xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยก่อนสู่วันตัดสินโทษ"แม้ว-มาน"อาชญากรแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

17 กันยายน 2551 เวลา 10.00 น.คือ...(วัน เวลา นอ)...ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ในฐานะเจ้าของสำนวนทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทเศษ พร้อมองค์คณะ ได้กำหนดพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นคู่สมรสเจ้าพนักงานเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียการทำสัญญากับรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 4 , 100 และ 122

คดีแรกคดีนี้...ที่หลายฝ่ายต่าง มองไปในคนละทิศทาง ฝ่ายรักทักษิณ เชื่อว่า "นายใหญ่-นายหญิง"อาจจะรอดอาญาแผ่นดิน ขณะที่ฝ่ายผู้รักความยุติธรรม ผู้รักชาติ รักแผ่นดิน ต่างฟันธง ว่างานนี้"ทักษิณ และเมีย"รอดยาก ประกอบกับ เหตุผลที่"ทักษิณ"หนีหลังจากนั่งฟังคำพิพากษาคดี ที่ผู้เป็นภรรยาและบริวาร ต้องโทษติดคุกเป็นเวลา 3 ปี ในคดีปกปิดโครงสร้างหุ้น บริษัทชินฯ โดยไม่รอลงอาญา โดยที่ครั้งนั้น อาชญากรแผ่นดินนาม"ทักษิณ ชินวัตร"เขาได้ให้สัมภาษณ์ในเชิง วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทย ว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการต่อสู้คดี ...จึงอาจจะเป็นเรื่องที่"ทักษิณ"รู้ล่วงหน้าว่า คดีนี้เขาอาจจะรอดยาก...เหมือนดั่งที่ความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจของ(ผู้กระทำความผิด)ว่า...คำตอบสุดท้ายคือ เขาผิด หรือ คำพูดที่เข้าใจกันโดยทั่วกันว่า..ไม่มีใครรู้ดี กว่าคนที่กระทำความผิด...

ดังนั้น...ก่อนถึงวันพิพากษาโทษ"อาชญากรหนีอาญาแผ่นดิน"...เราย้อนไปตรวจดู เส้นทางการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมไทย...ของ"ทักษิณ และ พจมาน"...ขณะที่ทีมทนายความของเขา ต้องมีอันเป็นไป ด้วยการถูกจองจำในคุก จากกรณีนำถุงขนมสอดใส้เงิน 2 ล้านบาท พยายามติดสินบนศาล เพื่อหวังล้มคดีให้ลูกความ

8 กรกฎาคม 2551 การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในชั้นศาลได้เริ่มขึ้น เมื่อระฆังการไต่สวนนัดแรกได้ดังขึ้น

โดยนัดแรก นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานรับผิดชอบว่าความ นำนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพยานขึ้นเบิกความ โดยประเด็นหลักเป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในการดูแลกำกับ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งพยานทั้งนายบรรหาร และ นายชวน ยืนยันว่า สมัยที่เป็นนายกฯไม่เคยเกี่ยวข้องอนุมัติสนับสนุนเงินกองทุนฯ

"นายวีระ สมความคิด"ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่นและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนในคดีนี้ต่อ คตส. คือพยานปากสำคัญของการไต่สวนนัดแรก

โดยวีระบุรุษผู้รักชาตินาม"นายวีระ"ได้ยืนยันต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาว่า ..."เหตุที่มีการร้องเรียนพบว่าจำเลยทั้งสอง น่าจะมีความผิดในการที่จำเลยที่สอง เข้าประมูลซื้อที่ดินกองทุนฯซึ่งพยานเคยยื่นเรื่องต่อกองปราบปรามและ ป.ป.ช. แต่ ทั้งสองหน่วยงานมีหนังสือตอบกลับว่าคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจทั้งที่ในการประมูลขายที่ดินพบว่าจำเลยมีการได้ประโยชน์แต่กองทุนฯได้รับความเสียหายเพราะ ที่ดินที่ถูกประมูลซื้อไปในราคาถูกกว่าที่กองทุนซื้อที่ดินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณทรัสต์ ที่มีราคา 1,908 ล้านบาท แต่ขายให้จำเลยที่สองในราคา 772 ล้านบาท เท่ากับกองทุนฯขาดทุนไปกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวแตกต่างกับการทำสัญญาใช้ประปาและไฟฟ้า เพราะกรณีการทำสัญญาใช้น้ำและไฟ หากไม่ได้มีการทำสัญญาร่วมกัน ฝ่ายที่ไม่ได้ทำสัญญาก็จะไม่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ใดๆ ซึ่งแตกต่างจากกรณีนี้"

นอกจากนี้ระหว่างเบิกความ นายวีระ ได้ยื่นส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลรวม 5 ฉบับ เป็นเอกสารแสดงการเปรียบเทียบการประเมินราคาที่ดิน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2541 คดีที่นายประวิทย์ ขัมภรัตน์ ยื่นฟ้องนายอานันท์ ปัญญารชุน กับพวก ทั้งนี้เพื่อยืนยัน เรื่องอำนาจ หน้าที่ นายกรัฐมนตรี และการยืนยันสถานะนายกรัฐมนตรีว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ

หลัง นายวีระ เบิกความเสร็จสิ้น อัยการ ได้นำนางสาวกัลยาณี รุทระกาญน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เป็นพยานปากสุดท้าย โดยยืนยันหลักการบริหารหนี้ของกองทุนว่า ไม่สามารถที่จะประนอมหนี้ต่ำกว่าราคาต้นทุนและดอกเบี้ยที่กำหนดได้ เพราะกองทุนได้รับเงินอุดหนุนนำเงินจากภาษีอากรของประชาชนมาบริหาร และต้องถูกตรวจสอบโดยสตง. ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่สามารถประนอมหนี้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนของกองทุน ซึ่งถ้าหากขาดแม้แต่บาทเดียวอาจติดคุกได้

15 กรกฎาคม 2551 การไต่สวนนัดที่สองตามมา โดยอัยการนำ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน เข้าเบิกความสรุปว่า กองทุนฯมีสภาพเป็นนิติบุคคล บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนฯด้วย โดยกองทุนฯ จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่งการจำหน่ายที่ดินของกองทุนฯไม่ต้องขออนุมัติจาก รมว.คลังหรือ นายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการฯมีอำนาจที่จะมีมติให้จำหน่ายที่ดินได้ ส่วนในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการจำหน่ายที่ดินจะพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากสภาพเศรษฐกิจไม่ดีก็คงจะต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน อย่างไรก็ดีในสมัยที่ตนเป็นประธานกองทุนฯ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้ามาบทบาทกำกับดูแลกองทุนฯ

ม.ร.ว.จัตุมงคล เบิกความด้วยว่า ในเรื่องของการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นข้อพิพาทคดีนี้ ในส่วนของพยานเมื่อพ้นจากตำแหน่งต่างๆ แล้วพยานได้ไปมีส่วนร่วมในธุรกิจที่ดิน ซึ่งได้ทราบข้อมูลว่าจะมีการเปิดประมูลซื้อที่ดินพิพาทคดีนี้ในราคาตารางวาละ 70,000 บาท โดยพยานได้ทำการติดต่อกับเจ้าหน้าที่กองทุนฯ เพื่อเข้าร่วมการประมูลด้วย แต่ภายหลังพยานและหุ้นส่วนทางธุรกิจมีปัญหา จึงไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งยกเลิกการประมูล และได้ทราบข่าวว่า คุณหญิงอ้อ (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร) จะเข้าร่วมการประมูลด้วย ซึ่งเรื่องนี้พยานเคยให้การไว้ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)แล้ว ว่าเป็นการไม่เหมาะสมถ้าจะมีภรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำสัญญา โดยส่วนตัวรับราชการมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไม่อยากเข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับการทำสัญญากับทางราชการเพราะอาจจะทำให้เกิดความสงสัยและเกิดความเสียหายในภายหลังได้

ต่อมาอัยการนำ นายอำนวย ธันธรา อดีต คตส. เข้าเบิกความ สรุปว่า พยานไม่ได้เป็นคณะอนุฯ ตรวจสอบและไต่สวนคดีนี้ โดยเมื่อคณะอนุฯ ตรวจสอบและไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ได้สรุปสำนวนและเสนอความเห็นต่อที่ประชุม คตส. ซึ่ง คตส. มีความเห็นส่งให้อัยการยื่นฟ้องคดีนี้และขอให้ริบทรัพย์ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า นิติกรรมการทำสัญญาซื้อขายที่ดินรัชดา เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย นิติกรรมจึงต้องตกเป็นโมฆะ โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องกลับไปอยู่ในสถานะเดิม หมายความว่า ไม่มีการโอนขายที่ดิน ดังนั้นเงินที่ซื้อขายที่ดิน พยานเห็นว่าน่าจะริบไม่ได้

นายเกริก วณิกกุล เจ้าหน้าที่ ธปท. อดีต ผู้จัดการกองทุนฯ ปี 2545 คือพยานที่ขึ้นเบิกความเป็นปากที่สาม โดยเบิกความสรุปว่า ที่ดินรัชดาเดิมเป็นของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอราวัณ ทรัสต์ เมื่อปี 2538 ที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อโอนมาเป็นของกองทุนฯ แล้วมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 2 พันล้านบาทเศษ เนื่องจากกองทุนได้นำเงินเข้าไปช่วยเหลือการสภาพคล่องของ เอราวัณทรัสต์ ให้ดำรงอยู่ได้ ซึ่งถ้าหากเอราวัณทรัสต์ล้ม กองทุนฯ ก็จะเป็นเจ้าหนี้ด้วย ส่วนที่มูลค่าที่ดินลดลงจาก 2 พันล้านในปี 2544 เหลือเพียง 700 ล้านบาทเศษ

นายเกริก เบิกความว่า โดยหลักการทางบัญชีเมื่อกองทุนได้สนับสนุนสภาพคล่อง เอราวัณทรัสต์ แต่กองทุนมีสองสภานะซึ่งนอกจากจะเป็นนิติบุคคลแล้ว อีกสถานะหนึ่งขึ้นตรงกับ ธปท. ซึ่ง ธปท.จะต้องถูกตรวจสอบบัญชีโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องแสดงตัวเลขหนี้สินทรัพย์ให้ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการทวงถามติดตามหนี้สินที่เกิดขึ้นที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีหนี้สินอยู่กับกองทุนฯ 100 ล้านบาท แต่ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 50 ล้านบาท ก็จะเท่ากับว่ามูลค่าหนี้ที่แท้จริงเหลืออยู่ 50 ล้านบาท

ต่อมาอัยการนำ นายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนฯ ช่วงปี 2549-50 เข้าเบิกความสรุปว่า พยานเคยให้การกับ คตส. ว่านายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีอำนาจกำกับดูแลกองทุนฯ โดยตรง แต่เหตุที่พยานทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ เนื่องจาก คตส. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังส่งเรื่องให้กองทุนฯและที่ประชุมกรรมการกองทุนฯ ให้พิจารณาร้องทุกข์ เพราะ คตส. เห็นว่า การเข้าประมูลซื้อขายที่ดินไม่ชอบด้วย กฎหมาย ม.100 (พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.) ตนในฐานะผู้จัดการกองทุนจึงเป็นผู้แทนเข้าร้องทุกข์

นัดที่สาม 22 กรกฎาคม 2551 นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ขึ้นเบิกความสรุปว่า การตรวจสอบคดีนี้เนื่องจากมีผู้ร้องเรียน เมื่อมีการแต่งตั้ง คตส. จึงได้เข้ามาตรวจสอบและแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนและตรวจสอบพยานหลักฐาน ซึ่งอนุฯ ได้รวบรวมหลักฐานมาพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงเสนอต่อ คตส.ชุดใหญ่ และ คตส.มีมติเห็นว่าคดีมีมูล จึงทำหนังสือถึง รมว.คลัง และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.66 และ 67 ให้เข้าทำการร้องทุกข์ ไม่ได้มีการข่มขู่หรือบังคับใดๆ

จากนั้น นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตรองประธานคณะกรรมการกองทุนฯเข้าเบิกความสรุปว่า การนำทรัพย์ของกองทุนฯประมูลขาย ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งกองทุนฯมีระเบียบของตัวเอง โดยการซื้อขายที่ดินพิพาทที่ไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำ แต่ในการประชุมของคณะกรรมการกองทุนฯมีการพูดคุยกันว่าหากได้ราคาต่ำกว่า 750 ล้านบาทก็จะไม่ขาย ส่วนที่มีการขยายเวลาชำระเงินมัดจำจาก 7 วันเป็น 10 วัน เนื่องจาก ที่คณะกรรมการกองทุนฯเห็นว่าควรให้เวลาผู้เข้าประมูลหาเงินมัดจำซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก

ต่อมา ว่าที่ ร.ท.รุ่งเรือง โคกขุนทด เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หัวหน้าทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนฟื้นฟู ฯ เบิกความว่า ที่พยานเคยให้การในชั้น อนุ คตส. ว่า ทราบว่าจำเลยที่ 2 ร่วมประมูลด้วยนั้น พยานทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2546 ซึ่งเป็นวันก่อนการประกวดราคา 1 วัน โดยเหตุที่ทราบเพราะจำเลยที่ 2 ได้โอนเงินมัดจำซองประกวดราคาจำนวน 100 ล้านบาทเข้าบัญชีกองทุนฟื้นฟู ฯซึ่งการประกวดราคานั้นพยานไม่ได้ดำเนินการใดเป็นการพิเศษแตกต่างจากปกติ ส่วนที่ไม่กำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลครั้งที่สองเป็นเหตุผลทางการตลาด เนื่องจากครั้งแรกไม่มีผู้เสนอราคาประมูล

25 กรกฎาคม 2551 อัยการโจทก์นำ นายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดสระแก้ว อดีตผู้บริหารสำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง นางญานี คงบุญ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง น.ส.นิทรา เอี่ยมสุภา เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน จ.สมุทรสาคร อดีตหัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง นายอมร บุญธรรม เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประจำสำนักงานมาตรฐาน กรมที่ดิน อดีตเจ้าหน้าที่รังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง และนายทวี ด่านยุทธศิลป์ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง เข้าเบิกความเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินและการออกเลขโฉนด รวมทั้งการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทในคดีนี้

29 กรกฎาคม 2551 อัยการโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนรวม 3 ปาก ประกอบด้วย นายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจจากคุณพจมาน จำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่พิพาทคดีนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ

โดยนายสมบูรณ์ นอมินีพจมาน เบิกความช่วยนายหญิง แบบสุด สุด โดย นายสมบูรณ์ เบิกความว่า ในวันที่มีการซื้อซองเสนอราคา พยานในฐานะผู้รับมอบอำนาจไม่ได้แจ้งกับทีมอสังหาริมทรัพย์ของกองทุน ว่าพยานดำเนินการประมูลซื้อขายที่ดินแทนคุณหญิงพจมาน โดยระบุเพียงว่าพยานซื้อในนามบุคคลอื่น แต่วันที่ซื้อได้มีหนังสือรับมอบอำนาจจากคุณหญิงมายื่นแสดง โดยในวันดังกล่าวยังไม่มีหนังสือยินยอมจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรส โดยพยานได้รับหนังสือยินยอมจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนวันที่มีการลงนามทำหนังสือสัญญาซื้อขายในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ซึ่งพยานได้ติดต่อขอหนังสือยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผ่านทางเลขานุการ ซึ่งเข้าใจว่าเลขานุการน่าได้ให้เอกสารราชการซึ่งเป็นบัตรประจำตัวข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาด้วย โดยในการดำเนินการซื้อขายที่ดินพยานไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะรู้หรือไม่ว่าคุณหญิงพจมาน ชนะการประกวดราคา เพราะไม่เคยรายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบ แต่จะรายงานกระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดให้คุณหญิงพจมานทราบ เพราะพยานได้รับมอบหมายจากคุณหญิงพจมาน ให้ดำเนินการซื้อขายที่ดินในนามของครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งได้ทำมานานถึง 20 ปี ซึ่งหลังจากซื้อขายที่ดินพิพาทคดีนี้เมื่อปี 2546 แล้ว พยานยังได้ดำเนินการซื้อขายที่ดินให้กับบุตรของคุณหญิงพจมาน จำนวน 5 ไร่เศษซึ่งเป็นที่ดินของบริษัทรัชดาทรัพย์พัฒนา ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในราคาตารางวาละ 71,000 บาท ซึ่งเป็นที่ดินย่านห้วยขวาง ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาท

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็เบิกความในลักษณะช่วยเหลือ จำเลยทั้งสองเช่นกัน โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เบิกความว่า ขณะที่เป็นประธานกองทุนฯระหว่างเดือนมิถุนายน 2544 - กันยายน 2549 นายกรัฐมนตรีไม่เคยมาสอบถามเรื่องการบริหารกองทุน

ต่อมา นายอุดม เบิกความสรุปว่า ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุฯตรวจสอบคดีนี้ ในการไต่สวนรวบรวมหลักฐานได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 และ 2 มาชี้แจงเต็มที่ตามสิทธิที่มีอยู่รวมทั้งให้โอกาสตรวจสอบหลักฐานที่ได้รวบรวมไว้

อย่างไรก็ตาม การไต่สวนนัดนี้ เป็นนัดที่ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้ง 2 เดินทางออกนอกประเทศไทยหลังจากจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ขอเดินทางออกนอกประเทศ โดยจำเลยที่ 1 จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและจีนระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม และจะเดินทางไปประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 15-20 สิงหาคม โดยจำเลยที่ 2 จะเดินทางไปประเทศจีนวันที่ 5-10 สิงหาคม และไปประเทศอังกฤษวันที่ 15-20 สิงหาคม องค์คณะพิจารณาคำร้องและเหตุผลของจำเลยทั้งสอง แล้วอนุญาต ให้จำเลยที่ 1 เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและจีน และให้จำเลยที่ 2 เดินทางไปประเทศจีนตามคำร้อง โดยให้แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ และเมื่อจำเลยทั้งสอง เดินทางกลับเข้าประเทศให้เดินทางกลับเข้ามารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 11 สิงหาคม นี้ ส่วนการเดินทางไปประเทศอังกฤษหากจำเลยทั้งสองต้องการเดินทางก็ให้ยื่นคำร้องเข้ามาใหม่เพื่อให้ศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป

นับจากเดินทางไปต่างประเทศ จำเลยทั้ง 2 ได้หลบหนีการต่อสู้คดีในศาล มาจนถึงวันนี้ และเขาคือ อาชญากรตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

1 สิงหาคม 2551 นายอเนก คำชุ่ม และนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความจำเลย นำพยานร่วมของฝ่ายโจทก์และจำเลยเข้าเบิกความรวม 2 ปาก ประกอบด้วย นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เบิกความเกี่ยวกับการทำสำนวนไต่สวนและการนำคดีในส่วนของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 มาฟ้องยังศาลฎีกาฯ รวมทั้งประเด็นการฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.152 และ 157 ซึ่งคุณหญิงพจมาน ไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ส่วนนายกล้านรงค์ จันทิก ป.ป.ช. เบิกความเกี่ยวกับคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งริบเงินจำนวน 772 ล้านบาทที่ซื้อที่ดิน เพราะเห็นว่าเป็นเงินที่ใช้กระทำความผิดเช่นเดียวกับการขอให้ริบที่ดินดังกล่าว และพยานจำเลยอีก 2 ปาก คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เข้าเบิกความเกี่ยวกับประเด็นสถานภาพกองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาสถาบันการเงิน ว่าปกติเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ได้รับเงินเดือนที่เบิกมาจากหน่วยใด

5 สิงหาคม 2551 ไต่สวนที่ดินรัชดา! 6 จนท.รัฐ เบิกความช่วย"แม้ว-อ้อ"โดยนัดนี้ นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล ผอ.กองฎหมายและระเบียบ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ,นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ คณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) , นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง , นายสาธร โตโพธิ์ไทย ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ,นายสุภร ดีพันธ์ เจ้าหน้าที่ธปท.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชำนาญงานทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาสถาบันการเงิน และนายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.ได้สองตอบฝ่ายจำเลยชนิดเต็มร้อย สมราคาที่ทนายจำเลย นำขึ้นสู้

15 สิงหาคม 2551 พฤติการแห่งความพ่ายแพ้ของฝ่ายจำเลยได้บังเกิดขึ้น เมื่อทีมทนายหน้าเหลี่ยมเล่นเล่ห์ โดยก่อนเริ่มการพิจารณา นายคำนวณ ชโลปถัมป์ และนายอเนก คำชุ่ม ทนายความ และทีมทนายความ ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ว่า จำเลยทั้งสองทำหนังสือแจ้งให้ทนายจำเลยทั้งสองทราบว่าจำเลยทั้งสองไม่ประสงค์จะให้ทนายความที่จำเลยทั้งสองแต่งตั้งดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสองต่อไป ทีมทนายจำเลยจึงขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายความจำเลยทั้งสอง และเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่เดินทางมาศาล เพราะได้เดินทางไปพำนักต่างประเทศแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่เข้ามาอยู่ในอำนาจศาล ขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โจทก์ได้รับคำร้องแล้วแถลงว่าขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล โดยศาลใช้เวลาพิจารณาคำร้องประมาณ 1 ชั่วโมง จึงเสร็จสิ้น พร้อมออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งให้คู่ความทราบเบื้องต้นว่า ศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสองถอนตัวออกจากการเป็นทนายจำเลยคดีนี้ และไม่อนุญาตให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้งสองยังอยู่ในอำนาจศาล แต่นายอเนกทนายความแถลงโต้แย้งโดยเกรงว่าจะผิดมารยาททนายความที่จะทำหน้าที่ซักถาม โดยที่ตัวความไม่ประสงค์จะให้ดำเนินคดีแทน โดยนายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนชี้แจงว่าศาลไม่อนุญาตให้ทนายความถอนตัวแล้ว และมีคำสั่งให้นำพยานที่เตรียมไว้จำนวน 5 ปากเข้าเบิกความทันที

โดยการไม่สู้เห็นพฤติการณ์แจ่มชัดคือ หลังศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอน และสั่งให้ดำเนินการไต่สวนพยานที่เตรียมมาให้เสร็จสิ้น ระหว่างที่ไต่สวนศาลเปิดโอกาสให้ทนายความจำเลยซักถามพยาน ซึ่งฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดเตรียมมาตามบัญชีนัดพยาน แต่ปรากฏว่า นายเอนก ซึ่งเป็นทนายที่ขึ้นว่าความ กลับไม่ใช้โอกาสที่จะซักถามพยาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่เหมือนการไต่สวนพยานจำเลยที่ผ่านมาช่วงก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะหลบหนีไปที่ประเทศอังกฤษ โดยการไต่สวนศาลจึงเป็นผู้ซักถามพยานแทน ขณะที่อัยการโจทก์ กลับใช้โอกาสซักค้านพยานจำเลยอย่างเต็มที่

ต่อมาเวลา 12.00 น.องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำสั่งและรายงานกระบวนการพิจารณา โดยได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้ การที่จำเลยทั้งสองหลบหนีไม่มาศาลย่อมต้องถือว่าจำเลยทั้งสองสละสิทธิ์ในการต่อสู้คดีเอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล ก่อนจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด ส่วนการที่ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่ประสงค์จะให้ทนายควาคดีนี้จำเลยทั้งสองได้มารายงานตัว และให้การต่อศาลแล้ว โดยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาและศาลได้อนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยทั้งสองได้ตามที่จำเลยทั้งสองร้องขอ ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 10 จำเลยทั้งสองจึงได้เข้ามาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว แม้ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่มาศาล ศาลก็มีอำนาจมดังกล่าวดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสองต่อไปนั้น ศาลมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อค้นหาความจริงตามเนื้อหา แม้จำเลยทั้งสองจะไม่มีทนายความศาลก็สามารถดำเนินการไต่สวนตามพยานหลักฐานไปได้ สำหรับการขอถอนตัวจากการเป็นทนายความตามคำร้องของทนายจำเลยทั้งสองดังกล่าว ก็เห็นได้ว่าเป็นการมุ่งประสงค์เพียงให้ศาลหยุดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสองถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสอง

19 สิงหาคม 2551 ทีมทนาย"แม้ว"ยังยึดคำสั่งนายใหญ่ปฎิเสธซักค้านพยาน โดยวันนั้นทนายความจำเลย นำพยานเข้าไต่สวนรวม 7 ปาก ประกอบด้วย นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ,นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง , นายวิรัช กุลเพชรประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี จ.นครปฐม , น.ส.สุจิรัตน์ ทองมี เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี กองล้มละลาย ,น.ส.หนึ่งหทัย วงษ์ทอง เจ้าหน้าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด อดีต เจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาสถาบันการเงิน , นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ซึ่งรับผิดชอบฝ่ายคดี และการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( กลต.)และนายวีระพงษ์ มุทานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด

ก่อนเริ่มการไต่สวนพยาน นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความคุณหญิงพจมาน จำเลนที่ 2 ได้แถลงหารือต่อศาล ว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องประสงค์จะถอนทนายความ แต่เมื่อศาลไม่อนุญาต ในฐานะทนายความจึงขอความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งทนายความเกรงว่าจะเกิดปัญหาหากจะทำหน้าที่ซักถามพยานทั้งที่จำเลยประสงค์จะถอนทนายความ ซึ่งองค์คณะ ฯ โดยนายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ชี้แจงว่าเมื่อศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตแล้ว ทนายความก็ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ในฐานะทนายความ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับนายเอนก คำชุ่ม ทนายความ ซึ่งขึ้นว่าความเป็นประจำนั้น ไม่ได้เดินทางมาศาล

ต่อมา นายวราเทพ อดีต รมช.คลัง เบิกความตอบศาล สรุปว่า ดำรงตำแหน่ง รมช.คลัง ระหว่างปี 2544 -2549 แต่พยานไม่ได้รับผิดชอบดูแลกองทุน โดยพยานได้รับมอบหมายให้เป็น รอง ประธานสำนักประเมินราคาสินทรัพย์ กรมธนารักษ์ ที่ดูแลการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

สำหรับพยานอีก 4 ปาก เบิกความทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินคดีนี้

22 สิงหาคม 2551 การไต่สวนพยานนัดสุดท้ายได้เกิดขึ้น โดยศาลได้มีคำสั่งให้เบิกตัวนายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษคดีละเมิดอำนาจศาลกรณีถุงเงิน 2 ล้านบาท จากเรือนจำมาไต่สวน ตามบัญชีเดิมพยานจำเลย แต่นายพิชิฏ ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 ส.ค.51 อ้างว่าประเด็นที่จะเบิกความนั้นนายพิชิฏ ผู้ร้องได้ส่งเอกสารทั้งหมดไว้ต่อศาลแล้ว จึงไม่ประสงค์จะมาเบิกความ

องค์คณะผู้พิพากษา พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคำร้องแสดงว่าผู้ร้องไม่มีข้อเท็จจริงที่เพิ่มเติมอีก กรณีจึงไม่จำต้องไต่สวนพยานปากนี้ และมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานปากนี้ ดังนั้นพยานจำเลยทั้งสองที่ยังไม่ได้ไต่สวนจึงเหลือเพียงตัวจำเลยทั้งสองซึ่งหลบหนีไปไม่มาศาลเท่านั้น จึงถือได้ว่าหมดพยานจำเลยทั้งสองแล้วและเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่ได้ไต่สวนมานั้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว จึงไม่เรียกพยานหลักฐานมาไต่สวนเพิ่มเติมอีก ให้ยกเลิกวันนัดที่ได้นัดไว้ คดีเสร็จสิ้นการไต่สวน จึงนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ทั้งนี้หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยื่นมาภายในวันที่ 10 ก.ย.นี้ มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ติดใจแถลงการณ์ปิดคดี

ภายหลัง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานรับผิดชอบคดี กล่าวว่า ในวันที่ 26 ส.ค. คณะทำงานอัยการจะประชุมเพื่อร่างคำแถลงปิดคดี แล้วจะเสนอนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ก่อนยื่นต่อศาล ซึ่งอัยการมั่นใจในพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนสอบสวนของ คตส. ที่อัยการนำเสนอต่อศาลไปแล้วทั้งหมด

ด้านนายอเนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย กล่าวว่า ระยะเวลา 2-3 เดือน ที่ตนเอง นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ และทีมงาน ได้เข้ามารับผิดชอบคดีนี้แทน นายพิชิฎ ชื่นบาน ซึ่งได้รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดในชั้นคตส.และชั้นศาล ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นความดีความชอบของนายพิชิฎ และต้องขอขอบคุณ นายพิชิฏ จากใจจริงของเพื่อน วันนี้ถือว่าเราทำได้ดีที่สุดแค่นี้ และพอใจกับพยานหลักฐานต่างๆได้เสนอศาลไปทั้งหมด

ส่วนคำถามยอดฮิต!...คือมั่นใจว่าจะชนะคดีหรือไม่...นายอเนก กล่าวว่า ตนคงไม่ตอบ เพราะมันอยู่ในใจเราเอง

การต่อสู้คดีความคดีแรกของ อาชญากรโกงชาติโกงแผ่นดิน"ทักษิณ และ พจมาน"ที่หนทางแห่งการต่อสู้ ทนายความต้องมีอันเป็นไป ติดคุก ติดตะราง เหมือนกับการเปลี่ยนม้า กลางศึก...

ขณะที่ จำเลยทั้ง 2 ก็สละสิทธิ์การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ด้วยการหลบหนี และวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทย ส่วนผลแห่งคำพิพากษา...เขา(ผิด หรือ ถูก)? 17 กันยายนนี้ ศาลสถิตยุติธรรม คือผู้ให้คำตอบสุดท้าย.....

หากก้มกราบผืนแผ่นดินด้วยความบริสุทธิ์ใจในวันนั้น คงไม่มีวันนี้
ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ หลังกลับมายังมาตุภูมิ
ในวันรับฟังคำพากษาคดีซุกหุ้นชิน
ทั้งครอบครัวมาให้กำลังใจ
สีหน้ารับไม่ได้กับคำพิพากษาทั้งพ่อลูก
หนีคำพิพากษาไปเถลิงสุขทั้งครอบครัว
นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความคู่ใจ
เสมียนทนายความที่ติดร่างแห ต้องเข้าไปชดใช้กรรมในเรือนจำ
นายวีระ สมความคิด
หาก 6 ปีที่ผ่านมาทำเพื่อชาติจริงดังปากว่า คงไม่มี 2 ใบนี้ออกมา
กำลังโหลดความคิดเห็น