กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต หลังพบช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำเกือบ 500 คน เผยผลสำรวจในเด็กไทยพบว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นแค่ 16.7% เท่ากับว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนจากเด็กไทยทั้งหมด 13 ล้านคน
วันที่ 14 มกราคม นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการจัดการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกเขต โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัยในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง หน่วยงานท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนประมาณ 300 คน
โดย นพ.มานิต กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลกเสียชีวิต ปีละกว่า 130,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเด็กที่เสียชีวิตจากโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ โรคอหิวาตกโรคโรคไข้เลือดออก และโรคไทฟอยด์รวมกัน เช่นเดียวกับทั่วโลก การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิต ประมาณปีละเกือบ 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน หรือมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 5-15 เท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนจะมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำเกือบ 500 คน และจากการสำรวจในเด็กไทยพบว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นเพียง 16.7% หรือกล่าวได้ว่า เด็กไทยทั้งหมด 13 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี จมน้ำมักเกิดจากการเผอเรอชั่วขณะของผู้ปกครอง/ผู้ดูแล ส่วนในเด็กโต อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก การที่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น และการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี ดังที่เห็นเป็นข่าวกันบ่อยครั้ง เช่น การที่พี่ลงไปช่วยน้องที่ตกน้ำ นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้หน่วยงานสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน และขยายผลให้เกิดการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำของเด็กอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองที่พาเด็กมารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง การให้ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ การเฝ้าระวังและสอบสวนการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กทุกรายเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาแก้ปัญหาในพื้นที่ การร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำในวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี และที่สำคัญ คือ การดำเนินงานเชิงรุกลงสู่ชุมชน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำต่อไป