xs
xsm
sm
md
lg

พวกหัวรุนแรงปากีฯจะไม่หยุดแค่การโจมตีทีมคริกเก็ตศรีลังกา

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Pakistan’s militants ready for more
By Syed Saleem Shahzad
04/03/2009

การโจมตีขบวนรถที่นำนักคริกเก็ตทีมชาติศรีลังกาไปยังสนามแข่งขันในนครละฮอร์เมื่อวันอังคาร(3) เป็นฝีมือของพวกหัวรุนแรงชาวปัญจาบ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะจับนักกีฬาเหล่านี้เป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองให้รัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อ ถึงแม้ครั้งนี้พวกเขาปฏิบัติการไม่สำเร็จ แต่ก็คาดหมายกันว่าจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาอีก แม้ว่าฝ่ายทหารของปากีสถานกำลังเตรียมตัวปัดฝุ่น “กำปั้นเหล็ก”ของตนก็ตามที

การาจี – การโจมตีขบวนรถที่กำลังนำนักกีฬาคริกเก็ตทีมชาติศรีลังกาไปยังสนามแข่งขัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร(3) ในนครละฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบและเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของปากีสถานนั้น เอเชียไทมส์ทราบมาว่าเป็นฝีมือของพวกหัวรุนแรงชาวปัญจาบผู้เคืองแค้น ซึ่งกำลังหาหนทางทำให้รัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อ

แหล่งข่าวระดับสูงหลายรายยืนยันด้วยว่า มือปืนผู้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีทั้ง 12 คน โดยที่สามารถหลบหนีจากที่เกิดเหตุอย่างลอยนวล ภายหลังสังหารตำรวจ 6 คน และทำให้นักคริกเก็ตศรีลังกาบาดเจ็บ 6 คนแล้วนั้น แท้ที่จริงแล้ววางแผนการที่จะจับนักกีฬาเหล่านี้ไว้เป็นตัวประกัน ไม่ใช่มุ่งฆ่าทิ้ง

กลุ่มพวกหัวรุนแรง 12 คน ปฏิบัติการภายใต้การสั่งการโดยตรงของคณะผู้นำร่วมที่มีทั้งชาวปัญจาบและชาวแคชเมียร์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในพื้นที่เขตนอร์ธวาซิริสถาน (เขตนอร์ธวาซิริสถาน เป็น 1 ใน 7 เขต ของ “ดินแดนชาวชนเผ่าที่อยู่ในการบริหารของส่วนกลาง Federally Administered Tribal Areas” ในประเทศปากีสถาน) และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ตามแผนการที่วางเอาไว้นั้น วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการละฮอร์คราวนี้คือ การจับนักคริกเก็ตศรีลังกาเอาไว้แลกเปลี่ยนกับพวกหัวรุนแรงที่ถูกกักขังอยู่ในคุก รวมทั้งหลักประกันความปลอดภัยจากทางการว่ามิตรร่วมรบเหล่านี้ของพวกเขาจะต้องได้เดินทางไปในเขตนอร์ธวาซิริสถาน

โฆษกผู้หนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตศรีลังกาในกรุงอิสลามาบัด ก็แถลงในวันอังคารว่า เขาไม่เชื่อว่านักกีฬาศรีลังกาตกเป็นเป้าที่จะถูกสังหาร เนื่องจากทิศทางระดมโจมตีทั้งหลายทั้งปวงล้วนพุ่งเป้าไปยังพวกตำรวจที่ทำหน้าที่อารักขานักกีฬา

แผนของพวกมือปืนที่จะจับตัวประกันต้องล้มเหลวลง เนื่องจากประสบการต้านทานอย่างดุเดือดจากตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษในกองตำรวจปัญจาบ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองขบวนรถ พวกเขาสามารถยึดที่มั่นและยิงตอบโต้กลับได้อย่างรวดเร็ว ผู้ช่วยผู้กำกับการตำรวจคนหนึ่งซึ่งอยู่ในรถโดยสารคันที่บรรทุกนักคริกเก็ตศรีลังกา ก็ฉลาดพอที่จะเร่งรัดให้คนขับเพิ่มความเร็ว และพารถเข้าไปข้างในสนามกีฬากัดดาฟี อันกำหนดไว้ให้เป็นสนามแข่งขันระหว่างทีมชาติศรีลังกากับทีมชาติปากีสถาน เวลาต่อมา ทีมศรีลังกาได้มอบเสื้อแข่งขันของพวกตนให้แก่คนขับเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ

บริเวณที่เกิดเหตุการโจมตี ซึ่งอยูห่างจากสนามกีฬาเพียงไม่กี่ร้อยเมตร เจ้าหน้าที่ได้พบข้าวของที่พวกคนร้ายทิ้งเอาไว้ มีอาทิ ถุงที่มีปืนอาก้าบรรจุอยู่, ปืนกลเบา, ระเบิดมือ, เครื่องยิงจรวดขนาดเล็ก, ระเบิดพลาสติก, และชุดอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย

คาวาจา คาลิด ฟารูค ผู้บัญชาการตำรวจแคว้นปัญจาบ แถลงว่า พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้เตรียมอาวุธมาเพียงพอที่จะต่อสู้ได้หลายๆ ชั่วโมง พวกเขายังมีเสบียงอาหารอย่างชนิดเหลือเฟือ เป็นต้นว่า ถั่วอัลมอนด์ และน้ำขวด

จากวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ที่ถ่ายกันมาได้ แสดงให้เห็นว่าพวกมือปืนมีความใจเย็นอย่างยิ่ง อีกทั้งผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี พวกเขาแต่งกายด้วยชุดแบบชาวเมือง รวมทั้งใส่รองเท้ากีฬา ไม่มีอะไรเหมือนเหล่านักรบตอลิบานที่พำนักอยู่ตามเขตเขาชนบท ซึ่งสวมใส่แต่ชุดพื้นบ้าน อาทิ ผ้าโพกศีรษะแบบมุสลิม, ชุดคลุมยาวตลอดตัว, และรองเท้าแตะ นอกจากนั้น มือปืนเหล่านี้ยังดูจะมีสภาพทางร่างกายที่แข็งแกร่งดีเยี่ยม

เครื่องบ่งชี้ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนระบุว่า พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้เป็น “บุตรชายชั้นดีของแผ่นดินนี้” ซึ่งเคยได้รับการอบรมจากหน่วยสืบราชการลับชั้นยอดของปากีสถาน นั่นคือ หน่วยงานอินเดียของกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) เพื่อข้ามไปสู้รบกับกองกำลังทหารตำรวจของอินเดียในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียบริหาร ไอเอสไอได้ปิดปฏิบัติการในแคชเมียร์ของตนไปเมื่อสองสามปีก่อน และพวกหัวรุนแรงจำนวนมากก็หันไปร่วมงานกับพวกตอลิบานในอัฟกานิสถานและในปากีสถาน

อันที่จริงแล้ว ลักษณะภายนอกและวิธีการปฏิบัติการของมือปืนกลุ่มนี้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับของกลุ่มมือปืน 10 คนที่เข้าโจมตีนครมุมไบ ของอินเดียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในเหตุการณ์อันรุนแรงสั่นสยองขวัญที่ดำเนินอยู่เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งทำให้มีผู้คนเสียชีวิต 180 คน รวมทั้งพวกหัวรุนแรงแทบทั้งหมด เหลือถูกจับได้เพียงคนเดียว การสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์คราวนั้นแสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มลัชการ์-อี-ไตบา ซึ่งถูกปากีสถานสั่งยุบไปแล้ว โดยเป็นกลุ่มที่ฝังรากกับการต่อสู้ของชาวแคชเมียร์มาอย่างยาวนาน

พวกหัวรุนแรง “แคชเมียร์” เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวปาชตุน (แตกต่างจากพวกตอลิบาน ที่เป็นชาวปาชตุน) แต่เป็นชาวปัญจาบ

**ปัญหายุ่งยากในเขตเขา**

การโจมตีทีมคริกเก็ตศรีลังกาในวันอังคาร มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเขตหุบเขาสวาต (Swat Valley) ที่ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลปากีสถานได้ยินยอมเซ็นข้อตกลงสันติภาพกับพวกหัวรุนแรง ภายหลังเกิดการสู้รบกันมาหลายปี เงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของข้อตกลงนี้คือ การยินยอมให้นำเอากฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) มาใช้ในพื้นที่แห่งนี้

ก่อนที่ข้อตกลงหุบเขาสวาตจะมีการลงนามกันนั้น พวกตอลิบานชาวปากีสถานได้ยื่นข้อเรียกร้อง อาทิ แพกเกจด้านการเงินมูลค่า 480 ล้านรูปี (6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อเป็นค่าชดเชยให้แก่ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวล้มตายหรือบาดเจ็บ หรือต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติ สืบเนื่องจากการปฏิบัติการของกองกำลังรักษาความมั่นคงของทางการปากีสถาน นอกจากนั้น พวกเขายังเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษที่ถูกทางการจับกุม

รัฐบาลตกลงยินยอมทำตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ทั้งหมด ทว่าปฏิเสธไม่ยอมปล่อยนักโทษที่ไม่ได้มาจากสวาต ในบรรดานักโทษที่ไม่ได้รับการปลดปล่อยนี้ ชื่อที่สำคัญที่สุดได้แก่ มาวลานา อับดุล อาซิส นักการศาสนาหัวรุนแรงจาก “ลัล มัสยิด” (มัสยิดแดง) ในกรุงอิสลามาบัด ผู้ถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคม 2007 ขณะพยายามหลบหนีจากมัสยิดแห่งนั้นภายหลังกำลังทหารตำรวจบุกเข้าไป นอกจากนั้นรัฐบาลยังปฏิเสธไม่ปล่อยพวกหัวรุนแรงอื่นๆ อีกหลายคน รวมทั้งบุคคลที่มีความสำคัญมากผู้หนึ่ง ซึ่งถูกจับกุมตัวที่อิสลามาบัดเมื่อไม่นานมานี้

เห็นชัดเจนว่าพวกหัวรุนแรงชาวปัญจาบต่างรู้สึกโกรธกริ้วที่เห็นข้อเรียกร้องของพวกตนถูกปฏิเสธ ขณะที่พวกปาชตุนได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ การโจมตีที่เมืองละฮอร์นั้นจึงมีความุ่งหมายที่จะลบล้าง “ความอยุติธรรม” นี้

เรื่องที่น่าขันชนิดหัวเราะไม่ออก ก็คือ เวลานี้กระทั่งตัวข้อตกลงสันติภาพในสวาตเอง ก็กำลังโงนเงนทำท่าจะล้มครืน

เมื่อวันอาทิตย์(1) พวกหัวรุนแรงได้ละเมิดข้อตกลงด้วยการกักตัวคนของ “กองกำลังรักษาชายแดน” ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร เอาไว้ 2-3 คน แต่ต่อมาก็ได้ปล่อยตัวคนเหล่านี้ไป ทว่าในวันรุ่งขึ้น พวกหัวรุนแรงได้เข้าโจมตีขบวนรถทหาร และฆ่าทหารตายไป 1 คน

เพื่อเป็นการตอบโต้ ในวันอังคาร(3)กองทัพปากีสถานได้เข้าจับกุมหัวหน้านักรบระดับสำคัญของพวกตอลิบานไป 2-3 คน จากนั้น มาวลานา ซูฟี โมฮัมหมัด ผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญที่สุดที่ผลักดันทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้ ก็ได้พูดในที่ประชุมแถลงข่าว ขอร้องให้ทั้งฝ่ายตอลิบานและฝ่ายกองกำลังรักษาความมั่นคงของทางการ กระทำตามข้อตกลงนี้ เขาบอกว่า ไม่เช่นนั้นแล้ว เขาก็จะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันข้อตกลงฉบับนี้ได้อีกต่อไป

**พวกหัวรุนแรงยกระดับสู่ขั้นใหม่**

เมื่อตอนกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯบุกรุกรานอัฟกานิสถานในปี 2001 กลุ่มชาวปากีสถานและกลุ่มตอลิบานที่มีความเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์ ยังแทบไม่มีความสามารถในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ หรือในการเข้าโจมตีแบบมีการร่วมมือประสานงานกันหลายๆ ด้าน อย่างเก่งที่สุด พวกเขาก็เพียงสามารถทำการลอบสังหารแบบก่อให้เกิดความแตกแยกต่อพวกชิอะห์ หรือวางระเบิดในที่ชุมชนทางศาสนา

สภาพเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้นนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา เมื่อพวกหัวรุนแรงชาวอาหรับและชาวปากีสถาน เริ่มต้นรวมกำลังกันใหม่ในพื้นที่ชนชนเผ่าของเขตเซาธ์วาซิริสถาน ตรงบริเวณชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน (ดูเรื่อง The legacy of Nek Mohammed ใน Asia Times Online, July 20, 2004)

การโจมตีโดยฝีมือกลุ่มนักรบญิฮัดที่ใช้ชื่อว่า “จุนดุลเลาะห์” เมื่อปี 2004 ต่อขบวนรถของผู้บัญชาการทหารประจำการาจีในตอนนั้น น่าจะถือว่าเป็นปฏิบัติการของพวกหัวรุนแรงที่มีการวางแผนกันไว้เป็นอย่างดีครั้งแรก ถึงแม้การโจมตีไม่ประสบความสำเร็จ แต่พวกหัวรุนแรงก็มีการระดมยิงประสานกันจากหลายๆ ทิศทาง รวมทั้งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการล่าถอยอีกด้วย ความผิดพลาดร้ายแรงเพียงประการเดียวก็คือ มีโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งได้ถูกสืบสาวจนทำให้ทั้งเครือข่ายถูกจับกุมถูกกวาดล้าง

ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้นเอง บรรดาค่ายฝีกอบรมพวกหัวรุนแรงในพื้นที่แคว้นแคชเมียร์ที่บริหารโดยปากีสถานก็ถูกปิด เนื่องจากทางการอิสลามาบัดได้ปรับตัวใหม่กลายเป็นหุ้นส่วนสำคัญในสงครามต่อสู้การก่อการร้ายของสหรัฐฯ หัวหน้านักรบซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องหลายต่อหลายคน อาทิ มาวลานา อิลยาส แคชมีรี และ อับดุล จับบาร์ ต่างถูกจับกุม กลายเป็นการสร้างความอับอายขายหน้าเป็นอย่างยิ่งให้แก่บรรดาพวกที่เคยถือเป็น “วีรบุรุษ” ของชาติเหล่านี้ ในจุดนี้เอง มีนักรบระดับท็อปจำนวนมากหันไปร่วมมือกับพวกชาวอัฟกันต่อต้านอเมริกัน ซึ่งตั้งฐานอยู่ในพื้นที่ชนเผ่าของเขตวาซิริสถาน

พวกหัวรุนแรงเหล่านี้ ด้วยความเอื้อเฟื้อของทางการปากีสถาน ต่างเป็นพวกที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างช่ำชอง จึงนำเอาทักษะความเชี่ยวชาญและลูกเล่นต่างๆ มากมายติดตัวมาด้วย และพวกเขาก็เริ่มต้นฝึกอบรมเยาวชนในท้องถิ่น การปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จของพวกเขาในหลายๆ หน ก็มีอาทิ การจู่โจมโรงแรม คาบูล เซเรนา ในเดือนมกราคม 2008 และการโจมตีขบวนพาเหรดระดับชาติในกรุงคาบูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2008 ลักษณะอันโดดเด่นของพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ก็คือ พวกเขามีความรอบรู้เป็นอย่างดีในเรื่องสงครามสมัยใหม่ และพวกเขาพร้อมที่จะสุดโหดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขา แม้กระทั่งเมื่อต้องคร่าชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์

การโจมตีของพวกเขาในละฮอร์เมื่อวันอังคาร เป็นหลักฐานที่ยืนยันให้เห็นว่า เวลานี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเปิดฉากสงครามขึ้นในย่านศูนย์กลางเมืองใหญ่ เพื่อทำให้สหายของพวกเขาได้รับการปลดปล่อย และหากพวกเขาจะเล่นงานใคร พวกเขาก็ถือเป็นเรื่องชอบธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักคริกเก็ต หรือจะเป็นคนดังผู้เกรียวกราว รวมทั้งประดารัฐมนตรี, นักการทูต, นักการเมือง, และบุคคลทรงอิทธิพลอื่นๆ

การปรากฏขึ้นของพวกคลั่งไคล้ความรุนแรงกลุ่มใหม่ๆ เหล่านี้ ถือเป็นพัฒนาการในทางเลวร้ายสำหรับปากีสถาน ซึ่งก็ถลำลงไปในหล่มแห่งการต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงในพื้นที่แถบชายแดนของตนอยู่แล้ว และสิ่งต่างๆ ยังอาจเลวร้ายไปกว่านี้อีกมาก โดยที่เอเชียไทม์สออนไลน์ทราบมาว่า พล.อ.อัชฟัค ปาร์เวซ กิอานี ผู้บัญชาการทหารบก ผู้เพิ่งเดินทางกลับจากการเยือนกรุงวอชิงตัน ได้ให้คำมั่นที่จะใช้วิธีการแบบเป็นฝ่ายกระทำมากขึ้น ในการเล่นงานพวกหัวรุนแรง

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น