ผู้จัดการออนไลน์ - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดพิพากษาชี้ชะตา “ทักษิณ – คุณหญิงอ้อ” คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ 17 ก.ย.นี้ ลุ้นระทึกอดีตผู้นำและภริยา ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองในการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ และขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ระวางโทษสูงสุด 10 ปี ริบเงิน 772 ล้านบาทพร้อมที่ดิน
คดีดังกล่าว อัยการสูงสุด เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1 – 2 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2550 โดยคำฟ้องคดีได้บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสอง ตามสำนวนคำฟ้อง ดังนี้
คำฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ตกเป็นจำเลย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2550 นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ, นายนันทศักดิ์ พูนสุข รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ, นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4, ร.ท.วิโรจน์ รัตนประเสริฐ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 (พระนครเหนือ ) นำคำฟ้องจำนวน 19 หน้า ที่นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (ขณะนั้น) ลงนามเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2
ในความผิดฐาน เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น เป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ในการทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่มูลค่า 772 ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูกิจการและสถาบันการเงิน อันเป็นการซื้อขายที่ดินต่ำกว่าราคาประเมิน 4,200 ล้านบาท
การยื่นฟ้องคดีดังกล่าว อัยการได้นำพยานหลักฐานจำนวน 1 ลังใหญ่ ประกอบด้วยสำนวนการไต่สวนจำนวน 9 แฟ้มของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รวมทั้งบัญชีพยานบุคคลกว่า 100 ปาก และพยานเอกสารร่วม 100 อันดับ ยื่นต่อ แผนกรับฟ้องของศาลฎีกาแผนกแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยท้ายฟ้องอัยการมีคำขอให้ศาลริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดและได้มาจากการกระทำความผิด คือที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ทั้งนี้ ตามคำฟ้องฉบับย่อ ระบุพฤติการณ์กระทำผิดสรุปว่า
ข้อ 1 จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินและนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 88, 211, 212 และมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทในฝ่ายบริหารปฏิบัติงาน
ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485, พ.ศ.2528 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับ ดูแลเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย มีคณะกรรมการจัดการกองทุนประกอบด้วยผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธานกรรมการ และมีผู้จัดการกองทุนเป็นเลขานุการ
โดยรัฐบาลกำหนดให้กองทุนมีอำนาจเพิ่มยอดเงิน รับภาระประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ.2541
และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ออก พ.ร.ก.กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ.2549 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี กองทุนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของกองทุน
ข้อ 2 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2538 กองทุนได้ซื้อที่ดินของบริษัท เงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด จำนวน 2 แปลง เป็นเงิน 4,889,379,500 บาท สำหรับแปลงข้อพิพาทนี้ ติดถนนเทียนร่วมมิตร แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. รวม 13 โฉนด เนื้อที่รวม 35-2-69 ไร่ ราคา 2,140,357,500 บาท และเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2546 ได้ดำเนินการประมูลขายที่ดินแปลงดังกล่าวโดยกำหนดราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท และผู้เข้าประมูลจะต้องวางเงินมัดจำการยื่นซอง 10 ล้านบาท
ปรากฏว่า มีผู้แสดงความจำนงจะซื้อ 8 ราย แต่มีผู้ลงทะเบียนยื่นซองเสนอราคาและชำระเงินมัดจำ 10 ล้านบาทเพียง 3 ราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทองหล่อ เรสซิเด้นท์ จำกัด และบริษัท แสนสิริ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) แต่ผู้ลงทะเบียนยื่นซองเสนอราคาทั้ง 3 รายดังกล่าวไม่เสนอราคาประมูลมาให้พิจารณาจึงมีการยกเลิกการประมูลขายที่ดิน
ขั้นต่อมา กองทุนได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวใหม่ โดยกันส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ออก การแบ่งแยกที่ดินจาก 13 โฉนดเหลือเพียง 4 โฉนด เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 เหลือเนื้อที่เพียง 33-0-78.9 ไร่ แล้วประกาศประมูลเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2546 โดยกำหนดให้ผู้เข้าประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำการยื่นซองเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเกิน 10% ตามที่ระบุในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ
มีผู้ซื้อแบบ 4 ราย แต่มีผู้ยื่นซองเสนอราคาและชำระเงินมัดจำการยื่นซอง 3 ราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 730,000,000 บาท, บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 750,000,000 บาท และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสจำเลยที่ 1 เสนอราคา 772,000,000 บาท
โดยคณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชนะการประมูลและกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาชำระก่อนวันที่ 29 ธ.ค.2546 ซึ่งต่อมาได้มีการทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบที่ดินวันที่ 30 ธ.ค.2546 โดยการทำนิติกรรมจำเลยที่ 1 ได้ลงนามยินยอมพร้อมแสดงสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการการเมืองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ซึ่งการประกาศขายที่ดินโดยวิธีประกวดราคาวันที่ 25 พ.ย.2546 น่าเชื่อว่ามีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพราะ 1) การประกวดราคาไม่กำหนดราคาที่ดินขั้นต่ำ 2) กำหนดวางเงินในการยื่นซอง 100 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 10% ของราคากลาง และ 3) มีการยกเลิกข้อจำกัดเรื่องความสูงในการก่อสร้างอาคารภายหลังที่จำเลยที่ 2 ประมูลได้ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น
ข้อ 3 เมื่อระหว่างวันที่ 3 ธ.ค.2546 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 ธ.ค.2546 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
3.1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และพ.ศ.2544 และจำเลยที่ 2 คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดังกล่าว ได้ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 โฉนดเลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 เนื้อที่ 33-0-78.9 ไร่ดังกล่าว ที่ทำสัญญากับกองทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีดังกล่าว จึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ พ.ศ.2542 หมวด 9 มาตรา 100
3.2 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการการบริหารสินทรัพย์ของกองทุนฯ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสในการทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 โฉนด แปลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียทำให้กองทุนฯ ได้รับความเสียหาย อันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
และข้อ 4 คดีนี้กองทุนฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มายื่นคำร้องกล่าวโทษและคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ดำเนินคดีจำเลยที่ 1 และที่ 2
อัยการสูงสุด จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น เป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ประกาศคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2544
และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 8, 13 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 ก.ย.2549
โดยขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งริบเงินจำนวน 772 ล้านบาทที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิด และริบที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 ถนนเทียนร่วมมิตร แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่สองด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ศาลออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษา โดยอัยการโจทก์มาศาล แต่จำเลยทั้งสอง และทนายความจำเลย ไม่มาศาล ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลติดประกาศหมายนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่มาฟังคำพิพากษา จึงต้องออกกหมายจับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 วรรคสอง จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 14.00 น. พร้อมมีคำสั่งให้ออกหมายจับทั้งสอง มาฟังคำพิพากษาต่อไป
***************
หมายเหตุ - ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 100 ระบุว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ดำเนินกิจการ ดังต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี....”
เนื้อความในมาตรา 100 ยังระบุว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
สำหรับประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินการกิจการตามความในมาตรา 100 ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ลงนามโดยนายโอภาส อรุณินท์ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2544 ได้กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามฯ มีดังต่อไปนี้ 1. นายกรัฐมนตรี 2. รัฐมนตรี
ตามมาตรา 100 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคสอง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าว เป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
สำหรับข้อหาตามความผิดที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ถูกกล่าวหามีระวางโทษ ดังนี้ 1) การกระทำขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 100 กำหนดโทษให้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดุแลกิจการ เข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท
3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ