xs
xsm
sm
md
lg

จีนอ้าง “มุสลิมหัวรุนแรง” แทรกซึม ปลุกระดมอุยกูร์ ก่อการร้ายต้านรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการชุมนุมของสมาชิก ฮิซบุตตาฮ์รีร์ ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย - เอเอฟพี
รอยเตอร์ – รัฐบาลจีนเผย กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงแทรกซึมซินเจียง ปลุกระดมอุยกูร์ก่อการร้ายรัฐบาลจีน ระบุ “ฮิซบุตตาฮ์รีร์” หรือ “พรรคปลดปล่อยอิสลาม” เป็นศัตรูตัวฉกาจรายล่าสุด ด้าน ฮิซบุตตาฮ์รีร์โต้จีนแอบอ้างใช้ชื่อกลุ่มสร้างกระแสก่อการร้าย สร้างความชอบธรรมในการปราบปรามชาวอุยกูร์ก่อนโอลิมปิกเริ่ม

ณ เมืองคัชการ์ (ภาษาอุยกูร์) หรือคาสือ (ภาษาจีน) ในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง (ซินเกียง) เจ้าหน้าที่จีนได้เขียนป้ายข้อความเตือนประชาชนโดยระบุว่า “จงต่อสู้กับพรรคปลดปล่อยอิสลาม” และ “พรรคปลดปล่อยอิสลามเป็นองค์กรก่อการร้ายหัวรุนแรง” อย่างไรก็ตามประชาชนที่ผ่านไปมา ดูเหมือนไม่ค่อยสนใจกับการโฆษณา ต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน และก่อการร้ายนี้มากนัก

“ผมไม่รู้หรอกว่ากลุ่มที่รัฐบาลพูดถึงคืออะไร” ชายชาวอุยกูร์คนหนึ่งกล่าวพร้อมส่ายศีรษะ ก่อนที่จะรีบจ้ำอ้าวปลีกตัวไป

เช่นเดียวกับทิเบตซึ่งเป็นเขตล่อแหลมของจีน ชาวอุยกูร์ในซินเจียงก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ที่ส่งเสริมให้ชาวฮั่นอพยพมายังพื้นที่ ที่ชนชาติส่วนน้อยอาศัยอยู่ เพื่อหวังกลืนชนชาติส่วนน้อยให้กลายเป็นจีน นโยบายดังกล่าวได้สร้างความตึงเครียดให้กับชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่กลับต้องเผชิญกับการอพยพหลั่งไหลของชาวฮั่นจำนวนมาก การอพยพดังกล่าวได้ส่งผลคุกคามทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมต่อชาวอุยกูร์ กระทั่งความตึงเครียดนี้ได้ปะทุออกเป็นการรวมตัวต่อต้านของชาวอุยกูร์ อย่างไรก็ตามทางการจีนระบุว่า กลุ่มอุยกูร์หัวรุนแรงได้ร่วมมือกับอัลกออิดะห์ ทำการก่อการร้ายเพื่อสถาปนารัฐเตอร์กีสถานตะวันออก

ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้อ้างว่า ปีนี้ทางรัฐบาลได้ขัดขวางแผนก่อการร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในซินเจียง โดยกลุ่มก่อการร้ายได้วางแผนก่อวินาศกรรมในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก อาทิ ลักพาตัวนักกีฬา และสังหารนักกีฬาด้วยระเบิดพลีชีพ

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนมักระบุว่า การก่อการร้ายแต่ละครั้ง มีขบวนการเอกราชเตอร์กีสถานตะวันออก (อีทีไอเอ็ม) เป็นผู้บงการ อย่างไรก็ตามขณะนี้ “ฮิซบุตตาฮ์รีร์” หรือ “พรรคปลดปล่อยอิสลาม” กำลังกลายเป็นชื่อใหม่ที่ได้รับการกล่าวถึงในซินเจียง นิโคลาส เบ็กลิน จากฮิวแมน ไรทส์ วอทซ์ระบุว่า “ฮิซบุตตาฮ์รีร์” เป็นองค์กรที่ยืดหยุ่น เคลื่อนไหวได้คล่องตัว และแม้อิทธิพลขององค์กรในซินเจียงจะจำกัด แต่ก็มีแนวโน้มว่า ทางองค์กรกำลังมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ดรู แกลดนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุยกูร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสถาบันแปซิฟิกแห่งมหาวิทยาลัยโพโมนา แคลิฟอร์เนียโต้ว่า ฮิซบุตตาฮ์รีร์ ไม่ได้เป็นภัยต่อจีนตามที่รัฐบาลอ้าง โดยแกลดนีย์ระบุว่า จุดประสงค์ของฮิซบุตตาฮ์รีร์ต่างกับของชาวอุยกูร์ “แม้นักรณรงค์ชาวอุยกูร์บางคนจะยึดมั่นในศาสนามาก แต่พวกเขาล้วนมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับซินเจียง จุดประสงค์ดังกล่าวตรงข้ามกับฮิซบุตตาฮ์รีร์ ที่มีจุดประสงค์ทางศาสนามากกว่า คือต้องการรื้อฟื้นตำแหน่งคอลีฟะฮ์ หรือกาหลิบ ผู้นำประชาชาติอิสลามทั่วโลกเพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่รัฐใดรัฐหนึ่งที่แยกตัวออกมา” แกลดนีย์กล่าว

ทั้งนี้ฮิซบุตตาฮ์รีร์ หรือพรรคปลดปล่อยอิสลาม ก่อตั้งครั้งแรกที่นครเยรูซาเลมเมื่อปี 1953 โดยอิซบุตตาฮีร์เห็นว่า ตำแหน่งกาหลิบผู้ปกครองรัฐประชาชาติอิสลาม ซึ่งยุติไปเมื่อปี 1924 เป็นรูปแบบของรัฐบาลอุดมคติ เนื่องจากองค์กาหลิบหรือคอลีฟะฮ์ คือประมุขผู้เป็นตัวแทนในการใช้กฎหมายของอัลลอฮ์ที่บัญญัติไว้ในอัลกุรอาน มากกว่าการใช้กฎหมายที่บัญญัติโดยมนุษย์ กลุ่มนี้อ้างว่า พวกตนพยายามจัดตั้งระบบกาหลิบขึ้นใหม่ โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิถีทาง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า แนวคิดนี้เป็นอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกับพวกกลุ่มญิฮาดหรือกลุ่มรณรงค์สงครามศักดิ์สิทธิ์ และข้ออ้างว่าจะยึดแนวทางสันติก็เป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่งเท่านั้น
“จงเป็นพลเมืองที่ดี” เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงเดินผ่านป้ายรณรงค์ให้พลเมืองเคารพกฎหมายและเป็นพลเมืองที่ดีในเมืองคาชการ์ ซินเจียงเมื่อต้นเดือนเมษายน - เอเยนซี
‘ฮิซบุตตาฮ์รีร์’ ค้านรัฐบาลจีน ปัดไม่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า ฮิซบุตตาฮ์รีร์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลจีนตามที่ทางรัฐอ้าง “ภัยคุกคามจากฮิซบุตตาฮ์รีร์ในซินเจียงไม่ได้มีอยู่จริง รัฐบาลจีนกุเรื่องขึ้นมาเอง พวกเขาพยายามเบนความสนใจของชาวโลก ที่มีต่อชะตากรรมชาวอุยกูร์ไปยังทิศทางอื่น” ดิลซัต ราซิต โฆษกสภาอุยกูร์โลก ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กล่าว

ด้านฮิซบุตตาฮ์รีร์เอง ก็ได้ออกมาปฏิเสธการเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงในซิน เจียง “ฮิซบุตตาฮ์รีร์ และชาวมุสลิมที่ไม่ปฏิบัติตามที่รัฐบาลจีนต้องการ ถูกกดขี่อย่างรุนแรง ตั้งแต่ฮิซบุตตาฮ์รีร์ ก่อตั้งในปี 1953 ทางองค์กรก็เคลื่อนไหวอย่างสันติมาตลอด และการเคลื่อนไหวอย่างสันตินี้ ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป” ทาจิ มุสตาฟา โฆษก ฮิซบุตตาฮ์รีร์ ประเทศอังกฤษกล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งไปยังรอยเตอร์

จีนย้ำ ‘ฮิซบุตตาฮ์รีร์’ ก่อการร้ายจริง

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้เน้นย้ำ ว่าฮิซบุตตาฮ์รีร์มีบทบาทเคลื่อนไหวก่อการร้ายในซินเจียงจริง ทั้งนี้ องค์กรฮิซบุตตาฮ์รีร์ถูกขึ้นป้ายจากบางประเทศอาทิ อุซเบกิสถาน ว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน สำนักข่าวซินหัวได้รายงานข่าวการลงโทษผู้ก่อการร้ายอุยกูร์ 6 รายซึ่งได้รับโทษตั้งแต่จำคุกถึงประหารชีวิต ทั้งนี้รายงานข่าวดังกล่าวได้กล่าวพาดพิงถึงฮิซบุตตาฮ์รีร์ว่ามีบทบาทในการเคลื่อนไหวด้วย โดย 1 ในผู้ก่อการร้ายชาวอุยกูร์ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด เนื่องจากมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมสุดโต่งทางศาสนาอย่างแข็งขัน, ส่งเสริมญิฮาด, ช่วยก่อตั้งฐานฝึกสอนการก่อการร้าย และเตรียมการก่อตั้งรัฐประชาชาติอิสลาม ซึ่งปกครองโดยกาหลิบ

ต่อมาในเดือนเมษายนรัฐบาลซินเจียงได้กล่าวโทษฮิซบุตตาฮ์รีร์ว่า “เป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดการประท้วงในเมืองโคทาน หรือเหอเถียน” ซึ่งสภาอุยกูร์โลกได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประท้วงครั้งนั้น ว่ามีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 1,000 คน แกลดนีย์วิจารณ์ว่า “การที่รัฐเชื่อมโยงผู้ชุมนุมเข้ากับฮิซบุตตาฮ์รีร์ ทำให้รัฐสามารถอ้างกฎหมายในการปราบปรามได้ เนื่องจากพวกเขาสมคบคิดกับขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติเพื่อสถาปนารัฐอิสลามและคุกคามความมั่นคงจีน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่า การชุมนุมประท้วงครั้งนั้น มีจุดมุ่งหมายตามที่รัฐอ้าง เพราะการชุมนุมดังกล่าวสะเปะสะปะ ไม่มีการจัดตั้งเป็นรูปแบบ”

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยมากมายแต่ทางการจีน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในคัชการ์ยังคงโฆษณาเตือนให้ระวังภัยจากฮิซบุตตาฮ์รีร์ ชาวอุยกูร์บางคนยอมรับว่า เขาได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับฮิซบุตตาฮ์รีร์บ้าง แต่องค์กรนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกเขา “สิ่งที่พวกเราต้องการก็แค่เสรีภาพ แต่ตอนนี้พวกเราถูกกดขี่ ชาวฮั่นหลั่งไหลเข้ามามากมาย ขณะที่พวกเรามีจำนวนเพียงน้อยนิด” ชาวอุยกูร์รายหนึ่งในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของซินเจียงกล่าวระบายความคับแค้น พร้อมปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับฮิซบุตตาฮ์รีร์
กำลังโหลดความคิดเห็น