xs
xsm
sm
md
lg

‘ปีศาจของมาร์กซ์’กับ‘การจลาจลชนกลุ่มน้อยในจีน’

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยนจวินปอ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Ghost of Marx haunts China’s riots
By Jian Junbo
07/07/2009

ขณะที่ลัทธิมาร์กซ์กำลังทรุดโทรมลงจากฐานะการเป็นอุดมการณ์ทรงอิทธิพลครอบงำอยู่ในประเทศจีน ความสำนึกเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมืองก็ค่อยๆ เลือนลางจางหายไปเช่นกัน ประชาชนคนสามัญไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังกันอีกแล้วว่าเป็นเจ้าของประเทศ และคนงานทั้งหลายก็ไม่ใช่ชนชั้นที่น่าเคารพนับถืออีกต่อไป พวกนายทุนเวลานี้นั่งอยู่ที่โต๊ะของรัฐบาล ขณะที่อัตลักษณ์แห่งความเป็นสังคมนิยมของชาวจีนกำลังค่อยๆ แตกสลายเป็นชิ้นๆ การจลาจลที่เกิดขึ้นในเมืองอูรุมชีน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่งกว่านั้นมากมายนัก

เซี่ยงไฮ้ – ความรุนแรงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไป 156 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 816 คนในเมืองอูรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง(ซินเกียง) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนนั้น คือตัวอย่างล่าสุดของความขัดแย้งที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มชนชาติฮั่นที่เป็นชนส่วนข้างมากของจีน กับพวกชนชาติส่วนน้อยอื่นๆ

หัวใจของปัญหาที่กำลังเพิ่มทวียกระดับขึ้นทุกทีนี้ คือบรรดานโยบายของจีนต่อชนชาติส่วนน้อยของตนเอง ซึ่งเป็นนโยบายที่เร่อร่าล้าสมัย โดยที่เป็นพวกมาตรการตามแบบชาวมาร์กซิสต์ซึ่งเวลานี้ไม่เป็นที่พอใจทั้งของชนชาติฮั่นและทั้งชนกลุ่มน้อย ขณะที่เศรษฐกิจอันใหญ่โตมโหฬารของจีนก้าวหน้าไป วิสัยทัศน์ของอดีตผู้นำ เหมาเจ๋อตง ของจีนในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมืองและทางเศรษฐกิจระหว่างชาวฮั่นและผู้ที่มิใช่ชาวฮั่น ก็กำลังถูกทำลายแตกสลายลงไปอย่างช้าๆ

ผลลัพธ์ในที่สุดนั้น เราสามารถที่จะเห็นได้จากท้องถนนอันนองเลือดของนครอูรุมชี

เมื่อวันอาทิตย์(5) คนชนชาติอุยกูร์มากกว่า 300 คน (ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนามุสลิมนิกายสุหนี่) จัดการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสประชาชนของเมืองอูรุมชี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนเหตุทะเลาะวิวาทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ในโรงงานของเล่นแห่งหนึ่งที่เมืองเสากวน มณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) เหตุจลาจลที่อูรุมชีเริ่มต้นขึ้นเมื่อตำรวจเริ่มเข้าสลายผู้ประท้วง ไม่นานนักก็กระจายไปจนทั่วนครไกลโพ้นที่มีประชากร 2.3 ล้านคนแห่งนี้

กลุ่มผู้ประท้วงหลายกลุ่มได้ทำลายพวกแผงกั้นถนน, จุดไฟเผารถยนต์, และทุบตีชาวฮั่นที่ผ่านไปมา ฝูงชนยังได้โจมตีรถประจำทางและจุดไฟเผาโรงแรมแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับอาคารสำนักงานของคณะกรรมการการค้าต่างประเทศเขตปกครองซินเจียง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รวมทั้งมีรถยนต์, ร้านรวง, และบ้านเรือนจำนวนเป็นร้อยๆ ถูกทุบและถูกเผาในระหว่างที่เกิดความรุนแรง ซินหัวระบุ

ในวันจันทร์(6) สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) ได้ออกอากาศภาพที่ผู้ประท้วงชาวอุยกูร์เข้าทำร้ายชาวฮั่นทั้งชายหญิง เตะถีบพวกเขาที่ล้มกองกับพื้น และปล่อยทิ้งพวกเขาให้อยู่ในอาการมึนงงและจมกองเลือด ภาพจำนวนมากแสดงให้เห็นควันที่ลอยออกมาจากยวดยานหลายคัน ขณะที่ผู้ประท้วงจับรถตำรวจพลิกคว่ำ และทุบทำลายรถประจำทาง

เมื่อถึงคืนวันจันทร์(6) พบผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 156 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 800 คน ซึ่งมีทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในกองกำลังตำรวจติดอาวุธด้วย ทั้งนี้ตามการแถลงของกรมรักษาความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะแห่งซินเจียง ศพผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ศพถูกพบตามตรอกซอกซอยต่างๆ เจ้าหน้าที่หลายคนระบุ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายน่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก

สถิติของทางการไม่ได้แยกแยะว่าผู้ประท้วงชาวอุยกูร์เสียชีวิตไปมากน้อยเพียงใด ขณะที่ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกแถลงข่าวให้กับ สภาชาวอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress หรือ WUC) องค์การที่มีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ ของชาวอุยกูร์ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ที่ต้องการเรียกร้องเอกราช ได้บอกกับ “เสียงอเมริกา” ว่า ตำรวจเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง ทางด้านรัฐบาลจีนได้ประณาม ดับเบิลยูยูซี ว่าเป็นจอมบงการทำให้เกิดความรุนแรงคราวนี้

ซินหัวกล่าวว่า “สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว” เมื่อถึงตอนเช้าวันจันทร์ โดยที่ตำรวจได้ปิดการจราจรในหลายๆ ส่วนของเมือง และจับกุมผู้ประท้วงกว่า 1,000 คน ในจำนวนผู้ที่ถูกจับมีอย่างน้อย 10 คนซึ่งเป็นตัวการใหญ่ที่สุดที่ทำให้ความไม่สงบกระจายตัวไปอย่างกว้างขวางเมื่อวันอาทิตย์ ทั้งนี้ตามคำแถลงของกรมความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะแห่งซินเจียง

แต่แล้วในวันอังคาร(7) ชาวอุยกูร์กว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ได้จัดการชุมชนประท้วงขึ้นใหม่ในเมืองอูรุมชี ต่อหน้าพวกผู้สื่อข่าวต่างชาติ และมีรายงานว่าในตอนบ่ายวันนั้น ชาวเมืองอูรุมชีที่เป็นชาวฮั่นได้เริ่มโจมตีตอบโต้เล่นงานชาวอุยกูร์บ้าง ผู้หญิงอุยกูร์เหล่านี้เรียกร้องให้ปล่อยตัวสมาชิกครอบครัวของพวกเธอที่ถูกจับระหว่างเหตุรุนแรงในวันอาทิตย์ พวกผู้สื่อข่าวต่างชาติไปอยู่กันตรงนั้น ก็เพราะทางการผู้รับผิดชอบกำลังจัดพาไปชมสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่พวกผู้ประท้วงต่อสู้อย่างดุเดือดกับตำรวจ ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อฮ่องกง

ในคืนวันนั้น(7) รัฐบาลของซินเจียงได้ออกแถลงเตือนว่า “พวกศัตรู” กำลังวางอุบายที่จะก่อกวนให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อื่นๆ ของซินเจียง เป็นต้นว่า อี้หนิง และ คัชการ์

“เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่มีการสูญเสียชีวิต” ในอูรุมชี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เอียน เคลลี กล่าว “เราเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายอยู่ในความสงบและอดกลั้น”

เลขาธิการสหประชาชาติ บันคีมุน ก็เรียกร้องให้อดกลั้นเช่นเดียวกัน เขากล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์(6)ว่า “ไมว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน จุดยืนของสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติก็ยังคงเหมือนเดิมและมีความชัดเจน นั่นคือ การมีความคิดเห็นแตกต่างกันทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ จะต้องแก้ไขกันอย่างสันติโดยผ่านการสนทนากัน”

ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานคำแถลงฉบับหนึ่งของรัฐบาลจีนที่ระบุว่า ความรุนแรงคราวนี้เป็น “อาชญากรรมรุนแรงที่มีการจัดตั้งและเตรียมการกันไว้ก่อน เป็นการกระตุ้นยุยงและบงการจากภายนอกประเทศ และดำเนินการโดยพวกนอกกฎหมายภายในประเทศ”

ในการแถลงที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เมื่อเช้าวันจันทร์(6) นูร์ เบกรี ผู้ว่าการซินเจียง ได้กล่าวหา ดับเบิลยูยูซี ที่นำโดย รอบิยะห์ กอดีร์ –อดีตนักธุรกิจหญิงที่บัดนี้พำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ-- ว่าเป็นผู้ยุแหย่ให้เกิดความรุนแรงผ่านทางโทรศัพท์และทางอินเทอร์เน็ต

“รอบิยะห์ได้สนทนาทางโทรศัพท์หลายครั้งกับผู้คนในประเทศจีนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เพื่อสั่งให้ทำการปลุกปั่น ... และมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อประสานงานการปลุกปั่น” คำแถลงของผู้ว่าการซินเจียงระบุ

ทางด้าน อาลิม เซย์ตอฟฟ์ โฆษกของกอดีร์ ได้บอกกับสำนักข่าวเอพีจากกรุงวอชิงตันว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลความจริง

“เป็นวิธีปฏิบัติตามธรรมดาของรัฐบาลจีนอยู่แล้วที่จะต้องกล่าวหาคุณกอดีร์เมื่อเกิดความไม่สงบใดๆ ขึ้นใน เตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan) และต้องกล่าวหาองค์ทะไลลามะเมื่อเกิดความไม่สงบใดๆขึ้นในทเบต” เขากล่าว เตอร์กิสถานตะวันออกนั้นเป็นชื่อเรียกรัฐอุยกูร์ ที่พวกกลุ่มและกำลังหัวรุนแรงซึ่งต้องการเอกราชทั้งหลาย ปรารถนาที่จะสถาปนาขึ้นในซินเจียง

กลุ่มลี้ภัยนอกประเทศเหล่านี้กลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement) ถูกขึ้นบัญชีทั้งโดยรัฐบาลจีนและยูเอ็นว่าเป็นองค์การก่อการร้าย ดับเบิลยูยูซีนั้นปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับขบวนการอิสลามเตอร์กินสถานตะวันออก

ความรุนแรงในอูรุมชียังเป็นเสมือนเสียงสะท้อนของเหตุการณ์ความไม่สงบในทิเบตเมื่อปีที่แล้ว ในเดือนมีนาคม 2008 การเดินขบวนอย่างสงบของพระในเมืองเอกลาซาของทิเบต ได้ปะทุกลายเป็นการจลาจลที่ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 คน รัฐบาลจีนได้กล่าวหาองค์ทะไลลามะว่าเป็นผู้จัดดำเนินการให้เกิดความรุนแรง ขณะที่องค์ทะไลลามะปฏิเสธข้อกล่าวหา

ไม่ว่าการจลาจลเหล่านี้จะเกิดจากการยุยงของพวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชหรือไม่ก็ตามที ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่าความขัดแย้งอย่างรุนแรงเป็นสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากทั้งคนฮั่นและชนชาติส่วนน้อยต่างไม่มีความไว้วางใจกันและกัน นอกจากนั้นการแพร่ข่าวลือทางอินเทอร์เน็ตก็มีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย

การทะเลาะเบาะแว้งในโรงงานที่เสากวนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เริ่มต้นจากการโพสต์ข้อความทางเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตแห่งหนึ่ง ที่ระบุว่ามีคนงานหญิงชาวฮั่นอย่างน้อย 2 คนถูกข่มขืนโดยพวกคนงานอพยพชาวอุยกูร์ ซึ่งไปทำงานที่โรงงานแห่งนั้นจำนวนมาก

ด้วยความเดือดแค้นหลังทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว คนงานชาวฮั่นได้ยกกำลังบุกเข้าไปในหอพักของพวกคนงานอุยกูร์ ในการต่อสู้ที่ติดตามมา ชาวอุยกูร์ 2 คนถูกฆ่าตาย และคนงานจากทั้งสองฝ่ายจำนวนมากต่างได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ตามการแถลงของตำรวจท้องถิ่น ในเวลาต่อมา ทางการผู้รับผิดชอบได้จับกุมคนงานชาวฮั่นผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้อัปโหลดข่าวลือเรื่องข่มขืนจนทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา

**จุดจบของอัตลักษณ์การต่อสู้ทางชนชั้น**

ความขัดแย้งระหว่างชาวฮั่นกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังปะทุบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่านโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ต่อชนชาติส่วนน้อยต่างๆ กำลังไร้ประสิทธิภาพในการประคับประคองรักษาความสัมพันธ์ในระหว่างประชาชนให้บังเกิดความกลมกลืนราบรื่น

ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา นโยบายของ พคจ.มีการระบุจุดมุ่งหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อรักษาความสามัคคีภายในชาติและทำให้ภาคประชาชนมีเสถียรภาพ รัฐบาลคอมมิวนิสต์พิจารณาเห็นว่ากลุ่มชนชาติต่างๆ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นชาวจีน ทว่าก็ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มชนชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นชนชาติส่วนน้อย ให้รักษาและพัฒนาวัฒนธรรมประเพณีของพวกตน รัฐบาลกระทั่งเข้าช่วยเหลือชนชาติส่วนน้อยที่มีแต่ภาษาพูด ให้สร้างระบบการเขียนของตนเองขึ้นมา

แนวความคิดที่ว่า ประชาชนทุกคนในประเทศจีนล้วนสังกัดอยู่ใน “ครอบครัวใหญ่แห่งชาวจีน” นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์สร้างขึ้นมา ทัศนคติเช่นนี้เริ่มต้นขึ้นโดย ดร.ซุนยัตเซ็น บิดาผู้สถาปนาประเทศจีนสมัยใหม่ และก็ได้รับความสนับสนุนจากนักคิดชาวจีนแนวทางแสงสว่างแห่งปัญญา (enlightenment) ยุคต้นๆ เป็นต้นว่า เหลียงฉี่เฉา และ หูซื่อ

ในยุคของประธานเหมาเจ๋อตง นโยบายเชื้อชาตินี้ถูกบงการโดยหลักการเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นของเขา ซึ่งอธิบายว่าประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งที่เป็นชาวฮั่นและที่มิใช่ชาวฮั่นทั้งหมดทั้งสิ้น ต่างก็มีอัตลักษณ์ร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ การเป็นแรงงานแห่งสังคมนิยม คำว่า “แรงงาน” นี้หมายความว่าพวกเขายังเป็นเจ้าของประเทศอีกด้วย ทั้งเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและจากอุดมการณ์ ขณะที่พวกนายทุน, เจ้าที่ดิน, เจ้าทาส, และ “พวกขูดรีด” อื่นๆ ไม่ว่าจะกำเนิดเป็นชนชาติอะไร ก็ล้วนแต่ถือว่าเป็นศัตรู

นโยบายเช่นนี้ประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามเรื่องความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ อีกทั้งช่วยสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันสำหรับประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งมวล นโยบายเช่นนี้ภายใต้เหมาเจ๋อตง สามารถที่จะสามัคคีกลุ่มชนชาติทั้งหลายเข้าไว้ใน “การต่อสู้ทางชนชั้น” ต่อต้าน “พวกผู้กดขี่” ได้ในระดับหนึ่งทีเดียว นอกจากนั้นยังทำให้พวกอดีตชนชั้นนำของชนชาติส่วนน้อย กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ผู้ใช้แรงงานที่ยากจนของกลุ่มชนชาติต่างๆ ในประเทศจีน ต่างให้ความสนับสนุนอย่างมากต่อรัฐบาลของ พคจ. และยอมรับอัตลักษณ์ใหม่แห่งสังคมนิยมของพวกตน ไม่ว่าชาวฮั่นหรือมิใช่ชาวฮั่นต่างกลายเป็นผู้ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง และแนวความคิดว่าด้วยเรื่องชนชาติก็ค่อยๆ เจือจาง โดยถูกข่มด้วยแนวความคิดว่าด้วยเรื่องชนชั้น

มโนทัศน์ว่าด้วยชนชั้น ซึ่งให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันแก่ประชาชนทุกคนที่อยู่ในชนชั้นเดียวกัน ได้ก้าวข้ามบดบังแนวความคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางชนชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชาติต่างๆ

แต่เมื่อหลักคำสอนเรื่องการต่อสู้ทางชนชาติถูกนำมาปฏิบัติกันอย่างสุดโต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเมื่อปี 1966 – 1976 มันก็ทำให้พวกเรดการ์ด ซึ่งประกอบด้วยชาวฮั่นเป็นส่วนใหญ่ ได้สนามรบสำหรับการโจมตีมรดกทางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์ของจีน ทั้งที่เป็นมรดกของชาวฮั่นและของชนชาติอื่นๆ โดยอ้างว่ากระทำในนามของการปฏิวัติ การโจมตีเหล่านี้ได้สร้างความเจ็บปวดอย่างมหาศาลให้แก่ความรู้สึกของบรรดาชนชาติส่วนน้อย

ภายหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม รัฐบาลจีนดูเหมือนปรารถนาที่จะให้การชดเชยในบางรูปแบบ จึงเริ่มที่จะให้อภิสิทธิ์เหนือธรรมดาตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ชนชาติส่วนน้อย

ตัวอย่างเช่น นโยบายอันเข้มงวดเรื่องครอบครัวหนึ่งมีบุตรได้เพียงคนเดียวนั้นใช้บังคับกับสามีภรรยาชาวฮั่นเท่านั้น ผลที่ตามมาก็คือ อัตราการเกิดของชาวฮั่นและสัดส่วนประชากรที่เป็นชาวฮั่นกำลังลดต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชนชาติอื่นๆ ขณะเดียวกัน มีการให้อภิสิทธิ์แก่ชนชาติส่วนน้อยในเรื่องโอกาสการเข้าทำงานและโอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลยังได้ทุ่มเทเงินทองจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ของชนชาติส่วนน้อย

ชาวฮั่นจำนวนมากรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจกับสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ภายหลังการทะเลาะวิวาทที่เสากวน เลขาธิการพรรคสาขามณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) หวังหยาง ได้ไปเยี่ยมและปลอบขวัญคนงานชาวอุยกูร์ที่ได้รับบาดเจ็บ ทว่าถูกกล่าวหาว่าละเลยคนงานชาวฮั่นที่ก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน เรื่องนี้สร้างความโกรธกริ้วให้แก่พวกคนงานชาวฮั่น และทำให้พวกเขายิ่งเพิ่มความสงสัยข้องใจนโยบายของรัฐบาล

ถึงแม้กลุ่มชนชาติต่างๆ อย่างเช่น ชาวอุยกูร์ พากันร้องเรียนว่าพวกเขากำลังถูกขูดรีดหรือถูกเลือกปฏิบัติจากชาวฮั่น แต่ชาวฮั่นจำนวนมากกล่าวหารัฐบาลว่ากำลังกระทำอย่างเดียวกันนี้แหละต่อพวกเขา ในท้ายที่สุดแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนก้าวหน้าไป ความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมืองและทางเศรษฐกิจระหว่างชาวฮั่นและผู้ที่มิใช่ชาวฮั่นก็กลับกำลังถูกทำลายไป

ช่องว่างด้านความมั่งคั่งกำลังถ่างกว้างออกไป ระหว่างชาวฮั่นผู้ซึ่งโดยทั่วไปพำนักอาศัยในพื้นที่ซึ่งร่ำรวย กับพวกชนชาติส่วนน้อยซึ่งพำนักอาศัยกันในพื้นที่ที่ยากจนกว่าโดยเปรียบเทียบ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคต่างๆ จึงได้กลายเป็นปัญหาระหว่างชาวฮั่นกับผู้ที่มิใช่ชาวฮั่นไปด้วย ถึงแม้ความไม่สมดุลทางด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้ มีสาเหตุเนื่องมาจากปัจจัยจำนวนมาก แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายดายสำหรับชนกลุ่มน้อยที่จะรู้สึกว่าถูกขีดรีดจากชาวฮั่น

ขณะที่อิทธิพลของลัทธิมาร์กซ์ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ทรงอิทธิพลครอบงำอยู่ในประเทศจีนกำลังเสื่อมคลายไปเรื่อยๆ ความรู้สึกถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมืองก็กำลังจืดจางลงทุกทีเช่นกัน ทุกวันนี้ ประชาชนคนสามัญไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังกันอีกแล้วว่าเป็นเจ้าของประเทศ และคนงานทั้งหลายก็ไม่ใช่ชนชั้นที่น่าเคารพนับถืออีกต่อไป ชนชั้นนายทุนกลับกลายเป็นแขกผู้มีเกียรติของรัฐบาล

ในประเทศจีน ความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางชนชั้นนั้นได้ล่มสลายลงแล้ว ตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แนวความคิดของความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางชนชั้นนี้ ได้เป็นพื้นฐานซึ่งทำให้ประชาชนคนสามัญทั้งหลาย รวมทั้งชนกลุ่มน้อยด้วย สามารถประคับประคองอัตลักษณ์ของพวกตนเอาไว้ ในฐานะเป็นสมาชิกรายหนึ่งของประชาคมทางการเมืองของจีน

บัดนี้ การที่ชนชาติส่วนน้อยต่างๆ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและทางการเมืองน้อยลงไปเรื่อยๆ จึงกำลังพังทะลายรากฐานแห่งอัตลักษณ์ความเป็นชาวจีนของกลุ่มชนชาติบางกลุ่ม ในเวลาเดียวกัน กระบวนการลดทอนความสำคัญให้น้อยลงไปทุกทีนี้ ก็ไม่เป็นที่เข้าใจของชาวฮั่นจำนวนมากที่เป็นกลุ่มชนชาติส่วนข้างมากของประเทศ

อัตลักษณ์แห่งความเป็นชาวจีนที่มีอยู่ร่วมกัน –เป็นต้นว่า การเป็นแรงงานแห่งสังคมนิยม—กำลังค่อยๆ แตกสลายเป็นชิ้นๆ การจลาจลในเมืองอุรุมชีซึ่งเป็นผลลัพธ์ของสิ่งเหล่านี้ น่าจะเป็นเพียงการเริ่มต้นของอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่งกว่านั้นมากมายนัก

ดร.เจี่ยนจวินปอ เป็นรองศาสตราจารย์แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น