xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมนักสิทธิฯ ระหว่างเขาควาย สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์สงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษชุด “สิทธิมนุษยชนกับไฟใต้” โดยทีมข่าวพิเศษ ตอนที่ 3 (จบ)

แม้ว่ามาตรการปิดล้อมจับกุมที่ปูพรมไปทั่วพื้นที่ชายแดนใต้จะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อมั่นว่าสามารถสกัดกั้นเสรีในการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธขบวนการใต้ดินได้ แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ในขณะที่ฝ่ายแรกมีอำนาจควบคุมตัวตามกฎหมายรองรับ ส่วนฝ่ายหลังที่อาจหมายถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวเองหรือญาติพี่น้องต่างมีหลักการสิทธิมนุษยชนมาค้ำยันต่อรอง โดยมีนักสิทธิมนุษยชนและทนายความ (ฝ่ายจำเลย) เป็นผู้ช่วยเหลือด้านกฎหมาย


สถิติการร้องเรียนที่ศูนย์ทนายความมุสลิมรวบรวมเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างการเปิดยุทธการปิดล้อมจับกุมสะท้อนชัดเจนว่าที่พึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้หันหน้าเข้าสู่ภาครัฐมากนัก แต่กลับเข้าหาองค์กรเอกชนเหล่านี้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกประการหนึ่งคือการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับองค์กรสิทธิมนุษยชนเหล่านี้นั่นเอง

สำรวจอย่างหยาบๆ บุคลากรและองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานรณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษชนและงานช่วยเหลือด้านกฎหมายในพื้นที่จะพบเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้น

บทบาทที่ดูจะโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งมี อังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน ที่ทำงานร่วมกันกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความมุสลิม ขณะที่สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) ก็เป็นอีกองค์กรทีคอยประสานงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่มีเนื้องานใกล้เคียงกันอย่างโครงการสันติเสนาและกลุ่มงานเยียวยาภาคประชาชนอีก 2 – 3 องค์กร ในขณะที่องค์กรเอกชนในระดับสากลก็มีบทบาทไม่น้อยเช่นกัน อาทิ สมาคมนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และฮิวแมนไรท์ วอชท์ เป็นต้น

นอกจากเป็นบุคลากรโดยตรงในองค์กรที่ว่าแล้ว ผู้นำชุมชนหรือชาวบ้านในพื้นที่บางคนก็อยู่ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน ขึ้นอยู่กับ “งาน” ที่เขาทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่การประสานงานระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน นอกจากนี้ ในบางทัศนะของคนทำงานด้านนี้ยังหมายรวมเอา “พยาน” ในคดีความมั่นคงและชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื้องานหลักๆ ของพวกเขาคือการจัดทำรายงานข้อเท็จจริง หรือ Fact Finding ตรวจสอบกรณีทีมีการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ และนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือรัฐบาล รวมทั้งแถลงต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังจัดทำงานรายงานเงา (Shadow Report) เทียบเคียงรายงานฉบับของทางการไทยเพื่อนำเสนอต่อองค์กรระหว่างประเทศในร่มของสหประชาชาติ ซึ่งมีภารกิจตามอนุสัญญาหรือกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นภาคีสมาชิก

แต่บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประสานงานติดตามว่าญาติพี่น้องของผู้ร้องเรียนถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่จะได้รับการปล่อยตัว หรือบทบาทในการอบรมสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนเป็นทนายฝ่ายจำเลยในกรณีที่ถูกฟ้องดำเนินคดี เนื้องานเหล่านี้นี่เองที่ทำให้องค์กรสิทธิฯ เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน แต่ในทางกลับกันองค์กรสิทธิฯ ก็ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นเช่นกัน ยิ่งเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความแหลมคมมากขึ้น

ทุกวันนี้ การทำงานในพื้นที่ของนักสิทธิมนุษยชนและผู้ประสานงานที่เป็นชาวบ้านต้องเผชิญกับความลำบากใจ เนื่องจากการไม่ค่อยได้รับความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติมากนัก หลายคนถูกข่มขู่ด้วยวาจาและท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ยิ่งเฉพาะก่อนหน้านี้ไม่นาน เกิดเหตุสังหารชาวบ้านและคนใกล้ชิดที่ทำหน้าที่ประสานงานด้านสิทธิฯ อย่างน้อย 3 คน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานข้อมูลคดีการชุมนุมตากใบ กรณีคนหาย และกรณีการซ้อมทรมาน ก็ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นให้กับคนทำงาน แน่นอนว่าช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนทำงานด้านสิทธิ์ถ่างห่างยิ่งขึ้นกว่าเดิม

สถานการณ์ต่อนักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องปรับตัว หากสถานการณ์แหลมคม เกิดเหตุคุกคามหรือทำร้ายผู้ประสานงานที่เป็นชาวบ้านบ่อยครั้ง บางคนจะเลือกเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นการชั่วคราว เนื่องจากความเครียดและกังวลว่าครอบครัวจะพลอยเสี่ยงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมทำนองนี้ก็ยังจำกัดอยู่ที่ผู้ประสานงานในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำชุมชนหรือชาวบ้าน ในขณะที่คนทำงานที่มาจากส่วนกลางยังไม่พบเจอมากนัก เว้นเสียแต่บางคนที่เคลื่อนไหวโดดเด่นเท่านั้น ที่อาจจะมีการเตือนให้ระมัดระวังตัวบ้าง

พรเพ็ญ ควรขจรเกียรติ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เชื่อว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องคนทำงานด้านสิทธิฯ คือการพยายามทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ถึงบทบาทขององค์กรสิทธิฯ เพื่อให้ยอมรับกันว่าต่างฝ่ายต่างไม่ใช่ศัตรู ขณะทำงานในพื้นที่ก็จะต้องแสดงตัวและระบุวัตถุประสงค์ของงานนั้นๆ ให้ชัดเจน ซึ่งข้อเสนอทำนองนี้เป็นข้อเสนอที่ใช้ในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นทั่วโลกเช่นกัน

ระยะหลังๆ จึงมีการตั้งโต๊ะพูดคุยกันสองสามครั้งระหว่างนักสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งนับเป็นก้าวแรกๆ ในการลดช่องว่างดังกล่าว แม้ว่าในระดับปฏิบัติยังคงมีปัญหาในเรื่องท่าทีอยู่

ขณะที่ อดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า การเปิดภาพการทำงานขององค์กรสิทธิฯ ในวงกว้างจะทำให้การทำงานในพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากจะเป็นการรุกรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการอาศัยสังคมและเครือข่ายเป็นเกราะกำบังให้กับคนทำงานอีกด้วย

ส่วน พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ ผอ.กองปฏิบัติการข่าวสาร กอ.รมน.ภาค 4 ยอมรับว่า องค์กรสิทธิฯ ทั้งที่เป็นองค์กรเอกชนและองค์กรอิสระอย่าง กสม.เหมือนจะยืนกันอยู่คนละฝั่งกับทางกองทัพ การรับรู้ข้อมูลของฝ่ายองค์กรสิทธิฯ ก็มักจะไม่มีการประสานตรงมายังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ แต่กลับได้ข้อมูลและนำไปตีแผ่เลย เป็นการบีบให้รัฐต้องตามชี้แจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการละเมิดสิทธิฯ ซึ่งบางกรณีก็ไม่มีมูลความจริง

อย่างไรก็ตาม ทหารอย่างเขาก็เข้าใจว่านักสิทธิมนุษยชนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า ผู้ก่อการเองก็มีวิธีการที่จะหาช่องทางต่างๆ มาเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของพวกเขาด้วย

ผอ.กองปฏิบัติการข่าวสาร สรุปว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามหน้าที่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติหลายคนเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดในพื้นที่ซึ่งเพื่อนทหารและชาวบ้านถูกทำร้ายทุกวัน ก็ไม่แปลกที่จะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำงานขององค์กรสิทธิฯ

เป็นไปได้หรือไม่ว่าความเข้าใจที่แตกต่างอาจไม่ใช่รากของปัญหาช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่และนักสิทธิมนุษยชน หากแต่เป็นวิกฤตของความรู้สึกที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าพวกเขาลงมาทำงานเพื่อยุติปัญหาความไม่สงบ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ามาทำงานป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขของความไม่สงบ ปัญหาอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายต่างสัมผัสกับความสูญเสียและโกรธแค้นเหมือนกัน

ช่องว่างดังกล่าวนำมาสู่คำถามเดิมๆ เกี่ยวกับบทบาทการทำงานขององค์สิทธิฯ ในพื้นที่ความขัดแย้งที่ว่าเหตุใดมุ่งจับผิดกรณีการละเมิดสิทธิของฝ่ายรัฐเท่านั้น ในขณะที่ผู้ที่ละเมิดสิทธิในสถานการณ์เช่นนี้อาจหมายรวมถึงกลุ่มก่อการในขบวนการใต้ดินด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงทางตรงในกรณีการสังหารผู้บริสุทธิ์หรือการข่มขู่คุกคามวิถีชีวิต นอกจากนี้ยังมีคำถามพุ่งตรงไปยังองค์กรสิทธิฯ ด้วยว่า เหตุใดจึงมุ่งช่วยเหลือแต่ชาวมลายูมุสลิม ทั้งๆ ที่ชาวพุทธในพื้นที่ก็ประสบกับความเดือดร้อนไม่แพ้กัน

ปรีดา ทองชุมนุม เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายว่า ในหลักการสิทธิมนุษยชนจะชี้ชัดไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำการละเมิดสิทธิ รัฐย่อมมีหน้าที่พื้นฐานในการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนของตัวเอง หากใครละเมิดรัฐจะต้องลงโทษไม่ว่าจะเป็นคนของรัฐหรือใครก็ตาม

“รัฐอาจจะมองว่าเราไม่แฟร์ตรวจสอบแต่รัฐฝ่ายเดียว แต่เราคิดว่ารัฐมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองประชาชน ถ้ารัฐให้ความเป็นธรรมจริงๆ อย่างไรเสีย ชาวบ้านก็ต้องหันหน้ามาหารัฐ” เธอกล่าว ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐส่วนใหญ่ก็เป็นชาวมลายูมุสลิม

นอกจากนี้ ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของเธอเองก็ยังไม่มีใครเดินเข้ามาร้องเรียนว่าได้รับการละเมิดสิทธิจากฝ่ายขบวนการ ที่เดินเข้ามาก็มักมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น ปรีดา ยังยอมรับด้วยว่า ไม่เคยได้พูดคุยสัมผัสคนที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มก่อการ แม้ว่าคนทำงานเช่นเธอจะได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านมากเพียงใดก็ตาม

“เราลงมานี่ไม่ได้สนใจว่าใครเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เรามาเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถทำได้” ปรีดากล่าวถึงจุดยืนในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งแบ่งขั้ว ซึ่งเป็นแนวความคิดหลักขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่า รากฐานของปัญหาที่ชายแดนใต้เกิดจากความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ หากรัฐยอมรับความจริงและให้ความเป็นธรรมจะปลดเงื่อนไขของความรุนแรงได้ ช่องทางการต่อสู้สำคัญของทุกฝ่ายควรจะต้องเป็นกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเพียงใดก็ตาม

แม้ฝ่ายความมั่นคงจะมองการทำงานขององค์กรสิทธิฯ ด้วยสายตาระแวดระวัง เนื่องจากตระหนักดีว่าประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถขยายผลทางจิตวิทยาและมีผลสะเทือนในระดับนานาชาติได้ องค์กรสิทธิฯ ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงจึงไม่ต่างกับเครื่องมือสำคัญของฝ่ายตรงกันข้าม

ปรีดา ระบุว่า ประเด็นเหล่านี้เคยถกเถียงภายในกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิฯและการช่วยเหลือกฎหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมีบางส่วนที่รู้สึกรับไม่ได้กับการต้องทำคดีให้กับลูกความที่ได้ข้อมูลว่าเป็น “แนวร่วม” แต่ท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า เราเป็นคนทำงานเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักที่ว่าเราไม่สนว่าใครจะเป็นฝ่ายไหน แต่รัฐต้องยึดกรอบตามกฎหมาย

“เราไม่รู้ว่าเราเป็นตัวประกอบของใครหรือไม่อย่างไร แต่เราก็มีเป้าหมายของเรา คือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีที่พึ่ง ไม่ถูกโดดเดี่ยวจากใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ปรีดาย้ำอีกครั้ง

ส่วน อดิลัน ยอมรับว่างานของพวกเขาเป็นที่จับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐ แม้จะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นแต่เขาก็ต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่าต้องการอยู่ตรงกลาง ไม่ใช่เป็น “ทนายโจร” เสียทุกอย่าง คดีที่เกี่ยวข้องความคิดเห็นที่แตกต่างน่าจะต้องมีการนิรโทษกรรม แต่สำหรับคดีอาญาแผ่นดินไม่ว่าจะทำเพื่ออะไรก็แล้วแต่ก็ต้องสู้คดี หากผิดจริงก็ต้องได้รับโทษที่เป็นธรรมตามกฎหมายระบุ

หากคิดในมุมกลับกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเขาจะตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายขบวนการใต้ดิน อดิลัน ยอมรับว่าอาจเป็นไปได้ที่อาจถูกมองว่าการเรียกร้องให้ช่วยชาวบ้านด้วยกระบวนการยุติธรรมจะเป็นอุปสรรคต่อการบ่มเพาะสถานการณ์ไม่ให้สุกงอมสำหรับการต่อสู้ แต่เขายังเห็นว่าคนทำงานด้านนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นงานที่ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่

“สมมติว่าพวกเขาต้องการจะแยกดินแดนกันจริงๆ จะยอมให้พี่น้องของพวกเขาตายกันไปหมดหรือ ผมว่าเป็นไปไม่ได้ ที่นี่มันคือสงครามแย่งชิงประชาชนไม่ใช่หรือ ?” อดิลันกล่าว

ดูเหมือนว่าภารกิจขององค์กรสิทธิฯ ในพื้นที่จะยังต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคในสถานการณ์ “เขาควาย” เช่นนี้ไปอีกไม่น้อย เพราะเนื้องานของพวกเขาถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคู่ขัดแย้งในสงครามครั้งนี้ ในขณะที่การถ่วงดุลขององค์กรสิทธิฯ ที่ไม่สมดุลทำให้พื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาดูจะไร้พลังต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

สำคัญกว่านั้น หลักการที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนดูเหมือนจะไม่เคยและไม่ได้ฝังรากลึกมากนักต่อผู้ที่ใช้หรือสนับสนุนความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม สิ่งที่ท้าทายนักสิทธิมนุษยชนอย่างพวกเขาอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมือนไม้หลักปักเลนของรัฐบาลสมัคร 1 หากแต่เป็นวิกฤตความรู้สึกระหว่างผู้คน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเจ้าหน้าที่ – ชาวบ้าน, ระหว่างชาวพุทธ – ชาวมุสลิม, หรือระหว่างคนในพื้นที่ – คนนอกพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นผลผลิตของความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

หรือว่าถึงที่สุดแล้ว คำตอบของโจทย์นี้อาจไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมเสมอไป แต่อาจขึ้นอยู่กับ “การเมือง" ของทุกฝ่ายที่จริงใจต่อการแก้ปัญหาต่างหาก

กำลังโหลดความคิดเห็น