xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: อนันด์ โกปัล

เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนแรก)
โดย อนันด์ โกปัล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Deep in the land of the Taliban
By Anand Gopal
5/12/2008

หากจะมีสถานที่ใดซึ่งเป็นเครื่องหมายอันเหมาะเหม็ง ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานแล้ว สถานที่นั้นย่อมต้องเป็นด่านตรวจเรียบๆ ง่ายๆ ของตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักทางด้านใต้ของเมืองหลวงคาบูลราว 20 นาที ด่านแห่งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงชายขอบของเขตนครหลวง หลังจากจุดนี้ไป รัฐบาลอัฟกานิสถานที่อเมริกันหนุนหลัง ก็ไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป และพื้นที่ดินแดนก็กลายเป็นของพวกตอลิบาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ และซับซ้อนเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตลอดจนผสมปนเปกันโดยมีทั้งนักชาตินิยม, พวกเคร่งครัดจารีตอิสลาม (อิสลามิสต์), และพวกโจรผู้ร้าย แตกต่างกันไปตามแต่ละเขตแต่ละท้องที่

(บทความนี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง TomDispatch.com กับ นิตยสาร Nation Magazine โดยที่เวอร์ชั่นซึ่งสั้นกว่านี้ของบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารด้วย)

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนแรก *

หากจะมีสถานที่ใดซึ่งเป็นเครื่องหมายอันเหมาะเหม็ง ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานแล้ว สถานที่นั้นย่อมต้องเป็นด่านตรวจเรียบๆ ง่ายๆ ของตำรวจซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักทางด้านใต้ของเมืองหลวงคาบูลราว 20 นาที ด่านแห่งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงชายขอบของเขตนครหลวง นครแห่งความตึงเครียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ, กำแพงที่มีร่องรอยของการถูกระเบิด, และการจราจรที่ติดขัดแน่นิ่ง พ้นจากจุดนี้ไปแล้ว บรรดาถนนกรวดหยาบๆและคับแคบ สองฟากข้างมีอาคารทรงเตี้ยๆ ของกรุงคาบูล ก็จะเปิดทางให้แก่ที่ราบการเกษตรอันเงียบสงบผืนกว้างใหญ่ ซึ่งรายล้อมด้วยเทือกเขาหินทราย ณ หุบเขาแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดโลการ์ รัฐบาลอัฟกานิสถานที่หนุนหลังโดยอเมริกันไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไป

แทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล กลับปรากฏกลุ่มชายพันผ้าโพกศีรษะสีดำดูสกปรกเลอะเปื้อน และมีปืนเล็กยาวจู่โจมสะพายอยู่ที่บ่า ทำหน้าที่ลาดตระเวนตามทางหลวง คอยตรวจสอบค้นหาโจรผู้ร้ายและ “พวกสายลับ” มีซากของรถบรรทุกน้ำมันคันหนึ่งซึ่งคงจะมุ่งส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปให้แก่กองกำลังนานาชาติที่ตั้งประจำอยู่ไกลออกไปทางใต้ กลับต้องมานอนหงายท้องอยู่ข้างถนนในสภาพถูกไฟเผาผลาญ

ตำรวจบอกว่าพวกเขาไม่กล้าเข้าพื้นที่เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ซึ่งพวกหน่วยจรยุทธ์เป็นผู้ปกครองถนนหนทางแถบนี้ ในดินแดนบางส่วนทางด้านใต้และด้านตะวันออกของประเทศ พวกผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลของพวกเขาเองขึ้นมา โดยพวกเขาเรียกขานว่าเป็น “รัฐเจ้าครองแคว้นอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน” (Islamic Emirate of Afghanistan) ตามชื่อของรัฐบาลสมัยตอลิบานปกครองประเทศ พวกเขาตัดสินคดีอำนวยความยุติธรรมในศาลตามหลักศาสนาอิสลาม (ชาริอะห์) ที่จัดตั้งขึ้นอย่างง่ายๆ พวกเขาแก้ไขข้อพิพาทเรื่องที่ดินในระหว่างชาวบ้าน และพวกเขาบงการวางหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ

เพียง 3 ปีที่แล้วมานี้เอง รัฐบาลส่วนกลางของอัฟกานิสถานยังคงสามารถควบคุมจังหวัดต่างๆ ใกล้ๆ กรุงคาบูล แต่ผลจากช่วงเวลาปีแล้วปีเล่าแห่งการบริหารจัดการอย่างผิดพลาด, อาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างอุกอาจและชุกชุม, ตลอดจนจำนวนพลเรือนที่ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้พวกตอลิบานตลอดจนกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถผงาดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทุกวันนี้ “เจ้าครองแคว้นอิสลาม” โดยพฤตินัยแล้วคือผู้ควบคุมส่วนใหญ่ๆ ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ ตามรายงานของ ACBAR ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายองค์กรให้ความช่วยเหลือต่างๆ กว่า 100 แห่ง การโจมตีของพวกผู้ก่อความไม่สงบได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 50% ในรอบปีที่แล้ว เวลานี้ทหารต่างชาติกำลังเสียชีวิตในอัฟกานิสถานด้วยอัตราสูงกว่าในอิรัก

ความหายนะที่แผ่ลามออกไปเรื่อยๆ กำลังเร่งรัดให้รัฐบาลอัฟกันของประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ ตลอดจนพวกผู้เล่นระดับระหว่างประเทศ ต้องออกมาพูดอย่างเปิดเผยถึงการเจรจารอมชอมกับผู้ก่อความไม่สงบบางกลุ่มบางส่วน

**ตอลิบานใหม่ที่เป็นพวกชาตินิยม**

พวกผู้ก่อความไม่สงบชาวอัฟกันแท้ที่จริงแล้วคือใครกันแน่ ปกติแล้วเมื่อมีเหตุโจมตีแบบฆ่าตัวตายและการลักพาตัว ก็มักจะโบ้ยว่าเป็นฝีมือของ “พวกตอลิบาน”กันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้วพวกผู้ก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน ไม่ได้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนอันหนึ่งอันเดียวเลย แน่นอนว่ามีที่เป็นผู้สอนศาสนาอิสลามขอบตาดำปื้นท่าทางลึกลับ และพวกนักศึกษาศาสนาที่มักผงกศีรษะขึ้นๆ ลงๆ ไม่หยุดหย่อน แต่ก็มีที่เป็นพวกนักศึกษามหาวิทยาลัยซึ่งดูมีวิชาความรู้, ชาวไร่ชาวนายากชนและไร้การศึกษา, และพวกผู้บัญชาการกองกำลังยุคต่อต้านโซเวียตที่ผ่านศึกมาโชกโชน ขบวนการนี้เป็นการผสมปนเปกันของนักชาตินิยม, พวกเคร่งครัดจารีตอิสลาม (อิสลามิสต์), และโจรผู้ร้าย ซึ่งอาจจะจำแนกกันอย่างคร่าวๆ ได้เป็น 3 หรือ 4 ฝ่ายหลักๆ โดยในแต่ละฝ่ายหลักๆ เองก็ประกอบไปด้วยพวกผู้บัญชาการกองกำลังที่แข่งขันชิงดีกัน มีอุดมการณ์และยุทธศาสตร์ซึ่งแตกต่างกัน ทว่ายังคงมีเป้าหมายอันสำคัญยิ่งร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ การขับไล่ต่างชาติให้พ้นไปจากประเทศ

สถานการณ์มิใช่ว่าจะเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดมา ตอนที่กองทหารที่นำโดยสหรัฐฯเข้าโค่นล้มรัฐบาลตอลิบานในเดือนพฤศจิกายน 2001 นั้น ชาวอัฟกันพากันเฉลิมฉลองชื่นชมยินดีต่อการล้มครืนของระบอบปกครองที่ถูกแช่งด่าและไม่ได้รับความเชื่อถือ “พวกเรารู้สึกเหมือนกับกำลังเต้นรำไปตามท้องถนนเลย” ชาวเมืองคาบูลผู้หนึ่งบอกกับข้าพเจ้า ตอนที่กองทหารซึ่งหนุนหลังโดยสหรัฐฯเคลื่อนเข้าสู่คาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานนั้น พวกเศษเดนของระบอบตอลิบานเก่าได้แตกแยกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ซึ่งรวมไปถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่พำนักกันอยู่ในคาบูลจำนวนมาก พากันยอมจำนนต่อฝ่ายอเมริกัน บางคนถึงขั้นเข้าร่วมกับรัฐบาลคาร์ไซในเวลาต่อมา กลุ่มที่สอง ประกอบไปด้วยพวกผู้นำระดับอาวุโสของขบวนการนี้ รวมไปถึง มุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar) หัวหน้าของขบวนการด้วย คนเหล่านี้ได้หลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในปากีสถาน และยังคงอยู่บริเวณดังกล่าวนี้ตราบจนถึงปัจจุบัน สำหรับกลุ่มที่สามและก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยประกอบไปด้วยพวกทหารพลรบ, ผู้บัญชาการกองกำลังระดับท้องถิ่น, และพวกเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด คนเหล่านี้พากันหลอมละลายตัวเองเข้ากับสภาพการณ์อย่างเงียบๆ โดยต่างพากันกลับไปไร่นาและหมู่บ้าน และเฝ้ารอคอยสังเกตว่าทิศทางลมจะพัดไปทางไหนแน่ๆ

ในเวลาเดียวกันนั้น ประเทศก็กำลังถูกแบ่งปันตัดเฉือนโดยพวกขุนศึกและเหล่าอาชญากร บนทางหลวงใหม่เอี่ยมสายที่เชื่อม คาบูล กับ กันดาฮาร์ และ เฮรัต ซึ่งสร้างขึ้นด้วยเงินดอลลาร์นับล้านๆ ของวอชิงตัน พวกโจรผู้ร้ายที่มีการจัดตั้งองค์กรเป็นอย่างดี จะคอยก่อกวนสร้างความสยดสยองเอากับบรรดาคนเดินทางอยู่เป็นประจำ “[ครั้งหนึ่ง] มีพวกผู้ร้าย 30 คนหรืออาจจะมากถึง 50 คนก็ได้ บางคนสวมเครื่องแบบตำรวจด้วยซ้ำ ได้หยุดรถโดยสารของเรา และยิงใส่หน้าต่างรถของเรา” มุฮัมมาดุลเลาะห์ เจ้าของบริษัทรถโดยสารที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เป็นประจำบอกกับข้าพเจ้า “พวกมันค้นรถของเราและขโมยทุกๆ อย่างจากทุกๆ คน” พวกโจรผู้ร้ายเหล่านี้มักมีสายสัมพันธ์กับทางรัฐบาล เหตุลักพาตัวโดยคนร้ายที่ลงมือกระทำการกันเป็นแก๊ง มีเกิดขึ้นแพร่หลายตามเขตเมืองใหญ่ อย่างเช่น กันดาฮาร์ ซึ่งเป็นที่มั่นของเหล่าอดีตตอลิบาน พวกที่จะถูกจับได้ไล่ทันนั้นมีจำนวนน้อยมาก และบ่อยครั้งพวกนี้ก็ยังได้รับการปล่อยตัวไปอย่างง่ายๆ หลังจากส่งส่วยเข้าเส้นสายถูกช่องถูกประตู

ท่ามกลางสภาพการณ์แห่งความรุนแรงและอาชญากรรมเช่นนี้เอง พวกตอลิบานก็พลิกฟื้นขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งด้วยการให้สัญญาว่าจะสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้นมาในบ้านเมือง คณะผู้นำที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน โดยตั้งฐานอยู่ในเมืองแควตตา ของปากีสถาน ได้เริ่มกระตุ้นปลุกความกระตือรือร้นพวกเครือข่ายนักรบของตนซึ่งละลายคละเคล้าเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ของอัฟกานิสถาน พวกเขายังได้ชุบชีวิตความสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีอยู่กับชาวชนเผ่าปาชตุน (Pashtun ผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา จะเป็นขบวนการที่ครอบงำโดยชาวปาชตุน แต่ขบวนการกลับแทบไม่มีอิทธิพลอะไรเอาเลยในหมู่ชนชาติส่วนน้อยอื่นๆ ของอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็น ทาจิก Tajik หรือ เฮซารา Hezara) ด้วยเงินทุนจากพวกผู้บริจาคชาวอาหรับที่มั่งคั่ง และการฝึกอบรมจากองค์การประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) อันเป็นหน่วยงานสืบราชการลับของปากีสถาน พวกเขาก็สามารถที่จะนำเอาอาวุธและความชำนิชำนาญเข้าไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ของชาวปาชตุน

ในหมู่บ้านแห่งแล้วแห่งเล่า พวกเขาผลักไสขับไล่ผู้ที่ฝักใฝ่อยู่ข้างรัฐบาลที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นส่วนน้อย ทั้งด้วยวิธีข่มขู่และการลอบสังหาร จากนั้นพวกเขาก็เอาชนะใจผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านด้วยคำมั่นสัญญาเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กองจรยุทธ์หลายๆ หน่วยได้นำเอากฎหมายชาริอะห์เวอร์ชั่นที่ตีความอย่างเข้มงวดรุนแรงมาบังคับใช้ อาทิ ตัดมือพวกขโมย และยิงเป้าพวกคบชู้นอกใจ พวกเขาใช้การลงโทษที่เหี้ยมโหด แต่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีอีกแล้วที่ความยุติธรรมจักมีแก่ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดเท่านั้น “ไม่มีอาชญากรรมอีกต่อไป ไม่เหมือนกับก่อนหน้านั้น” เป็นคำบอกเล่าของ อับดุล ฮาลิม ผู้พำนักอาศัยอยู่ในเขตๆ หนึ่งที่อยู่ใต้การควบคุมของตอลิบาน

พวกผู้ก่อความไม่สงบจะเกณฑ์คนมาเป็นนักรบ จากหมู่บ้านต่างๆ ที่พวกเขาปฏิบัติการอยู่ บ่อยครั้งจะจ่ายเงินตอบแทนให้พวกเขาเดือนละ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกว่าสองเท่าตัวของเงินเดือนตำรวจทั่วๆ ไปที่ให้กันอยู่ พวกเขาตัดสินคดีพิพาทระหว่างเผ่าต่างๆ และระหว่างพวกเจ้าของที่ดิน พวกเขาคุ้มครองไร่ฝิ่นไม่ให้รัฐบาลกลางตลอดจนกองทหารต่างชาติเข้าไปกำจัดทำลาย อันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งทำให้พวกเขาได้รับความสนับสนุนจากชาวไร่ชาวนาที่ยากจน ซึ่งรายได้อันมั่นคงเพียงอย่างเดียวของพวกเขามาจากการปลูกฝิ่น ถึงแม้พื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพวกผู้ก่อความไม่สงบ จะเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ทางสังคม ทว่าสำหรับชาวบ้านชนบทที่ได้พบเห็นการแทรกแซงของต่างชาติมามากมายแล้ว และแทบไม่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเอาเลยภายใต้รัฐบาลคาร์ไซ เรื่องอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร

ในเวลาเดียวกัน อุดมการณ์ของตอลิบานก็เริ่มมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “เรากำลังต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศของเราให้เป็นอิสระจากการครอบงำของต่างชาติ” โฆษกตอลิบาน กอรี ยูเซฟ อาหมัดดี บอกกับข้าพเจ้าทางโทรศัพท์ “คนอินเดียเคยต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเรียกร้องเอกราช กระทั่งชาวอเมริกันครั้งหนึ่งก็เคยใช้วิธีก่อความไม่สงบเพื่อปลดปล่อยประเทศของพวกเขาเอง” คำพูดอันมีสีสันชาตินิยมที่กำลังปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ สามารถชักจูงใจชาวบ้านปาชตุนซึ่งกำลังหมดความอดทนลงเรื่อยๆ กับการปรากฏตัวของอเมริกันและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

อนันด์ โกปัล เขียนเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน, ปากีสถานและ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” อยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถานให้แก่ คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ ต้องการทราบข้อมูลและข้อเขียนของเขาเพิ่มเติม เชิญแวะเยือนเว็บไซต์ของเขา (anandgopal.com) สำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นตีพิมพ์ ปรากฏอยู่ในนิตยสาร Nation Magazine ฉบับล่าสุด

(อ่านต่อตอน 2 และ 3)
  • เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนสอง)
  • เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนสาม)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น