xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐทำ ‘สงครามความคิด’ ปรับกลไกรัฐ – หยุด ‘ซ้อมทรมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษชุด “สิทธิมนุษยชนกับไฟใต้” โดยทีมข่าวพิเศษ ตอนที่ 2
 
ยุทธการกวาดจับบุกค้นและคุมตัวผู้ต้องสงสัยคราวละมากๆ มาซักถามหรือส่งดำเนินคดี ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อมั่นว่ายุทธวิธีดังกล่าวสามารถแช่แข็งการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้ อย่างน้อยก็ทำให้กองกำลังอาร์เคเคหรือนักรบประจำถิ่นไม่สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายดายนัก เพราะเชื่อว่า “แกนบ้าน” หรือกลุ่มงานการเมืองของฝ่ายขบวนการใต้ดินซึ่งเคลื่อนไหวในหมู่บ้านไม่สามารถทำงานเตรียมความพร้อมหรือเปิดช่องให้มีการก่อเหตุ

แต่ถึงกระนั้น ผลข้างเคียงของยาขนานนี้ก็ส่งผลด้านกลับให้กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหมือนกัน เมื่อมีการร้องเรียนการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวหลายกรณี

อนันตชัย ไทยประทาน คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการซ้อมทรมาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า หลังจากการตรวจสอบกรณีซ้อมทรมานหลายกรณี ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำการซ้อมทรมานจริงตามที่มีการร้องเรียน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการซ้อมทรมานเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพราะหลายกรณีจำเป็นต้องซัดทอดเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหว แต่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายกว่านั้นคือกลับสร้างฐานมวลชนให้กับผู้ที่ต่อกรกับรัฐมากยิ่งขึ้นต่างหาก

“วิธีนี้มันทำให้เกิดแนวร่วมมุมกลับ ได้หนึ่งเสียเป็นร้อย และจะทำให้สถานการณ์ยิ่งไปกันใหญ่ ข้อมูลที่ได้น่าจะไม่ตรง ทำให้จับผิดตัวไปเรื่อยๆ คุณต้องเอาคนบริสุทธิ์เข้าคุกอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ผมคิดว่าช่องโหว่มันเยอะเกินไป"


อย่างไรก็ตาม พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ ผู้อำนายการกองปฏิบัติการข่าวสาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ระบุว่า กรณีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ส่งต่อกันมาโดยขาดการยืนยันด้วยหลักฐานเสียมากกว่า หลายกรณีไม่ได้มีการซ้อมทรมานตามที่มีการกล่าวหาจริง ทั้งนี้ เป็นนโยบายจากผู้บัญชาการทหารบกว่าห้ามไม่ให้มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยโดยเด็ดขาด ซึ่งหน่วยปฏิบัตินำไปยึดถืออย่างเคร่งครัด

“ถ้าใครก่อเรื่องแบบนี้ขึ้นจะถือว่าเป็นการขัดนโยบายของ ผบ.ทบ. คนๆ นั้นจะต้องถูกลงโทษและถูกนำดำเนินคดี”

ถึงกระนั้น พ.อ.อัคร ระบุว่า มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ทางกองทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานจริง ดังกรณีของนายอามีนุดดีน กะจิ โต๊ะครูโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานสอบสวน ในขณะที่การสอบด้านวินัยกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ นอกจากกรณีนี้แล้ว พบว่ามีเพียงอีกกรณีเดียวเท่านั้น คือ กรณีของนายสุกรี อาดำ ผู้ช่วยทนายความ ซึ่งมีรายงานการซ้อมทรมานที่ศูนย์วิวัฒน์สันติเมื่อต้นปีที่แล้ว ทาง กอ.รมน.ได้ทำการปิดศูนย์ดังกล่าวและย้ายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกลับต้นสังกัดเดิมเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนกรณีอื่นๆ เขายืนยันว่าไม่ได้มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น ดังเช่นในกรณีของนักศึกษาราชภัฏยะลาที่ถูกควบคุมตัวปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ร่องรอยฟกช้ำที่มีขึ้นเป็นเพียงร่องรอยในระหว่างการจับกุม ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวแต่อย่างใด

ผอ.กองปฏิบัติการข่าวสาร ให้ความเห็นว่า เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กรณีการซ้อมทรมานที่มีการร้องเรียนในแต่ละกรณีนั้น ควรได้รับข้อยุติจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ากรณีใดบ้างที่มีการซ้อมทรมานจริง หากกระทำจริง ผู้ที่กระทำควรได้รับการลงโทษอย่างไร ไม่ใช่มีแต่เสียงเล่าลือ

พ.อ.อัคร เป็นผู้ที่ยืนยันต่อสาธารณะว่าจะมีการยกเลิกกฎห้ามเยี่ยม 3 วันแรกในการควบคุมตัวซึ่งมีรายงานว่ามักเป็นช่วงเวลาของการซ้อมทรมาน ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ แม้ว่ากฎดังกล่าวจะบรรจุเป็นหนึ่งในระเบียบของ กอ.รมน.ที่ใช้ประกอบตาม พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) แต่นายทหารผู้นี้ยืนยันในภายหลังว่าขณะนี้กำลังพิจารณาให้มีการปรับระเบียบดังกล่าว ทว่าในเบื้องต้นแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาคที่ 4 ได้มีคำสั่งด้วยวาจาไปยังผู้บังคับการของแต่ละหน่วย ฉก.และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.แล้ว

อย่างไรก็ตาม อำนาจการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ยังอาศัยกฎหมาย 3 ฉบับซ้อนอยู่ นั่นคือ กฎอัยการศึก 7 วัน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 วัน และประมวลกฎหมายอาญา 48 ชั่วโมงก่อนส่งสำนวนให้อัยการ และล่าสุด พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในบางกรณีสามารถคุมตัวภายใต้การอบรมได้นานถึง 6 เดือน

แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงของแต่ละกรณีจะเป็นอย่างไร และมีคำอธิบายกี่ชุดก็ตาม “เสียงเล่าลือ” ที่นายทหารผู้รับผิดชอบด้านข้อมูลข่าวสารของ กอ.รมน.ภาค 4 กังวลนี่เองก็ได้แพร่กระจายไปในหมู่ประชาชนในพื้นที่ พ.อ.อัคร ยังชี้ว่า หนทางรับมือกับกระแสดังกล่าวนี้ทำได้เพียงนำเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการแจ้งความ คำตอบที่ได้รับจะเป็นรูปธรรม สำคัญกว่านั้นก็คือกองทัพจะพยายามชี้แจงต่อประชาชนเป็นรายกรณีไป ทั้งต่อนักสิทธิมนุษยชนที่ถือสถานะตัวแทนของประชาชน และญาติพี่น้องที่ร้องเรียนทั้งหมด

ทว่าสำหรับนักสิทธิมนุษยชนที่เชื่อถือต่อข้อมูลที่พวกเขาได้รับและยึดหลักการที่ว่าแม้เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมตัวได้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจในการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรงและขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง จึงยากที่ทั้งสองฝ่ายจะลงรอยได้ง่ายนัก ในเมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ยึดถือว่าความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเสมือนหนึ่งเป็นจุดชี้วัดในการแย่งชิงมวลชนกับฝ่ายตรงกันข้าม

อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เสนอว่า เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเข้าใจบทบาทขององค์กรสิทธิฯ ที่ทำงานในพื้นที่ รวมทั้งต้องมีความเข้าใจวิชาชีพการสอบสวนเพื่อให้กระบวนการควบคุมตัวเป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งจะยังประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเอง

นอกจากนี้ เธอยังเสนอด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมจะต้องสามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้จริง ขณะนี้ติดปัญหาในข้อปฏิบัติหลายประการที่ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีล่าช้า ทุกฝ่ายควรต้องหารือกันเพื่อที่จะเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมให้มีความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ควรต้องปรับทัศนคติ ต้องไม่มองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนี้คือสงคราม ไม่ใช่ทุกคนที่ถูกจับกุมเป็นโจรเสียหมด และไม่ใช่ว่าลงมาในพื้นที่เพื่อปราบปราม การมองคนว่าเป็นศัตรูไปหมดไม่ส่งผลดีในระยะยาวอย่างแน่นอน


ข้อเสนอที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกันเป็นของนายทหารผู้รับผิดชอบพื้นที่ยะลา พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช รอง ผบ.ฉก.ยะลา ซึ่งพอจะมองออกว่าความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีการซ้อมทรมานจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นต่อกรกับรัฐด้วยความรุนแรง

เขาระบุว่า ปัญหาการซ้อมทรมานจะหมดไปหากเจ้าหน้าที่ที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่มีมีการปรับความเข้าใจว่าการลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้มาเพื่อต่อสู้กับอริราชศัตรู หากแต่มาด้วยสำนึกว่าเราเป็น “กลไกของรัฐ” ที่เข้ามาเพื่อค้นหาและแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่

ความขัดแย้งในความหมายของเขา คือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ที่ฝ่ายแรกรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น กลไกของฝ่ายหลังเช่นทหารและตำรวจจะต้องเข้ามาวางตัวเป็นกลางเพื่อทำให้ความขัดแย้งนี้คลี่คลาย

“ถ้ามีแนวคิดที่จะต้องต่อสู้กัน ผมว่ามันผิดเพราะไม่สามารถแก้เงื่อนไขของสิ่งที่โยงไปว่าทำไมเขาถึงทำ ในทางยุทธวิธีผมเชื่อว่าหากทางเราแข็งก็ทำได้เพียงแต่กดไว้ แต่ถามว่าเขาเลิกสู้หรือไม่ ผมว่าไม่เลิก เพราะความขัดแย้งไม่ได้รับการแก้ไข” เขากล่าวและย้ำว่า หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ได้ กลับจะเป็นการล่อแหลมต่อการรักษาบูรณภาพของดินแดนแห่งนี้อย่างยิ่ง

สิ่งที่เขาทำในทุกวันนี้ คือ สร้างความเข้าใจกับทหารภายใต้การบังคับบัญชาว่า คนที่ก่อการกับประชาชนเป็นคนละกลุ่มกัน คนที่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นคนละกลุ่มกับประชาชน ทำอย่างไรที่จะสามารถแยกได้ว่าขบวนการใต้ดินคือใครและประชาชนทั่วไปคือใคร ถ้ายังไม่ชัดเจนก็ต้องตั้งสมมติฐานก่อนว่าเขาคือประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน

“แต่ถ้ารู้หรือยืนยันตัวชัดเจนแล้ว นั่นคือศัตรู ก็ต้องมาสู้กัน”

นอกจากด้านแนวคิดและทัศนคติแล้ว พ.อ.ชินวัฒน์ ยังระบุว่า ต้องปรับเป้าหมายของการซักถามไม่ให้ยึดติดอยู่เพียงแค่ข้อมูลข่าวกรองเท่านั้น หากแต่ต้องเน้นหนักที่การทำงานการเมืองกับกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่า ในหน่วยภายใต้การรับผิดชอบของเขาไม่มีเรื่องการซ้อมทรมานเกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าการสั่งห้ามตามสายบังคับบัญชาอาจได้ผลที่แตกต่างกับการสร้างจิตสำนึกใหม่ของกำลังพล ถึงกระนั้น วิธีการที่หน่วยของเขาใช้ คือ การทำงานความคิดกับผู้ที่ถูกควบคุมตัว ผ่านการถกเถียงในประเด็นหลักการศาสนาที่ว่าด้วยการต่อสู้และการทำสงคราม โดยมีผู้รู้ด้านศาสนาประกบอย่างใกล้ชิด เมื่อความเข้าใจใหม่กระจ่าง ผู้ถูกควบคุมตัวบางคนจะเรียกร้องให้มีการถอน “ซุมเปาะห์” หรือคำสาบานต่อกลุ่มก่อการเอง ถึงจุดนี้ข้อมูลด้านการข่าวก็เป็นสิ่งที่ตามมาเองโดยไม่ต้องบังคับ

“สิ่งที่จะทำให้เกิดการพลิกกลับของสถานการณ์ คือ การที่ทหารทำให้ประชาชนลดความหวาดระแวง ไม่เกลียดและกลัวทหาร เมื่อมีปัญหาอะไรก็ตาม กล้าที่จะเข้ามาพูดหรือฟ้องกับทหาร หากหน่วยไหนทำได้ในพื้นที่ เขากำลังโดดเดี่ยวกลุ่มขบวนการใต้ดิน เพราะฉะนั้นทหารเองก็ต้องอยู่บนความโปร่งใสและยุติธรรม ประชาชนจึงกล้าที่จะเข้ามาฟ้อง”

นับเป็นข้อเสนอที่ท้าทายทั้งต่อองคาพยพของรัฐและฝ่ายขบวนการใต้ดินที่อาจมีส่วนในผลแพ้ชนะในอนาคต สำคัญที่ว่ารัฐบาลสมัคร 1 จะจริงใจต่อการปรับเปลี่ยนหนทางดับไฟใต้หรือไม่ หรือการกล่าวอ้างแนวทางการเมืองนำการทหารเป็นเพียงลมปากการเมืองไม่ต่างกับผู้กำหนดนโยบายที่แล้วๆ มา

แต่ทว่าหากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมา ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่อยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิดขององค์กรสิทธิมนุษยชน ที่ขณะนี้เริ่มเด่นชัดว่าเป็นที่ที่ชาวบ้านกล้านำเรื่องร้องเรียนมากกว่าเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การช่วงชิงมวลชนอันแหลมคมในปัจจุบัน พวกเขาเองก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบากไม่น้อย ติดตามประเด็นนี้ได้ใน รายงานตอนที่ 3 ชะตากรรมนักสิทธิฯ ระหว่างเขาควาย สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์สงคราม

กำลังโหลดความคิดเห็น