ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – “อังคณา” อ่านแถลงการณ์ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวาระครบ 4 ปี การหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เรียกร้องให้ DSI มีความกล้าหาญในการเรียก “ทักษิณ” เข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่
วันนี้ (12 มี.ค.) นางอังคณา นีละไพจิตร ได้อ่านแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปี การหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร โดยระบุว่า ขณะอ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ ดิฉันอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และรายงานความก้าวหน้าคดีการหายไปของคุณสมชาย นีละไพจิตร รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ในการคลี่คลายคดีดังกล่าว เนื่องจากการหายไปของคุณสมชายนั้น
คณะทำงานด้านผู้สูญหายของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances –UNWGED) ได้รับเป็นคดีคนหายคดีหนึ่งของสหประชาชาติ ซึ่งขณะนี้คดีข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนาย กับพวกอีก 3 -5 คนเป็นผู้ผลักคุณสมชายขึ้นรถแล้วหายไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันนี้นั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลอุทธรณ์
สำหรับคดีการหายตัวไปของ คุณสมชาย นีละไพจิตร อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวนคดีที่คุณสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงซ้อมทรมานผู้ต้องหา ที่เป็นลูกความของคุณสมชาย ซึ่งเชื่อว่า การร้องเรียนดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณสมชายถูกทำให้หายตัวไป
ต่อมาภายหลังที่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช สั่งย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสุนัย มโนมัยอุดม ไปช่วยราชการที่หน่วยงานอื่น และให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทำหน้าที่รักษาการอธิบดี แทน โดยมี พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะให้ความสำคัญกับคดีการหายตัวไปของคุณสมชาย นีละไพจิตร
ดังนั้นเนื่องในโอกาสครบ 4 ปีการที่คุณสมชายถูกทำให้หายตัวไป ดิฉันขอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษ แสดงความจริงใจในการสอบสวนคดีการสูญหายไปของ คุณสมชาย นีละไพจิตร อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงก็ตาม เพราะการทำให้บุคคลสูญหายถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด
2.ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความกล้าหาญในการออกหมายเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาสอบปากคำ และให้การเป็นพยาน กรณีที่มีคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าไปขอค้นข้อมูลทะเบียนราษฎรที่มีรูปถ่ายหน้าตรงของคุณสมชายไปโดยไม่แจ้งเหตุผล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกแขนงเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 เกี่ยวกับคุณสมชาย นีละไพจิตร ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ว่า “ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะพบร่องรอยหลักฐาน...” ซึ่งการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้ข่าวในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงมีความน่าเชื่อถือ และจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกล่าวเช่นนั้น
3.จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่กล่าวถึงคำให้การของพยานโจทก์ปากหนึ่งว่า “ ....โดยพลตำรวจตรีกฤษฎา พันธ์คงชื่น ได้รับทราบข้อมูลจากพันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรัตน์ ว่าพันตำรวจโทชาญชัย ลิขิตคัณธศร พบกับกลุ่มบุคคลที่รู้จักบริเวณหน้ากองบังคับการปราบปรามและได้สอบถามบุคคลเหล่านั้นได้ความว่าจะไปอุ้มทนายโจร จึงได้เล่าให้พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ฟัง ..” ดังนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะรักษาการณ์อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงควรทำความจริงให้ปรากฏว่ามีส่วนรับรู้ถึงการอุ้มคุณสมชาย นีละไพจิตร หรือไม่อย่างไร
4.ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำคดีการสูญหายของ คุณสมชาย นีละไพจิตร อย่างรัดกุม มีพยานหลักฐานเพียงพอในการที่จะสามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้จริง โดยไม่ต้องรีบร้อน เร่งรีบ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจน เนื่องจากการดำเนินคดีโดยปราศจากพยานหลักฐานที่แน่ชัดจะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้ อีกทั้งยังอาจเป็นการกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์ และเป็นการฟอกตัวให้ผู้กระทำผิดอีกด้วย
5.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติปี พ.ศ.2549 เพื่อเป็นหลักประกัน และให้ความคุ้มครองแก่ทุกคนในประเทศไทยมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายโดยการกระทำหรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป
ทั้งนี้ดิฉันเชื่อว่า การคลี่คลายการสูญหายของ คุณสมชาย นีละไพจิตร จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับความจริงใจของรัฐบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าจะทำคดีได้อย่างเป็นธรรม โปร่งใสและปราศจากการแทรกแซงได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่ในขณะนี้ และท่านเองเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้ง 5 คนในคดีนี้มาก่อน อีกทั้งขณะที่ท่านรักษาการณ์การกรมสอบสวนคดีพิเศษเองก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจำเลยในคดีนี้
อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด ในการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน และสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในสถานการณ์ที่สังคมไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่อย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ดิฉันต้องขอขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคน ที่ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่าในท่ามกลางประสบการณ์ความยากลำบากในการเข้าถึงความยุติธรรม ยังมีมิตรภาพจากผู้คนร่วมสังคม รวมทั้งน้ำใจไมตรีและความห่วงใย ซึ่งมีให้แก่ดิฉันและครอบครัวโดยเสมอมา และเพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ที่ทำให้ดิฉันสามารถอดทน และมีกำลังใจในการที่แสวงหาความเป็นธรรมได้ต่อไป