xs
xsm
sm
md
lg

ปากีสถานเร่งควบคุมองค์การสายลับ

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan’s spies reined in
By Syed Saleem Shahzad
24/12/2008

ภายหลังใช้ความพยายามและประสบความล้มเหลวมาหลายครั้งแล้ว บัดนี้ปากีสถานก็กำลังพยายามอีกคราวในการดำเนินจังหวะก้าวต่างๆ เพื่อเด็ดปีกเด็ดหางขององค์การประมวลข่าวกรองกลาง ซึ่งอยู่ใต้การครอบงำของฝ่ายทหารมาอย่างยาวนาน โดยที่หน่วยงานทรงอำนาจแห่งนี้เองได้ถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่า คอยเตะถ่วงไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการทำ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งทางองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ก็กำลังเร่งสะสางแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ตนเองสามารถเพิ่มระดับการปฏิบัติการในอัฟกานิสถานได้อย่างทะมัดทะแมงยิ่งขึ้น

การาจี --มีเหตุการณ์สำคัญ 2 อย่างที่น่าจะเป็นหลักหมายสำคัญสำหรับการเริ่มต้นปี 2009 และก็จะเป็นตัวตัดสินกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของสงครามและสันติภาพในภูมิภาคแถบนี้ด้วย อย่างแรกซึ่งเกิดขึ้นในปากีสถาน ได้แก่ความพยายามในการลดทอนอำนาจและบทบาทของ องค์การประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) หน่วยงานด้านสืบราชการลับที่อยู่ในความครอบงำของฝ่ายทหารปากีสถานมาอย่างยาวนาน ส่วนอย่างที่สองนั้นได้แก่ การเปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะดำเนินการกันในอัฟกานิสถาน

ความเคลื่อนไหวทั้งสองอย่างนี้ บังเกิดขึ้นภายหลังมีการปรึกษาหารือในระดับสูงอยู่เป็นแรมเดือน ระหว่างผู้เล่นทั้งหมดในภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้นำทางการเมืองของอัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, และอินเดีย ตลอดจนหน่วยงานทางทหารของฝ่ายตะวันตก พวกเจ้าหน้าที่ทางทหารอเมริกันถึงขั้นเร่งเดินหน้าต่อไปแล้ว โดยกำลังจัดทำชุดมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อทำให้แผนการดังกล่าวเหล่านี้ประสบความสำเร็จ

กระบวนการในการเด็ดปีกเด็ดหางองค์การไอเอสไอ ที่มีส่วนประกอบจำนวนหนึ่งโน้มเอียงไปในทางฝักใฝ่เห็นอกเห็นใจพวกตอลิบานในอัฟกานิสานตลอดจนพวกหัวรุนแรงใช้กำลังอาวุธทั้งหลายในปากีสถานนั้น ไม่เคยกระทำกันได้เลยในระหว่างการปกครองประเทศเป็นเวลา 9 ปีของอดีตประธานาธิบดี พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ โดยที่คณะรัฐบาลพลเรือนที่สืบทอดอำนาจต่อจากเขาก็เพิ่งก้าวขึ้นมาครองอำนาจเมื่อต้นปี 2008 นี้เอง

ในอดีตที่ผ่านมาไม่นานนัก ได้เคยมีความพยายามอยู่หลายหนแล้วที่จะนำเอาไอเอสไอไปอยู่ใต้อำนาจรับผิดชอบของฝ่ายพลเรือนในกระทรวงมหาดไทย ทว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ถูกขัดขวางจากฝ่ายทหาร กระนั้นก็ตาม ยังมีความคืบหน้าปรากฎให้เห็นอยู่บ้างในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อนายกรัฐมนตรี ไซเอด ยูซุฟ ราซา กิลลานี ออกคำสั่งปิดเครือข่ายองค์กรทางการเมืองของไอเอสไอ

ความเคลื่อนไหวก้าวต่อไป น่าจะได้แก่การแต่งตั้งให้พลเรือนขึ้นเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอสไอ ด้วยจุดมุ่งหมายในท้ายที่สุดที่จะลดทอนอำนาจและบทบาทขององค์การนี้ ให้เหลือแค่เป็นหน่วยงานทางด้านข่าวกรองของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น จากที่มีฐานะเป็นองค์การสืบราชการลับอันยิ่งใหญ่ที่เคยสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศ ด้วยการเข้าสนับสนุนกองกำลังต่อต้านของพวกนักรบมุจาฮิดีน ในช่วงที่สหภาพโซเวียตยกทัพเข้ารุกรานอัฟกานิสถานเมื่อทศวรรษ 1980

แผนการล่าสุดนี้ได้รับความยินยอมเห็นพ้องแล้วจากคณะผู้นำของกองทัพ หลังจากก่อนหน้านี้ฝ่ายทหารได้แสดงความวิตกโดยเฉพาะในเรื่องการรับมือกับปัญหาทางด้านความมั่นคงภายนอกประเทศ ถ้าหากไอเอสไอต้องไปปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ดูเหมือนว่าบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายของปากีสถานได้รับการเกลี้ยกล่อมจนบังเกิดความมั่นใจขึ้นมาแล้ว จากฝีมือของพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯซึ่งในกำมือมีบัญชีรายการตำหนิติเตียนไอเอสไออย่างยาวเหยียด ว่าไม่ให้ความร่วมมือใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” เอาเสียเลย

อันที่จริง ผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอสไอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ขององค์การนี้ รวมทั้งผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการภายนอกประเทศ และผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการความมั่นคงในประเทศ ต่างก็ได้ถูกปลดเปลี่ยนโยกย้ายในเดือนกันยายนที่ผ่านมาตามคำแนะนำของสหรัฐฯ ทว่าหลังจากนั้นยังคงเป็นที่รู้สึกกันตามเมืองหลวงต่างๆ ของโลกตะวันตกว่า โครงสร้างของไอเอสไอมีความซับซ้อนมากเกินไป จนยังยากที่จะ “ถูกปฏิรูป” ภายหลังมีการปลดเจ้าหน้าที่อาวุโสไปสองสามคน

การโจมตีนครมุมไบของอินเดียในวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งพวกหัวรุนแรงที่เชื่อมโยงกับปากีสถาน ได้สังหารโหดผู้คนไปเกือบ 200 คนนั้น ได้กลายเป็นการโหมกระแสการอภิปรายถกเถียงเรื่องนี้ให้ยิ่งดุเดือดขึ้นอีก ลงท้าย ฝ่ายตะวันตกก็เห็นพ้องยอมรับวิธีการแบบที่เรียกกันว่าทางสายกลาง นั่นคือ ฝ่ายตะวันตกจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าประจันหน้าโดยตรงกับกองทัพปากีสถาน ที่เป็นผู้อุปถัมภ์รายหลักของไอเอสไอ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนบทบาทและความเชื่อมโยงที่กองทัพนี้มีอยู่อย่างลึกซึ้งในอัฟกานิสถาน แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายตะวันตกจะใช้มาตรการในเชิงเกลี้ยกล่อมจูงใจให้มากขึ้นยิ่งขึ้น โดยเสนอให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดียิ่งขึ้นแก่กองทัพปากีสถาน ตลอดจนเข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งเหวของประเทศนี้

เมื่อเร็วๆ นี้เอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) จึงได้อนุมัติโครงการเงินกู้ช่วยชีวิตแก่ปากีสถานเป็นจำนวน 7,600 ล้านดอลลาร์และให้ระยะเวลาใช้ตืนภายใน 23 เดือน ดร.ฟาร์รุค ซาลีม ผู้อำนวยการบริหารของ ศูนย์กลางเพื่อการวิจัยและการศึกษาด้านความมั่นคง (Center for Research and Securities Studies หรือ CRSS) ให้ความเห็นกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “พวกนายทหารอเมริกันแสดงบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่ (ไอเอ็มเอฟ) อนุมัติคราวนี้” เขาแจกแจงต่อไปว่า “วัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อให้มีการเดินหน้าไปอย่างพร้อมเพรียงกับปากีสถานตลอดจนกองทัพของประเทศนี้ จะได้เป็นการรับประกันว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างสูงสุดในการทำ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย”

ภายในกองทัพปากีสถานก็ได้มีการก่อตั้งกลุ่มทำงานพิเศษที่เรียกขานกันว่า “กลุ่มข่าวกรอง 909” (909 Intelligence Group) ซึ่งจะปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อกองบัญชาการของฝ่ายทหาร โดยทำหน้าที่ดูแลด้านข่าวกรองในบริเวณชายแดนอย่างเป็นการเฉพาะ เวลานี้กลุ่มนี้ก็ได้เข้าทำงานในสิ่งที่เคยเป็นการปฏิบัติการภายนอกประเทศของไอเอสไอไปเรียบร้อยแล้ว

สหรัฐฯนั้นถูกกระตุ้นอย่างแรงจากเหตุการณ์โจมตีเมืองมุมไบ ให้ต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อทำให้ปากีสถานเข้าจัดการกับพวกกองกำลังท้องถิ่นที่อุปถัมภ์โดยกองทัพตลอดจนองค์การไอเอสไอ เนื่องจากหากไม่เคลื่อนไหวอะไรในเรื่องนี้ ก็อาจนำไปสู่การระเบิดสงครามระหว่างปากีสถานกับอินเดีย อันเป็นสิ่งสุดท้ายที่สหรัฐฯต้องการให้บังเกิดขึ้น เพราะมันจะทำลายแผนการของวอชิงตันที่จะเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในอัฟกานิสถานปี 2009 เพื่อปราบปรามพวกตอลิบาน

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่สงครามระหว่างปากีสถานกับอินเดียทำท่าเหมือนเป็นสิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนกระทั่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ต้องเร่งสะสมยุทธสัมภาระต่างๆ เพิ่มเติมเอาไว้ในอัฟกานิสถาน เนื่องจากกลัวว่าเส้นทางลำเลียงของนาโต้จะเกิดการสะดุดติดขัด ในกรณีที่อินเดียเข้าปิดล้อมทางนาวีในเขตทะเลอาหรับ ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ขีดเส้นตายให้เวลาปากีสถาน 30 วัน ที่จะต้องลงมือจัดการกับพวกที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์โจมตีมุมไบ โดยบอกเอาไว้ว่า หากปากีสถานไม่ยอมกระทำตามแล้ว อินเดียก็พร้อมที่จะพิจารณา “ทางเลือกทุกๆ อย่าง”

ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวด้านยุทธศาสตร์หลายรายต่อเอเชียไทมส์ออนไลน์ อินเดียได้มีการสั่งเตรียมพร้อมในฐานทัพทางทหาร 3 แห่ง คือ ราชสถาน, คุชราต, และ ลาดัค แต่เนื่องจากอเมริกันได้แสดงบทบาทเข้ามาแทรกแซงอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษ ขณะที่ปากีสถานก็ให้ความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น อาทิ ในกรณีไอเอสไอ จึงทำให้สามารถปัดเป่าเมฆหมอกแห่งสงครามให้กระจายจางคลายไปได้

กระนั้นก็ตาม ทั้งอินเดียและสหรัฐฯต่างเข้าใจดีว่า ปากีสถานสามารถให้ความร่วมมือในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากพวกหัวรุนแรงยังคงเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ในท้องที่จำนวนมากของปากีสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ชาวชนเผ่าบริเวณชายแดนติดกับอัฟกานิสถาน ดังนั้น ปากีสถานจึงมีช่องทางอยู่เพียงน้อยนิดในการดำเนินการกับองค์การเฉกเช่น จามาอะตุต ดาวะ ซึ่งเพิ่งถูกขึ้นบัญชีจากสหประชาชาติว่าเป็นองค์กรบังหน้าให้แก่กลุ่มก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์โจมตีมุมไบ ทั้งนี้แม้จามาอะตุตจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็นองค์กรนอกกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงแล้วองค์กรนี้ซึ่งมีกิจกรรมด้านงานการกุศลสงเคราะห์ที่กว้างขวางมาก ก็ยังจะได้รับอนุญาตในทางปฏิบัติ ให้ดำเนินงานของตนต่อไปได้

ถึงแม้บัดนี้สงครามระดับเต็มพิกัดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ไม่น่าที่จะบังเกิดขึ้นมาแล้ว ทว่าก็ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีชนิดมุ่งเล่นงานเป้าหมายในขอบเขตจำกัดด้วยความแม่นยำอย่างสูง โดยที่จะใช้เครื่องบินไร้คนขับแบบ “เพรเดเทอร์” ของอิสราเอลบินขึ้นจากดินแดนอินเดีย เพื่อเข้าเล่นงานค่ายต่างๆ ของพวกหัวรุนแรงซึ่งอยู่ในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานปกครองอยู่ ปัจจุบัน อิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องในอินเดียอยู่แล้ว สืบเนื่องจากคนที่ถูกฆ่าในกรณีมุมไบหลายๆ รายเป็นพลเมืองของรัฐยิว เจ้าหน้าที่อิสราเอลจึงกำลังเข้ามาช่วยเหลือดำเนินการสอบสวน

ขณะเดียวกัน นาโต้ก็กำลังหาช่องทางในการคุ้มครองเส้นทางลำเลียงของตน ซึ่งรวมถึงการหาความช่วยเหลือจากอิหร่าน หากทำได้สำเร็จก็จะสามารถลดการพึ่งพิงปากีสถานลงไปได้ โดยที่เวลานี้เส้นทางลำเลียงขนส่งผ่านปากีสถานเข้าสู่อัฟกานิสถาน ก็กำลังถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงอยู่แล้ว

สัมภาระที่ไม่เกี่ยวกับการทหารโดยตรง อาทิ อาหารและน้ำมัน สามารถที่จะขนส่งออกจากเมืองท่า ชาบาฮาร์ ของอิหร่าน เดินทางด้วยทางบกไปยังอัฟกานิสถาน โดยยที่ถนนเส้นใหม่ในภาคตะวันตกของอัฟกานิสถานก็มีการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม้จะถูกโจมตีจากพวกตอลิบานอย่างหนักหน่วงชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ตามที

อย่างไรก็ดี ปัญหาท้าทายสำคัญที่สุดยังคงอยู่ตรงที่การรักษาความปลอดภัยโครงข่ายถนนรอบๆ เมืองหลวงคาบูล ซึ่งในบัดนี้ควบคุมโดยพวกตอลิบาน นี่จะเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งยวดในการตัดสินว่า สมรภูมิอัฟกานิสถานจะเดินไปในทิศทางไหน เมื่อกองกำลังท้องถิ่นที่มุ่งทำสงครามจิฮัดของปากีสถาน ตลอดจนพวกตอลิบานที่เป็นชาวปากีสถาน กำลังอยู่ในสภาพหลุดเป็นอิสระสามารถปฏิบัติการต่างๆ ได้ตามใจชอบ

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น