เอเจนซี – แม้ศึกวิวาทะระหว่างชาวฮั่นและชาวอุยกูร์ในโรงงานที่มณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้จีน จะไม่ปรากฎตามสื่อมากนัก แต่ภาพเหตุการณ์ที่แพร่หลายอยู่ในอินเทอร์เนต ก็เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงที่จุดไฟจลาจลในเมืองอูหลู่มูฉี เขตปกครองตัวเองชนชาติอุยกูร์มณฑลซินเจียงที่อยู่ห่างออกไปหลายพันไมล์
ในประเทศที่รัฐบาลควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด อินเทอร์เนตถือเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลในการระดมกำลังคน และถือเป็นศัตรูตัวฉกาจที่รัฐบาลพยายามต่อสู้ด้วย
เสี่ยว เฉียง ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เนตในจีนแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ กล่าวว่า ในยุคอินเทอร์เนต เหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ห่างไกลอย่างเช่นซินเจียงและทิเบต สามารถส่งผ่านมาถึงผู้คนทั่วโลกเพียงแค่พริบตา
เมื่อความไม่สงบเกิดขึ้นในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง รัฐบาลจีนได้พยายามปิดเว็บไซต์ Twitter และ Facebook รวมถึงเว็บไซต์ข่าวบางเว็บ และยังตัดสัญญานอินเทอร์เนตและโทรศัพท์มือถือบางพื้นที่ เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรง
นอกจากนี้ ยังได้ควบคุมคำค้นหาในเสิร์ช เอ็นจิน เช่น Baidu และ Google ภาคภาษาจีน หากมีการค้นหาคำว่า “ซินเจียง” หรือ “อุยกูร์” หน้าเว็บที่ปรากฎจะเป็นรายงานเหตุการณ์ของฝ่ายรัฐบาลทันที
การปะทะกันระหว่างคนงานชาวฮั่นและชาวอุยกูร์ ที่โรงงานผลิตของเล่นเออร์ลี ไลทธ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในเมืองเสากวน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. สื่อของทางการจีนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 2 ราย แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ภาพชาวอุยกูร์อย่างน้อย 6 คนที่ถูกชาวฮั่นยืนอยู่บนร่างพร้อมชูมือประกาศชัยชนะ ก็ถูกเผยแพร่ออกไปทางอินเทอร์เนต
ภาพเหล่านี้ถูกโพสต์ครั้งแล้วครั้งเล่า บนเว็บไซต์ที่มีเซิฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศที่รัฐบาลจีนไม่อาจตรวจสอบ และได้สร้างผลสะเทือนให้เกิดขึ้นมหาศาล
ในเว็บไซต์ Uighrubiz.cn ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอุยกูร์ มีการโพสต์จดหมายเปิดผนึกจากผู้เขียนที่ใช้นามแฝงว่า ‘ยาทการ์’ แนะนำให้ชาวอุยกูร์ล้างแค้นชาวฮั่นจากเหตุปะทะที่โรงงานของเล่น โดยระบุว่า “แกทุบตีชาวอุยกูร์ ฆ่าชาวอุยกูร์ โดยไม่ยั้งคิดว่าจะเกิดอะไรตามมา”
ขณะที่อีกเว็บไซต์หนึ่งที่ชาวอุยกูร์นิยมคือ Diyarim.com มีการโพสต์ข้อความเรียกร้องให้รวมตันกันที่เมืองอูหลู่มู่ฉี โดยบอกว่า “ให้ไปรวมตัวกับที่จัตุรัสประชาชนเวลา 17.00 น.พวกวัยรุ่น ถ้าคุณมีเวลาก็ให้มาที่จัตุรัสด้วย”
ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุจลาจลในเมืองอูหลู่มู่ฉี ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามควบคุมสถานการณ์ ผู้นำในเขตปกครองตนเองซินเจียง ก็ออกมาประณามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างแดน ผ่านสื่อโทรทัศน์ของรัฐว่า คนกลุ่มนี้ใช้เว็บไซต์ Uighrubiz และ Diyarim เป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ
เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในเมืองอูหลู่มู่ฉีครั้งนี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าซินเจียงเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยีไร้สาย แม้จะตั้งอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยทะเลทรายและเทือกเขา เป็นเขตที่ห่างไกลติดต่อกับเอเชียกลางก็ตาม
ดรู กลาดนีย์ ผู้เชี่ยวชาญชาวอุยกูร์ จากสถาบันลุ่มน้ำแปซิฟิค วิทยาลัยโพโมนาในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า โดยปกติแล้วสัญญาณมือถือในเมืองอูหลู่มู่ฉีจะเสถียรมาก และคนที่นี่จะใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเชื่อมต่ออินเทอร์เนต และว่า “คนในอูหลู่มู่ฉี เข้าถึงเทคโนโลยีนี้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส”
สิบกว่าปีก่อน เมื่อเทคโนโลยีไร้สายยังไม่แพร่หลายในจีน การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงชาวอุยกูร์อย่างเหี้ยมโหดที่เมืองอี้หนิง แทบจะไม่มีข้อมูลใดเล็ดรอดออกมาเลย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ยังคงคลุมเครืออยู่จนทุกวันนี้
มีเพียงข้อมูลจากทางการจีน ที่รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตว่ามี 9 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์และนักสิทธิมนุษยชน กลับเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตมีมากกว่านั้น 10 เท่า หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้
มุกเดิมๆ ที่รัฐบาลจีนมักนำมาใช้เมื่อเกิดความไม่สงบ คือการตัดสัญญาณอินเทอร์เนตและโทรศัพท์มือถือ ดังที่รัฐบาลจีนเคยทำในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะเกรงชาวทิเบตชุมนุมประท้วงรัฐบาล
แม้ในการจลาจลครั้งล่าสุดนี้ รัฐบาลจีนพยายามปิดปากเงียบเรื่องการตัดสัญญาณสื่อสาร แต่ นายหลี่ จื้อ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองอูหลู่มู่ฉี ได้แถลงข่าวยอมรับว่า มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เนตในบางพื้นที่จริง ทั้งนี้ “เพื่อป้องกันไม่ให้การจลาจลและความรุนแรงแพร่กระจายไปสู่พี้นที่อื่น”
พฤติกรรมการตรวจสอบดังกล่าว นอกจากจะไม่ช่วยให้เหตุการณ์ที่ไม่สงบเงียบหายไปแล้ว ยังกลับช่วยให้ข่าวลือต่างๆ ฟังดูน่าเชื่อถือขึ้น
“ยิ่งคุณพยายามควบคุมอินเทอร์เนตและปิดกั้นข้อมูลมากเพียงใด ยิ่งทำให้ข่าวลือกลายเป็นความจริงมากขึ้นเท่านั้น และประชาชนก็เลือกที่จะเชื่อข่าวลือ” นั่นคือความเห็นของ เสี่ยว เฉียง ที่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “นั่นคือผลด้านลบของการควบคุมข้อมูลข่าวสาร”