xs
xsm
sm
md
lg

จากชุดคลุมตัวมิดชิดสู่แคตวอล์กเดินแบบ

เผยแพร่:   โดย: ฟารังกิส นาจิบุลเลาะห์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

From the burqa to the catwalk
By Farangis Najibullah
18/03/2009

ชาวเมื่อตอนที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของอัฟกานิสถาน ประกาศแผนการจัดการประกวด “อัฟกัน โมเดล” นั้น ทางสถานีหวังว่าจะมีผู้สมัครเข้ามาสักสองสามร้อยคนก็พอใจแล้ว แต่ปรากฏว่า กลับมีผู้ปรารถนาจะมีอาชีพเดินบนแคตวอล์กถึงกว่า 2,000 คน โดยจำนวนมากทีเดียวเป็นชาย เร่งรีบมาลงชื่อขอเข้าร่วม ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ยังทำใจไม่ได้หรอกในเรื่องที่คนหนุ่มคนสาวพากันอวดโชว์เรือนร่างของตนเองกันเช่นนี้ ทว่านั่นก็แทบไม่ทำให้รายการประกวดนี้ได้รับความนิยมน้อยลง หรือขัดขวางความฝันของเหล่าผู้เข้าประกวด

หญิงสาวผู้หนึ่งกำลังอยู่ในชุดกางเกงยีนส์ เสื้อแจ๊กเก็ตขนสัตว์แขนยาว และรองเท้ากีฬา อีกคนหนึ่งแต่งกายในชุดประจำชาติของชาวอัฟกันอันเต็มไปด้วยสีสัน นั่นคือ ชุดยาวหลวมๆ พร้อมกางเกงขากว้างและผ้าคลุมศีรษะผืนใหญ่ ทั้งคู่ต่างเยี้องย่างอย่างสง่าไปตามแคตวอล์กปูพรม ต่อหน้าคณะกรรมการตัดสินผู้เอาจริงเอาจัง

ขอต้อนรับสู่ “อัฟกัน โมเดล” (Afghan Model) รายการบันเทิงทางทีวีที่มีทั้งส่วนผสมของการประกวดความงาม และส่วนผสมของแฟชั่นโชว์ “อัฟกัน โมเดล” ออกอากาศแพร่ภาพใน 10 จังหวัดทางตอนกลางของประเทศ โดยสถานีโทรทัศน์ของภาคเอกชนที่ใช้ชื่อว่า “เอมรูซ” (Emrooz ซึ่งแปลว่า วันนี้) และได้สปอนเซอร์จากพวกบริษัทเอกชนตลอดจนเหล่านักธุรกิจ

“เราต้องการให้เยาวชนชาวอัฟกันของเรามีความคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมและรายการต่างๆ ที่มีกันอยู่ตามประเทศอื่นๆ ในโลก” ฟาฮิม โคห์ดามานี ผู้อำนวยการรายการ “เอมรูซ” กล่าว “เรายังต้องการช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ชุดประจำชาติของชาวอัฟกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรามาหลายร้อยปีแล้ว ถึงแม้ในเวลานี้บางอย่างจะถูกลืมเลือนกันไป ขณะเดียวกัน เราก็ต้องการแนะนำดีไซน์ใหม่ๆ ทันสมัย และที่สำคัญกว่าอะไรอื่นก็คือ เราต้องการให้โอกาสแก่ชาวอัฟกันวัยเยาว์ ที่จะได้รับการจับตามอง ว่าเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาดีและมีเกียรติในโลกใบนี้”

ภายหลังการประกวด “อัฟกัน โมเดล” รอบแรกผ่านไปเมื่อเดือนที่แล้ว ปรากฏว่ามีผู้เข้าแข่งขัน 80 คนสามารถผ่านเข้าสู่รอบต่อไปที่กำหนดจัดขึ้นในเทศกาลปีใหม่ของชาวอัฟกัน ที่เรียกว่า “โนรูซ” ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มีนาคม

การประกวดจะเสร็จสิ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยที่ผู้เข้ารอบสุดท้ายจะแข่งขันกันเพื่อชิงรางวัลใหญ่ 2 รางวัล ซึ่งมีทั้งการได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศแถบเอเชีย และประเทศแถบยุโรป

**การกระทำอันกล้าหาญ**

ตอนแรกที่สถานีโทรทัศน์เอมรูซ ประกาศจัดรายการนี้ขึ้นมานั้น ทางสถานีหวังแค่ว่าจะมีผู้สนใจสักสองสามร้อยคน แต่ปรากฏว่ามีผู้ใฝ่ใจอยากเป็นผู้เดินแบบซึ่งจะต้องมีอายุระหว่าง 18ถึง 32 ปี รีบสมัครเข้ามาจำนวนกว่า 2,000 คน โดยจำนวนมากทีเดียวเป็นผู้ชาย

มีหญิงสาวบางคนมาจากจังหวัดทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน อาทิ จังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งผู้คนมีความคิดอนุรักษนิยมอย่างลึกล้ำอีกทั้งมีเหตุไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง ในอาณาบริเวณเหล่านี้ เด็กสาวคนไหนแม้เพียงแค่ไปโรงเรียนโดยใช้ผ้าโพกผืนใหญ่คลุมศีรษะ ไม่สวมชุดคลุมตัวมิดชิดเผยให้เห็นแต่ตา ที่เรียกกันว่าชุด “บูรกา” ก็ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมหาศาลยิ่ง

แม้กระทั่งในเมืองหลวงคาบูล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วต้องถือว่ามีความทันสมัยกว่ามาก วัซมา นักเรียนผู้อยู่ในวัย 18 ปีซึ่งเป็นชาวเมืองนี้และเข้าร่วมการประกวดในรายการนี้ด้วย ก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเกลี้ยกล่อมให้ญาติๆ ของเธอยอมรับว่า “ไม่เห็นมีอะไรผิดเลยที่จะเป็นนางแบบ”

“มีบางคนซึ่งมีทั้งญาติดิฉันบางคนและคนอื่นๆ ด้วย รู้สึกไม่พอใจในเรื่องนี้” วัซมาเล่า “พวกเขาไม่ต้องการให้เด็กสาวชาวอัฟกันเข้าร่วมรายการประกวดทำนองนี้ แต่รายการนี้ต้องถือว่าเป็นความริเริ่มใหม่เอี่ยมอย่างแท้จริงในอัฟกานิสถาน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ดิฉันจึงยินยอมอนุญาตให้ดิฉันเข้าร่วมประกวดด้วย”

ฮาเหม็ด ผู้เข้าการประกวดอีกคนหนึ่ง บอกว่าเขาต้องการใช้รายการนี้เป็นโอกาสในการเปิดตัวเองก้าวเข้าสู่การเป็นนายแบบอาชีพ

“หลังจากพวกตอลิบานถูกขับไล่ออกไปจากคาบูลแล้ว เราก็สามารถติดตั้งจานดาวเทียมได้” ฮามิด ซึ่งมีอายุ 19 ปีและเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าว “ผมได้ดูรายการแฟชั่นทางทีวีบ่อยๆ และมักสงสัยข้องใจว่าทำไมจึงไม่มีนายแบบนางแบบชาวอัฟกันในแฟชั่นโชว์ระดับอินเตอร์ฯกันบ้าง ตอนนี้ผมก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสู่จุดนั้นด้วยตัวเองแล้ว”

ในยุคตอลิบานครองเมืองนั้น เรื่องดนตรีและกิจกรรมบันเทิงทั้งหลายถูกห้ามขาด พวกตอลิบานยังชอบเอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยึดได้จากบ้านเรือนประชาชน มาแขวนประจานเอาไว้ในที่สาธารณะ

**เอาชนะอคติ**

รายการ “อัฟกัน โมเดล” ไม่ได้มีอะไรคล้ายคลึงกับรายการแฟชั่นโชว์ตามปกติธรรมดาเอาเลย ไม่มีดีไซเนอร์แฟชั่นมืออาชีพมาร่วมรายการ, ไม่มีแม้กระทั่งการกำหนดดีไซน์หรือแนวความคิดเบื้องหลังรายการ ผู้เข้าประกวดต่างสวมใส่ชุดที่พวกเขาคิดว่าดูดี โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นสไตล์แบบตะวันตกหรือแบบอัฟกัน

นอกจากนั้น พวกกรรมการตัดสินเองก็ไร้ประสบการณ์พอๆ กับนายแบบนางแบบ พวกเขาคัดเลือกผู้ชนะโดยพิจารณาจากหน้าตาและรูปร่าง ตลอดจนชุดแต่งกายที่สวมใส่

พวกผู้บริหารของเอมรูซคาดหวังว่า รายการ “อัฟกัน โมเดล” จะช่วยเพิ่มความนิยมชมชอบให้แก่ช่องทีวีของพวกเขา ถึงแม้ชาวอัฟกันจำนวนมากทีเดียวยังวิพากษ์วิจารณ์รายการนี้อย่างรุนแรงว่าเป็นการประกวดประขันที่ผิดศีลธรรม และชักจูงคนหนุ่มคนสาวไปในทางไม่ดี

ฮาเหม็ดผู้มุ่งมั่นที่จะได้เป็นนายแบบก็ยอมรับว่า ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ยังคงไม่ยอมรับแนวความคิดที่ว่า คนหนุ่มคนสาวสามารถโชว์อวดร่างกายและเสื้อผ้าของพวกเขาได้

“มันเป็นเรื่องที่ต้องเจอกับอุปสรรคความยุ่งยากมากมายเลย เพราะผู้คนจำนวนมากยังคงปิดความคิดของตัวเอง และเนื่องจากมันเป็นการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งแรกๆ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ นานามากมาย” ฮาเหม็ดบอก

ทว่าฮาเหม็ดก็ไม่วิตกว่าผู้คนจะคิดอย่างไร เขาเพียงแต่ยังคงรู้สึกชื่นชอบที่จะเป็นนายแบบ และกระทั่งกลายเป็นที่รู้จักตามถนนสายต่างๆ ของกรุงคาบูล

จากที่นั่นไปสู่เวทีแคตวอล์กแห่งเมืองมิลาน ยังคงต้องก้าวเดินกันไปอีกไกลนัก แต่นั่นก็ยังคงเป็นความฝันของเขา

เอเชียไทมส์ออนไลน์ ตีพิมพ์ซ้ำโดยได้อนุญาตจาก Radio Free Europe/Radio Liberty, 1201 Connecticut Ave NW, Washington DC 20036
กำลังโหลดความคิดเห็น