xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่แต่ประเทศจีน คนจีนก็ไม่พอใจ

เผยแพร่:   โดย: อันโตอะเนตา เบซโลวา

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

The Chinese are not happy
By Antoaneta Bezlova
22/04/2009

หนังสือเรื่อง “จงกว๋อปู้เกาซิ่ง” (ประเทศจีนไม่พอใจ China is Not Happy) เขียนโดยนักชาตินิยมชาวจีนกลุ่มหนึ่ง กลายเป็นหนังสือขายดิบขายดี ทว่าไม่ใช่ด้วยเหตุผลดังที่นักเขียนกลุ่มนี้ปรารถนาไว้ แทนที่จะสร้างความโกรธเกรี้ยวขึ้นมาในแบบที่คนจีนมองว่าชาวต่างชาติดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศตน หนังสือเล่มนี้กลับเป็นที่ประทับจิตประทับใจของประชาชนจีนสามัญธรรมดา ผู้รู้สึกหนักอึ้งกับปัญหาเรื่องไม่น่าพอใจภายในประเทศอันมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล

ปักกิ่ง – ตอนแรกทีเดียวมันก็ดูไม่มีอะไรผิดแผกจากธรรมดา หนังสือที่ตั้งชื่อเอาไว้อย่างมีเลศนัยว่า “จงกว๋อปู้เกาซิ่ง” (ประเทศจีนไม่พอใจ) ได้รับการคาดหมายกันว่าจะต้องก่อให้เกิดความเกรียวกราว เนื่องจากคณะผู้เขียนอวดเอาไว้ว่า จะแฉรายละเอียดเรื่องราวความน่าโกรธเกรี้ยวของการที่ต่างชาติมากล่าวหาใส่ร้ายประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและกำลังเดินหน้าก้าวผงาดขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจแห่งนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานร่วมของนักเขียนแนวชาตินิยมชาวจีนรวม 5 คน (ได้แก่ ซ่งเส่าจวิน Song Shaojun, หวางเสี่ยวตง Wang Xiaodong, หวงจี้ซู Huang Jisu, ซ่งเฉียง Song Qiang, และ หลิวหยาง Liu Yang) และเขียนขึ้นเป็นเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อประเด็นการถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับทิเบต, การก่อกวนการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่กรุงปารีส, และเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งสร้างความเคืองแค้นให้แก่ผู้คนจำนวนมากในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว

แต่แล้ว หนังสือเล่มนี้กลับดูเหมือนจะกลายเป็นที่ประทับจิตประทับใจของผู้อ่านชาวจีนในลักษณะที่คณะผู้เขียนคงไม่ได้ปรารถนา มันช่างเป็นการหักมุมที่ชวนให้ประหลาดใจ เนื้อหาของหนังสือซึ่งมุ่งหวังที่จะปลุกเร้าความขุ่นแค้นแบบชาตินิยม ต่อการปฏิบัติต่อประเทศจีนของพวกมหาอำนาจต่างชาติ กลับกลายเป็นการระเบิดเปิดช่องให้เห็นถึงความคับข้องใจของประชาชนชาวจีนที่มีต่อรัฐบาลของพวกเขาเอง

บทวิจารณ์แสดงความคิดเห็นมากมายเป็นระลอก พากันหลั่งไหลออกมาทางอินเทอร์เน็ต และกระทั่งเข้าไปปรากฏในสื่อที่รัฐควบคุมอยู่บางแห่ง

“ดูจากภายนอกแล้ว นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับความรักชาติ” นักวิจารณ์ ฉางผิง (Chang Ping) กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ (Southern Weekend) ที่มีแนวเสรีนิยม “ปัญหาอยู่ที่ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ช่วยจีนแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดเผยให้เห็นปัญหาเหล่านี้ แต่ตรงกันข้าม หนังสือนี้ต้องการให้จีนประสบความสำเร็จ ด้วยการหยุดยั้งประเทศอื่นๆ และด้วยการลงโทษประชาชนจีนที่ชอบประเทศอื่นๆ”

ทว่า “แท้ที่จริงแล้ว ประชาชนจีนจะพอใจไปได้อย่างไร?” ฉางตั้งคำถาม “ลูกหลานของพวกเขาต้องดื่มนมปนเปื้อนสารพิษ และป่วยเป็นนิ่ว, บรรดาสามีต้องลงใต้ดินขุดถ่านหินแล้วก็ถูกฝังอยู่ในนั้น, พวกร้องเรียนที่เข้าแถวยื่นคำร้องทุกข์ถูกส่งไปอยู่โรงพยาบาลโรคจิต ขณะเดียวกัน แม้กระทั่งบุหรี่ที่พวกเจ้าหน้าที่ทางการสูบก็ยังกลายเป็นเงินเป็นทองขึ้นมา”

ในบรรดาผู้ที่ออกมาปกป้องแก้ต่างให้หนังสือเล่มนี้ มีบางรายที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำเสนอทัศนะของฝ่ายรัฐบาล นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เซวี่ยงเหลย (Xiong Lei) ซึ่งภายหลังเกษียณอายุจากสำนักข่าวซินหัวแล้ว เวลานี้ทำงานเป็นภาคีสมาชิกของสมาคมจีนเพื่อการศึกษาสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นเอาไว้ว่า หนังสือเล่มนี้สามารถมองว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจของจีนที่มีต่อระเบียบโลกอันไม่ยุติธรรมในปัจจุบัน

“แน่นอนทีเดียวว่าประชาชนมีสิทธิที่จะไม่พอใจความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว” เธอเขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ของทางการ “เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้เช่นกัน ที่มีบางคนเรียกร้องให้ปฏิรูประบบต่างๆ ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังใช้กันอยู่ในหมู่บ้านแห่งโลกของพวกเรา”

“หนังสือเรื่อง “ประเทศจีนไม่พอใจ” มีคุณค่าก็เพียงชื่อหนังสือเท่านั้นแหละ” เป็นเสียงโต้แย้งจาก ซ่งซื่อหนาน (Song Shinan) บล็อกเกอร์ผู้พำนักอยู่ในมณฑลเสฉวน ที่เมื่อปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวสร้างความหายนะใหญ่หลวง โดยเฉพาะได้ฝังร่างเด็กนักเรียนนับพันๆ ไว้ใต้กองซากปรักหักพังของอาคารโรงเรียนที่สร้างขึ้นด้วยคุณภาพแสนต่ำ “ถ้อยคำทั้ง 340,000 คำในหนังสือเล่มนี้ควรจะลบออกไปให้หมด แล้วแทนที่ด้วยตัวอักษร 5 ตัวที่ตีพิมพ์ไว้บนหน้าปก ... ตัวอักษร 5 ตัวเหล่านี้ย่อมสะท้อนกระแสเสียงส่วนข้างมากอย่างเด็ดขาดของประชากรจีน”

รายชื่อผู้คนที่มีความไม่พอใจซึ่งซ่งระบุออกมา อ่านดูแล้วช่างเหมือนกับหนังสือบันทึกเรื่องราวบรรดากลุ่มทางสังคมต่างๆ ในประเทศจีน โดยมีทั้งเด็กๆ ที่ถูกลักลอบนำไปขายเป็นทาสแรงงาน, นักโทษที่ถูกทรมานจนตายในเรือนจำ, คนงานอพยพที่ถูกปลดออกจากงาน, นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกทิ้งให้เป็นคนตกงาน, ปัญญาชนผู้ถูกกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรมจากคำพูดของพวกเขา, และ “ประชาชนจีนทั้งหลายทั้งปวงที่ร่ำไห้อย่างเงียบๆ ในยามค่ำคืน เพราะพวกเขาถูกดูหมิ่นเหยียดหยามหรือได้รับบาดเจ็บ” แล้วเขาก็สรุปว่า ใช่แล้ว ประเทศจีนนั้นไม่พอใจเลย

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกุมอำนาจมาตั้งแต่ปี 1949 กำลังเผชิญกับความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างโจ๋งครึ่ม, ความไม่เสมอภาคทางรายได้, และความล้มเหลวของพรรคในการป้องกันการเสียชีวิตของเด็กๆ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เสฉวนปีที่แล้ว, ตลอดจนกรณีฉาวโฉ่ปกปิดเรื่องนมผงเลี้ยงทารกที่ปนเปื้อนสารอันตราย ซึ่งทำอันตรายให้แก่ทารกกว่า 300,000 คน

วันที่ 1 ตุลาคม จะเป็นวันครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่วันที่ 4 มิถุนายน ก็จะครบรอบปีที่ 20 ของการชุมนุมเดินขบวนของนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งยุติลงด้วยการที่ทางการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม

การที่หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดกระแสหวนกลับมาพิจารณาปัญหาของจีน ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจีนเองเช่นนี้ น่าจะไม่ใช่ผลลัพธ์ลำดับแรกที่คณะผู้เขียนหนังสือคาดหวังเอาเสียเลย เพราะถึงแม้พวกเขาจะได้ต่อท่อระบายความโกรธกริ้วของพวกเขาไปยังเป้าหมายต่างๆ ภายในจีนก็ตามที ทว่าสิ่งที่คณะผู้เขียนแสดงความโกรธแค้นและรู้สึกถูกสบประมาทมากที่สุด ก็ยังคงเป็นเรื่องที่โลกภายนอกปฏิบัติต่อจีนอย่างไม่เป็นธรรม

หนังสือเรื่อง “ประเทศจีนไม่พอใจ” ซึ่งเป็นการรวมบทความหลายๆ ชิ้นที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ เข้าไว้ด้วยกัน ต้องถือว่าเป็นการต่อยอดจากหนังสือขายดีระเบิดเทิดเทิงของพวกนักชาตินิยมอีกเล่มหนึ่ง นั่นคือ “จงกว๋อเขออี่ซัวปู้” (ประเทศจีนสามารถพูดปฏิเสธ China Can Say No) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1996 เขียนและทำหน้าที่บรรณาธิการโดย จางจังจัง (Zhang Zangzang), จางเสี่ยวปอ(Zhang Xiaobo), ซ่งเฉียง(Song Qiang), ถังเจิ้งหยู (Tang Zhengyu), เฉียวเปียน (Qiao Bian), และ กู่ชิงเซิง (Gu Qingsheng) หนังสือทั้งสองเล่มนี้เขียนโดยกลุ่มปัญญาชนและนักวิชาการซึ่งพูดถึงพวกเขาเองว่า เป็นกระบอกเสียงให้กับสาธารณชนชาวจีนผู้บังเกิดความห้าวหาญขึ้นมาแล้ว นั่นคือกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องจากรัฐบาลของตน

หนังสือเล่มล่าสุดนี้เสนอทัศนะว่า การประท้วงต่างๆ ที่สร้างความเสียหายให้มหกรรมกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าต่างชาติยังคงดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศจีน ขณะที่ “ผี” ต่างชาติที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์จลาจลในเมืองหลวงลาซาของทิเบตเมื่อเดือนมีนาคม 2008 ก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศจีน “ถูกโลกตะวันตกปิดล้อมในทางยุทธศาสตร์” กันถึงขนาดไหน

หลิวหยาง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักเขียนของหนังสือเล่มนี้ เสนอแนะเอาไว้ว่า จีน “จะต้องไม่ยอมให้สหรัฐฯจี้จับโลกเป็นตัวประกัน” อีกทั้งประณามพวกนักปฏิรูปชาวจีนว่า “หลับหูหลับตาเดินตามแบบอย่างของอเมริกัน” แทนที่จะจุดประกายสาดส่องเส้นทางของประเทศจีนเอง

“พวกทาสของต่างชาติเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ได้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจีนให้กลายเป็นเพียงภาคผนวกของเศรษฐกิจอเมริกันเท่านั้น แต่พวกเขายังได้ทำให้พวกเขาเองกลายเป็นผู้อยู่ในอุปการะของอเมริกันอีกด้วย” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้

นักเขียนอีกคนหนึ่งในคณะนี้ คือ ซ่งเฉียง ก็ป่าวร้องว่าประเทศจีนควรต้อง “กุมดาบของตนให้มั่นคง” เนื่องจากการกระทำเช่นนี้เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างประเทศชาติอันแข็งแกร่งขึ้นมาได้ จีนควรที่จะพิทักษ์คุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศอย่างกล้าหาญ โดยถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะแผ้วถางทางเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การเป็นอภิมหาอำนาจ ซ่งกล่าว

องค์ประกอบที่เป็นตัวร้อยรัดบทความต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ คือ ลัทธิชาตินิยมแบบหนึ่งซึ่งมุ่งแสดงความขุ่นเคืองไม่พอใจ พวกเขามุ่งพร่ำสอนว่าปักกิ่งควรต้องเริ่มใช้บารมีของตนเองเป็นอาวุธในต่างประเทศอย่างหนักแน่นจริงจังยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ต้องการให้มีการคิดค้นพิจารณาตนเองในทางปัญญาไม่ว่าชนิดไหนก็ตามที โดยบอกว่านั่นเป็นการหันเหความสนใจของตนเอง ทำให้ไม่สามารถบรรลุ “เป้าหมายใหญ่” ที่จะผงาดขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจ

ไม่พอใจจริงหรือไม่ก็ตาม แต่คณะนักเขียนของหนังสือเล่มนี้ย่อมไม่รู้สึกผิดหวังต่อสถิติการขายที่สูงลิ่ว โดยตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายตอนกลางเดือนมีนาคม เวลานี้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 8 แล้ว ทั้งนี้มีรายงานว่า “ประเทศจีนไม่พอใจ” ขายได้แล้วประมาณครึ่งล้านเล่ม

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น