xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เชื่อความยุติธรรมปลดล็อกไฟใต้ได้-ยธ.เร่งเผยแพร่ กม.สางคดี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายกรัฐมนตรีเล็งตั้งสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ เชื่อความยุติธรรมอย่างเสมอภาคจะช่วยคลี่คลายความไม่สงบได้ ชี้การสะสางคดีความต้องสร้างความเชื่อมั่น ทุกคดีต้องมีหลักนิติวิทยาศาสตร์อ้างอิงได้ ด้านรองปลัดยุติธรรมเผยจะทดลองใช้กฎหมายเฉพาะถิ่นในชุมชนเล็กๆ พร้อมเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์การอำนวยความยุติธรรมควบคู่กับกฎหมายอิสลามที่ใช้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้คนพื้นที่ทราบ

วันนี้ (1 ก.ค.) เวลา 09.00 น.ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาโครงการสร้างความเข้าใจต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ความยุติธรรมเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาความไม่สงบ ความขัดแย้ง และความรุนแรงในภาคใต้ โดยการอำนวยความยุติธรรมนี้จะต้องเข้าใจถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่ยังมีความไม่เข้าใจ หรือมีความคาดเคลื่อนบางส่วน ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ การแก้ปัญหาทุกเรื่องจึงมีอุปสรรค จำเป็นต้องผลักดันมาตรการต่างๆ ที่จะสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะการอำนายความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม และนิติรัฐ

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายนั้นจะต้องเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เสมอภาคและเป็นธรรม ดำเนินการต่อผู้กระทำผิดอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าใครทำผิดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการโดยเข้าใจถึงความละเอียดอ่อน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า แผนยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมในพื้นที่ภาคใต้ เป็นแผนที่ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งในเรื่องการอำนวยความยุติธรรมบนพื้นฐานนิติธรรม ยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมทางเลือก แต่การสะสางคดีความต่างๆ ยังขาดความเป็นเอกภาพ จำเป็นต้องใช้วิธีการที่สร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคดีจะได้รับการดำเนินการตามกฎหมาย มีหลักนิติวิทยาศาสตร์อ้างอิงได้ ในส่วนของการสร้างกระบวนการยุติธรรมชุมชน และยุติธรรมทางเลือก ก็เป็นงานที่จำเป็นต้องเร่งรัดภายใน 4-5 ปี เนื่องจากขณะนี้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนยังขาดความเข้าใจ

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบจำเป็นต้องเน้นงานประชาสัมพันธ์ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อสิ่งที่รัฐกำลังทำ เช่น การจัดตั้งสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ให้สอดรับกับวิถีชีวิตท้องถิ่น การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายอิสลามให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อาทิ กฎหมายครอบครัวและมรดก ในส่วนของคนนอกพื้นที่ก็จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาการคัดค้าน และต่อต้านวิธีการแก้ปัญหาบางอย่างที่สอดคล้องกับพื้นที่เป็นการเฉพาะ

ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะเริ่มนำร่องการทดลองใช้กฎหมายเฉพาะถิ่นในชุมชนเล็กๆ จากนั้นจะเผยแพร่ให้คนในพื้นที่รับทราบถึงแผนยุทธศาสตร์การอำนวยความยุติธรรมควบคู่กับกฎหมายอิสลามที่ใช้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่ไม่มีบังคับในกฎหมายอาญา สำหรับสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภาคใต้จะจัดตั้งได้ในปีงบประมาณ 2554 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยงานชุมชนในพื้นที่ และนำมาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในชุมชน

ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้การจับกุมผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จับได้เพียงผู้ก่อการตัวเล็กเท่านั้น บางครั้งพบว่าเกิดความไม่เป็นธรรมในหลายคดี อาทิ ผู้หญิงตั้งครรภ์ถูกจับกุมเพราะรับหน้าที่ดูลาดเลาให้ผู้ก่อความไม่สงบ หรือกรณีผู้หลงผิดเข้ามอบตัวแต่กลับถูกขังไม่ได้รับการประกันตัว เพราะมีหลักฐานเชื่อมโยงถึงคดีอาญาอื่นๆ ขณะที่ผู้ก่อความไม่สงบที่มีขบวนการฟอกตัวกลับหลุดรอด ไม่ถูกดำเนินคดี ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน เพราะการสร้างความเป็นธรรมไม่ใช่แค่กระทรวงยุติธรรม ตราบใดที่ทุกหน่วยงานต้องการแค่งบประมาณกับอำนาจก็จะไม่เกิดความเป็นเอกภาพ กฎหมายในภาคใต้มีเป็นจำนวนมากแต่จะบังคับใช้ได้ประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนที่เลือกใช้ บางครั้งชาวบ้านรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม เพราะเจ้าหน้าที่เลือกที่จะเลี้ยงโจรตัวใหญ่ แต่กลับดำเนินคดีกับผู้ร่วมขบวนการตัวเล็ก

“กระบวนการแก้ไขเยาวชนที่ถูกชักจูงให้เป็นแนวร่วมยังเดินหน้าไม่เต็มที่ ทั้งที่เยาวชนให้ข้อมูลชัดเจนว่าถูกชักชวนในโรงเรียน ปฏิเสธไม่ได้เพราะจะถูกบังคับให้รับการฝึก อย่างไรก็ตาม พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุหลายคดีบ่งชี้ให้เห็นถึงการแบ่งหน้าที่กันเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ โดยแนวร่วมที่ถูกจับกุมได้พร้อมอาวุธปืนให้การว่า รับหน้าที่นำเสบียงไปใส่ถังฝังบนภูเขา จากการตรวจสอบพบว่าถังใส่เสียงเปื้อนผงโคเคน แสดงว่ากลุ่มผู้สนับสนุนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด”พญ.คุญหญิงพรทิพย์กล่าว

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ในภาคใต้มีกระบวนการการผลิตซ้ำทางความคิดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์บิดเบือนว่ารัฐไทยเข้าไปยึดทำให้รัฐปัตตานีเสื่อม และสร้างความเป็นชาตินิยมปัตตานีมาลายู รวมเข้ากับการตีความศาสนาเข้มข้น ศูนย์กลางของปัญหาสงครามไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ใต้ดิน ดังนั้นการนำคนกระทำความผิดมาลงโทษทางอาญาตามกระบวนการยุติธรรมจึงใช้แก้ปัญหาความไม่สงบไม่ได้ กรณีศาลอาญาไม่รับคำร้องให้รื้อฟื้นการไต่สวนการเสียชีวิตกรณีตากใบ สื่อในประเทศมาเลเซียรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ไม่ผิด ผู้ตายขาดอากาศหายใจไปเอง พูดซ้ำๆเพียงเท่านี้เราก็แย่แล้ว

“ในภาคใต้ต้องยกระดับการเมืองให้เป็นของรัฐไทย ไม่ใช่การเมืองของพรรค เพื่อไม่ให้นโยบายเปลี่ยนบ่อย ตอนนี้มีการตั้งคำถามถึงความเสมอภาค โดยยกตัวอย่างกรณีคนที่กรุงเทพฯยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศ เวลาผ่านไป 6 เดือน ยังไม่ดำเนินการอะไร รัฐประนีประนอมมาก ถ้าเป็นคนในจังหวัดชายแดนยึดศาลากลางจังหวัด 3 วัน จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐเหมือนกันหรือไม่” พล.ท.พีระพงษ์กล่าว

นายสมชาย หอมลออ นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะชาวบ้านคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ คดีทำร้ายร่างกายกำนันต.โต๊ะเด็ง ลูกความของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กว่า 10 นาย ซึ่งคดีไม่มีความคืบหน้าเลย กรณีกรือเซะ สะบ้าย้อย ตากใบ และสุเหร่าที่ไอร์ปาแย ตอกย้ำให้ชาวบ้านยิ่งรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จนต้องหันหลังให้กับรัฐ หากรัฐสร้างความเชือ่มั่นกลับมาไม่ได้โอกาสชนะสงครามนี้แทบไม่มีเลย

“ความไม่เข้าใจในอัตตลักษณ์และไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของคนในจังหวัดชายแดน ผลักให้พวกเขาคิดแบ่งแยกดินแดน ภายใต้กฎอัยการศึกและพรก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก ในความเป็นจริงเมื่อพบเจ้าหน้าที่กระทำผิดก็ต้องลงโทษให้หนัก แต่คดีทหารพรานยิงประชาชนเสียชีวิต ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี และให้รอลงอาญาเพราะกระทำความดีมาในอดีต นอกจากนี้ ผมได้รับข้อมูลว่าซ้อมทรมานในหน่วยคุมขังของทหารน้อยลง แต่ยังมีมากในสถานที่ปฏิบัติการของตำรวจ”นายสมชายกล่าว

ด้านนายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาด้านการศึกษามีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าความยุติธรรม ตนเคยเสนอให้มีสภาการศึกษาส่วนหน้าในภาคใต้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนทำงาน สถานการณ์ในตอนนี้คนในพื้นที่เป็นฝ่ายต้องถามรัฐว่า คิดว่าพวกเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องตอบให้ได้ แผนยุทธศาสตร์สร้างความยุติธรรมในภาคใต้เป็นแผนที่ดี แต่หากไม่ทำให้เกิดขึ้นจริงก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เดิมคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักความยุติธรรมว่าคือทนายความ วันนี้พวกเขาเริ่มเรียนรู้มากขึ้นจากโครงการยุติธรรมชุมชน คนในพื้นที่เรียกร้องกฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกเพราะเป็นวิถีปฏิบัติ เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องไปหาอิหม่ามหรือกรรมการอิสลาม แต่ถ้ารัฐเข้าไปดำเนินการให้เป็นระบบจะแสดงให้เห็นว่ารัฐยอมรับพวกเขาเป็นคนไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น