xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนสอง)

เผยแพร่:   โดย: อนันด์ โกปัล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Deep in the land of the Taliban
By Anand Gopal
5/12/2008

หากจะมีสถานที่ใดซึ่งเป็นเครื่องหมายอันเหมาะเหม็ง ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานแล้ว สถานที่นั้นย่อมต้องเป็นด่านตรวจเรียบๆ ง่ายๆ ของตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักทางด้านใต้ของเมืองหลวงคาบูลราว 20 นาที ด่านแห่งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงชายขอบของเขตนครหลวง หลังจากจุดนี้ไป รัฐบาลอัฟกานิสถานที่อเมริกันหนุนหลัง ก็ไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป และพื้นที่ดินแดนก็กลายเป็นของพวกตอลิบาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ และซับซ้อนเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตลอดจนผสมปนเปกันโดยมีทั้งนักชาตินิยม, พวกเคร่งครัดจารีตอิสลาม (อิสลามิสต์), และพวกโจรผู้ร้าย แตกต่างกันไปตามแต่ละเขตแต่ละท้องที่

(บทความนี้เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง TomDispatch.com กับ นิตยสาร Nation Magazine โดยที่เวอร์ชั่นซึ่งสั้นกว่านี้ของบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารด้วย)

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนสอง *

(ต่อจากตอนแรก)

แน่นอนที่ว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบยังคงกำลังต่อสู้เพื่อให้มีการใช้กฎหมายชาริอะห์แบบหนึ่งในอัฟกานิสถาน ทว่านักรบจรยุทธ์ที่เคยขึ้นชื่อลือชาเรื่องเข้มงวดเคร่งครัดจารีตเป็นอย่างยิ่งเหล่านี้ กำลังผ่อนคลายคำสอนอันสุดขั้วที่สุดของพวกตนบางประการลงมา อย่างน้อยที่สุดก็ในเชิงหลักการ ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2007 มุลลาห์ โอมาร์ ได้ออกคำชี้แนะฉบับหนึ่ง ระบุอนุญาตให้มีการเล่นดนตรีและการจัดงานเลี้ยงรื่นเริง (ซึ่งพวกตอลิบานในสมัยก่อนๆ เคยสั่งห้ามขาด) ผู้บัญชาการหน่วยรบของตอลิบานบางคนถึงขั้นยอมรับแนวความคิดเรื่องควรให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิงด้วย ขณะที่เหล่าผู้นำหัวแข็งกร้าวจำนวนหนึ่ง อาทิ มุลลาห์ ดัดดุลเลาะห์ (Mullah Daddullah) ผู้เหลือขาเพียงข้างเดียวและความเหี้ยมโหดทารุณของเขานั้นต้องจัดขึ้นหิ้งอยู่ในระดับตำนาน (มีรายงานว่าแม้กระทั่งมุลลาห์ โอมาร์เอง ยังทนไม่ค่อยไหวเกี่ยวกับการตัดหัวฆ่าคนอย่างเมามันเป็นระยะๆ ของเขา) ก็ได้ถูกสังหารโดยกองกำลังนานาชาติ

ขณะเดียวกัน คณะผู้นำที่มุ่งผลในทางปฏิบัติมากขึ้น ก็เริ่มเข้ามาเป็นผู้กุมบังเหียน พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯหลายรายเชื่อว่า คณะผู้นำที่ดูแลงานประจำวันของขบวนการในเวลานี้ จริงๆ แล้วอยู่ในมือของ มุลลาห์ เบรฮาดาร์ (Mullah Brehadar) ผู้หลักแหลมชำนาญการในทางการเมือง โดยที่มุลลาห์ โอมาร์ ยังคงทำหน้าที่เพียงเป็นประมุขในนามเสียเป็นส่วนใหญ่ เบรฮาดาร์อาจจะอยู่เบื้องหลังแรงผลักดันให้ขบวนการตอลิบานส่งข้อความที่มีลักษณะผ่อนปรนลงออกมา เพื่อให้ได้รับความสนับสนุนจากผู้คนวงกว้างยิ่งขึ้น

แม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตอลิบานระดับจังหวัดบางคนก็กำลังลดทอนนโยบายในสไตล์เก่าๆ ของตอลิบาน เพื่อเอาชนะใจของคนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น เมื่อ 3 เดือนที่แล้วในเขตๆ หนึ่งของจังหวัดกาซนี พวกผู้ก่อความไม่สงบได้สั่งปิดโรงเรียนทุกแห่ง แต่เมื่อเหล่าผู้อาวุโสของเผ่าได้อุทธรณ์ต่อสภาปกครองทางศาสนาของตอลิบานในพื้นที่นั้น ปรากฏว่าผู้พิพากษาของศาลศาสนาก็ได้กลับคำตัดสิน และอนุญาตให้เปิดโรงเรียนขึ้นมาใหม่

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าผู้บัญชาการกองกำลังในสนามทุกๆ รายจะยอมทำตามคำชี้แนะที่ให้เลิกห้ามการเล่นดนตรีและการจัดงานเลี้ยงรื่นเริง ในหลายๆ เขตที่ตอลิบานควบคุมอยู่ ความบันเทิงดังกล่าวนี้ก็ยังถูกถือว่าขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะการจัดตั้งแบบหลวมๆ ไม่รวมศูนย์อำนาจของขบวนการนี้ พวกผู้บัญชาการกองกำลังระดับท้องถิ่นมักกำหนดนโยบายของพวกเขาเองขึ้นมา ตลอดจนริเริ่มเปิดการโจมตีศัตรูโดยไม่ต้องรอคำสั่งโดยตรงจากคณะผู้นำตอลิบาน

ผลก็คือ ตอลิบานกลายเป็นขบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตแต่ละท้องที่ ในบางเขตที่อยู่ในความควบคุมของตอลิบานในจังหวัดกาซนี ชาวอัฟกันที่ถูกจับได้ว่ากำลังทำงานให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) จะถูกสังหารชีวิตสถานเดียว แต่ในหลายๆ ส่วนของจังหวัดวอร์ดัค ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน และว่ากันว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่ที่นี่จะเป็นพวกมีการศึกษามากกว่าตลอดจนเข้าอกเข้าใจความจำเป็นในเรื่องการพัฒนา ปรากฏว่าพวกเอ็นจีโอในท้องถิ่นสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับอนุญาตจากนักรบจรยุทธ์

**ตอลิบาน “อีกแบบหนึ่ง” **

อัฟกานิสถานไม่เคยขาดปืนหรือนักรบจรยุทธ์ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์สำหรับการงอกเงยเติบโตของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอีกจำนวนมากมายนอกเหนือไปจากพวกตอลิบานแล้ว

นากิบุลเลาะห์ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เครายังขึ้นแค่หร็อมแหร็มและพูดจาด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนและสุขุม เขาอายุยังไม่เต็ม 30 ปีเลยตอนที่เราได้พบปะกัน เรากำลังนั่งอยู่ตรงเบาะหลังของรถโคโรลลาสนิมเขลอะที่จอดนิ่งอยู่บนถนนสายที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อใกล้ๆ มหาวิทยาลัยคาบูล อันเป็นสถานศึกษาที่เขาร่ำเรียนวิชาแพทยศาสตร์อยู่ นากิบุลเลาะห์ (เป็น “ชื่อจัดตั้ง” ซึ่งก็คือนามแฝงที่ใช้ภายในขบวนการ) และเพื่อนๆ ของเขาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นสมาชิกของ ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี (Hizb-I-Islami)กลุ่มก่อความไม่สงบที่นำโดยขุนศึก กุลบุดดิน เฮกมัตยาร์ (Gulbuddin Hekmatyar)และเป็นพันธมิตรกับพวกตอลิบาน กลุ่มเพื่อนๆ ของเขาพบปะกันเป็นประจำตามหอพักของมหาวิทยาลัย เพื่อถกเถียงกันเรื่องการเมืองและชมแผ่นดีวีดีบันทึกเหตุการณ์โจมตีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่นานนัก

รอบปีที่ผ่านมา กลุ่มของเขาลดจำนวนลดไป ซาดิกถูกจับขณะพยายามจุดระเบิดพลีชีพ วาซิมตายตอนที่พยายามประกอบระเบิดที่บ้าน ฟาวอุดเสียชีวิตไปเมื่อประสบความสำเร็จในการเข้าโจมตีแบบระเบิดพลีชีพต่อค่ายทหารสหรัฐฯแห่งหนึ่ง “พวกอเมริกันมีเครื่องบินบี 52” นากิบุลเลาะห์อธิบาย “การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพคือบี 52 ในเวอร์ชั่นของเรา” เหมือนๆ กับเพื่อนๆ ของเขา นากิบุลเลาะห์ก็เคยคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น “บี 52” “แต่มันจะต้องฆ่าพลเรือนมากเกินไป” เขาบอกกับข้าพเจ้า นอกจากนั้นเขายังมีแผนจะใช้ประโยชน์จากการศึกษาของเขา เขาบอกว่า “ผมต้องการสอนพวกตอลิบานที่ไร้การศึกษา”

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่พวกนักรบ ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี ขี้นชื่อว่ามีระดับการศึกษาและเข้าใจเรื่องโลกนอกศาสนามากกว่าพวกตอลิบานอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นชาวไร่ชาวนาที่ไม่เคยมีโอกาสร่ำเรียน เฮกมัตยา ผู้นำของ ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี เคยศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยคาบูลในทศวรรษ 1970 และก็ที่นี่เองที่เขาสร้างชื่อลือฉาวให้กับตนเอง ด้วยการสาดน้ำกรดใส่หน้าพวกผู้หญิงที่ไม่สวมผ้าคลุมหน้า

เขาก่อตั้ง ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี ขึ้นมาเพื่อต่อต้านอิทธิพลโซเวียตที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวในอัฟกานิสถาน และในทศวรรษ 1980 องค์การของเขาก็กลายเป็นพรรคการเมืองของพวกเคร่งจารีตศาสนาที่สุดพรรคพนึ่ง ตลอดจนเป็นกลุ่มระดับนำในการสู้รบต่อต้านการยึดครองของโซเวียต เฮกมัตยาร์ที่ทั้งเหี้ยมโหด, ทรงอำนาจ, และต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นพันธมิตรที่ทรงสมรรถนะสำหรับวอชิงตัน ซึ่งได้อัดฉีดเงินทองเป็นล้านๆ ดอลลาร์ ตลอดจนอาวุธเป็นตันๆ ผ่านทางองค์การไอเอสไอของปากีสถาน ไปให้กองกำลังของเขา

หลังจากโซเวียตถอนตัวออกไปแล้ว เฮกมัตยาร์และผู้บัญชาการนักรบมุจาฮีดีนคนอื่นๆ ก็หันปืนของพวกเขาเข้าเล่นงานกันเอง ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองที่สร้างความวิบัติยับเยิน ซึ่งหลายๆ เมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงคาบูล จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวจากความเสียหายคราวนั้น ชาวอัฟกันที่เหลือขาข้างเดียว สืบเนื่องจากฤทธิ์จรวดของเฮกมัตยาร์ ยังคงเดินให้เห็นกันอยู่ตามท้องถนนในนครแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม เฮกมัตยาร์ไม่สามารถที่จะยึดครองเมืองหลวงเอาไว้ได้ และในที่สุดพวกผู้หนุนหลังชาวปากีสถานของเขาก็ทอดทิ้งเขา หันไปหากองกำลังอิสลามิสต์กลุ่มใหม่ที่ยิ่งสุดโต่งขึ้นไปอีก และกำลังผงาดสายแสงขึ้นทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน นั่นก็คือ พวกตอลิบาน

ผู้บัญชาการนักรบของ ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี ส่วนใหญ่พากันแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับตอลิบาน และตัวเฮกมัตยาร์ก็ต้องหลบหนีอย่างเสื่อมเกียรติไปอยู่ในอิหร่าน โดยในระหว่างช่วงเวลาเหล่านี้เขาได้สูญเสียแรงสนับสนุนไปมากมาย เขายังคงมีฐานะต่ำต้อยเช่นนั้นจนกระทั่งเขาเป็นหนึ่งในขุนศึกไม่กี่คน ซึ่งไม่ได้ถูกเสนอให้ได้ที่ทางในคณะรัฐบาลที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯ อันจัดตั้งขึ้นมาภายหลังปี 2001

เรื่องนี้ในภายหลังกลับต้องถือเป็นความโชคดีของเขา เมื่อคณะรัฐบาลชุดนั้นล้มครืนลงไป เขาก็พบว่าตัวเองสามารถก้าวผงาดกลับเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยอาศัยความหงุดหงิดไม่พอใจในระดับท้องถิ่นของชุมชนชาวปาชตุนต่างๆ แบบเดียวกับที่พวกตอลิบานใช้อยู่ แล้วเขาก็สามารถค่อยๆ ชุบชีวิต ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี ขึ้นมาใหม่

ทุกวันนี้ กลุ่มนี้กลายเป็นหนึ่งในองค์กรก่อความไม่สงบที่เติบโตขยายตัวได้รวดเร็วที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ตามความเห็นของ อันโตนิโอ กิอุสตอซซี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อความไม่สงบของชาวอัฟกัน แห่ง ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ฮิซบ์-ไอ-อิสลามีสามารถสร้างอิทธิพลอันเข้มแข็งในจังหวัดต่างๆ ใกล้ๆ กรุงคาบูล ตลอดจนตามพื้นที่ของชุมชนชาวปาชตุนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลุ่มนี้ยังมีส่วนช่วยเหลือแผนการอันซับซ้อนในการพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีคาร์ไซเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว รวมทั้งอยู่เบื้องหลังการซุ่มตีครั้งที่กลายเป็นข่าวเกรียวกราว โดยสามารถสังหารทหารนาโต้ไป 10 คนในฤดูร้อนปี 2008 พวกนักรบจรยุทธ์ของกลุ่มนี้ทำการสู้รบภายใต้ร่มธงตอลิบาน ถึงแม้จะปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระและมีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่แยกต่างหากออกมา พวกผู้นำของกลุ่มมีความคิดแบบเดียวกับตอลิบาน ในเรื่องที่มองภารกิจของพวกตนว่า คือการฟื้นฟูอธิปไตยของอัฟกานิสถาน ตลอดจนสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในอัฟกานิสถาน นากิบุลเลาะห์อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “สหรัฐฯได้ตั้งระบอบปกครองหุ่นขึ้นที่นี่ มันเป็นการสบประมาทดูหมิ่นอิสลาม เป็นความอยุติธรรมที่ชาวอัฟกันทั้งมวลควรจะต้องลุกขึ้นมาคัดค้าน”

รัฐอิสลามที่เป็นเอกราชซึ่ง ฮิซบ์-ไอ-อิสลามี กำลังต่อสู้ให้ได้มานั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องมี เฮกมัตยาร์ ไม่ใช่ มุลลาห์ โอมาร์ เป็นผู้ควบคุมกุมอำนาจ ทว่าก็เหมือนกับในยุคการทำสงครามจิฮัดเพื่อต่อต้านโซเวียตนั่นแหละ การตัดสินว่าใครคือผู้ทำคะแนนได้กันแน่ ส่วนใหญ่แล้วจะรอทิ้งไว้ให้ไปว่ากันในอนาคต

อนันด์ โกปัล เขียนเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน, ปากีสถานและ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” อยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถานให้แก่ คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ ต้องการทราบข้อมูลและข้อเขียนของเขาเพิ่มเติม เชิญแวะเยือนเว็บไซต์ของเขา (anandgopal.com) สำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ที่เป็นเวอร์ชั่นตีพิมพ์ ปรากฏอยู่ในนิตยสาร Nation Magazine ฉบับล่าสุด

(อ่านต่อตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนสาม)
  • เจาะลึกขบวนการ“ตอลิบาน” (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น