คาชการ์คือ “โอเอซิสกลางทะเลทราย” เหมาะสำหรับงานอดิเรกหัดถ่ายรูป และสร้างธุรกิจท่องเที่ยวตามความใฝ่ฝัน “ตั้ง ตงหมิง” หนุ่มชาวฮั่นเอ่ยถึงเมืองแห่งนี้ด้วยความรู้สึกรัก
หลังจาก ตั้ง บุตรชายชาวนา วัย 26 ปีจากมณฑลกานซู่ ลาออกจากกองกำลังตำรวจติดอาวุธประชาชนจีน ซึ่งประจำการณ์ในดินแดนไกลโพ้นทางภาคตะวันตกของจีนแห่งนี้ เขาได้ทำสิ่งที่ถือเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นทุกที นั่นก็คืออยู่ที่นี่ต่อไป
เขาทำแม้กระทั่งหัดเรียนพูดภาษาเตอร์กิค ซึ่งเป็นภาษาชองชาวมุสลิมอุยกูร์ในท้องถิ่น
แต่กระนั้น หนุ่มชาวฮั่นกลับรู้สึกว่าผู้คนที่คาชการ์ไม่ต้อนรับเขา
“ที่นี่ผมกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปซะแล้ว”
ตามประวัติศาสตร์คาชการ์เคยเป็นจุดแวะพักที่สำคัญบนเส้นทางค้าไหมระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก ทว่ามาวันนี้ มันคือแสงวาบจากเม็ดทรายกลางแดด ที่ส่องสะท้อนความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์อีกจุดหนึ่งบนแผ่นดินมังกร
ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองคาชการ์ บางครั้งก็เกิดเหตุโจมตีรุนแรง เช่นเหตุการณ์สังหารตำรวจ 16 นายเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ความอึดอัดใจระหว่างผู้มาใหม่อย่างตั้งกับชนกลุ่มน้อยอีก 13 กลุ่มในเมืองเกิดขึ้นอยู่ทุกวี่วัน เห็นได้จากการตัดขาดไม่เกี่ยวข้องกันในเรื่องอาหาร, วิถีชีวิต ,ศาสนา และภาษาชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นอย่างชาวอุยกูร์ก่นตำหนิพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เข้ามาควบคุมกิจกรรมทางศาสนาของพวกตนอย่างเข้มงวด ด้านเจ้าหน้าที่ในกรุงปักกิ่งรู้สึกเหมือนถูกอกตัญญู ทั้งที่อุตสาห์ทุ่มงบประมาณเข้ามาลงทุน
ตามปกติแล้ว ชาวฮั่น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีน จะดูเวลาตามเขตเวลาแห่งชาติ ซึ่งเรียกกันว่า“เวลาปักกิ่ง” แต่พวกชนกลุ่มน้อยอกตัญญูถึงขนาดตั้งนาฬิกาข้อมือให้เร็วกว่า“เวลาปักกิ่ง”ถึง 2 ชั่วโมง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมืองของพวกตนอยู่ห่างจากเมืองหลวงของจีนไปทางตะวันตกไกลตั้ง 3,400 กิโลเมตร
ในเขตปกครองตนเองทิเบตก็เกิดความตึงเครียดแบบเดียวกัน โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกิดการจลาจล ชาวทิเบตเผาทำลายร้านค้าของชาวฮั่นในกรุงลาซา เหมือนกับเหตุการณ์โจมตีตำรวจในเมืองคาชการ์นั่นคือเป็นการหันไปใช้ความรุนแรงต่อชาวฮั่น ที่มาบุกรุกบ้านเกิดเมืองนอนมากขึ้นทุกที
ทางการจีนระบุว่าเหตุโจมตีตำรวจในซินเจียงเป็นฝีมือของชาย 2 คน ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย แต่วิธีการโจมตียังโลว์เทค นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พรรคอิสลามเตอร์กีสถาน ซึ่งเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนซินเจียงกลุ่มหนึ่ง ได้เผยแพร่เทปวิดีโอ ซึ่งบันทึกภาพการเผาสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและแผนการระเบิด ที่กำหนดขึ้นที่สถานที่จัดการแข่งขันปักกิ่งเกมส์แห่งหนึ่ง ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามการเผยแพร่เทปวิดีโอโดยอินเทลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีที่ทำการในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ
รัฐบาลจีนกล่าวหาผู้คนในภูมิภาคนี้ว่าเกี่ยวข้องกับแผนการพยายามระเบิดเครื่องบินโดยสาร ซึ่งบินขึ้นจากเมืองอุรุมชี เมืองเอกของภูมิภาคซินเจียงเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในเมืองคาชการ์พยายามบรรเทาความวิตกกังวล โดยระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบยังจะมีต่อไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นปฏิบัติการในวงแคบ
“การโจมตีจะไม่ส่งผลกระทบใหญ่โตต่อการพัฒนาเมืองคาชการ์” นาย ฉือ ต้ากัง ผู้นำสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเชื่อมั่น
“นี่เป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่มีอนาคตดีมาก”
กระนั้นการปะทะทางวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตประจำวันในคาชการ์ ชาวอุยกูร์และชาวฮั่น ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ต่างรู้สึกดี คนทั้งสองฝ่ายครอบครองอาศัยพื้นที่ราวกับมีคาชการ์อยู่ 2 เมือง ขีดเส้นแบ่งแยกเชื้อชาติกันอย่างชัดเจน และต่างฝ่ายต่างหวาดกลัวกันอย่างยิ่ง
แทบไม่ปรากฎชาวฮั่นมาเตร็ดเตร่แถวย่านตลาดพื้นเมืองอุยกูร์ ซึ่งเป็นย่านแก่แก่ ที่มีกำแพงสร้างด้วยโคลนเหนียว ช่างตีเหล็กกำลังทำงานตีเหล็กทำบานพับประตู และหม้อ คนจีนเชื้อสายฮั่นจะเดินจับจ่ายซื้อของกันที่ตลาดอันทันสมัย มีบันไดเลื่อน และยามเฝ้าหน้าประตู คอยตรวจกระเป๋าถือว่าซุกซ่อนอาวุธรึเปล่า
จากลานสุเหร่าโบราณอายุถึง 556 ปีในย่านเมืองเก่า จะแลเห็นชิงช้าสวรรค์เพิ่งสร้างใหม่ สูงลิ่วเหนือบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างทำด้วยดินโคลน ไกลออกไปคือรูปปั้นของเหมา เจ๋อตุง สูงตระหง่าน 18 เมตร
เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจกัน น้อยคนจึงจะพูดภาษาของอีกฝ่าย
ชาวอุยกูร์บอกว่า พวกตนไม่กล้าพูดอะไรเปิดเผย ชายอุยกูร์ว่างงานคนหนึ่ง นั่งในร้านอาหาร เขาทำท่าอธิบาย โดยคว้าคอตัวเอง แล้วกดลงไปใกล้พื้น จากนั้น เอามือไพล่หลัง ทำท่ากำลังถูกใส่กุญแจมือ ยามเฝ้าประตูโรงพยาบาลอีกคนหนึ่งเล่าว่า ตำรวจฮั่นข่มขู่คุกคามอย่างไรบ้าง แล้วก็ต้องชะงัก เมื่อชาวฮั่นคนหนึ่งเดินผ่านมา
“คุณอย่าบอกเธอเชียวนาว่า ผมพูดอะไรบ้าง”
ฝ่ายชาวฮั่นเองก็กลุ้มใจที่ถูกห้อมล้อมด้วยพวกเคร่งศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ตนไม่เข้าใจมากนัก อย่างเช่นตั้ง ซึ่งอ้างว่า รู้ได้เลยว่าใครเป็นมุสลิมหัวเคร่ง โดยคนพวกนี้จะไว้หนวดเครายาวเฟื้อย และสวมเสื้อคลุมชั้นนอก
“เวลาคนพวกนั้นเดินมาใกล้ ผมกลัว”
การได้ฝึกภาษาเตอร์กิคในกองกำลังตำรวจทำให้ตั้งทราบความเคลื่อนไหวของชุมชนรอบตัว แต่สิ่งที่เขาได้ยินชาวอุยกูร์พูดกันนั้น แทบไม่มีอะไรนอกจาก “เมื่อวานเกิดอะไรขึ้น? หรือวันนี้เกิดอะไรขึ้น?” และที่ร้ายที่สุด เขาได้ยินชาวอุยกูร์คนหนึ่งพูดถึงคนจีนในแง่เสียหาย
ตั้งเห็นด้วยที่ชาวอุยกูร์มองว่าชาวฮั่นได้งานทำดีกว่า และได้เงินมากกว่า แต่เขาชี้ว่า มันสะท้อนถึงการทำงานหนักและการศึกษา
“ชาวอุยกูร์มีชุดความคิดอยู่ภายในกล่องสี่เหลี่ยม ไม่ออกมานอกกล่อง” ตั้งอธิบาย
เมื่ออายุ 17 ปี ตั้งเข้าทำงานในกองกำลังตำรวจติดอาวุธประชาชนจีน โดยประจำการณ์อยู่ในทิเบต 2 ปี จากนั้น ถูกส่งไปยังซินเจียง หลังจากหัดเรียนภาษาอยู่ 2-3 เดือน ก็ไปประจำตำแหน่งในถิ่นห่างไกลของเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง
ประจำการณ์ได้ 2 ปี ตั้งจึงลาออกจากกองกำลังตำรวจ ตัดสินใจมาอาศัยในค้าชก้าร์ โดยซื้อรถแท็กซี่ซีตรองสีเขียวขาวมาคันหนึ่งสำหรับทำเป็นรถท่องเที่ยว
“อยู่ที่นี่ ไม่กดดันเท่าไรหรอกครับ” เขาเล่า “ชีวิตก็สะดวกสบายดี”
แต่ตั้งยอมรับว่าเขาไม่มีเพื่อนเป็นชาวอุยกูร์ และไม่มีเพื่อนคนไหนของเขากล้าชวนสาวอุยกูร์ไปเที่ยว เหตุผลหนึ่งก็เพราะกลัวถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา และต้องเลิกกินหมู
พ่อแม่ของตั้งเองก็เป็นห่วงที่ลูกชายมาอยู่ที่นี่ ขณะที่แฟนสาวของเขาเองก็ไม่ประทับใจ เมื่อได้มาเที่ยวครั้งหนึ่ง
เมื่อถูกรุกเร้าให้บอกว่าเขาชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับคาชการ์ ไปๆมาๆ ตั้งก็ตอบตัวเองลำบากเหมือนกัน
“ไม่ยักกะมีอะไรดีที่สุดแฮะ” ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบ
แปลและเรียบเรียงจาก “ Tale of 2 Cities in China’ s Kashgar” จาก เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล