xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นศาลพิพากษาลับหลัง “แม้ว-อ้อ” ทุจริตซื้อที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภริยา จำเลย
ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง นัดพิพากษา"ทักษิณ-พจมาน" ทุจริตซื้อที่ดิน 10.00 น.วันนี้ อัยการเชื่อศาลไม่เลื่อนอ่านคำพิพากษา เหตุข้อเท็จจริงระบุชัดจำเลยมีเจตนาหลบหนี

วันนี้ (17 ก.ย.) เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 ซึ่งอัยการขอให้ยึดที่ดินและเงินจำนวน 772 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่กระทำผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฎิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157

โดยอัยการโจทก์ และจำเลย นำพยานเข้าไต่สวนพยานโจทก์ฝ่ายละ จำนวน 20 ปาก ใช้เวลา 2 เดือน ก.ค.-ส.ค. นำสืบฝ่ายละ 5 นัด ซึ่งพยานโจทก์ ประกอบด้วย กลุ่มอดีตนายกรัฐมนตรี, กลุ่มคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.), กลุ่มเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และกลุ่มเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ประกอบด้วย 1.นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย 2.นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ 3.นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส. 4.นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธาน คตส. คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ 5.นายอำนวย ธันธรา อดีต คตส. 6.นายวีระ สมความคิด ประธานเครือขายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่นและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนในคดีนี้ต่อ คตส. 7.นายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจจากคุณพจมาน จำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่พิพาทคดีนี้

8.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 9.นางสาวกัลยาณี รุทระกาญน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ 10. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 11. นายเกริก วณิกกุล เจ้าหน้าที่ ธปท. อดีตผู้จัดการกองทุนฯ ปี 2545 12.นาย ไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนฯ ช่วงปี 2549-50 13.นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตรองประธานคณะกรรมการกองทุนฯ 14.ว่าที่ ร.ท.รุ่งเรือง โคกขุนทด เจ้าหน้าที่ ธปท. ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนฟื้นฟูฯ 15.นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ อดีตผู้จัดการกองทุนฯ

16.นายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดสระแก้ว อดีตผู้บริหารสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ สาขาห้วยขวาง 17.นางญานี คงบุญ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ สาขาห้วยขวาง 18.น.ส.นิทรา เอี่ยมสุภา เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน จ.สมุทรสาคร อดีตหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง 19. นายอมร บุญธรรม เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประจำสำนักงานมาตรฐาน กรมที่ดิน อดีตเจ้าหน้าที่รังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง และ 20.นายทวี ด่านยุทธศิลป์ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง

ส่วนพยานจำเลย ประกอบด้วย 1.นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. 2.นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 3.นายวิรัช กุลเพชรประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี จ.นครปฐม 4.น.ส.สุจิรัตน์ ทองมี เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี กองล้มละลาย 5.น.ส.หนึ่งหทัย วงษ์ทอง เจ้าหน้าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด อดีตเจ้าหน้าที่กองทุนฯ 6.นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ซึ่งรับผิดชอบฝ่ายคดี และการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 7.นายวีระพงษ์ มุทานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด 8.นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล ผอ.กองกฎหมายและระเบียบ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง 9.นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

10.นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกระทรวงการคลัง 11.นายสาธร โตโพธิ์ไทย ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายคดี ธปท. 12.นายสุภร ดีพันธ์ เจ้าหน้าที่ธปท.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน ทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุน ฯ 13.นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. 14.นายทร ชาวพิจิตร เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม 15.น.ส.มาลี แม้นมินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพฯ 16.นางวิบูลย์เพ็ญ หิตะพันธ์ เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน 9 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 17.นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์ ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย 18.นางวิไลวรรณ ศศานนท์ เจ้าหน้าที่ สตง. 19.นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ 20.ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

โดยมีพยานร่วมของโจทก์ และจำเลยรวม 2 ปาก นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส. และนายกล้านรงค์ จันทิก ป.ป.ช.

นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง เขต 8 หนึ่งในคณะทำงานรับผิดชอบคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก เปิดเผยถึงกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่า ศาลอาจจะเลื่อนการพิพากษาออกไปว่า เมื่อปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งเป็นนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จำเลยทั้งสองหลบหนีไม่มาศาล และศาลมีคำสั่งให้โจทก์-จำเลย ยื่นคำแถลงปิดคดีในวันที่ 10 ก.ย. ซึ่งอัยการยื่นคำแถลงปิดคดีไปโดยถูกต้องแล้วและศาลรับไว้ โดยไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาอีก อีกทั้งยังปรากฏว่าศาลได้ออกหมายจับทั้งสองเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ในกรณีที่ไม่เดินทางมารายงานตัวต่อศาลหลังจากกลับจากต่างประเทศแล้ว และจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดตามตัวจำเลยทั้งสองได้ จึงน่าเชื่อว่าหากพรุ่งนี้จำเลยไม่มามาฟังคำพิพากษาก็มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย

นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า แม้ตามกฎหมายจะต้องให้อ่านคำพิพากษาต่อหน้าจำเลย แต่เมื่อคดีนี้ศาลอนุญาตให้สืบพยานลับหลังจำเลย และในรายงานกระบวนพิจารณาคดีศาลเคยระบุว่า แม้จำเลยทั้งสองอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ถือว่าตัวจำเลยยังอยู่ในอำนาจศาล ดังนั้น อาจไม่ต้องออกหมายจับจำเลยอีกและเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปอีก 30 วัน แต่ทั้งนี้จะเลื่อนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งในวันพรุ่งนี้อัยการก็ไม่จำเป็นต้องแถลงต่อศาลยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองหลบหนีไปอีก เพราะข้อเท็จจริงปรากฏในกระบวนพิจารณาของศาลแล้ว หากศาลอ่านคำพิพากษาทันทีและเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ก็จะออกหมายจับจำเลยมารับโทษ แต่ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องกระบวนการทางคดีก็ยุติลง

“คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กับคดีนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย มีความแตกต่างกัน เพราะนายวัฒนาเดินทางมาศาลเกือบทุกนัดระหว่างการพิจารณา และขณะที่ศาลมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษานายวัฒนา ก็ยังไม่ได้หลบหนี กระทั่งวันพิพากษานายวัฒนาไม่ได้มาศาลจึงถูกออกหมายจับ แล้วเมื่อยังไม่ได้ตัวมาภายใน 30 วันหลังจากออกหมายจับ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง แต่ในกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ปรากฏว่าข้อเท็จจริงว่าหลบหนีไปตั้งแต่ชั้นพิจารณาโดยไม่มารายงานตัวหลังจากเดินทางไปต่างประเทศ จนถูกออกหมายจับ ซึ่งศาลไม่ได้สั่งจำหน่ายคดีเพื่อพักการพิจารณาคดี แต่ได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษา” นายนันทศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น