ผู้จัดการออนไลน์-- นายไบรซ์ คลาเก็ต นักกฎหมายผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ และ เคยช่วยให้กัมพูชามีชัยชนะเหนือประเทศไทยในกรณีพิพาทเขาพระวิหารเมื่อปี 2505 ได้ถึงแก่กรรมวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ชาวกัมพูชาจำนวนมากแสดงความโศกเศร้าอาลัย
ไบรซ์ แม็คอาดู คลาเก็ต (Brice McAdoo Clagett) ถึงแก่กรรม ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ด้วยอายุ 74 ปี เนื่องจากหัวใจวายเฉียบพลัน หลังประกอบอาชีพทนายความกับสำนักงานกฎหมายคัฟเวอร์ตันและเบอร์ลิ่ง (Coverton and Burling) มาเป็นเวลา 4 ทศวรรษ
คลาเก็ตมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน รวมทั้งกฎหมายเอกชนและกฎหมายระหว่างประเทศ การอ้างสิทธิระหว่างประเทศ การรอมชอมระหว่างประเทศ เขตน่านน้ำแดนดินระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎหมายอิสลามของบรรดาประเทศตะวันออกกลางด้วย
ในปี 2504 นายดีน อาชีสัน (Dean Archeson) อดีตรัฐมนตรีต่างประทศสหรัฐฯ ได้ขอร้องให้คลาเก็ตเป็นที่ปรึกษาของคณะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ในกรีพิพาทกับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับเขตแดนด้านเขาพระวิหาร
แต่รัฐบาลของเจ้าสีหนุนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้แต่งตั้งนายอาชีสันเป็นประธานคณะผู้แทน ส่วนคลาเก็ตเป็นหัวหน้าคณะในการว่าความ จนสามารถทำให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาไป ขณะที่ชายแดนส่วนใหญ่ระหว่างสองประเทศยังคงเป็นกรณีพิพาทต่อมาจนทุกวันนี้
เวลาต่อมาคลาเก็ตผ่านการต่อสู้อีกหลายกรณี รวมทั้งกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐกับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลหลายประเทศในการเจรจาไกล่เกลี่ยหรือแก้ไขกรณีพิพาทต่างๆ
เกิดในวอชังตันดีซี จบไฮสกูลจากเซนต์อัลบานส์ (St Albans) ในปี 2493 เรียนสำเร็จกฎหมายด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาบัณฑิตนิติศาสตร์เกียรตินิยมสูงสุด (maxima cum laude) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ต่อมาคลาเก็ตได้รับทุนโรตารีไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัลลาฮาบัด (Allahabad) ประเทศอินเดีย
เริ่มเข้าทำงานที่สำนักทนายความคัฟเวอร์ตันแอนด์เบอร์ลิง ปี 2501 และเป็นหุ้นส่วนในอีก 11 ปีต่อมาจนกระทั่งเกษียณเมื่อปี 2545
ชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยได้ไว้อาลัยให้แก่นายคลาเก็ตในฐานะมิตรแท้ในยามที่ประเทศนี้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวกับเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งกว่า แต่บางคนก็กล่าวว่าสหรัฐฯ มุ่งหวังกอบโกยผลประโยชน์จากกัมพูชาเพียงแต่ว่ายังไม่มีโอกาส
คลาเก็ตช่วยให้กัมพูชาได้ปราสาทพระวิหารไปครอบครอง แต่เพียง 2 ปีหลังจากนั้นรัฐบาลของเจ้าสีหนุได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศ ตีตนห่างเหินจากสหรัฐฯ เริ่มหันไปใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์ปักกิ่ง
สหรัฐฯ ที่เคยหนุนหลังกัมพูชาในกรณีพิพาทเขาพระวิหารกลับถูกโดดเดี่ยว แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ได้กลายมาเป็นมหามิตรของไทย ต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในคาบสมุทรอินโดจีน
วันนี้สหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาอย่างสุดตัวในการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ขณะที่กรณีพิพาทชายแดนกับไทยในอาณาบริเวณนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข.