xs
xsm
sm
md
lg

ไต่สวนที่ดินรัชดาฯ! 6 จนท.รัฐ เบิกความช่วย “แม้ว-อ้อ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ทนายทักษิณ-หญิงอ้อ” นำพยาน 6 ปาก จนท.กระทรวงการคลัง เลขาฯ ก.พ.และเจ้าหน้าที่ ธปท.ไต่สวนสู้คดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯ เพื่อนำสืบสถานะกองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลัง การซื้อขายที่ดินไม่ต้องขออนุมัติ รมว.คลัง ครม.-นายกฯ ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยอีกครั้ง 15 ส.ค นี้

วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เวลา 09.30 น.นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานจำเลยครั้งที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 4,100 และ 122

โดยวันนี้ทนายจำเลยได้นำพยานเข้าไต่สวนรวม 6 ปาก ประกอบด้วย นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล ผอ.กองกฎหมายและระเบียบ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง, นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง, นายสาธร โตโพธิ์ไทย ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), นายสุภร ดีพันธ์ เจ้าหน้าที่ ธปท.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน ทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาสถาบันการเงิน และนายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.

โดย นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล ผอ.กองกฎหมายและระเบียบ สำนักงบประมาณ ตัวแทน ผอ.สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ทั้งสามคนได้เบิกความต่อศาลทำนองเดียวกันว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายพิเศษ ที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงการคลัง และด้านการบริหารก็ไม่ได้ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

นายสาธร ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายคดี ธปท.กล่าวว่า ขณะเกิดที่มีการซื้อขายที่ดินคดีนี้พยานปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและติดตามทรัพย์สิน ธปท.และร่วมเป็นคณะกรรมการรับซองประกวดราคาที่ดิน ซึ่งพยานทราบว่าที่ดินพิพาทคดีนี้ กองทุนรับโอนมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณ ทรัสต์ จำกัด และเนื่องจากกองทุนมีภาระต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก ในการช่วยเหลือสถาบันการเงิน ดังนั้น กองทุนจึงมีความจำเป็นต้องประกาศขายทรัพย์สินที่รอการขายโดยเร็วที่สุด ซึ่งการซื้อขายทรัพย์สินรอการขายของกองทุนไม่ต้องใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับกับหน่วยราชการโดยการจัดการซื้อขายทรัพย์สินนั้นเป็นไปตามอำนาจของกองทุนฟื้นฟูฯ และไม่ต้องขออนุมัติจากผู้ว่าการ ธปท., รมว.คลัง, คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หลังการขายที่ดินพิพาทคดีนี้ให้คุณหญิงพจมานแล้ว คณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ยังประกาศขายที่ดินว่างเปล่าเนื้อที่ 50 ไร่ 1 งาน 30.8 ตารางวา ซึ่งใกล้ศูนย์วัฒนธรรม เมื่อวันที่ 26 ก.ค.47 ด้วยการเปิดประกวดราคา ซึ่งก็ได้มีการกำหนดราคาประกันซอง 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนที่คณะกรรมการจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ขายที่ดินให้ อ.ส.ม.ท.ตารางวาละ 55,000 บาท (เนื้อที่ 50 ไร่บริเวณใกล้เคียงที่ดินคดีพิพาทนี้) ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการจัดการกองทุนฯ ที่จะอนุมัติโดยไม่ได้ขออนุมัติจากผู้ว่าการ ธปท., รมว.คลัง, ครม.หรือ นายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ส่วน นายสุภร เจ้าหน้าที่ ธปท.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน ทีมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนฟื้นฟูฯ เบิกความว่า พยานเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ให้ดำเนินการรังวัดที่ดินพิพาทคดีนี้เพื่อรวมโฉนด 13 แปลง ให้เป็นที่ดินแปลงใหญ่ โดยสาเหตุที่ต้องรวมโฉนดที่ดินเนื่องจากในการประกาศขายที่ดินพิพาทนี้ในครั้งแรกผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่มีผู้เสนอราคา เพราะราคาเริ่มต้นสูงมาก ประกอบกับเนื้อที่ของที่ดินที่จะใช้ประโยชน์มีเนื้อที่น้อยกว่าที่ระบุในเอกสารสิทธิ ซึ่งการยื่นคำร้องขอรวมโฉนดก็ได้รับมอบหมายหน้าที่จากกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งดำเนินการเมื่อเดือน ก.ย.46 โดยพยานพาเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินเข้าไปรังวัดพื้นที่โดยรอบเพื่อให้แบ่งเนื้อที่ซึ่งติดกับถนนเทียมร่วมมิตร และคลองสาธารณะ ก่อนจะให้มีการรวมโฉนด ซึ่งการรังวัดเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 23 ก.ย.ถึง 13 พ.ย.46 โดยพยานปฏิบัติหน้าที่ตามปกติไม่ได้มีการเร่งรีบที่จะให้มีการรวมโฉนด แต่กองทุนฟื้นฟูฯ ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึงกรมที่ดินตามขั้นตอนตามปกติในการประสานระหว่างราชการให้ดำเนินการรังวัดที่ดิน เพราะปกติกองทุนมีที่ดินจำนวนมากถึง 500 รายการที่ต้องให้รังวัด ซึ่งการยื่นคำร้องขอรวมโฉนดคดีนี้ เป็นการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ใช่การร้องขอจากคุณหญิงพจมานหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากคุณหญิงพจมานในการเข้าร่วมประกวดราคาซื้อขายที่ดินนี้แต่อย่างใด ส่วนเลขที่โฉนดที่ให้มีรังวัดนั้นเพื่อจะให้รวมโฉนดจาก 13 แปลงเป็น 4 แปลงใหญ่ เนื้อที่ 33 ไร่ 78.9 ตารางวานั้น พยานได้ขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่โฉนดจากนายชลากร พรหมกิติกุล หัวหน้าฝ่ายรังวัดที่ดินเมื่อวันที่ 18 พ.ย.46 เพื่อกองทุนฟื้นฟูฯ จะได้นำเลขที่โฉนดและเนื้อที่ที่รังวัดแล้ว มาลงประกาศขายที่ดินพิพาทนี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.46

ด้าน นายชาญชัย ผอ.อาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.เบิกความว่าตามที่ปรากฏคำสัมภาษณ์ของพยาน ว่า กองทุนไม่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายที่ดินพิพาทนี้ เป็นการแสดงความเห็นไม่ใช้ข้อเท็จจริงซึ่งขณะให้สัมภาษณ์พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชากรณีที่ คตส.ส่งแบบฟอร์มให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าทำการร้องทุกข์ในคดีนี้ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ทำเรื่องหารือไปยัง ธปท.โดยส่วนตัวพยานเห็นว่ากองทุนฟื้นฟูฯขายที่ดินพิพาทนี้ราคา 772 ล้านบาทซึ่งไม่ได้มีมูลค่าต่ำกว่าราคาประเมินอีกทั้งการซื้อขายยังได้ดำเนินการด้วยการประกวดราคาที่กระทำโดยเปิดเผยและมีผู้เข้าร่วมเสนอราคาถึง 3 ราย โดยกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขายที่ดินให้ผู้เสนอราคาสูงสุด ดังนั้น จึงไม่พบว่าพฤติการณ์จะทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้รับความเสียหายอย่างไร โดยในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ พยานไม่ได้โต้แย้งในที่ประชุมว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้รับความเสียหาย เพียงแต่ในการประชุมฝ่ายกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนฟื้นฟูฯจะได้รับความเสียหายเมื่อสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ แต่จนถึงวันนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทนี้

นายชาญชัย ยังเบิกความถึงสถานะของกองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยว่า ในการซื้อขายทรัพย์สินรอการขายของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535แต่ใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของ ธปท.โดยอนุโลม ส่วนโครงสร้างภายในของกองทุนเกี่ยวกับเงินเดือนกองทุนฟื้นฟูฯ ได้อนุมัติเงินจาก ธปท.โดยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้าราชการ ซึ่งรายได้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้มาจาก ธปท.ช่วยเหลือ ส่วนที่กองทุนฟื้นฟูฯ มีภาระความจำเป็นในการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาตั้งแต่ปี 2540 ก็ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ากองทุนฟื้นฟูฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ

ภายหลังศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไปวันที่ 15 ส.ค.51 เวลา 09.30 น.ส่วน นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลยแถลงว่าวันนี้พยานติดภารกิจสำคัญจึงต้องเลื่อนนัดไต่สวนออกไปก่อน โดยจะนำตัวเข้าไต่สวนในวันที่ 19 ส.ค.51

อย่างไรก็ดี นายเอนก ยังได้แถลงต่อศาลขออนุญาตให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกครั้ง หลังจากที่ฝ่ายจำเลยได้ติดตามขอรับเอกสารจาก ป.ป.ช.ตามที่ศาลได้เคยออกหมายให้ไว้แล้วในครั้งแรก แต่ฝ่ายจำเลยได้รับแจ้งจากเลขาธิการ ป.ป.ช.ว่ายังติดขั้นตอนรอการเสนอที่ประชุม ป.ป.ช. ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญที่ฝ่ายจำเลยมีความจำเป็นต้องนำมาประกอบการไต่สวนพยานจำเลยในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ในส่วนของ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลได้ออกหมายเรียกเอกสาร และ ป.ป.ช.ได้รับหมายแล้ว หากไม่ดำเนินการส่งเอกสาร ศาลก็มีอำนาจที่จะดำเนินตามกฎหมายได้ทันที ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกเอกสารซ้ำอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี ในการไต่สวนพยานจำเลย เหลือวันนัดไต่สวนอีกเพียง 3 นัดคือวันที่ 15,19 และ 22 ส.ค.51 โดยกำหนดการเดิมทนายจำเลยเตรียมที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน เข้าไต่สวนเป็นพยานจำเลยปากสุดท้ายในวันที่ 22 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มีกำหนดที่จะต้องเข้ารายงานตัวต่อศาลฎีกาฯ หลังจากเดินกลับจากต่างประเทศในวันที่ 11 ส.ค.นี้
นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ คณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)
นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ คณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. เข้าเบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลยในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น