xs
xsm
sm
md
lg

“อังคนา” ฟ้องชาวโลก4ปีอุ้มฆ่า”ทนายสมชาย” “รัฐตำรวจ”ยุคทักษิณสุดเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – “อังคนา” หันพึ่งยูเอ็นจี้รัฐไทยสืบสวนสอบสวนคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย ท้าทายกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุค “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” แสดงความหาญกล้า เรียก “ทักษิณ” ให้ปากคำมัดผู้บงการ เพราะอดีตผู้นำเคยระบุว่า “สมชาย เสียชีวิตแล้ว” ฟ้องชาวโลก 4 ปีแห่งความอยุติธรรมในคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ลงมืออุ้มฆ่า ซ้ำยังได้รับปูนบำเหน็จกันถ้วนหน้า สะท้อนภาพ “รัฐตำรวจ” ยุคทักษิณสุดเถื่อน

ในวาระครบรอบรอบ 4 ปีของการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2551 นางอังคนา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย พร้อมด้วยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International of Jurists : ICJ ) ได้เข้าพบองค์การสหประชาชาติที่กรุงเจนีวาเพื่อเรียกร้องให้ยูเอ็นจับตาอย่างใกล้ชิดต่อการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ล่าช้า เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีอุ้มหายครั้งนี้

คณะกรรมการฯ แจ้งให้คณะทำงานด้านการบังคับให้สูญหายอย่างไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntaly Disappearaces) ซึ่งกำลังพิจารณาข้อร้องเรียนเรื่องนี้ได้ทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงเดินหน้าค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของนายสมชาย นีละไพจิตร ต่อไป เพื่อให้พบศพและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ คณะกรรมการฯ เรียกร้องให้คณะทำงานของยูเอ็นจับตามองคดีนี้เป็นพิเศษ

“การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเต็มไปด้วยข้อบกพร่องตั้งแต่ต้น ยูเอ็นควรกระตุ้นรัฐบาลไทยให้เพิ่มความสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รัฐบาลควรดูแลให้การสืบสวนสอบสวนดำเนินไปอย่างรอบคอบและเป็นอิสระ ให้มีการนำหลักฐานและคุ้มครองพยานเป็นพิเศษ” คณะกรรมการฯ กล่าว

ผู้ต้องหา 5 คนในคดีนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงและระดับกลาง โดยทางคณะสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจ ตามหลักการสากล รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ในกรณีนี้คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจและทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกลาง โดยควรมีอำนาจบังคับให้พยานเข้าให้ปากคำ และส่งมอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถเดินทางไปตรวจสอบสถานที่โดยฉับพลันและไม่ได้รับการขัดขวาง

ในการให้ข้อมูลต่อยูเอ็น คณะกรรมการฯ ได้แสดงความกังวลในกรณีที่มีการออกคำสั่งถอนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พลเรือนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเคยให้การคุ้มครองพยาน คือ นางอังคนา นีละไพจิตร และในเวลาต่อมา ได้มีการเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ให้การคุ้มครองแทน หลังจากที่การแสดงข้อกังวลดังกล่าว ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษมาเพื่อให้การคุ้มครองพยานอีกครั้ง เป็นการชั่วคราว และอยู่ระหว่างการทบทวนคำสั่งดังกล่าว

“การใช้กำลังตำรวจเพื่อให้ความคุ้มครองในกรณีนี้ ไม่มีความเหมาะสมเมื่อหลักฐานต่างๆ ชี้ว่า ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายและการสังหารสามีของนางอังคนา จึงสมควรเป็นการปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่พลเรือนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสามารถทำหน้าที่คุ้มครองพยานอย่างเต็มที่ และให้มีการคุ้มครองพยานในลักษณะเช่นนั้นต่อไปจนกว่าจะปราศจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย”

ตามหลักการสากล รัฐบาลไทย มีหน้าที่คุ้มครองครอบครัวนายสมชาย อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบุคคลซึ่งเข้าร่วมการสืบสวนสอบสวน มิให้ต้องประสบกับเหตุการณ์ร้าย การข่มขู่ หรืออุบัติภัยใดๆ

ในเดือนมกราคม 2549 พ.ต.ต.เงิน ทองสุข ได้ถูกตัดสินลงโทษในข้อหาบังคับนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายดำเนินคดีอาญาในกรณีบังคับให้สูญหาย ในคราวเดียวกันมีการยกฟ้องจำเลยอีกสี่นายที่เป็นตำรวจ

“ตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีสากล ในกรณีที่กฎหมายในประเทศไทย ไม่มีบทลงโทษต่อการกระทำที่มีองค์ความผิดตามกฎหมายสากล อย่างเช่น การบังคับให้สูญหาย ผู้ก่ออาชญากรรมดังกล่าวย่อมไม่ได้รับการยกเว้นต่อความรับผิดชอบที่มีต่อกฎหมายสากล การที่ประเทศไทย ไม่มีกฎหมายอาญาเพื่อเอาผิดในกรณีบังคับให้สูญหาย ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานของไทยจะปลอดพ้นจากเจ้าหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมดังกล่าวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม และกรณีเช่นนี้ ไม่ควรถูกใช้เป็นโอกาสปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล”

ครอบครัวนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน และรอคำตัดสินจากศาลอุทธรณ์มาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว “ตามหลักกฎหมายสากล ญาติของผู้สูญหายมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ การรอคอยเป็นเวลาสองปีถือว่านานเกินไป การดำเนินการเพื่อให้มีการไต่สวนคดีนี้โดยไม่ชักช้าย่อมเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมเองด้วย

คณะกรรมการฯ ยังแสดงข้อกังวลอย่างลึกซึ้ง ในกรณีที่มีการอนุญาตให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสี่นายที่อยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ สามารถกลับเข้ารับราชการได้อีกครั้ง และมีจำเลยหนึ่งคนซึ่งได้รับการเลื่อนยศ


ปฏิญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนให้ปลอดพ้นจากการบังคับให้สูญหาย (UN Declaration on the Protection of all Persons from Enforced Disappearance) กำหนดไว้ว่า ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหาย จะต้องถูกปลดจากหน้าที่ราชการเป็นการชั่วคราวในระหว่างการสืบสวนสอบสวน เมื่อปีที่แล้ว นางอังคนา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลทบทวนคำสั่งที่สั่งให้จำเลยซึ่งเป็นตำรวจกลับเข้ารับราชการ แต่มีการยกคำร้องดังกล่าว

“หลักการสากล กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พักราชการผู้ต้องสงสัยทั้ง 5 คนในระหว่างรอผลการตัดสินจากศาลอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นใด ซึ่งพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม และควรถูกนำตัวเข้าสู่การไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” คณะกรรมการฯ กล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงต่างเคยแถลงต่อสาธารณะ ดังกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยระบุว่า นายสมชาย นีละไพจิตร เสียชีวิตแล้ว คณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรมีการรื้อฟื้นคดีเพื่อให้มีการไต่สวนใหม่ และให้มีการลงโทษในข้อหาฆาตกรรม แม้ว่า จะยังไม่สามารถค้นหาศพให้พบก็ตาม

“ศาลแห่งชาติทั่วโลก และศาลระดับสากล ต่างสามารถลงโทษในคดีฆาตกรรมโดยอาศัยพยานแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เหตุผล ก็คือ ฆาตกรหลายคนมักทำลายซากศพ มีหลักฐานสำคัญซึ่งชี้ว่า นายสมชาย นีละไพจิตร ได้ถูกฆาตกรรมแล้ว การที่ฆาตกรทำลายซากศพ ไม่ควรถือเป็นเหตุผลเพื่อปล่อยให้พวกเขารอดพ้นจากการลงโทษ”

ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทย เคยงดเว้นโทษสำหรับผู้กระทำผิดในการบังคับให้สูญหายมาแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้และอำนาจที่กว้างขวางของกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก ล้วนทำให้เกิดสภาพซึ่งส่งเสริมให้เกิดการบังคับให้สูญหาย การดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อกรณีการบังคับให้สูญหายในอดีต และการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่เพียงสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ หากยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม

คณะกรรมการฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยืนยันพันธกิจอีกครั้งที่จะยุติและป้องกันมิให้เกิดการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ด้วยการลงนามและให้สัตยาบันรับรองอนุญสัญญาสากลเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนให้ปลอดภัยพ้นจากการบังคับให้สูญหาย และให้แก้ไขกฎหมายในประเทศเพื่อคุ้มครองหลักการตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

อนึ่ง นายสมชาย นีละไพจิตร ได้สาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยเชื่อว่าเสียชีวิตไปแล้ว มีผู้พบเห็นเขาเป็นครั้งสุดท้ายในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ขณะที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ผลักเข้าไปในรถ ต่อมามีผู้พบรถยนต์ของเขาถูกจอดทิ้งไว้ เขาเคยเป็นประธานชมรมทนายมุสลิมแห่งประเทศไทย และเป็นรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในระหว่างที่ถูกทำให้สูญหาย เขาเป็นทนายความให้กับชายมุสลิมห้าคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และมีการกล่าวหาว่าหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายทรมานลูกความของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น