xs
xsm
sm
md
lg

จุดยืนที่ลำเอียงของนักสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังร้อนระอุ ความคิดเห็นแตกแยกออกเป็นหลายฝ่ายและเหมือนจะยังไม่มีหนทางที่จะประนีประนอมกันได้เช่นนี้ นักสิทธิมนุษยชนดูจะถูกเรียกร้องจากทั้งสองฟากฝั่งของความคิดเห็น ฝั่งหนึ่งบอกว่าควรจะตัดสินใจเลือกข้างได้แล้วเพราะการวางตัว “เป็นกลาง” ไม่เข้ากับฝ่ายใดก็หมายความว่ายินดีปล่อยให้การเมืองเลวร้ายต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ ในขณะที่อีกฝั่งก็เรียกร้อง (หรือแม้แต่ประณาม) ว่านักสิทธิมนุษยชนหลายคนกำลังวางตัว “ไม่เป็นกลาง” และเอียงเข้าข้างพันธมิตรฯ จนไม่ควรจะเรียกตัวเองว่า “นักสิทธิมนุษยชน” อีกต่อไปเพราะกำลังมีจุดยืนที่ลำเอียงและเลือกข้างแทนที่จะเป็นพวกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างที่ควร

บทบาทของนักสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ เป็นและควรเป็นการเลือกข้าง มีและควรมีจุดยืนที่ลำเอียงหรือไม่ กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง

การเรียกร้องจากทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ทำให้ต้องหวนกลับมาทบทวนตัวเองว่าการเป็น “นักสิทธิมนุษยชน” นั้นควร “เป็นกลาง” ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดจริงหรือไม่ แล้วถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดความเลวร้ายเล่า การเลือกเข้าข้างผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ถือว่าเป็นความลำเอียงหรือไม่ การอยู่ข้างผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ใช่จุด (ที่ควร) ยืนของนักสิทธิมนุษยชนหรอกหรือ

ที่สำคัญ การ “ไม่เลือกข้าง” นั้นแปลว่าอะไรในภาคปฏิบัติ

ประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เคยทำให้ต้องหวนมาวิเคราะห์ตัวเองในทำนองเดียวกันนี้ ได้แก่ตอนที่ไปขอให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้สูญหายรายหนึ่ง ปรากฏว่าระหว่างการสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยราชการแห่งหนึ่งถึงความคืบหน้าของคดี เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งได้นำรูปถ่ายฆ่าเผาทำลายศพของสามีตนเองมาให้ดูว่าคนไทยพุทธก็ถูกกระทำอย่างโหดร้าย ทำไมไม่เห็นมาช่วยกันบ้าง

ภาพเหล่านั้นทำให้เราในฐานะนักสิทธิมนุษยชนอึ้งไป และทำให้ต้องมานึกย้อนถึงเสียงสะท้อนที่ว่านักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในภาคใต้มักเป็นพวกฟังความข้างเดียว ชอบร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน การบังคับให้คนหาย หรือโวยวายกับการไม่ได้เยี่ยมของญาติและทนายในระหว่างการควบคุมตัวของทหาร ซึ่งความจริง ทั้งหมดข้างต้นล้วนเป็นการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทย แต่ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาประมาณว่าเวลาทหารตำรวจถูกทำร้าย ถูกระเบิดตาย บาดเจ็บ หรือเวลาครู ข้าราชการหรือชาวบ้านถูกลอบทำร้าย ไม่เห็นช่วยเลย บ่อยครั้งและหลายคนมักมองว่านักสิทธิมนุษยชนเป็นพวกโจร เข้าข้างแขก ลำเอียง สร้างความแตกแยก ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กวนน้ำให้ขุ่น ชักใบให้เรือเสีย ไม่รักชาติ ฯลฯ เคยแม้แต่ถูกถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า

จุดยืนที่ใช้สำหรับอธิบายกับตนเองก็คือ ความรุนแรงโดยการประหัตประหาร ฆ่าตัดคอ ทำร้ายศพ การบังคับให้บุคคลสูญหาย การซ้อมทรมาน การวางระเบิด การจุดชนวนระเบิด การลอบยิง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใด ล้วนเป็นสิ่งที่เราในฐานะนักสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นอาชญากรรมที่ทำร้าย ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน และรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องเยียวยาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ผู้กระทำความผิดต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อการลงโทษ และไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นใครและมีเหตุผลในการประกอบอาชญากรรมเหล่านั้นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหรือเพื่อรักษา “ความปลอดภัย” ในพื้นที่ก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ตนเองเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งต่อชีวิต ร่างกาย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากการก่อเหตุร้าย ถือเป็นอาชญากรรมธรรมดา ซึ่งจะต้องอาศัยกลไกของรัฐเข้าดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะที่ผู้เสียหายที่เป็นชาวมลายูมุสลิมมักไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและอาจรวมไปถึงความเชื่อทางการเมือง

ในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ระหว่าง พ.ศ. 2547-2551 นั้น มีการใช้ความรุนแรงจาก ทั้งสองฝ่ายฝ่ายหนึ่งมักถูกนำเสนอหรือตั้งชื่อให้ว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ผู้ก่อการร้ายหรือผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือรัฐหรือตัวแทนของรัฐที่ผนึกกำลังทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน มักถูกนำเสนอว่าเป็นฝ่ายที่ทำหน้าที่รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่

ที่ผ่านมา มีความพยายามทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายโดยเมื่อใดที่คนไทยพุทธหรือเจ้าหน้าที่รัฐถูกกราดยิง ฆ่าตายหรือถูกลอบวางระเบิด คู่ขัดแย้งจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ” หรือการ “ก่อการร้าย” (ซึ่งหลายคนก็สรุปทันทีว่าเป็นชาวมลายูมุสลิม พื้นเพอยู่สามจังหวัดชายแดนใต้ สวมหมวกกาปีเยาะ ใส่โสร่ง มีหนวดเครา หรือนับถือศาสนาอิสลาม ฯลฯ) ในขณะที่การดำเนินการใดๆ เพื่อตอบโต้โดยฝ่ายรัฐ ซึ่งแม้ว่าอาจจะใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกัน กลับมักถูกนำเสนอว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบธรรมเพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในดินแดนแถบนี้ และคนจำนวนไม่น้อยก็พอใจที่จะให้รัฐทำการปราบปราม (อาจจะถึงขั้นวิสามัญฆาตกรรม) โดยไม่เคยถามหากระบวนการสอบสวนและการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกปราบปราม

การเลือกที่จะทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชาวมลายูมุสลิมในสถานการณ์ในภาคใต้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกข้างทางการเมืองของนักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เป็นคำถามที่ตนเองยังไม่มีคำตอบแต่ก็ได้เลือกที่จะยืนอยู่ข้างนั้นแล้ว โดยไม่กังวลว่าจะเป็นความลำเอียงหรือ “ไม่เป็นกลาง”

อันที่จริง ถ้าเราจะมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลนั้นไม่เคยมีจุดยืนที่ “เป็นกลาง” อย่างแท้จริงเลย หลักการเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ 60 ปีมาแล้ว เพื่อสร้างหลักประกันว่าประเทศต่างๆ จะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมและต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือความคิดทางการเมือง

แต่อะไรล่ะที่ควรจะอยู่ในนิยามของ “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

หลักการสิทธิมนุษยชนสากลนั้นแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเน้นเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่มุ่งให้ความสนใจต่อสิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในชีวิตและในการเข้าถึงความยุติธรรม ฯลฯ กลุ่มนี้เป็นเรื่องที่นักเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีหัวหอกเป็นสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปตะวันตกให้ความสำคัญสูง ส่วนอีกกลุ่มความคิดหนึ่งเน้นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิการศึกษา สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในการรักษาพยาบาล ฯลฯ กลุ่มหลังนี้ตอกย้ำความเท่าเทียมด้านสวัสดิการสังคม ยุติการแบ่งชนชั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางฝั่งสังคมนิยมประชาธิปไตยจะยินดีกับเรื่องนี้มากกว่าที่จะให้ประชาชนของตนมีเสรีภาพทางความคิดเห็น

ที่เล่ามายืดยาวนี้ก็เพราะต้องการที่จะเท้าความว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของการเมืองที่เลือกข้าง เลือกจุดยืนกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว

เราจึงไม่เชื่อว่าจะมีความ “เป็นกลาง” ที่แท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางสิทธิมนุษยชน เพราะมองว่าการกำหนดว่าสิ่งใดเป็น “สิทธิ” เป็น “ความชอบธรรม” เป็น “ความถูกต้อง” เป็น “ความยุติธรรม” ก็คือจุดเริ่มต้นของการเลือกข้างมาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่า “เลือกข้าง” (ว่าเราแน่ใจได้แค่ไหนว่าข้างที่เราเลือกนั้นเป็นข้างเดียวกับความถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่) ในบริบทความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น ดูจะง่ายกว่าการต่อสู้กับฐานความคิดเรื่องการเมืองในประเทศไทยที่ถูกแบ่งขั้วอย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 3-4 ปี จนทำให้แทบจะไม่มีพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างออกไป ไม่ว่าจะต่างจากกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณหรือพันธมิตร

เพราะถ้าจะว่าไปตามจริง สถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้มีคู่ขัดแย้งทางความคิดที่ชัดเจนอยู่ ว่าเราต้องรักษาสิทธิมนุษยชนให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงและคดีการก่อความไม่สงบ และพยายามยุติการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม นักสิทธิมนุษยชนมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง ผู้ต้องสงสัยในคดีเหล่านั้น ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือความเชื่อทางการเมืองใดๆ ทุกคนต้องได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทั้งที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 และในหลักการสิทธิมนุษยชนสากลโดยเท่าเทียมกัน เราบอกตัวเองได้ชัดเจนว่าเรามาช่วยสร้างความโปร่งใสให้ระบบ อุดรูรั่วจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปราบปราม ผู้ก่อการร้ายที่พรากชีวิตผู้คนร่วม 3,000 คนนับแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

แต่ในยุคที่การเมืองพลิกผันอย่างรุนแรงท่ามกลางการแตกแยกที่ขยายวงอย่างกว้างขวางเช่นในขณะนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยากจะกำหนดว่าอะไรคือถูก อะไรคือผิดได้อย่างชัดเจน -เมื่อมองจากมุมมองที่ต่างกัน ภาพลักษณ์ของนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนทั้งมวลโดยไม่เลือกปฏิบัติ จึงดูจะกลับกลายเป็นผู้พิทักษ์สิทธิและแสดงบทบาทในการคุ้มครองสิทธิให้แก่คนบางพวกบางกลุ่มตามความคิดทางการเมืองของพวกตนที่ได้เลือกแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ก็น่าจะยังต้องมีเส้นแบ่งอยู่ที่คำว่า “อหิงสา-ไม่ใช้ความรุนแรง” และไม่สนับสนุนความรุนแรงโดยการยุยงปลุกปั่นหรือสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานใดๆ ทั้งสิ้น

เราคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประชาธิปไตยแบบทักษิณ VS พันธมิตรฯ รวมทั้งสถานการณ์การก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ เป็นสถานการณ์ที่ฟันธงยากขึ้นทุกทีว่าความถูกต้องและความยุติธรรมนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร การฝักใฝ่ทางการเมืองจึงไม่อาจมีความแตกต่างหรือถูกผิดที่ชัดเจน เช่น ขาวกับดำ ประชาธิปไตยกับสังคมนิยม หรือเผด็จการทหารกับประชาชน อีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักสิทธิมนุษยชนก็ควรจะมีสิทธิหรือแม้แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกข้าง โดยเลือกที่จะอยู่ ณ จุดยืนที่ลำเอียงตามนิยามของแต่ละคนว่าความเป็นธรรมและความถูกต้องคืออะไร สุดท้าย ก็คงต้องหวังพึ่งสติสัมปชัญญะและมโนธรรมของแต่ละคนว่าจะยึดมั่นและยืนหยัดต่อหลักการและจริยธรรมของนักสิทธิมนุษยชนได้เพียงไหน อย่างไร

หลักการที่หมายถึงการต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แม้จะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันก็ตามที
กำลังโหลดความคิดเห็น