน กระนั้นก็ตาม การช่วยให้ตลาดงานมีการจ้างงานเต็มที่นั้น เห็นได้ชัดจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือทั่วไป ว่าไม่ได้อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของธนาคารกลาง

สิ่งที่ธนาคารกลางได้รับมอบหมายให้ดูแลคือ การบริหารจัดการด้วยความมั่นคงในเรื่องของสภาพคล่อง และในเรื่องของระบบการธนาคาร การดูแลให้ตลาดงานมีการจ้างงานเต็มที่เป็นเป้าหมายระยะยาวของยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาล นโยบายการเงินอาจจะมีส่วนช่วยได้เฉพาะเพียงในบริบทที่จะสนับสนุนความปลอดภัยและมั่นคงในตลาดงาน

หลักการพื้นฐานของการดำเนินงานด้านธนาคารกลาง คือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านการเงินต้องปฏิบัติตามแนวทางดั้งเดิมทางการเงิน และตามกฎว่าด้วยความปลอดภัยทางการเงิน เพื่อปกป้องมูลค่าของเงินตรา และเพื่อบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ในอันที่จะกำกับดูแลระบบการธนาคาร

พันธกิจของธนาคารกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติควรจะบังคับให้ธนาคารกลางยึดมั่นกับพันธกิจของตนเพื่อจะดำเนินงานด้านนโยบายการเงินอย่างปลอดภัย ในการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนี้ ธนาคารกลางควรมุ่งไปที่การควบคุมการเติบโตของปริมาณเงิน และมุ่งยึดมั่นอยู่กับนโยบายสินเชื่อที่มั่นคงและปลอดภัย

ด้วยการมีปริมาณเงินที่มีเสถียรภาพ ระบบเศรษฐกิจจะสามารถปรับตัวได้กับแต่ละครั้งที่เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ หรือถูกแรงกระแทกจากภายนอก ธนาคารกลางควรเห็นคุณค่าในความจำกัดที่คุมบทบาทของตน นโยบายทางการเงินไม่ได้หมายให้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาฉับไวให้แก่ทุกปัญหาทางเศรษฐกิจ เท่าที่ผ่านมา มีแต่ประเทศยากจนที่ใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาฉับไว โดยการพิมพ์เงินออกมาแก้ปัญหานั้น

การเข้มงวดอยู่กับการควบคุมปริมาณเงินและการยอมรับการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างชั่วคราวเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัว คือวิธีเดียวที่ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายจะประคองประเทศผ่านสถานการณ์ความเสื่อมถอยทางการเงินและทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ หาไม่แล้ว ภาวะเงินเฟ้อผสมเงินฝืดจะยิ่งทวีความเลวร้ายและเรื้อรังกว่าการยอมเสียบางส่วนเพื่อให้ระบบมีโอกาสปรับตัว

กฎทางการเงินด้านดอกเบี้ยเป้าหมายมิใช่การเสี่ยงกับความปลอดภัย และเป็นที่รู้กันดีว่าสามารถส่งผลเป็นการเฟื่องฟูหรือล่มสลายทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อความปลอดภัยเป็นเป้าหมายระดับแรกๆ และเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนที่จะเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน การจ้างงาน และความรุ่งเรือง ระบบเศรษฐกิจไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะสลัดหลุดออกจากปัญหาเงินเฟ้อนอกจากวิธีลดฐานเงิน ทั้งนี้ ยิ่งธนาคารกลางดำเนินการลดปริมาณเงินในระบบอย่างรวดเร็วและเอาจริงมากเพียงใด ระยะเวลาที่ระบบต้องเผชิญกับการหดตัวก็จะยิ่งสั้นเพียงนั้น อีกทั้งระบบเศรษฐกิจก็จะกลับสู่เส้นทางเศรษฐกิจอันมั่นคงในระยะยาวได้เร็วเพียงนั้น

การปล่อยให้สภาพปัจจุบันเดินหน้าไปเรื่อยๆ จะซ้ำเติมความรุนแรงของวิกฤต ซึ่งขณะนี้ได้ขมวดเกลียวขึ้นเป็นวงจรชั่วร้ายที่โหมกระพือให้แก่กันและกัน ทั้งด้านดอกเบี้ยต่ำ ดอลลาร์อ่อนค่า ราคาเชื้อเพลิง ทอง อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคแข่งกันทะยานขึ้น จนกลายเป็นการเร่งแรงกดดันเงินเฟ้อ และบั่นทอนความเป็นไปได้ที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในเวลาเดียวกัน เฟดและฝ่ายต่างๆ ที่คุมกฎของระบบเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ควรยอมรับว่าวิกฤตในขณะนี้ไม่ได้เป็นเกิดจากดอกเบี้ยสูง ดังนั้น มันจะไม่หายไปด้วยการทำให้ดอกเบี้ยต่ำ ความเสื่อมทรามในด้านสินเชื่อที่ระเบิดขึ้นมาแล้วนั้น เป็นอีกหนึ่งคมมีดของกรรไกรซึ่งได้สร้างบั่นทอนความสามารถของตลาดการเงินในอันที่จะทำหน้าที่ได้ตามปกติ

พวกผู้คุมกฎต้องค้ำจุนทุกๆ ส่วนของตลาดที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการมีส่วนเกินมากไป แต่เกิดจากความกลัวที่แผ่ซ่านไปทั่วตลาด ทั้งนี้ หมายรวมถึงตลาดพันธบัตรในระดับเทศบาล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนับว่าปลอดภัย แต่อาจเสียหายได้ถ้าผู้คุมกฎไม่ก้าวเข้าไปช่วยค้ำประกัน

โดยสรุป นโยบายการเงินที่สุขุมรอบคอบและได้รับการค้ำจุนโดยให้โครงการความช่วยเหลือและการค้ำประกันแก่บางตลาดอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานทางการในระดับชาติ คือยารักษาที่ทางการควรนำมาใช้กับตลาดการเงินตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดมากขึ้น

ฮอสเซน อัสคารี เป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ส่วนนูเรดดีน กรีเชน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank) ในเมืองเจดดะห์
กำลังโหลดความคิดเห็น