ผู้จัดการออนไลน์-- ชาวกัมพูชาที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งราว 8 ล้านคน ๆได้ไปทยอยไปใช้สิทธิ์ในวันอาทิตย์ (27 ก.ค.) นี้ สำหรับการเลือกตั้งที่เชื่อว่าจะทำให้พรรคประชาชนกัมพูชา จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปอีก 5 ปี แม้ว่าประเทศนี้จะยังอยู่ในอันดับต้นๆ บัญชีรายชื่อประเทศที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลกก็ตาม
กรณีพิพาทพรมแดนกับไทย ได้ทำให้ชาวกัมพูชาตื่นตัวแห่ไปใช้สิทธิ์กันมากขึ้น และเชื่อว่าพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) จะมีชัยอย่างท่วมท้น หลังจากได้จัดตั้งรัฐบาลมา 2 ครั้งและร่วมรัฐบาลอีก 1 ครั้งในการเลือกตั้ง 3 ครั้งก่อนหน้านี้
นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก 5 ปีอย่างไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากอยู่ในตำแหน่งนี้ติดต่อกันมาเป็นเวลา 23 ปี เป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในเอเชีย
นายกฯ กัมพูชาให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่าจะอยู่ในอำนาจต่อไปจนอายุ 95 ปี จึงจะวางมือ หรือจนกว่าชาวกัมพูชาจะไม่เลือกอีก
ชาวกัมพูชาไปรอใช้สิทธิ์ตามคูหาเลือกตั้งต่างๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ บางแห่งเริ่มเข้าคิวยาวกันตั้งแต่เวลา 7.00 น. ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
ผู้สังเกตการณ์อิสระกว่า 10,000 คนเข้าทำหน้าที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งทุกฝ่ายกล่าวว่าเป็นไปอย่างสงบ ต่างกันเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งนองเลือดปี 2536 และ 2541 และ ยังดีกว่าครั้งล่าสุดเมื่อปี 2546 ที่เกิดเหตุการณ์จลาจลเผาสถานทูตไทย
อย่างไรก็ตามในสายตาขององค์การพิทักษ์สิทธิ์มนุษยชน Human Rights Watch การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่สามารถใช้คำว่าเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ เนื่องจากรัฐบาลได้ผูกขาดสื่อวิทยุโทรทัศน์รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และยังข่มขู่คุกคามสื่อที่สนับสนุนฝ่ายค้านตลอดมา
"ผู้สังเกตการณ์ในประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะไม่มีทางยอมรับ การควบคุมสื่ออย่างแข็งขัน ทั้งการข่มขู่คุกคาม ข่มเหงต่อผู้ใช้สิทธิ์และต่อนักการเมืองฝ่ายค้านของพรรครัฐบาลได้" นายแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการองค์การ Human Rights Watch ในเอเชียกล่าว
มีผู้สมัครจาก 11 พรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ และในวันที่ 10 ก.ค.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระใต้รัฐธรรมนูญ ได้ออกเตือนสถานีวิทยุและโทรทัศน์มิให้เสนอข่าวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แต่ความจริงก็คือ สถานีโทรทัศน์จำนวน 10 แห่งเป็นของรัฐ อีก 1 แห่งเป็นของเอกชนแต่เป็นของคนในครอบครัวกลุ่มผู้นำ โทรทัศน์เหล่านี้ได้เสนอข่าวลำเอียงเข้าข้างพรรค CPP และรัฐบาลมาโดยตลอด
"การขาดช่องทางเข้าถึงการใช้โทรทัศน์ของฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียวก็มากเพียงพอที่จะทำให้ความชอบธรรมของการเลือกตั้งลดลง" นายอดัมส์กล่าว
วันที่ 11 ก.ค.นายขิม สมบ่อ (Khim Sambo) นักข่าวและนักเขียนของหนังสือพิมพ์มุนาคสิการขะแมร์ (Moneaksekar Khmer) ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ถูกคนร้ายลอบยิงสังหารอย่างอุกอาจ ขณะเดินออกจากสนามกีฬาแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ บุตรชายของเขาไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
การสังหารนายบ่อเกิดขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงและรุนแรงเพียงพอในการสร้างความขยาดกลัวให้แก่บรรดาสื่อที่ใจเอนเอียงเข้ากับฝ่ายค้าน องค์การสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้นหลายปีมานนี้พรรค CPP ได้ทุ่มเทเงินงบประมาณใช้นโยบายประชานิยมมาตลอด ในความพยายามสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
พรรค CPP ซึ่งกลายสภาพมาจากพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (Kampuchean People's Revolutionary Party) ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียตเก่าในยุคสงครามเย็น ยังกุมกลไกอำนาจรัฐต่างๆ ในมืออย่างแน่นเหนียว ตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงระดับคอมมูนและหมู่บ้านโดยองค์กรจัดตั้งเป็นชั้นๆ
“สามผู้นำสูงสุด” คือ สมเด็จฯ ฮุนเซน สมเด็จฯ เจียซิม กับ สมเด็จฯ เฮงสัมริน นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนฯ ในปัจจุบัน ก็เป็นผู้นำชุดเก่า ที่ร่วมกันครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2522 ในพรรคคอมมิวนิสต์พรรคใหม่และรัฐบาลที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นหลังการขับไล่ระบอบเขมรแดงงออกจากุรงพนมเปญ
ขณะเดียวกันพรรค CPP อยู่ในสภาพเกือบจะไร้คู่แข่งที่น่ากลัวใดๆ หลังจากสามารถกำจัดกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ให้ตกเวทีการเมืองไปได้เมื่อปี 2549 และ พรรคฟุนซินเปกที่เคยยิ่งใหญ่ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ จากการแตกแยกในหมู่ผู้นำ
ทั้งหมดนี้นักวิเคราะห์กล่าวว่าเป็นเงื่อนไขที่นักเลือกตั้งอาชีพ ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี จัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อการกุมอำนาจอันยาวนาน.