xs
xsm
sm
md
lg

‘มรดกของกรีนสแปน’ ปะทะกับ ‘วิธีของโวล์กเกอร์’

เผยแพร่:   โดย: ฮอสเซน อัสคารี และนูเรดดีน กรีเชน

Greenspan’s legacy vs Volcker’s demarche
Hossein Askari and Noureddine Krichene
23/04/2008

ชื่อเสียงของ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เฟด) เสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ในท่ามกลางวิกฤตการเงินโลกที่เรื้อรังไม่จบสิ้น ในขณะที่ พอล โวล์กเกอร์ ประธานเฟดก่อนหน้ากรีนสแปน ซึ่งไม่ใคร่จะได้รับความชื่นชม กลับจะมีชื่อเสียงกระเตื้องขึ้นในระยะนี้ โดยที่ว่า ยิ่งทีมงานเฟดรุ่นปัจจุบันหวนไปใช้วิธีของโวล์กเกอร์เร็วเท่าใด ความมั่นใจของภาคการเงินก็จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วเท่านั้น

ในขณะที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อถีบทะยาน, ค่าเงินดอลลาร์ร่วงดิ่งยากจะฉุดรั้ง, ราคาสินค้าพุ่งระเบิดทั้งหมวดอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจยังหมิ่นเหม่จะเข้าสู่ภาวะหดตัว บรรดานักคิดมากมายมีความเห็นที่ขัดแย้งกันต่อวิธีของอดีตประธานเฟดทั้งสองท่านนี้ ซึ่งแตกต่างกันอย่างยิ่ง

ในช่วงที่ผ่านมา อลัน กรีนสแปน (1987-2006) หมดเวลาไปกับการปกป้องผลงานของตน ขณะที่ พอล โวล์กเกอร์ (1979-87) นำเสนอการวิเคราะห์สถานการณ์อันแสนสาหัสที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับส่งคำเตือนถึงอันตรายนานัปการที่อาจเกิดขึ้นจากการที่เฟดยอมง่ายเกินไปให้กับแรงกดดันทางการเมือง และล้มเหลวที่จะปกป้องค่าของเงินดอลลาร์ ส่วนสำหรับพวกเรานั้น พวกเราจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิธีการอันแสนจะแตกต่างระหว่างอดีตประธานเฟดทั้งสองท่านนี้

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องจากแนวทางจัดการนโยบายการเงินแบบที่หละหลวมเกินไป ซึ่งริเริ่มโดยกรีนสแปน และสืบทอดโดยประธานเฟดคนปัจจุบัน เบน เบอร์นันกี ในการนี้ แนวทางดังกล่าวมุ่งที่จะกดให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงอย่างที่ไม่ได้พบเห็นกันมาหลายทศวรรษแล้ว พร้อมกับขยายปริมาณของสินเชื่อในอัตราเพิ่มสูงอย่างผิดปกติ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน ตลอดจนปล่อยให้เกิดความร้อนแรงในการเก็งกำไรภายในตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดอื่นๆ มากมาย

ในด้านหนึ่ง นโยบายของกรีนสแปนแสดงให้เห็นว่าการปล่อยปละหละหลวมสามารถส่งผลให้เหตุการณ์เตลิดพ้นการควบคุมได้ไกลเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้เคยได้รับการเตือนจาก มิลตัน ฟรีดแมน ผู้ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ กรีนสแปนอิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าการปกครองด้วยอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลาง และจงใจที่จะละเลยการควบคุมยอดปริมาณเงิน ดังเห็นได้จากคำพูดของ อลัน ไบล์นเดอร์ อดีตรองประธานเฟดซึ่งสนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ “เราไม่ได้ทอดทิ้งเรื่องของปริมาณเงิน แต่เรื่องปริมาณเงินเป็นฝ่ายที่ทอดทิ้งพวกเรา”

มุมมองอย่างนั้นภายในเฟดได้นำไปสู่การละเลยที่จะกำกับดูแลปริมาณเงินและการปกครองด้วยระบบความปลอดภัย มันคงเป็นเรื่องมหัศจรรย์หากวิกฤตในปัจจุบันมิได้เกิดขึ้น

ในอีกทางหนึ่ง พอล โวล์กเกอร์ ใช้แนวทางการปฏิเสธการปกครองด้วยดอกเบี้ย แต่มุ่งคุมปริมาณเงิน ซึ่งส่งผลให้โวล์กเกอร์สามารถลดปัญหาเงินเฟ้อขยายตัวรุนแรงระดับเลขสองหลัก (14%) ได้สำเร็จ และลดปัญหาการว่างงาน (12%)

ภาวะเงินเฟ้อที่ดำเนินสืบเนื่องอยู่ทุกวันนี้ สะสมโมเมนตัมแข็งแกร่งมานานกว่า 7 ปีที่เฟดใช้นโยบายต้นทุนเงินถูก และนโยบายอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ในทางกลับกัน ได้สร้างให้เกิดการมองอนาคตด้วยความไม่มั่นใจ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะไปโหมเชื้อความคิดว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ เฟดได้สร้างความไร้เสถียรภาพอย่างใหญ่หลวง ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียความสามารถด้านการเติบโต และทำให้ระดับราคาพุ่งแรงในด้านของอาหาร เชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานต่างๆ พร้อมกับผลักให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่ำเป็นประวัติการณ์

นโยบายต้นทุนเงินถูกที่เฟดใช้นั้น มีแต่จะเร่งให้ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงมากยิ่งๆ ขึ้นไป ในขณะที่การลดดอกเบี้ยและพิมพ์เงินดอลลาร์หลายพันล้านออกมานั้นเป็นการดำเนินการที่ปราศจากต้นทุน แต่การกระทำเหล่านี้จะไม่ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกให้มากขึ้นกว่าระดับ 80 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ในเร็ววัน (ทั้งนี้ อัตราการผลิตที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นส่วนที่มาจากกลุ่มโอเปค ส่วนอีก 50 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาจากประเทศนอกกลุ่มโอเปค) ในอนาคตอันใกล้ ผลผลิตน้ำมันจะมากดดันจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การยิ่งขยายปริมาณเงินเพิ่มมากขึ้นจะยิ่งโหมกระพือปัญหาราคาน้ำมันแพง ผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ให้ทวีสูงขึ้น พร้อมกับกดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปอีก

แรงกดดันจำกัดในแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นกับกรณีของสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย รวมทั้งอาหารด้วย ความเปราะบางในตลาดน้ำมันและตลาดอาหารอาจจะรุนแรงมากขึ้น และอาจนำไปสู่การที่ต้องใช้การปันส่วนน้ำมันและอาหารในบางรูปแบบ หากเกิดเหตุการณ์การขาดแคลนผลผลิตอย่างปุบปับและรุนแรง การดำเนินการต่างๆ ที่เร่งภาวะเงินเฟ้ออาจนำไปสู่สภาพการณ์ที่ปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคลดน้อยลง การว่างงานพุ่งขยาย การกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรม ความยากจน และปัญหาทุโภชนา

นับว่าเป็นการเขลาอย่างยิ่งที่จะเชื่อว่า ในยามที่ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงเกินความสามารถที่จะควบคุมนี้ การใช้นโยบายต้นทุนเงินถูกจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และฟื้นฟูให้การจ้างงานกลับไปเป็นปกติ แน่นอนว่านโยบายดอกเบี้ยแพงและเข้มงวดด้านปริมาณเงินไม่ได้เป็นตัวนำพาเรามาอยู่ในภาวะย่ำแย่ในขณะนี้ กระนั้นก็ตาม นโยบายต้นทุนเงินถูกก็ไม่อาจดึงเราออกจากภาวะย่ำแย่นี้ได้

นโยบายการเงินแบบขยายจะไม่มีวันนำมาซึ่งการฟื้นตัว ตราบที่พลวัตของเงินเฟ้อยังปักหลักอยู่ สิ่งที่นโยบายนี้จะนำมาให้ได้คือ ความไร้เสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่มากยิ่งขึ้น โมเดลการขยายตัวด้วยการเร่งอุปสงค์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ โมเดลที่นำเสนอโดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ โมเดลนี้สร้างขึ้นจากสภาพการณ์ที่มีองค์ประกอบต่างๆ แบบยุคเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (Great Depression) โดยกำหนดสมมุติฐานด้วยองค์ประกอบได้แก่ ภาวะการว่างงานด้วยความจำเป็น/จำใจ การปราศจากค่าจ้าง และการเฟ้อของราคา สิ่งเหล่านี้มิใช่กรณีที่เกิดขึ้นในสภาพการณ์เงินเฟ้อสูงของยุคปัจจุบัน

จะอีกนานเพียงไรที่เฟดจะปล่อยให้ความไร้ความแน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินแผ่ซ่านมากขึ้น ก่อนที่เฟดจะเลิกราออกจากมรดกของกรีนสแปน และรับวิธีของโวล์กเกอร์มาใช้ หรือว่าราคาน้ำมันจะต้องทะยานไปถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเสียก่อน หรือว่าเงินดอลลาร์จะต้องถล่มลงถึง 2 ดอลลาร์ต่อยูโรเสียก่อน หรือว่าราคาสินค้าอาหารจะต้องพุ่งแตะระดับที่พาให้ผู้คนทั่วโลกต้องอดอยากล้มตายนับร้อยๆ ล้านคนเสียก่อน หรือว่าภาวะการว่างงานจะต้องกระโจนขึ้นเป็นอัตราเลขสองหลักเสียก่อน กว่าที่เฟดจะเริ่มดำเนินการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ในทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีประเทศใด ไม่มีสภาวะเงินเฟ้อครั้งใด ที่สถานการณ์เงินเฟ้อจะหยุดขยายตัว และกลับเข้าร่องเข้ารอยได้โดยปราศจากการคุมปริมาณเงินอย่างเข้มงวด ณ ทางแพร่งที่ต้องเลือกเดินนี้ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ความใส่ใจกับคำแนะนำอย่างคนรู้จริงแบบโวล์กเกอร์ ซึ่งสังเคราะห์จากประสบการณ์ในฐานะประธานเฟดผู้ประสบความสำเร็จ หน้าที่รับผิดชอบหลักของธนาคารกลางนั้น คือการปกป้องค่าของเงินตราและความมั่นคงของระบบการเงิน

เฟดจะไม่สามารถฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเงินได้โดยไม่ใช้การควบคุมอย่างเข้มงวดต่อปริมาณเงินและสินเชื่อ ยิ่งเฟดดำเนินการตามวิธีของโวล์กเกอร์เร็วเท่าใด ความมั่นใจ เสถียรภาพ และการเติบโตจะยิ่งถูกฟื้นฟูได้เร็วเท่านั้น ทั้งในตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจแท้จริง ณ ระดับของสหรัฐฯ และทั้งในที่ต่างๆ ทั่วโลก

ฮอสเซน อัสคารี เป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ส่วนนูเรดดีน กรีเชน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank) ในเมืองเจดดะห์
กำลังโหลดความคิดเห็น