xs
xsm
sm
md
lg

จีนลุยยุทธศาสตร์ “โจมตีก่อน” ชี้จีนรอเช็คบิลอุยกูร์ติดอาวุธหลังโอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

อนุเสาวรีย์ประธานเหมา เจ๋อตงในคาชการ์ที่ตกเป็นเป้าจู่โจมของกลุ่มหัวรุนแรงโดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค.เกิดเหตุโจมตีสถานีตำรวจ มือระเบิดและมือมีดแทงตำรวจเสียชีวิต 16 คน บาดเจ็บ 16 คน-เอเอฟพี
ผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี--ปิดม่านโอลิมปิกไปไม่ทันไร สื่อจีนโดยสำนักข่าวซินหัวก็ได้ออกข่าวการปราบปรามกลุ่มที่ต้องสงสัยแบ่งแยกดินแดนในเขตปกครองตัวเองมุสลิมอุยกูร์แห่งซินเจียง ที่ฝ่ายจีนมักชี้ว่าเชื่อมโยงกับลัทธิก่อการร้าย

ซินหัวได้เล่าเหตุการณ์ว่า ในเย็นวันศุกร์ของวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจได้ติดตามผู้ต้องสงสัย 9 คน และได้ต่อสู้กันในไร่ข้าวโพดใกล้กับเมืองคาชการ์ กลุ่มผู้ต้องสงสัยถือมีดต่อต้านการจับกุมของตำรวจ จนทำให้ตำรวจต้องยิงผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตไป 6 คน และเข้าจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เหลืออีก 3 คน ข้างฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2 คน


ซินหัวรายงานการไต่สวนเบื้องต้น ระบุว่าผู้ต้องสงสัยนั้น เชื่อมโยงกับเหตุการณ์จู่โจมเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม และ 27 สิงหาคม โดยไม่มีรายละเอียดอื่นๆ


อย่างไรก็ตาม กลุ่มมุสลิมอุยกูร์พลัดถิ่นได้โต้ข่าวในวันเสาร์(30 ส.ค.) โดยดิลซัต ราซิท (Dilxat Raxit) โฆษกสภาคองเกรสอุยกูร์โลก ซึ่งมีฐานในเยอรมนี ได้เล่าโดยอ้างแหล่งข่าวชาวอุยกูร์ในท้องถิ่นว่า ตำรวจได้ล้อมผู้ต้องสงสัยในไร่ข้าวโพด ประกาศผ่านโทรโข่ง ให้มอบตัวและสัญญาจะจัดหาทนายให้สู้คดี โดยที่กลุ่มผู้ต้องสงสัยไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด แต่ฝ่ายตำรวจก็รัวปืนกลเบาใส่หลังจากที่พวกเขายอมแพ้แล้ว


ทั้งนี้ ก่อนหน้าในต้นเดือนสิงหาคมก่อนพิธีเปิดโอลิมปิก เกมส์ และระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ได้เกิดเหตุจู่โจมสถานีตำรวจ และหน่วยงานรัฐในซินเจียง 3 ระลอกด้วยกัน ได้แก่ การโจมตีสถานีตำรวจที่ด่านตำรวจคาชการ์เมืองชายแดนและเมืองท่องเที่ยวที่อยู่สุดทิศตะวันตก กลุ่มผู้จู่โจมได้ปาระเบิดและแทงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 16 คน บาดเจ็บ 16 คน 

ไม่กี่วันต่อมา(10ส.ค.) ก็เกิดเหตุบึ้มสถานีตำรวจ หน่วยงานรัฐ ห้างสรรพสินค้าในคู่เชอเมืองใหญ่อันดับสองของซินเจียง  ตำรวจได้ตามไล่ล่าและยิงคนร้าย ระหว่างการปะทะคนร้ายได้ปาระเบิด ทั้งได้จู่โจมระเบิดพลีชีพ ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตไป 8 คน โดย 2 คน เป็นผู้หญิง   อีก 2 วันต่อมา(12 ส.ค.) กลุ่มมือมีดก็ได้บุกแทงเจ้าหน้าที่ดับไป3 คนที่ด่านตรวจในเมืองยามันยา (Yamanya)


สองวันต่อมา หวัง เล่อกวน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งซินเจียงเรียกประชุมผู้นำทุกระดับชั้นในซินเจียง
เตือนให้สู้ศึกลัทธิก่อการร้ายเต็มกำลัง และถือการต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการดิ้นรนรักษา “ชีวิตตัวเอง หรือไม่ก็ตาย”พร้อมกำหนด “ยุทธศาสตร์การโจมตีก่อน” กวาดล้างปรปักษ์

นายใหญ่พรรคฯแห่งซินเจียงได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าการต่อสู้กับ “กลุ่มพลังทั้งสาม” หมายถึงความเป็นความตายของตัวเอง โดย “กลุ่มพลังทั้งสาม” ที่ผู้นำคอมมิวนิสต์อ้างถึงนี้ ได้แก่ ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิแบ่งแยกดินแดน และลัทธิสุดโต่ง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความสมานฉันท์ และความมั่นคง
          
กองกำลังรักษาความมั่นคงจะต้องยึดถือยุทธศาสตร์ และริเริ่มกลยุทธ “การโจมตีก่อน” ต่อกรกับภัยวินาศกรรมจากกลุ่มพลังทั้งสาม และอย่าได้ปล่อยให้ศัตรูขยายกำลังกล้าแข็งขึ้นมาได้  “
การต่อสู้กับพลังแบ่งแยกดินแดนในซินเจียง เป็นการต่อสู้ระยะยาว ทรหด และซับซ้อน” หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอ้างคำกล่าวของหวัง ซึ่งกล่าวในที่ประชุมกลุ่มผู้นำระดับต่างๆในท้องถิ่นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

ครอบครัวชาวอุยกูร์ยังคงวัฒนธรรมการแต่งกาย แต่ก็ไม่เคร่งครัดคนหนุ่มสาวยังอาจสวมกางเกงยีนส์ เสื้อผ้าทันสมัยอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา-เอเอฟพี
ชี้ยิ่งรุนแรงยิ่งผลักรุนอุยกูร์สู่ลัทธิสุดโต่ง

แนวโน้มสถานการณ์ที่ดูยิ่งบานปลายไปใหญ่ ขณะที่จีนก็ยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มมุสลิมในดินแดนที่ต้องสงสัยแบ่งแยกดินแดน จากต้นปีที่นำกองกำลังเข้ากวาดล้างจับกุม วิสามัญฆาตกรรม และประหารชีวิต ซึ่งได้ทวีความไม่พอใจโกรธแค้นในหมู่ชนชาติอุยกูร์ด้วยกันมากยิ่งขึ้นไปอีก จนเกิดการโจมตีจากฝ่ายอุยกูร์ถึง 3 ระลอกในช่วงโอลิมปิก เกมส์  ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปรวมราว 30 คน

การที่จีนจะจัดการอย่างไรกับปัญหาขัดแย้งในซินเจียงนั้น เป็นเรื่องที่ชาวโลกหวั่นวิตกกันมาก เนื่องจากซินเจียงนั้น มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ห่างไกลจากปักกิ่งมากกว่า 3,000 กม. เป็นเมืองชายแดนตะวันตก ล้อมรอบด้วยทะเลทราย ดงเทือกภูเขา ป่ารก ที่สำคัญมีพื้นที่ติดต่อกับ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และชาติเอเชียกลาง จัดเป็นดงมุสลิมขนาดใหญ่ ที่พร้อมจะหันหน้าเข้าหากันในยามศึกต่อต้านกลุ่มลัทธิสุดโต่งอิสลาม
  
ในซินเจียงซึ่งมีประชากร 20 ล้านคน มีมุสลิมชนชาติอุยกูร์ 8.3 ล้านคน พูดภาษาเตอร์กิค อุยกูร์และคาซัคส์ เคยสถาปนาสาธารณรัฐเตอร์กีสถาน ตะวันออกกันมาในปี ค.ศ. 1944-49 พวกเขามีความสุขตามประสาชนชาติเดียวกันในชั่วเวลาสั้นๆ กระทั่งผู้นำคอมมิวนิสต์ได้หวนกลับมาผนวกดินแดนสู่แผ่นดินใหญ่หลังการปฏิวัติจีนใหม่ปี 1949
         
          กลุ่มนักวิเคราะห์มองรูปแบบดังกล่าวแล้ว ชี้ว่าการเพิ่มระดับความรุนแรงในการโต้ตอบปัญหาในซินเจียง มีแต่จะยิ่งผลักดันรุนให้กลุ่มมุสลิมจำนวนมากที่ยึดถือแนวการปฏิบัติการสายกลางในดินแดน ถลำไปอยู่ข้างมุสลิมสุดโต่ง ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อการร้าย

ชาวอุยกูร์ในคาชการ์-เอเอฟพี
จีนยืนยันเสมอมาว่าความสัมพันธ์ระหว่างอุยกูร์และจีน เป็นไปอย่างกลมกลืน ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มาจากพวกหัวรุนแรง “ประชาชนส่วนใหญ่ในซินเจียงสนับสนุนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวแห่งชาติ ต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ลัทธิสุดโต่ง และลัทธิแบ่งแยกดินแดน” ฉิน กังโฆษกระทรวงต่างประเทศจีนบอกในที่ประชุมข่าว

กูนารัตนาแนะว่าจีนควรแก้ปัญหาอย่างนุ่มนวล และควรห่วงเรื่องกลุ่มติดอาวุธในปากีสถานให้มากดีกว่า ซึ่งสมาชิกพวกนี้ ได้เล็ดรอดข้ามชายแดนเข้ามาฝึกฝนและรับสมาชิกอุยกูร์ไปเป็นกำลัง

กลุ่มอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี่ หรือพวกที่สืบทอดแนวคิดของซูฟี  อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ดำเนินวิถีชีวิตโดยถือหลักปฏิบัติทางสายกลาง บ้างก็ดื่มอัลกอฮอล์ และยอมรับให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ผู้ชายมักสวมหมวกแค็ป ขณะที่ผู้หญิงสวมผ้าคลุมศีรษะลวดลายหลากสีสัน นอกจากนี้ สาวน้อยอุยกูร์ยังสวมกางเกงยีนส์และรองเท้าส้นสูงกันอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา

อุยกูร์บางกลุ่มก็ใฝ่หาอิสรภาพกัน แต่หลายคนคิดว่ามันเป็นเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จีนไม่มีวันปล่อยซินเจียงหลุดลอยไปเป็นอันขาดด้วยเหตุที่ดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมัน ถ่านหิน และแก็สธรรมชาติ นอกจากนี้ จีนยังใช้ซินเจียงเป็นฐานทดลองนิวเคลียร์แห่งหลัก และเป็นกันชนป้องกันตัวจากการโจมตีที่อาจเป็นไปได้จากปรปักษ์ตะวันตก

ชาวอุยกูร์คนหนึ่งในตลาดนัดคู่เชอเมืองใหญ่อันดับสองของซินเจียง บอกว่าเขายินดีอยู่ใต้การปกครองของจีน หากเจ้าหน้าที่ให้อิสรภาพทางศาสนามากขึ้น ที่ผ่านมา จีนค่อนข้างกีดกั้นการบูชาทางศสานาและจำกัดวัฒนธรรม แต่ทางการจีนก็ปฏิเสธเรื่องที่ชายอุยกูร์ผู้นี้เล่า

“ผมไม่ต้องการอิสรภาพ เพียงแต่ต้องการได้รับการยอมรับนับถือมากกว่านี้” ชายซึ่งบอกเพียงชื่อสกุล เมห์เม็ต (Mehmet)กล่าว
หญิงชาวอุยกูร์ในคาชการ์ในชุดตามจารีตประเพณี
ชาวอุยกูร์จำนวนมากที่พูดภาษาเตอร์กิค สวมเครื่องแต่งกาย และนับถือศาสนาที่แตกต่างจากชาวจีนฮั่นอย่างสิ้นเชิง มีชีวิตอยู่อย่างยากจน นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังส่งกองกำลังประจำการที่นี่ ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในมือของกลุ่มอพยพฮั่น

อุยกูร์ต้องผจญความยากลำบากสาหัสในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 เมื่อคอมมิวนิสต์แห่งยุคปฏิวัติลัทธิมาร์ซิสอย่างบ้าคลั่ง เข้ามาห้ามเครื่องแต่งกายของชนชาติส่วนน้อย แต่รัฐบาลก็ได้ผ่อนปรนการควบคุมดังกล่าว ในทศวรรษที่ 1980 และเปิดกว้างทางศาสนาและวัฒนธรรมมากขึ้น

รัฐบาลได้หันมาคุมเข้มอีกครั้งในปี 1990 หลังจากที่มีกระแสลุกฮือ และการจู่โจมระเบิด กลุ่มรณรงค์สิทธิต่างๆได้รายงานถึงการจับกุมครั้งมหโหฬาร ปิดสุเหร่า และปฏิบัติการกวาดล้างทั่วอาณาบริเวณ ที่ล้างบางกลุ่มติดอาวุธอย่างได้ผล

กลุ่มเฝ้ามองสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) เผยว่าชาวอุยกูร์ร้อยละ 9.2 หรือมากกว่า 1,000 คนนั้น ถูกจับขังคุกในปี 2001 ในความผิดอาชญากรรมต่อความมั่นคง กลุ่มสิทธิที่มีฐานในสหรัฐอเมริกายืนยันตัวเลข จากหลักฐานบทย่อสรุปของเอกสารทางวิชาการที่พบในกระทรวงยุติธรรมจีน

“แม้กลุ่มอุยกูร์ติดอาวุธจะถูกล้างบางไปแทบสิ้นซากในทศวรรษที่ 1990 ก็ยังมีแนวโน้มกลุ่มติดอาวุธชั่วรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่” นิโคลัส เบคลิน (Nicholas Bequelin) นักวิจัยสังกัดฮิวแมนไรซ์ วอช ประจำเอเชียประเมินจากความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

“กลุ่มจู่โจมล้วนเป็นคนหนุ่มสาวอายุไม่เท่าไหร่ ในการจู่โจมที่คู่เชอ เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นก็เผยว่า มีผู้หญิงรวมอยู่ในแก็งมือระเบิดด้วย 2 คน” เบคลินกล่าว

หนูน้อยชาวอุยกูร์เล่นอยู่หน้าสุเหร่าในคาชการ์เมืองท่องเที่ยวดังบนอดีตเส้นทางสายไหมอันลือชื่อวันที่ 5 สิงหาคม-เอเอฟพี
ยิตซ์ฮัค ชีคอร์ (Yitzhak Shichor) ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสาตร์ และศึกษาเฉพาะด้านจีน ประจำมหาวิทยาลัยไฮฟา ในอิสราเอล เห็นพ้องเช่นกันว่าความรุนแรงในซินเจียงช่วงที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบ่งชี้ปฏิบัติการเว่อร์เกินเหตุของหน่วยความมั่นคงจีน

ขณะที่จีนมักเทศน์ชาติอื่นๆให้คลี่คลายข้อพิพาทด้วยการเจรจา และสันติวิธี เขาก็ควรปฎิบัติการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกันนี้ในซินเจียง โดยเข้าหาใกล้ชิดกับชุมชนอุยกูร์ ผู้นำศาสนา ทว่า ปักกิ่งจะใช้วิธีนี้หรือ?

“หลังโอลิมปิก จีนจะปฏิบัติการกวาดล้างในซินเจียงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเขารอคิดบัญชีหลังโอลิมปิก” .

หน่วยลาดตระเวนความปลอดภัยในคาชการ์-เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น