xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก "พูโล"ยืดอกรับก่อเหตุรุนแรง กดดันรัฐคืบการเจรจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่ไฟใต้ไต่ยอดผู้เสียชีวิตเข้าไปกว่าสามพันรายในปีที่ห้านับตั้งแต่ต้นปี 2547 สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภารกิจการ "เจรจา" ระหว่างคู่ขัดแย้งยังเป็นไปอย่างเงียบๆ และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก แม้ว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเคยกล่าวหลังเหตุการณ์ระเบิดโรงแรมซีเอสปัตตานีว่า กำลังมีการนำปัญหาชายแดนภาคใต้เข้าสู่เวทีโลก และขณะนี้มี 2 กลุ่มที่กำลังตั้งโต๊ะเจรจากันอยู่ที่สวิตเซอแลนด์

ก่อนหน้านั้นไม่นาน รํฐมนตรีอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เคยยอมรับว่าหากการเจรจาจะสามารถยุติปัญหาได้ก็จำเป็นต้องทำ เขาคนนี้เคยไปไกลถึงขั้นส่งสัญญาณการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษและพิจารณาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษสมาชิกกลุ่มพูโลเพื่อให้ออกมาช่วยปัญหา

ปลายเดือนมีนาคม 2551 "ทีมข่าวพิเศษ ผู้จัดการรายวัน" และ "ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "กัสตูรี มะกอตอ" โฆษกและหัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี หรือ "พูโล' ซึ่งถือเป็นองค์กรที่กระตือรือร้นต่อการเจรจากับรัฐบาลไทยกลุ่มหนึ่ง การสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางจากสวีเดน - ถิ่นพำนักของเขามายังกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซียโดยอ้างว่าได้นัดหารือกับตัวแทนของไทย

ประเด็นสำคัญคงหนีไม่พ้นบทบาทของ "พูโล" ต่อปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ความคืบหน้าในกระบวนการพูดคุยเจรจา ตลอดจนพิมพ์เขียวอย่างย่นย่อสำหรับอนาคตชายแดนใต้ที่พวกเขาคาดหวัง

กัสตูรีเกริ่นนำถึงประวัติการก่อตั้งพูโลและกล่าวถึงหลักการต่อสู้ที่อยู่บนพื้นฐานการเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยดินแดนปัตตานีหรือรื้อฟื้น "อำนาจที่สูญหายไป" หลังการยึดครองของสยามที่ทำให้คนปัตตานีต้องเสียสิทธิไป ทั้งนี้ โดยวิธีการต่อสู้อ้างอิงหลักสิทธิมนุษยชนที่กำหนดโดยนานาชาติ

"เราตระหนักเสมอว่าความขัดแย้งจะต้องแก้ด้วยการเจรจาพูดคุย ที่จริงมิใช่ว่ามีทางเลือกอะไรมากมาย แต่ในการต่อสู้หรือความขัดแย้งมิอาจยุติได้โดยใช้กองกำลังหรืออาวุธ พูโลจึงพยายามล็อบบี้นำปัญหาปัตตานีเข้าสู่เวทีโลก"

๐ ในพื้นที่มีผู้กระทำความรุนแรงที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พูโลมีส่วนกระทำความรุนแรงนี้ด้วยหรือไม่

ถ้าเราดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันมีหลายวิธีการ แต่วิธีการหนึ่งคือการก่อการร้ายที่ถูกวางแผนมาล่วงหน้า ทั้งจากองค์กรใต้ดินและรัฐ อีกวิธีการคือการก่อการร้ายที่ไม่ถูกวางแผน ซึ่งมาจากหลายๆ กลุ่ม เช่น การแก้แค้น อีกส่วนหนึ่งคือ Black Violence หรือความรุนแรงที่ไม่รู้ว่าใครทำ แต่สำหรับผมเชื่อว่ารัฐเป็นผู้กระทำ อีกส่วนหนึ่งคือนักฉวยโอกาส ทั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่อยากย้ายตัวเองออกจากพื้นที่เพราะได้รับผลประโยชน์ ทั้งจากภายในและภายนอก เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขบวนการต่อสู้ถูกกล่าวหามาตลอด รัฐไทยพยายามนำพูโลไปโยงกับขบวนการเจไอ และอัลกออิดะห์ เราไม่ปฏิเสธว่าบางอย่างเรามีส่วนกระทำ และเราก็ประกาศว่าเราเป็นคนทำ

๐ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกองกำลังหรือสมาชิกของพูโลเข้าร่วมด้วยหรือไม่

การเกิดขึ้นของพูโล ก็เพื่อเรียกร้องเอกราช เพราะฉะนั้นเราไม่ปฏิเสธว่าเราได้วางแผนสิ่งเหล่านี้ เรามีการเตรียมพร้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ กองกำลัง การประชาสัมพันธ์ เรามีสิ่งเหล่านี้อยู่

แต่ยุทธศาสตร์ของพูโล เราพยายามให้ห่างไกลจากข้อกล่าวหาว่าเป็นเจไอหรืออัลกออิดะห์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราจึงไม่ต้องการที่จะปฏิเสธหรือประกาศว่าเราทำหรือไม่ได้ทำ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงจากการตกอยู่ในบัญชีดำของนานาชาติว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ถ้าเราถูกขึ้นบัญชีดำ การต่อสู้ของเราจะไม่ประสบความสำเร็จ

การที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยพูดว่ามี 2 กลุ่มที่เป็นตัวแทนเจรจากับรัฐบาลไทย ผมขอเปิดเผยตรงนี้ว่า 2 กลุ่มนั้น ก็คือ พูโลและบีอาร์เอ็น

๐ พูโลมีวัตถุประสงค์อะไรในการก่อความรุนแรง

ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีการแก้ปัญหา บางครั้งความรุนแรงก็จำเป็นต้องมีเพื่อให้มีการนำไปสู่การแก้ปัญหา

๐ แล้วเลือกเป้าหมายที่จะก่อเหตุอย่างไร

หากพูโลจะก่อเหตุ จะไม่ทำร้ายประชาชนทั่วไป แต่จะกระทำต่อเจ้าหน้าที่และผู้ที่ทำงานให้กับเจ้าหน้าที่

๐ หากใช้ความรุนแรงเพื่อให้โลกสนใจปัญหาปัตตานี ฉะนั้นความรุนแรงจะไปถึงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพียงพอแล้วหรือยัง

ขอบเขตนี้รัฐบาลไทยควรเป็นผู้ให้คำตอบ เพราะประชาชาติใดที่ถูกกดขี่ ถูกกระทำจากรัฐ ถ้าความอดทนถึงที่สุด ประชาชนสามารถกระทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ประชาชนจะทำอะไรบ้าง

๐ การไปสู่สันติได้ เป้าหมายของพูโลคืออะไร ต้องการเรียกร้องถึงระดับไหน

นโยบายหลักคือเรียกร้องเอกราชปัตตานีจากการปกครองของสยาม ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปี 2511 จนถึงขณะนี้เราไม่เคยเปลี่ยน แต่เราพร้อมที่จะพูดคุยเจาจรและยอมรับในข้อเสนอของรัฐบาลไทย

๐ ที่ผ่านมาพูโลสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นให้โลกได้รับรู้ในประเด็นอะไรบ้าง

เราเรียกร้องที่จะยุติปัญหาด้วยสันติวิธี โดยผ่านตัวกลางในเวทีการเจรจาและผ่านสื่อมวลชน ในฐานะที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุย และจะอย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาของปัตตานีทุกวันนี้เป็นปัญหาในระดับนานาชาติแล้ว แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับความจริงตรงจุดนี้เอง

๐ มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ที่บ่งชี้ว่ากรณีปัญหาของปัตตานีได้รับความสนใจในเวทีโลก

เพื่อที่จะรักษาขั้นตอนที่จะนำไปสู่การเจรจา เราจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลเรื่องนี้ เรายังไม่อยากเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการต่อสู้ตรงนี้ การดำเนินการระหว่างองค์กรเรียกร้องเอกราชกับรัฐบาลไทย เรายังไม่เปิดเผยให้โลกได้รับรู้โดยภาพกว้าง เป็นกระบวนการที่ต้องปกปิดไว้ก่อนเพื่อไม่ต้องการทำลายกระบวนการเจรจา ถ้านายกฯ สมัคร ไม่เปิดข้อมูลในวันนั้น ผมก็ไม่กล้าที่จะพูดในวันนี้ แต่เนื่องจากนายกฯ ได้พูดไปแล้วในเบื้องต้น เราจึงได้พูดต่อเนื่อง

๐ การไม่ประกาศตัวว่ากลุ่มใดเป็นผู้ก่อความรุนแรงอาจเป็นเหตุให้การเจรจายังไปไม่ถึงไหน การยอมรับของคุณก็เป็นเพียงในนามของพูโล แต่ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกซึ่งไม่ได้หมายความว่าตกลงกันแล้วจะยุติความรุนแรงเลย ขณะนี้ถึงขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจาแล้วหรือไม่

กระบวนการตรงนี้ได้ดำเนินการมาตลอดสามปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ถือได้ว่าเกี่ยวข้องกับทุกขบวนการ แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลไทยเห็นว่ามีเพียงสององค์กรเท่านั้นที่มีความสามารถหรือมีบทบาทที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ พูโลก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีความเป็น "มืออาชีพ" และความรับผิดชอบเพียงพอ ดังนั้นจึงมอบหมายให้เพียงสององค์กรเท่านั้นเป็นตัวแทนในการเจรจา

๐ เจ้าหน้าที่บางคนไม่เชื่อว่าพูโลจะมีส่วนร่วมก่อเหตุที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา เพราะความรุนแรงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ในขณะที่กลุ่มพูโลเก่าและกลุ่มพูโลใหม่เพิ่งจะมารวมตัวกันกลางปี 2548 ซึ่งสะท้อนความไม่พร้อมของพูโลเอง เพียงแต่ที่ผ่านมาใช้จุดเด่นที่ตัวเองอยู่ต่างประเทศและสร้างบทาทให้กับตัวเองเท่านั้น ทั้งที่ศักยภาพในพื้นที่ลดลงไปแล้ว

เราตระหนักเสมอว่ารัฐบาลไทยหวาดผวาต่อพูโล เพราะฉะนั้นจึงพยายามจะดิสเครดิตพูโล ไม่อยากให้เราเข้ามามีส่วนร่วม เหตุผลก็เพราะพูโลมีความเคลื่อนไหวทั้งภายในและต่างประเทศ ถ้าเราดูช่วงเวลาการต่อสู้จะเห็นว่าพูโลมีการต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ได้มีช่วงที่เรียกว่าตกต่ำอะไร

การต่อสู้ของพูโลเป็นการต่อสู้ที่ทันสมัย ตามยุคสมัย รัฐบาลไทยสามารถทำอะไรได้ พูโลก็สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยกลัวมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลไทยพยายามที่จะดิสเครดิตพูโล เพื่อที่จะให้พูโลตกต่ำหรือพยายามทำให้ดูเหมือนว่าสมาชิกของพูโลนั้นไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ พูโลก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะแก้ปัญหาการดิสเครดิตของรัฐบาลไทยไว้แล้ว การที่รัฐบาลไทยบอกว่าพูโลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในภาคใต้ นั่นเป็นประเด็นที่พูโลต้องการให้ถูกเผยแพร่ไปยังทั่วโลก เพื่อที่จะให้ปลดจากการอยู่ในองค์กรบัญชีดำ (Black List) จากนานาชาติ

๐ ทำไมพูโลถึงต้องการให้มีภาพที่ไม่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ ทั้งๆ ที่หากว่าการยุติความรุนแรงจะต้องเอาคู่ขัดแย้งมาคุยกัน แต่ในกรณีนี้ หากพูโลไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งแล้วจะส่งผลอย่างไร?

แต่พูโลก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ถูกเลือกโดยรัฐบาลไทยให้ร่วมเจรจา ดังนั้น รัฐบาลไทยย่อมรู้ดีว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในวันนี้ใครเป็นคนทำ

๐ กระบวนการเจรจาที่ว่านี้ เริ่มต้นขึ้นมาเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังการรวมตัวของพูโลเก่าและใหม่?

เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2548 ก่อนหน้าการรวมตัว ที่จริงในกระบวนการเจรจา พูโลเป็นองค์กรที่มาทีหลัง ก่อนหน้านี้มีการเจรจากับขบวนการอื่นๆ มาก่อนแล้ว การพูดคุยครั้งแรกก็ไม่เป็นทางการ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเจรจา โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยเป็นตัวแทน

๐ ตอนเริ่มแรกนั้นคุยประเด็นอะไรบ้าง?

ประเด็นที่ว่าใครกันแน่ที่จะสามารถยุติปัญหาความรุนแรงได้ ทั้งฝ่ายของขบวนการและฝ่ายรัฐไทยเอง เพราะความแตกแยกที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นภายในฝ่ายขบวนการเท่านั้น ฝ่ายไทยเองก็มีความแตกแยกเกิดขึ้น เพราะหากเราดูตอนนี้ ผู้มีอำนาจในประเทศไทยก็มีหลายอำนาจ อย่างง่ายๆ ทั้งรัฐบาล กองทัพบก กองทัพภาคที่ 4 และรวมทั้งอำนาจที่อยู่นอกเหนือรัฐบาลอีก สามสี่อำนาจเหล่านี้ยังไม่รวมเป็นหนึ่ง ฉะนั้นกระบวนการต่อจากนั้นคือการรวมอำนาจให้เป็นหนึ่งเพื่อยุติปัญหา

๐ อำนาจที่รวมกันเป็นอำนาจของฝ่ายไหน ฝ่ายขบวนการต่อสู้หรือฝ่ายรัฐไทย หรือทั้งสองต้องรวมกันก่อน

ตอนนี้ทางขบวนการต่อสู้ก็ได้กดดันให้รัฐบาลไทยตั้งตัวแทน (Delegacy)ที่จะมาร่วมกันเจรจาอย่างเป็นทางการ ในฝ่ายของขบวนการก็มีตัวแทนจากสององค์กร แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องมาแก้ไข สามปีที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงของกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะหาว่าองค์กรใดหรือใครที่สามารถจะเป็นตัวแทนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ แม้ว่าทางการไทยจะมีตัวแทนอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการยังเรียกได้ว่ามีปัญหาอยู่

๐ ในบรรดาอำนาจฝ่ายต่างๆ ที่คุณได้กล่าวถึงมีการส่งตัวแทนมาติดต่อยังคุณโดยตรงหรือไม่?

ขณะนี้มีเพียงตัวแทนจากรัฐบาลกลาง ส่วนที่เหลือ ข้อตกลงที่ได้มาก็ไม่สามารถจะดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือการรวมอำนาจจากส่วนต่างๆ ให้ได้

๐ ที่ผ่านมาสามรัฐบาลมีแนวทางการเจรจาที่แตกต่างกันอย่างไร คิดทิศทางภายใต้รัฐบาลสมัครจะเป็นอย่างไร ?

ถ้าดูตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ที่เริ่มต้นพูดคุยกัน แต่ก็เพิ่มความถี่ในการพูดคุยขึ้นในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ แต่ถึงช่วงรัฐบาลสมัครมานี้ยังไม่มีการนัดพบแต่อย่างใด แต่เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันยังเป็นรัฐบาลใหม่ เราจึงพยายามนำข้อมูลที่ผ่านมาส่งให้กับคุณสมัคร

๐ การเจรจาเราสามารถยืดหยุ่นได้แค่ไหน

ถ้าผมตอบถือว่าผมไม่ฉลาด เพราะนี่คือข้อเรียกร้องที่ฝ่ายเราเป็นคนเสนอ เพราะฉะนั้น คนที่ต้องตอบคือทางรัฐบาลตอบข้อเรียกร้องว่า ทางการและพูโลต้องการอะไร ที่ยืดหยุ่นได้คืออะไร ถ้าไม่ได้รับเอกราชจะเป็นอะไร

อย่างที่คุณเฉลิม(ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย) เคยพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ (Autonomy) ทางรัฐบาลไทยรับได้แค่ไหน มันมีรูปแบบเป็นอย่างไร ถ้าได้ในสิ่งเหล่านั้น ขบวนการจะต้องคุยกับองค์กรอื่นๆ ว่าสิ่งที่รัฐบาลเสนอมารับได้หรือไม่

๐ ถ้ามองถึงอุดมการณ์ที่สูงสุดของพูโล มองภาพสังคมปัตตานีในฐานะรัฐเอกราชอย่างไร

เราจะปกครองตามที่ประชาชนต้องการและเป็นไปตามเงื่อนไขขององค์กรนานาชาติ เราจะไม่กดขี่คนกลุ่มน้อย (Minority) ภายใต้การปกครองของเรา เราจะสร้างตัวอย่างที่ดีให้กับเขาว่าสามารถอยู่ได้ภายใต้การปกครองที่มีผู้นำเป็นมุสลิม ในเบื้องต้นเราจะจัดรัฐบาลชั่วคราวอายุ 4-5 ปี จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้งเพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ เราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจ สิ่งที่พูดนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการได้เอกราชอย่างสมบูรณ์เต็ม
หากเป็นการปกครองแบบเขตปกครองตนเอง (Autonomy) ก็อาจจะใช้เวลาถึง 30 ปี เพื่อทำการลงประชามติว่ารูปแบบใดที่ประชาชนต้องการ ช่วงแรกจะเป็นรูปแบบการปกครองที่ถูกกำหนดมาไปก่อน แต่อย่างไรก็จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย

๐ คุณจะประกาศใช้ "ชะรีอะห์" (กฎหมายอิสลาม) ด้วยหรือไม่

เราใช้เฉพาะกับคนที่เป็นมุสลิมเท่านั้น เราจะไม่ใช้กฎหมายเหล่านี้ไปบังคับกับคนอื่น แต่เราจะใช้กฎหมายอิสลามที่บริสุทธิที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

๐ แล้วจะมีวิถีทางเศรษฐกิจอย่างไร

จะมีวิถีทางเศรษฐกิจผสมกันระหว่างรูปแบบปัจจุบันกับเศรษฐกิจแบบอิสลาม มาเลเซียก็เป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม

๐ ปัจจัยอะไรที่จะหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ มีทรัพยากรอะไรหล่อเลี้ยงประเทศเล็กๆ นี้

ปัตตานีมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มากมาย แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผย รัฐไทยรู้ดีว่าในดินแดนปัตตานีมีทรัพยากรมากมาย ดังนั้นก่อนที่จะสายเกินไปในการใช้นั้นเราน่าที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์กับคนปัตตานีให้มากที่สุด

รัฐบาลไทยไม่กล้าที่จะมาลงทุนเพราะรู้ว่าดินแดนนี้วันหนึ่งจะเป็นของคนปัตตานี จึงไม่ยอมที่จะลงทุน เพราะรู้ดีว่าจะไม่ได้ใช้ทรัพยากรนั้น ผมไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกถึงความร่ำรวยของปัตตานี

๐ หากปัตตานีมีทรัพยากรขนาดนี้จริงๆ จะมีประเทศที่สามยื่นมือเข้ามาช่วยหรือไม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช

แน่นอนเราต้องการประเทศที่จะมาเข้าร่วมกับปัตตานี ที่จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาร่วมกันก็ได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศที่เข้ามาย่อมมีประโยชน์แอบแฝง ทุกองค์ที่รู้ก็ต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน

๐ ในกรณีปัตตานี มีมหาอำนาจใดที่มีพลังพอที่จะสนับสนุนหรือไม่ คุณเล็งใครไว้หรือไม่

แน่นอน เราเล็งเอาไว้แต่ยังไม่เป็นทางการ ถ้าในอดีตเราต้องไปหาเขา แตในวันนี้เขากลับมาหาเรา เรามีเพื่อนมากที่อยู่ตรงนั้น ในระยะสั้นนี้ ผมจะนำปัญหาปัตตานีไปสู่ EU (สหภาพยุโรป) ส่วน OIC (องค์กรที่ประชุมอิสลามโลก) ทางการไทยก็พยายามที่จะต่อ OIC อยู่เสมอ และมีบางประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนเรา ดังนั้นการที่จะเข้าไปหา OIC จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องระมัดระวัง ซึ่งเราก็มั่นใจว่า OIC จะอยู่เคียงข้างเรา แต่ช่วงเวลานั้นยังมาไม่ถึง ในฐานะที่เราเป็นประชาชาติมุสลิมนั้นเราจะละทิ้ง OIC ไปไม่ได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งอเมริกา แต่ในระยะนี้เราคงเลือก EU ไปก่อน ทางขบวนการไม่ได้ละทิ้งแต่ไม่ถึงขั้นตอนที่จะคุยกับอเมริกา

๐ คุณบอกว่า พูโลต่อสู้โดยหลักสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ก็มีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่พยายามขับเคลื่อนแทนชาวมลายูปัตตานี คุณจัดความสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้อย่างไร

เราขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อ NGO เหล่านี้ ที่เสียสละเวลา ทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือชาวมลายูปัตตานี มีการติดต่อกันบ้างในบางครั้ง ไม่ได้สม่ำเสมอนัก ในระดับองค์กรต่อองค์กร หลายองค์กรที่ทำงานเคยมาร้องห่มร้องไห้กับเราก็มี

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ "ข่าวเชิงวิเคราะห์" ใน "ผู้จัดการออนไลน์"

กำลังโหลดความคิดเห็น