xs
xsm
sm
md
lg

"ปู่แปน"ชี้วิกฤตสุดๆในรอบ60ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ไฟแนนเชียลไทมส์ - วิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯขณะนี้ ซึ่งส่งอิทธิฤทธิ์สั่นคลอนตลาดและเศรษฐกิจทั่วโลกด้วยนั้น น่าที่จะเป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้เป็นความเห็นของ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)คนดัง ซึ่งเขียนไว้ในบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวานนี้(17)
"วิกฤตทางการเงินในปัจจุบันในสหรัฐฯ น่าที่จะถูกวินิจฉัยเมื่อมีการทบทวนย้อนหลังในเวลาต่อไป ว่าเป็นครั้งที่สร้างความบาดเจ็บให้มากที่สุดนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา" กรีนสแปนบอกไว้ในบทความซึ่งใช้ชื่อว่า "We will never have a perfect model of risk" (เราคงจะไม่สามารถหาแบบจำลองเรื่องความเสี่ยงอย่างสมบูรณ์แบบถึงเพียงนี้ได้อีกแล้ว) ทั้งนี้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945
อดีตประธานเฟดผู้ทรงอิทธิพลกล่าวต่อไปว่า วิกฤตในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในท้ายที่สุด ก็ต่อเมื่อราคาบ้านในสหรัฐฯกลับมามีเสถียรภาพ ซึ่งก็จะทำให้พวกหลักทรัพย์อิงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่กำลังย่ำแย่ทั้งหลาย กลับมามีมูลค่าที่มีเสถียรภาพไปด้วย
"วิกฤตคราวนี้จะทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก" กรีนสแปนกล่าว โดยที่บทความของเขาปรากฏออกมาภายหลังจาก แบร์สเติร์นส์ กิจการวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ ต้องแถลงในวันศุกร์(14)ที่แล้ว ยอมรับว่าขาดเงินสดสภาพคล่อง และต้องขอเงินทุนฉุกเฉินมาช่วยเหลือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยผ่านวาณิชธนกิจคู่แข่งอย่าง เจพีมอร์แกนเชส และแบร์สเติร์นส์ก็ถูกเจพีมอร์แกนเทคโอเวอร์ไปในวันอาทิตย์(16) ด้วยราคาซึ่งเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของมูลค่าของบริษัทแห่งนี้เพียงเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น
นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์ เฟดยังประกาศมาตรการฉุกเฉินอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะผ่อนคลายภาวะสินเชื่อตึงตัว และปลอบขวัญบรรดานักลงทุนซึ่งพากันหลบหนีไปหาแหล่งลงทุนที่ดูน่าจะปลอดภัย เป็นต้นว่า เงินสกุลยูโร และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น น้ำมัน และ ทอง จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ในแถบเอเชียและยุโรปร่วงหล่นกันเป็นแถบเมื่อวานนี้(17)
"ที่ถูกตีกระหน่ำอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นหลายๆ ส่วนของระบบคำนวณมูลค่าความเสี่ยงทางการเงินของทุกวันนี้ หลายๆ ส่วนสำคัญๆ ซึ่งทำงานบกพร่องล้มเหลวเมื่อตกอยู่ในสภาพเครียดเค้น" เป็นคำพูดของกรีนสแปน ซึ่งตัวเขาเองก็ถูกนักวิจารณ์บางคนวิพากษ์ว่า มีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตในปัจจุบันขึ้นมา ด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินเอาไว้นานเกินไปในช่วงท้ายๆ แห่งการดำรงตำแหน่งประธานเฟดของเขา จนกลายเป็นการเร่งกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมโหฬาร
กรีนสแปนรับรองว่า จากวิกฤตที่เกิดขึ้นมาทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ แต่เขาโต้แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะกระทำกันนั้น ไม่ควรลดทอนความสำคัญของหลักการพื้นฐานซึ่งจะต้องคงยึดมั่นไว้ นั่นคือ หลักการแห่งการแข่งขันเสรี
"ในวิกฤตปัจจุบัน ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับวิกฤตครั้งก่อนๆ ในอดีต เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้มาก และนโยบายในอนาคตก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากบทเรียนต่างๆ เหล่านี้ แต่เราไม่สามารถที่จะหวังได้หรอกว่า จะสามารถคาดหมายลักษณะพิเศษเจาะจงต่างๆ ของบรรดาวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยความมั่นอกความใจไม่ว่าในระดับใดก็ตามที" ข้อเขียนของเขาระบุ
"ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ หรืออันที่จริงแล้วเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดด้วยซ้ำ ที่การปฏิรูปใดๆ ก็ตาม ทั้งในเรื่องและในการปรับปรุงด้านโครงสร้างของตลาดและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้น จักต้องไม่ขัดขวางมาตรการป้องกันอันเชื่อถือได้และทรงประสิทธิภาพมากที่สุดของเรา ในการต่อต้านความบกพร่องล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่กำลังสั่งสมเพิ่มพูน นั่นคือ ความยืดหยุ่นของตลาดและการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง"
กำลังโหลดความคิดเห็น