xs
xsm
sm
md
lg

4 ปีแห่งการหายตัวไปของ"ทนายสมชาย"กับอำนาจรัฐ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

จารบุรุษ

มื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เป็นเวลารวม 4 ปีบริบูรณ์...ในวันนี้ จะมีใครทราบและใส่ใจบ้างว่า เป็นวันของการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฏหมายมุสลิม หนึ่งในนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่า นายสมชาย ถูกชายฉกรรจ์ 4-5 คน อุ้มหายไปจากย่านถนนรามคำแหง ใกล้กับสน.หัวหมาก ต่อมา เมื่อสื่อประโคมข่าวกันอย่างต่อเนื่อง จึงมีการจับกุม พ.ต.ต.เงิน ทองสุก, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ตำรวจสังกัดกองปราบปรามทั้ง 5 นาย ในข้อหา ร่วมกันปล้นทรัพย์ และข่มขืนใจผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมหรือข้อหาอื่นที่หนักกว่าได้ เนื่องจากยังไม่พบศพหรือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าทนายสมชายตายแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ศาลมีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ และยกฟ้องตำรวจทั้ง 4 นาย เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ

เวลาล่วงเลยมาถึง 2 ปี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงยอมรับว่า "ทนายสมชาย ตายแล้ว" โดยระบุว่า "ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว มีพยานแวดล้อมยืนยันได้ว่ามีการตาย ..." แต่กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีใคร และหน่วยงานไหน ที่จะเอาผิดกับกลุ่มที่ปฏิบัติการอุ้มฆ่าทนายสมชายได้ จนเวลาล่วงเลยมาบรรจบครบรอบ 4 ปี โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย ดูจะยังคงเสวยสุขอย่างมีหน้ามีตาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

คดีการหายตัวไปของทนายสมชาย ถูกบรรจุเข้าเป็นคดีพิเศษในกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ แต่ทว่า การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ลมปากของเจ้ากรมดีเอสไอเกือบทุกคนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญลึกๆ ก็เพราะมีนายตำรวจหลายนายที่โอนย้ายไปสังกัดในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องนี้ ยังเกี่ยวพันไปถึงบุคคลสำคัญในรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่อาจทำให้รัฐบาลล้มตึงได้ภายในพริบตา หากผลการสอบสวนคดีถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รักษาการอธิบดีดีเอสไอคนปัจจุบัน น่าจะรู้อยู่แก่ใจเองดีที่สุดผู้หนึ่ง

ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่พ.ต.ต.เงินต้องคำพิพากษาจำคุก 3 ปีนั้น คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า พ.ต.ต.ทินกร เกษรบัว สารวัตรสืบสวนสอบสวน (สว.สส.) สน.ดอนเมือง พยานขึ้นเบิกความว่า "ขณะเดียวกันนั้นการข่าวของฝ่ายสืบสวนมีข้อมูลที่ พ.ต.ท.ชาญชัย ลิขิตคันธศร สารวัตรกองปราบปราม ได้เล่าให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาที่ภายหลังย้ายไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฟังว่าก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.ชาญชัย ลิขิตคันธศร สารวัตรกองปราบปราม ได้พบกับกลุ่มบุคคลที่รู้จักกันที่หน้ากองปราบฯ ซึ่ง พ.ต.ท.ชาญชัย ได้สอบถามกลุ่มคนนั้นว่า มาทำอะไรกัน กลุ่มบุคคลตอบว่าจะไปอุ้มทนายโจร"

คำพิพากษาที่ระบุว่า "พ.ต.ท.ชาญชัย ลิขิตคันธศร สารวัตรกองปราบปราม ได้เล่าให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาที่ภายหลังย้ายไปกรมสอบสวนคดีพิเศษฟัง"นั้น ความหวังที่จะมีการสอบพ.ต.อ.ทวีนั้น ต้องมีอันเลือนลางไปโดยปริยายและสิ้นสุดลงทันที เพราะพ.ต.อ.ทวี ได้ถูกวางตัวให้ขึ้นเถลิงเป็นอธิบดีดีเอสไอในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว

ดังนั้น การจะกระทำความจริงให้ปรากฏในการหายตัวไปของทนายสมชายตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จึงไร้ประสิทธิผล และอีกไม่รู้กี่ปีต่อจากนี้ไป คดีความการหายตัวไปของทนายสมชาย จะปรากฏข้อเท็จจริงออกมาอย่างไร ยังไม่อาจสามารถคาดเดาได้ เพราะตราบที่ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดียังคงเถลิงอำนาจอยู่ต่อ ตราบนั้น เราคงต้องทวงถามการหายตัวไปของทนายสมชายกันเรื่อยไป

วันนี้ (12 มี.ค.) เป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการหายตัวไปของทนายสมชาย ทางคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้จัดเวทีแถลงข้อเสนอองค์กรสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลขึ้นที่ห้องประชุม 13 ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ในหัวข้อ "4 ปี อุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร กับความรับผิดชอบของรัฐบาลไทย" โดยก่อนเริ่มงาน "ประทับจิต นีละไพจิตร" บุตรสาวของทนายสมชาย จะอ่านถ้อยแถลงในเวทีแห่งนี้ด้วย

4 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพ หญิงสาวสวมแว่น คลุมศีรษะด้วยผ้าฮีญาบ ของสตรีชาวมุสลิม นาม"อังคณา นีละไพจิตร" ภรรยาของทนายสมชาย ได้ต่อสู้อย่างไม่ได้ย่อท้อต่อคดีที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนาง ซึ่งต่อจากนี้ไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่า "อังคณา กับครอบครัว" จะไม่เดียวดายบนหนทางแห่งความยุติธรรม ที่ถูกบดบังด้วยอำนาจแห่งรัฐตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา และแม้ว่า อำนาจแห่งรัฐ จะสามารถบดบังหนทางแห่งความยุติธรรมนั้นได้ เรายังคงเชื่อมั่นว่า มันจะไม่สามารถบดบัง"อำนาจแห่งกรรม"ไปพ้นได้

                         ************************

ลำดับเหตุการณ์การหายตัวไปของทนายสมชาย

12 มีนาคม 2547 เวลา 20.30 น. นายสมชาย นีละไพจิตร ได้ถูกอุ้มหายไปกลางเมืองหลวงของไทย และต่อมาพบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลข ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ของนายสมชาย นีละไพจิตร ที่บริเวณลานจอดรถ สถานีขนส่งหมอชิต

มีนาคม 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นระบุว่า "นายสมชาย ไม่ได้หายตัวไปไหน เพียงแต่มีปัญหาทะเลาะกับภรรยาจึงหลบมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และตัดขาดการติดต่อจากคนอื่น"

เมษายน 2547 มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ประกอบด้วย พ.ต.ต.เงิน ทองสุก, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ตำรวจกองปราบปราม ตกเป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ และข่มขืนใจผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้าย แ

20 มิถุนายน 2548 นางอังคณา นีละไพจิตรได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและได้พูดคุยร้องขอในเรื่องการหาตัวนายสมชาย นีละไพจิตรและร้องขอความยุติธรรมโดยไม่ขอรับความช่วยเหลือใดๆ ที่ทางนายกรัฐมนตรีเสนอให้

23 สิงหาคม 2548 นางอังคณา นีละไพจิตร ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินการติดตามหานายสมชาย นีละไพจิตร ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 5 เดือนจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับชั้นและทุกหน่วยงาน

1 ธันวาคม 2548 นางอังคณา ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล. ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์เรียกร้องให้เร่งดำเนินคดีการหายตัวไปของนายสมชาย การสืบสวนขยายผลและตั้งข้อหาเพิ่มเติม เนื่องจากคดีในศาลเป็นเพียงคดีปล้นทรัพย์และขืนใจที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ต่อการหายตัวของบุคคลโดยเฉพาะการอุ้มหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

8 ธันวาคม 2548 นางอังคณา ได้ยื่นหนังสือถึงจเรตำรวจแห่งชาติ ร้องทุกข์เรื่องการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นจำเลยในคดีปล้นทรัพย์และขืนใจนายสมชายยังคงรับราชการและปฎิบัติหน้าที่ขณะที่กำลังดำเนินคดี และบางส่วนกำลังจะขอกลับเข้ารับราชการหลังศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้น

12 มกราคม 2549 ศาลตัดสินจำคุก พ. ต. ต. เงิน ทองสุก ในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ส่วนผู้ต้องหาซึ่งเป็นตำรวจอีก 4 นายยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ

มกราคม 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจขณะนั้นระบุว่า "ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว มีพยานแวดล้อมยืนยันได้ว่ามีการตาย ... ต้องยอมรับเลยว่ามันไม่ง่าย คดีที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่รัฐ การหาพยานหลักฐานไม่ง่าย ขอให้ดีเอสไอสรุปสำนวนการสอบสวนก่อน ตอนนี้เราจะสรุปตรงจุดที่ว่าทนายสมชายเสียชีวิตแล้ว และจะนำไปสู่การดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตาย แต่ต้องรู้ให้ชัดเจนก่อนว่าเสียชีวิตแล้ว จึงจะดำเนินการได้ ดีเอสไอ จะสรุปการสอบสวนได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ( 2549)"

16 กุมภาพันธ์ 2549 นางอังคณา นีละไพจิตรได้ทำหนังสือถึงอัยการการคดีพิเศษและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลและข้อสังเกตในพยานหลักฐานในการดำเนินคดีการหายตัวไปของนายสมชาย เพื่อให้ทางอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาพยานหลักฐานอย่างรอบครอบและขยายผลการสืบสวนอย่างจริงจัง

22 มีนาคม 2549 นางอังคณา นีละไพจิตรได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอความเป็นธรรมและขอให้ดำเนินการคดีปกครองแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย กรณีที่นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นผู้เสียหายจากการหายไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังที่ศาลตัดสินลงโทษพ.ต.ต.เงิน ทองสุก ว่าได้ข่มขืนใจนายสมชายในวันที่หายตัวไป

28 มีนาคม 2549 ได้มีความพยายามของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการค้นหาหลักฐานในแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีการงมค้นหาวัตถุพยานที่เป็นถังน้ำมันที่เชื่อว่ามีการนำมาทิ้งหลังจากการเผาทำลายศพ ซึ่งเป็นการขยายผลการสืบสวนและพบข้อมูลเพียงว่ามีกลุ่มบุคคลได้นำทนายสมชายไปในเขตจังหวัดราชบุรี

9 พฤษภาคม 2549 นางอังคณาได้ยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมเรื่องขอเปลี่ยนตัวหัวหน้าพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ พนักงานสอบสวนในคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วยนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามีลักษณะการทำงานที่ปกปิดและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาและจำเลยคดีปล้นทรัพย์นายสมชาย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นธรรม

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยว่า มีรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดปากว่านายสมชาย หายตัวไปโดยฝีมือของคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล



กำลังโหลดความคิดเห็น