(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Deep in the land of the Taliban
By Anand Gopal
5/12/2008
หากจะมีสถานที่ใดซึ่งเป็นเครื่องหมายอันเหมาะเหม็ง ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานแล้ว สถานที่นั้นย่อมต้องเป็นด่านตรวจเรียบๆ ง่ายๆ ของตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักทางด้านใต้ของเมืองหลวงคาบูลราว 20 นาที ด่านแห่งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงชายขอบของเขตนครหลวง หลังจากจุดนี้ไป รัฐบาลอัฟกานิสถานที่อเมริกันหนุนหลัง ก็ไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป และพื้นที่ดินแดนก็กลายเป็นของพวกตอลิบาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ และซับซ้อนเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตลอดจนผสมปนเปกันโดยมีทั้งนักชาตินิยม, พวกเคร่งครัดจารีตอิสลาม (อิสลามิสต์), และพวกโจรผู้ร้าย แตกต่างกันไปตามแต่ละเขตแต่ละท้องที่
(บทความนี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง TomDispatch.com กับ นิตยสาร Nation Magazine โดยที่เวอร์ชั่นซึ่งสั้นกว่านี้ของบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารด้วย)
*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ *
(ต่อจากตอนสอง)
**บทบาทสำคัญของปากีสถาน**
กรณีทำอะไรไว้แล้วถูกสิ่งที่ทำเอาไว้เล่นงานในภายหลังนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นดาดดื่นทีเดียวในอัฟกานิสถาน เมื่อก่อนนี้ สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้มอบหมายให้ จาลาลุดดีน ฮักกานี (Jalaluddin Haqqani) เป็นหัวหน้าของเครือข่ายที่ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มที่สามในอัฟกานิสถาน โดยเครือข่ายนี้ตั้งฐานอยู่ทางพื้นที่พรมแดนด้านตะวันออกของประเทศ ในช่วงสงครามต่อต้านโซเวียต สหรัฐฯได้ให้เงินทองเป็นล้านๆ ดอลลาร์, จรวดต่อสู้อากาศยาน, และกระทั่งรถถัง แก่ ฮักกานี ซึ่งเวลานี้ถูกหลายๆ คนมองว่าเป็นศัตรูที่น่าหวาดกลัวที่สุดของวอชิงตัน ช่วงนั้นพวกเจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตันต่างหลงใหลในตัวฮักกานีกันมาก จนกระทั่งอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชาร์ลี วิลสัน ครั้งหนึ่งเคยพูดถึงเขาว่า เป็น “คุณงามความดีที่แปลงร่างเป็นตัวบุคคล”
ฮักกานีเป็นคนแรกๆ ที่สนับสนุนเป็นปากเป็นเสียงให้แก่พวก “อาหรับอัฟกัน” ผู้ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1980 ได้หลั่งไหลสู่ปากีสถานเพื่อเข้าร่วมเป็นนักรบจิฮัดต่อต้านสหภาพโซเวียต เขาจัดทำค่ายฝึกอบรมต่างๆ ให้แก่คนเหล่านี้ และต่อมาก็บ่มเพาะส่งเสริมสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พัฒนาคลี่คลายจากเครือข่ายชาวอาหรับอัฟกันในตอนท้ายๆ ของสงครามต่อต้านโซเวียต ภายหลังเหตุการณ์โจมตีวันที่ 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯพยายามอย่างสุดฤทธิ์เพื่อดึงเขามาอยู่ข้างเดียวกับตน อย่างไรก็ตาม ฮักกานีประกาศว่าเขาไม่สามารถยอมรับให้มีต่างชาติปรากฏตัวอยู่ในผืนแผ่นดินของชาวอัฟกันได้ และต้องจับอาวุธขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีอุปการะคุณต่อเขามายาวนานในองค์การไอเอสไอของปากีสถาน กล่าวกันว่าเขาเป็นผู้ที่นำเอาวิธีการระเบิดพลีชีพมาใช้ในอัฟกานิสถาน โดยที่ก่อนปี 2001 ในดินแดนประเทศนี้ไม่เคยมีการใช้ยุทธวิธีเช่นนี้เลย พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองฝ่ายตะวันตกชี้ตรงไปที่เครือข่ายของฮักการี หาใช่ตอลิบานไม่ ว่าเป็นตัวการในเหตุการณ์โจมตีอันเตะตาที่สุดในระยะหลังๆ มานี้ ตัวอย่างเช่น ระเบิดรถยนต์ขนาดมหึมาที่ถล่มสถานเอกอัครราชทูตอินเดียในเดือนกรกฎาคมปี 2008
เครือข่ายของฮักกานีเป็นพวกที่มีนักรบต่างชาติร่วมปฏิบัติการอยู่ด้วยมากที่สุดในอัฟกานิสถาน และมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีสุดโต่งยิ่งเสียกว่ากลุ่มตอลิบานอื่นๆ หน่วยย่อยต่างๆ ในเครือข่ายของฮักกานียังมีความแตกต่างจากพวกตอลิบานหรือพวกฮิซบ์-ไอ-อิสลามีส่วนใหญ่ ตรงที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ คณะผู้นำของเครือข่ายนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะตั้งฐานอยู่ในเขตวาซิริสถาน ในพื้นที่ชาวชนเผ่าของปากีสถาน โดยที่ได้รับความคุ้มครองปกป้องจากองค์การไอเอสไอ
ปากีสถานหยิบยื่นความสนับสนุนไปให้แก่พวกฮักกานี โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าเครือข่ายนี้จะยังคงทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของตนเฉพาะภายในเขตพรมแดนอัฟกานิสถานเท่านั้น การทำความตกลงในลักษณะเช่นนี้มีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากในปีหลังๆ มานี้ นโยบายซึ่งใช้มานมนานแล้วของปากีสถานในเรื่องให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มหัวรุนแรงเคร่งจารีตอิสลาม กำลังพาให้ประเทศถลำลงสู่สงครามอันสร้างความหายนะ ภายในเขตพรมแดนของปากีสถานเอง
ขณะที่เศษเดนของตอลิบานและอัลกออิดะห์พากันทยอยถอยเข้าไปในปากีสถานภายหลังรัฐบาลตอลิบานล่มสลายในปี 2001 กรุงอิสลามาบัดก็ได้ไปตกปากรับคำเข้าร่วม “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ของคณะรัฐบาลบุช มันดูเหมือนจะเป็นการเสี่ยงลงทุนที่สามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม วอชิงตันจัดส่งความช่วยเหลือและอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์มาให้รัฐบาลทหารของปากีสถาน โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นก็ทำมองเมินไปอีกทางหนึ่งขณะที่จอมเผด็จการ เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ เพิ่มการยึดครองประเทศให้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอบแทน กรุงอิสลามาบัดก็พุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกหัวรุนแรงอัลกออิดะห์ โดยทุกๆ สองสามเดือนจะจัดการนำเอาผู้นำ “ระดับสูง” ที่จับกุมตัวได้มาเข้าแถวโชว์ตัวต่อหน้ากล้องทีวีสักทีหนึ่ง ขณะที่ปล่อยให้คณะผู้นำของตอลิบานยังคงสามารถอยู่ในดินแดนของตนได้โดยไม่แตะต้อง
ขณะที่สถาบันทหารของปากีสถานไม่เคยดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อมุ่งกำจัดอัลกออิดะห์ให้สิ้นซาก (อันที่จริง หากทำเช่นนั้นย่อมเท่ากับการปิดก๊อก ทำให้ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาต้องหยุดชะงักไปด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่กระทำก็ยังสามารถสร้างแรงกดดันเพียงพอที่จะทำให้พวกหัวรุนแรงชาวอาหรับ ประกาศสงครามกับกรุงอิสลามาบัด เมื่อถึงปี 2004 กองทัพปากีสถานได้ยกกำลังเคลื่อนเข้าไปในเขต “พื้นที่ชนเผ่าที่บริหารโดยส่วนกลาง” (Federally Administered Tribal Areas) อันเป็นแคว้นกึ่งปกครองตนเองที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชนเผ่าปาชตุน และพวกนักรบอัลกออิดะห์ได้ไปพำนักลี้ภัยกันอยู่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาใช้ความพยายามในการกวาดล้างพวกหัวรุนแรงต่างชาติกันขนาดนี้
อีกสองสามปีถัดมา การล่วงล้ำเข้าไปครั้งแล้วครั้งเล่าของกองทัพปากีสถาน ตลอดจนการโจมตีด้วยจรวดของสหรัฐฯที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยที่บางครั้งได้สังหารคร่าชีวิตพลเรือน ก็ได้สร้างความเคียดแค้นให้แก่ประชาชนชาวชนเผ่าในท้องถิ่น กลุ่มเล็กๆ ที่มักเกิดจากการรวมตัวของชาวชนเผ่าเดียวกัน แต่นิยมเรียกตัวเองว่า พวก “ตอลิบาน” เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นๆ พอถึงปี 2007 ก็มีกลุ่มดังกล่าวนี้ที่เคลื่อนไหวคึกคักอยู่ในบริเวณชายแดนของปากีสถานอยู่อย่างน้อย 27 กลุ่ม ไม่นานนักหน่วยจรยุทธ์เหล่านี้ก็สามารถสร้างอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่เขตชนเผ่าหลายๆ แห่ง อย่างเช่น เขตนอร์ทวาซิริสถาน และเขตเซาท์วาซิริสถาน อีกทั้งเริ่มประพฤติตนในลักษณะรื้อฟื้นแบบแผนกฎเกณฑ์ของตอลิบานเวอร์ชั่นทศวรรษ 1990 กลับมาใช้ใหม่ พวกเขาสั่งห้ามการเล่นดนตรี, เฆี่ยนตีเจ้าของร้านขายสุรา, และไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียน และขณะที่ยังคงวางตัวเป็นอิสระจากพวกตอลิบานชาวอัฟกัน แต่พวกเขาก็ให้ความสนับสนุนอย่างเต็มหัวใจแก่กลุ่มเหล่านั้น
เมื่อถึงสิ้นปี 2007 พวกตอลิบานชาวปากีสถานกลุ่มต่างๆ ก็ได้รวมตัวกันเข้าสู่องค์การหนึ่งเดียว นั่นคือ เตห์ริค-ไอ-ตอลิบาน (Tehrik-I-Taliban)ภายใต้การบังคับบัญชาของ ไบตุลเลาะห์ เมห์ซุด (Baitullah Mehsud) ผู้นำจรยุทธ์วัย 30 เศษๆที่ความเป็นมาลี้ลับ พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของปากีสถานประณามกลุ่มของเมห์ซุด (โดยปกติแล้วจะอ้างถึงโดยเรียกกันง่ายๆ ว่า “กลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน”) ว่าเป็นตัวการก่อเหตุโจมตีครั้งใหญ่ๆ หลายครั้ง รวมทั้งกรณีลอบสังหารนางเบนาซีร์ บุตโต ด้วย เมห์ซุดและพันธมิตรของเขามีความเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์อย่างแข็งขัน และดำเนินความสัมพันธ์กับฝ่ายทหารของปากีสถานในลักษณะที่เดี๋ยวก็ทำสงครามด้วยเดี๋ยวก็หยุดพักรบไม่แน่นอน ในขณะเดียวกัน สมาชิกบางส่วนของพวกตอลิบานชาวปากีสถาน ก็เล็ดรอดข้ามชายแดนเข้าไปร่วมกับสมัครพรรคพวกชาวอัฟกันของพวกตน ในการทำสงครามต่อต้านอเมริกัน
เตห์ริค-ไอ-ตอลิบาน สามารถพิสูจน์ตัวเองว่ามีอิทธิพลทรงอำนาจได้อย่างน่าประหลาดใจ พวกเขายังความปราชัยให้แก่หน่วยทหารปากีสถาน ซึ่งพวกพลทหารมักไม่ค่อยอยากจะรบกับเพื่อนร่วมชาติร่วมเผ่าพันธุ์ของตนเอง แต่แทบจะทันทีที่เตห์ริกผงาดขึ้นมา ความแตกร้าวก็ปรากฏเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ผู้บัญชาการนักรบตอลิบานชาวปากีสถานทุกคนหรอกที่มั่นอกมั่นใจว่ามีสมรรถนะในการทำสงครามสองแนวรบพร้อมๆ กัน มีส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ที่เรียกตัวเองว่า “ตอลิบานท้องถิ่น” หันไปใช้ยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างออกไป และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำศึกกับฝ่ายทหารของปากีสถาน
นอกไปจากนี้แล้ว ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงชาวปากีสถานอื่นๆ ที่มีจำนวนมากพอดูทีเดียว (ในจำนวนนี้หลายๆ กลุ่มได้รับการฝึกอบรมจากองค์การไอเอสไอ เพื่อให้ไปสู้รบในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียปกครองอยู่) เวลานี้ก็กำลังเข้าไปปฏิบัติการอยู่ในบริเวณชายแดนปากีสถานด้วย โดยที่พวกเขางดเว้นไม่สู้รบกับรัฐบาลปากีสถาน แต่มุ่งเล่นงานพวกอเมริกันในอัฟกานิสถาน ตลอดจนเส้นทางลำเลียงของอเมริกันที่เข้าสู่อัฟกานิสถาน
ผลลัพธ์ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ ก็คือ การผูกพันธมิตรและการหยุดยิงที่พันกันอย่างยุ่งเหยิงและหักมุมอีนุงตุงนัง โดยที่ปากีสถานกำลังสู้รบทำสงครามปราบปรามพวกอัลกออิดะห์และส่วนหนึ่งของกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน ขณะที่ปล่อยปละละเว้นกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถานอีกส่วนหนึ่ง ตลอดจนกลุ่มหัวรุนแรงอิสระอื่นๆ ให้มีเสรีที่จะทำภารกิจของพวกเขาได้ตามใจ ภารกิจดังกล่าวเหล่านี้รวมถึงการข้ามพรมแดนเข้าไปในอัฟกานิสถาน ที่ซึ่งทั้งตอลิบานชาวปากีสถาน, อัลกออิดะห์, และนักรบอิสระจากพื้นที่ชนเผ่าและที่อื่นๆ จะจัดแถวรวมตัวผสมผเสกันกลายเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองชาวตะวันตกผู้หนึ่งเรียกขานว่า “แนวร่วมสีรุ้ง” เพื่อมุ่งเล่นงานทหารสหรัฐฯ
**มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งสงคราม**
ถึงแม้มีความเชื่อมโยงกับต่างชาติดังที่กล่าวมานี้ แต่พวกกบฎชาวอัฟกันโดยส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นพวกที่งอกเงยขยายตัวขึ้นจากภายในประเทศเอง นักรบต่างชาติโดยเฉพาะอัลกออิดะห์นั้น แทบไม่มีอิทธิพลทางอุดมการณ์ต่อขบวนการผู้ก่อความไม่สงบโดยส่วนใหญ่ และชาวอัฟกันแทบทั้งหมดยังคงวางตัวถอยห่างจากคนนอกเหล่านี้ “บางครั้งก็มีกลุ่มคนต่างชาติซึ่งพูดภาษาที่ไม่เหมือนพวกเราเดินผ่านมา” ฟาเซล วาลิ ชาวจังหวัดกาซนี ย้อนทบทวนความหลัง “แต่พวกเราไม่เคยพูดจากับพวกเขาเลย และพวกเขาก็ไม่พูดจากับพวกเรา”
สงครามจิฮัดระดับโลกในเวอร์ชั่นของอัลกออิดะห์ ไม่ได้รับการขานรับหรอกในดินแดนแห่งภูเขาสูงทุรกันดารและทะเลทรายที่มีลมแรงของภาคใต้อัฟกานิสถาน ตรงกันข้าม เรื่องที่ถือเป็นความสนใจสำคัญในดินแดนจำนวนมากของประเทศนี้ กลับเป็นเรื่องที่มีลักษณะท้องถิ่นอย่างเข้มข้น นั่นคือ เรื่องความปลอดภัยของแต่ละบุคคล
ในโลกที่มีแต่สงครามไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่รัฐบาลก็เอาแต่จ้องจะโกงกินปล้นชิง, มีโจรผู้ร้ายเตร็ดเตร่อยู่ทั่วไป, และยังต้องเผชิญกับจรวด “เฮลล์ไฟร์” (Hellfire) ความสนับสนุนจึงพร้อมที่จะเทไปให้แก่พวกที่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาได้ ระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมที่มีอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในอัฟกานิสถาน กลายเป็นกิจกรรมประเภทที่มีการเฉลิมฉลองกันมากที่สุดในประเทศนี้ ได้แก่ งานเลี้ยงแต่งงานอันรื่นเริงสนุกสนามที่ชาวอัฟกันชื่นชอบกันนัก กองทหารสหรัฐฯได้ทิ้งระเบิดใส่งานเลี้ยงเช่นนี้หนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม สังหารผู้คนไป 47 คน จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน เครื่องบินรบหลายลำก็ได้เข้าถล่มงานเลี้ยงแต่งงานอีกรายหนึ่ง ฆ่าคนตายไปราว 40 คน อีกสองสามสัปดาห์ถัดมา พวกเขาได้ไปโจมตีงานเลี้ยงฉลองหมั้น สังหารผู้คนไป 3 คน
“เรากำลังเริ่มคิดกันแล้วว่า เราไม่ควรที่จะออกไปอยู่กลางแจ้งกันเป็นจำนวนมากๆ หรือจัดงานแต่งงานกันในที่สาธารณะ” อับดุลเลาะห์ วาลี บอกกับข้าพเจ้า วาลีพำนักอาศัยอยู่ในเขตๆ หนึ่งของจังหวัดกาซนี ซึ่งพวกผู้ก่อความไม่สงบสั่งห้ามไม่ให้เล่นดนตรีและการเต้นรำในงานเลี้ยงแต่งงานดังที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอนว่ามันเป็นชีวิตที่เข้มงวดแห้งแล้ง แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งวาลีไม่ให้ปรารถนาให้พวกเขากลับขึ้นครองอำนาจอีกครั้ง
งานแต่งงานแสนจะจืดชืดไร้รสชาติก็จริงอยู่ แต่มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่สามารถจัดงานแต่งงานกันได้เลย
อนันด์ โกปัล เขียนเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน, ปากีสถานและ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” อยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถานให้แก่ คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ ต้องการทราบข้อมูลและข้อเขียนของเขาเพิ่มเติม เชิญแวะเยือนเว็บไซต์ของเขา (anandgopal.com) สำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นตีพิมพ์ ปรากฏอยู่ในนิตยสาร Nation Magazine ฉบับล่าสุด
เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนแรก)
เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนสอง)
Deep in the land of the Taliban
By Anand Gopal
5/12/2008
หากจะมีสถานที่ใดซึ่งเป็นเครื่องหมายอันเหมาะเหม็ง ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานแล้ว สถานที่นั้นย่อมต้องเป็นด่านตรวจเรียบๆ ง่ายๆ ของตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักทางด้านใต้ของเมืองหลวงคาบูลราว 20 นาที ด่านแห่งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงชายขอบของเขตนครหลวง หลังจากจุดนี้ไป รัฐบาลอัฟกานิสถานที่อเมริกันหนุนหลัง ก็ไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป และพื้นที่ดินแดนก็กลายเป็นของพวกตอลิบาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ และซับซ้อนเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตลอดจนผสมปนเปกันโดยมีทั้งนักชาตินิยม, พวกเคร่งครัดจารีตอิสลาม (อิสลามิสต์), และพวกโจรผู้ร้าย แตกต่างกันไปตามแต่ละเขตแต่ละท้องที่
(บทความนี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง TomDispatch.com กับ นิตยสาร Nation Magazine โดยที่เวอร์ชั่นซึ่งสั้นกว่านี้ของบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารด้วย)
*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ *
(ต่อจากตอนสอง)
**บทบาทสำคัญของปากีสถาน**
กรณีทำอะไรไว้แล้วถูกสิ่งที่ทำเอาไว้เล่นงานในภายหลังนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นดาดดื่นทีเดียวในอัฟกานิสถาน เมื่อก่อนนี้ สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้มอบหมายให้ จาลาลุดดีน ฮักกานี (Jalaluddin Haqqani) เป็นหัวหน้าของเครือข่ายที่ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มที่สามในอัฟกานิสถาน โดยเครือข่ายนี้ตั้งฐานอยู่ทางพื้นที่พรมแดนด้านตะวันออกของประเทศ ในช่วงสงครามต่อต้านโซเวียต สหรัฐฯได้ให้เงินทองเป็นล้านๆ ดอลลาร์, จรวดต่อสู้อากาศยาน, และกระทั่งรถถัง แก่ ฮักกานี ซึ่งเวลานี้ถูกหลายๆ คนมองว่าเป็นศัตรูที่น่าหวาดกลัวที่สุดของวอชิงตัน ช่วงนั้นพวกเจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตันต่างหลงใหลในตัวฮักกานีกันมาก จนกระทั่งอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชาร์ลี วิลสัน ครั้งหนึ่งเคยพูดถึงเขาว่า เป็น “คุณงามความดีที่แปลงร่างเป็นตัวบุคคล”
ฮักกานีเป็นคนแรกๆ ที่สนับสนุนเป็นปากเป็นเสียงให้แก่พวก “อาหรับอัฟกัน” ผู้ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1980 ได้หลั่งไหลสู่ปากีสถานเพื่อเข้าร่วมเป็นนักรบจิฮัดต่อต้านสหภาพโซเวียต เขาจัดทำค่ายฝึกอบรมต่างๆ ให้แก่คนเหล่านี้ และต่อมาก็บ่มเพาะส่งเสริมสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พัฒนาคลี่คลายจากเครือข่ายชาวอาหรับอัฟกันในตอนท้ายๆ ของสงครามต่อต้านโซเวียต ภายหลังเหตุการณ์โจมตีวันที่ 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯพยายามอย่างสุดฤทธิ์เพื่อดึงเขามาอยู่ข้างเดียวกับตน อย่างไรก็ตาม ฮักกานีประกาศว่าเขาไม่สามารถยอมรับให้มีต่างชาติปรากฏตัวอยู่ในผืนแผ่นดินของชาวอัฟกันได้ และต้องจับอาวุธขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีอุปการะคุณต่อเขามายาวนานในองค์การไอเอสไอของปากีสถาน กล่าวกันว่าเขาเป็นผู้ที่นำเอาวิธีการระเบิดพลีชีพมาใช้ในอัฟกานิสถาน โดยที่ก่อนปี 2001 ในดินแดนประเทศนี้ไม่เคยมีการใช้ยุทธวิธีเช่นนี้เลย พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองฝ่ายตะวันตกชี้ตรงไปที่เครือข่ายของฮักการี หาใช่ตอลิบานไม่ ว่าเป็นตัวการในเหตุการณ์โจมตีอันเตะตาที่สุดในระยะหลังๆ มานี้ ตัวอย่างเช่น ระเบิดรถยนต์ขนาดมหึมาที่ถล่มสถานเอกอัครราชทูตอินเดียในเดือนกรกฎาคมปี 2008
เครือข่ายของฮักกานีเป็นพวกที่มีนักรบต่างชาติร่วมปฏิบัติการอยู่ด้วยมากที่สุดในอัฟกานิสถาน และมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีสุดโต่งยิ่งเสียกว่ากลุ่มตอลิบานอื่นๆ หน่วยย่อยต่างๆ ในเครือข่ายของฮักกานียังมีความแตกต่างจากพวกตอลิบานหรือพวกฮิซบ์-ไอ-อิสลามีส่วนใหญ่ ตรงที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ คณะผู้นำของเครือข่ายนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะตั้งฐานอยู่ในเขตวาซิริสถาน ในพื้นที่ชาวชนเผ่าของปากีสถาน โดยที่ได้รับความคุ้มครองปกป้องจากองค์การไอเอสไอ
ปากีสถานหยิบยื่นความสนับสนุนไปให้แก่พวกฮักกานี โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าเครือข่ายนี้จะยังคงทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของตนเฉพาะภายในเขตพรมแดนอัฟกานิสถานเท่านั้น การทำความตกลงในลักษณะเช่นนี้มีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากในปีหลังๆ มานี้ นโยบายซึ่งใช้มานมนานแล้วของปากีสถานในเรื่องให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มหัวรุนแรงเคร่งจารีตอิสลาม กำลังพาให้ประเทศถลำลงสู่สงครามอันสร้างความหายนะ ภายในเขตพรมแดนของปากีสถานเอง
ขณะที่เศษเดนของตอลิบานและอัลกออิดะห์พากันทยอยถอยเข้าไปในปากีสถานภายหลังรัฐบาลตอลิบานล่มสลายในปี 2001 กรุงอิสลามาบัดก็ได้ไปตกปากรับคำเข้าร่วม “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ของคณะรัฐบาลบุช มันดูเหมือนจะเป็นการเสี่ยงลงทุนที่สามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม วอชิงตันจัดส่งความช่วยเหลือและอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์มาให้รัฐบาลทหารของปากีสถาน โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นก็ทำมองเมินไปอีกทางหนึ่งขณะที่จอมเผด็จการ เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ เพิ่มการยึดครองประเทศให้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอบแทน กรุงอิสลามาบัดก็พุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกหัวรุนแรงอัลกออิดะห์ โดยทุกๆ สองสามเดือนจะจัดการนำเอาผู้นำ “ระดับสูง” ที่จับกุมตัวได้มาเข้าแถวโชว์ตัวต่อหน้ากล้องทีวีสักทีหนึ่ง ขณะที่ปล่อยให้คณะผู้นำของตอลิบานยังคงสามารถอยู่ในดินแดนของตนได้โดยไม่แตะต้อง
ขณะที่สถาบันทหารของปากีสถานไม่เคยดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อมุ่งกำจัดอัลกออิดะห์ให้สิ้นซาก (อันที่จริง หากทำเช่นนั้นย่อมเท่ากับการปิดก๊อก ทำให้ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาต้องหยุดชะงักไปด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่กระทำก็ยังสามารถสร้างแรงกดดันเพียงพอที่จะทำให้พวกหัวรุนแรงชาวอาหรับ ประกาศสงครามกับกรุงอิสลามาบัด เมื่อถึงปี 2004 กองทัพปากีสถานได้ยกกำลังเคลื่อนเข้าไปในเขต “พื้นที่ชนเผ่าที่บริหารโดยส่วนกลาง” (Federally Administered Tribal Areas) อันเป็นแคว้นกึ่งปกครองตนเองที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชนเผ่าปาชตุน และพวกนักรบอัลกออิดะห์ได้ไปพำนักลี้ภัยกันอยู่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาใช้ความพยายามในการกวาดล้างพวกหัวรุนแรงต่างชาติกันขนาดนี้
อีกสองสามปีถัดมา การล่วงล้ำเข้าไปครั้งแล้วครั้งเล่าของกองทัพปากีสถาน ตลอดจนการโจมตีด้วยจรวดของสหรัฐฯที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยที่บางครั้งได้สังหารคร่าชีวิตพลเรือน ก็ได้สร้างความเคียดแค้นให้แก่ประชาชนชาวชนเผ่าในท้องถิ่น กลุ่มเล็กๆ ที่มักเกิดจากการรวมตัวของชาวชนเผ่าเดียวกัน แต่นิยมเรียกตัวเองว่า พวก “ตอลิบาน” เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นๆ พอถึงปี 2007 ก็มีกลุ่มดังกล่าวนี้ที่เคลื่อนไหวคึกคักอยู่ในบริเวณชายแดนของปากีสถานอยู่อย่างน้อย 27 กลุ่ม ไม่นานนักหน่วยจรยุทธ์เหล่านี้ก็สามารถสร้างอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่เขตชนเผ่าหลายๆ แห่ง อย่างเช่น เขตนอร์ทวาซิริสถาน และเขตเซาท์วาซิริสถาน อีกทั้งเริ่มประพฤติตนในลักษณะรื้อฟื้นแบบแผนกฎเกณฑ์ของตอลิบานเวอร์ชั่นทศวรรษ 1990 กลับมาใช้ใหม่ พวกเขาสั่งห้ามการเล่นดนตรี, เฆี่ยนตีเจ้าของร้านขายสุรา, และไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียน และขณะที่ยังคงวางตัวเป็นอิสระจากพวกตอลิบานชาวอัฟกัน แต่พวกเขาก็ให้ความสนับสนุนอย่างเต็มหัวใจแก่กลุ่มเหล่านั้น
เมื่อถึงสิ้นปี 2007 พวกตอลิบานชาวปากีสถานกลุ่มต่างๆ ก็ได้รวมตัวกันเข้าสู่องค์การหนึ่งเดียว นั่นคือ เตห์ริค-ไอ-ตอลิบาน (Tehrik-I-Taliban)ภายใต้การบังคับบัญชาของ ไบตุลเลาะห์ เมห์ซุด (Baitullah Mehsud) ผู้นำจรยุทธ์วัย 30 เศษๆที่ความเป็นมาลี้ลับ พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของปากีสถานประณามกลุ่มของเมห์ซุด (โดยปกติแล้วจะอ้างถึงโดยเรียกกันง่ายๆ ว่า “กลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน”) ว่าเป็นตัวการก่อเหตุโจมตีครั้งใหญ่ๆ หลายครั้ง รวมทั้งกรณีลอบสังหารนางเบนาซีร์ บุตโต ด้วย เมห์ซุดและพันธมิตรของเขามีความเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์อย่างแข็งขัน และดำเนินความสัมพันธ์กับฝ่ายทหารของปากีสถานในลักษณะที่เดี๋ยวก็ทำสงครามด้วยเดี๋ยวก็หยุดพักรบไม่แน่นอน ในขณะเดียวกัน สมาชิกบางส่วนของพวกตอลิบานชาวปากีสถาน ก็เล็ดรอดข้ามชายแดนเข้าไปร่วมกับสมัครพรรคพวกชาวอัฟกันของพวกตน ในการทำสงครามต่อต้านอเมริกัน
เตห์ริค-ไอ-ตอลิบาน สามารถพิสูจน์ตัวเองว่ามีอิทธิพลทรงอำนาจได้อย่างน่าประหลาดใจ พวกเขายังความปราชัยให้แก่หน่วยทหารปากีสถาน ซึ่งพวกพลทหารมักไม่ค่อยอยากจะรบกับเพื่อนร่วมชาติร่วมเผ่าพันธุ์ของตนเอง แต่แทบจะทันทีที่เตห์ริกผงาดขึ้นมา ความแตกร้าวก็ปรากฏเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ผู้บัญชาการนักรบตอลิบานชาวปากีสถานทุกคนหรอกที่มั่นอกมั่นใจว่ามีสมรรถนะในการทำสงครามสองแนวรบพร้อมๆ กัน มีส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ที่เรียกตัวเองว่า “ตอลิบานท้องถิ่น” หันไปใช้ยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างออกไป และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำศึกกับฝ่ายทหารของปากีสถาน
นอกไปจากนี้แล้ว ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงชาวปากีสถานอื่นๆ ที่มีจำนวนมากพอดูทีเดียว (ในจำนวนนี้หลายๆ กลุ่มได้รับการฝึกอบรมจากองค์การไอเอสไอ เพื่อให้ไปสู้รบในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียปกครองอยู่) เวลานี้ก็กำลังเข้าไปปฏิบัติการอยู่ในบริเวณชายแดนปากีสถานด้วย โดยที่พวกเขางดเว้นไม่สู้รบกับรัฐบาลปากีสถาน แต่มุ่งเล่นงานพวกอเมริกันในอัฟกานิสถาน ตลอดจนเส้นทางลำเลียงของอเมริกันที่เข้าสู่อัฟกานิสถาน
ผลลัพธ์ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ ก็คือ การผูกพันธมิตรและการหยุดยิงที่พันกันอย่างยุ่งเหยิงและหักมุมอีนุงตุงนัง โดยที่ปากีสถานกำลังสู้รบทำสงครามปราบปรามพวกอัลกออิดะห์และส่วนหนึ่งของกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน ขณะที่ปล่อยปละละเว้นกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถานอีกส่วนหนึ่ง ตลอดจนกลุ่มหัวรุนแรงอิสระอื่นๆ ให้มีเสรีที่จะทำภารกิจของพวกเขาได้ตามใจ ภารกิจดังกล่าวเหล่านี้รวมถึงการข้ามพรมแดนเข้าไปในอัฟกานิสถาน ที่ซึ่งทั้งตอลิบานชาวปากีสถาน, อัลกออิดะห์, และนักรบอิสระจากพื้นที่ชนเผ่าและที่อื่นๆ จะจัดแถวรวมตัวผสมผเสกันกลายเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองชาวตะวันตกผู้หนึ่งเรียกขานว่า “แนวร่วมสีรุ้ง” เพื่อมุ่งเล่นงานทหารสหรัฐฯ
**มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งสงคราม**
ถึงแม้มีความเชื่อมโยงกับต่างชาติดังที่กล่าวมานี้ แต่พวกกบฎชาวอัฟกันโดยส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นพวกที่งอกเงยขยายตัวขึ้นจากภายในประเทศเอง นักรบต่างชาติโดยเฉพาะอัลกออิดะห์นั้น แทบไม่มีอิทธิพลทางอุดมการณ์ต่อขบวนการผู้ก่อความไม่สงบโดยส่วนใหญ่ และชาวอัฟกันแทบทั้งหมดยังคงวางตัวถอยห่างจากคนนอกเหล่านี้ “บางครั้งก็มีกลุ่มคนต่างชาติซึ่งพูดภาษาที่ไม่เหมือนพวกเราเดินผ่านมา” ฟาเซล วาลิ ชาวจังหวัดกาซนี ย้อนทบทวนความหลัง “แต่พวกเราไม่เคยพูดจากับพวกเขาเลย และพวกเขาก็ไม่พูดจากับพวกเรา”
สงครามจิฮัดระดับโลกในเวอร์ชั่นของอัลกออิดะห์ ไม่ได้รับการขานรับหรอกในดินแดนแห่งภูเขาสูงทุรกันดารและทะเลทรายที่มีลมแรงของภาคใต้อัฟกานิสถาน ตรงกันข้าม เรื่องที่ถือเป็นความสนใจสำคัญในดินแดนจำนวนมากของประเทศนี้ กลับเป็นเรื่องที่มีลักษณะท้องถิ่นอย่างเข้มข้น นั่นคือ เรื่องความปลอดภัยของแต่ละบุคคล
ในโลกที่มีแต่สงครามไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่รัฐบาลก็เอาแต่จ้องจะโกงกินปล้นชิง, มีโจรผู้ร้ายเตร็ดเตร่อยู่ทั่วไป, และยังต้องเผชิญกับจรวด “เฮลล์ไฟร์” (Hellfire) ความสนับสนุนจึงพร้อมที่จะเทไปให้แก่พวกที่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาได้ ระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมที่มีอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในอัฟกานิสถาน กลายเป็นกิจกรรมประเภทที่มีการเฉลิมฉลองกันมากที่สุดในประเทศนี้ ได้แก่ งานเลี้ยงแต่งงานอันรื่นเริงสนุกสนามที่ชาวอัฟกันชื่นชอบกันนัก กองทหารสหรัฐฯได้ทิ้งระเบิดใส่งานเลี้ยงเช่นนี้หนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม สังหารผู้คนไป 47 คน จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน เครื่องบินรบหลายลำก็ได้เข้าถล่มงานเลี้ยงแต่งงานอีกรายหนึ่ง ฆ่าคนตายไปราว 40 คน อีกสองสามสัปดาห์ถัดมา พวกเขาได้ไปโจมตีงานเลี้ยงฉลองหมั้น สังหารผู้คนไป 3 คน
“เรากำลังเริ่มคิดกันแล้วว่า เราไม่ควรที่จะออกไปอยู่กลางแจ้งกันเป็นจำนวนมากๆ หรือจัดงานแต่งงานกันในที่สาธารณะ” อับดุลเลาะห์ วาลี บอกกับข้าพเจ้า วาลีพำนักอาศัยอยู่ในเขตๆ หนึ่งของจังหวัดกาซนี ซึ่งพวกผู้ก่อความไม่สงบสั่งห้ามไม่ให้เล่นดนตรีและการเต้นรำในงานเลี้ยงแต่งงานดังที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอนว่ามันเป็นชีวิตที่เข้มงวดแห้งแล้ง แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งวาลีไม่ให้ปรารถนาให้พวกเขากลับขึ้นครองอำนาจอีกครั้ง
งานแต่งงานแสนจะจืดชืดไร้รสชาติก็จริงอยู่ แต่มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่สามารถจัดงานแต่งงานกันได้เลย
อนันด์ โกปัล เขียนเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน, ปากีสถานและ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” อยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถานให้แก่ คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ ต้องการทราบข้อมูลและข้อเขียนของเขาเพิ่มเติม เชิญแวะเยือนเว็บไซต์ของเขา (anandgopal.com) สำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นตีพิมพ์ ปรากฏอยู่ในนิตยสาร Nation Magazine ฉบับล่าสุด