ปัตตานี – ศอ.บต.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแนวทางการบังคับใช้ ป.พ.พ.ว่าด้วยกฎหมายครอบครัวและมรดก และ ป.พ.พ.ที่เกี่ยวข้องอื่นกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม รัฐบาลมีนโยบายแถลงต่อรัฐสภา ว่า จะผลักดันให้มีศาลชารีอะห์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความจริงใจที่รัฐบาลมีต่อพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ดร.อาลี โกมา ผู้ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในประเทศอียิปต์มาร่วมด้วย
วันนี้ (19 มี.ค.) เวลา 09.30 น.นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต. ดร.อาลี โกมา (มุฟตีอียิปต์) ได้เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย ที่ทางคณะทำงานเสริมสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ได้มีการศึกษาและนำเสนอหลักการให้กับทาง ศอ.บต.เพื่อเป็นแนวทางการพลักดันให้สามารถใช้เป็นกฎหมายในประเทศไทย
ซึ่งช่วงแรก ดร.อาลี โกมา (มุฟตีอียิปต์) พร้อมคณะได้เข้าพบปะหารือกับคณะสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ที่ห้องประชุมเล็ก ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดและหัวหน้าส่วนให้การต้อนรับ
นายพระนาย กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ตั้งแต่ปี พ.ค.2486 เพื่ออำนวยความยุติธรรมในคดีครอบครัวและมรดก ตามหลักศาสนาอิสลาม แต่พระราชบัญญัติฯฉบับนี้มีเพียง 7 มาตรา โดยกำหนดให้บังคับใช้แทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ไม่ได้กำหนดรายละเอียด ซึ่งเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามที่จะนำมาบังคับใช้และวิธีพิจารณาตามหลักกฎหมายอิสลาม ซึ่งมีดาโต๊ะยุติธรรมประจำแต่ศาลเป็นผู้ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามเท่านั้น อีกทั้งกฎหมายอิสลามเป็นเพียงคู่มือไม่ได้มีฐานะเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย
จากแนวคิดดังกล่าวทาง ศอ.บต.ได้สนับสนุนให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายอิสลาม ไปศึกษาดูงานการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศศรีลังกาและประเทศอียิปต์ และคณะศึกษาดูงานดังกล่าวมีความเข้าใจและมีแนวทางร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการนำกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกมาบังคับใช้ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ เพื่อการพัฒนาแนวคิดดังกล่าว ศอ.บต.จึงจัดทำการสัมมนาเชิงปฎิบัติการการพัฒนาแนวทางการบังคับใช้ ป.พ.พ.ว่าด้วยกฎหมายครอบครัวและมรดก และ ป.พ.พ.ที่เกี่ยวข้องอื่นกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่างการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวในระหว่างเปิดการสัมมนาว่ารัฐบาลมีนโยบายแถลงต่อรัฐสภา ว่า จะผลักดันให้มีศาลชารีอะห์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความจริงใจที่รัฐบาลมีต่อพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนจะเกิดได้จริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจจริง
ด้าน ดร.อาลี โกมา ผู้ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในประเทศอียิปต์ กล่าวปาฐกถาว่าการบังคับใช้กฏหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรอย่างยิ่ง เพื่อที่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เพราะที่นี่เคยเป็นแหล่งเกิดอารยธรรมที่มีชื้อเสียงในอดีต และเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม ประเพณีและวัฒนธรรม
การใช้กฎหมายอิสลามไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การจะบังคับใช้กฎหมายอิสลามนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาให้ละเอียด ต้องมีคณะทำงานในรูปของกรรมาธิการ ที่ชัดเจน เพื่อที่ศึกษาในข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับข้อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม โดยเฉพาะสำนักกฎหมายอิสลามในโลกนี้นี้มีมากถึง 80 สำนัก แต่สำนักที่เป็นที่แพร่หลายมีเพียง 4 สำนัก คือ สำนักฮานาฟี สำนักมาลิกี สำนักชาฟิอี และสำนักฮันบาลี แต่บางสำนักข้อกฎหมายบางอย่างไม่ได้กล่าวถึง จึงจำเป็นต้องนำข้อบทกฎหมายจากสำนักอื่นเพื่อมาปรับใช้เป็นต้น
ส่วนแนวทางการพิจรนาคดีนั้นสามารถที่จะใช้ในศาลเดียวกันก็ทำได้แต่ต้องมีการอบรมในเรื่องข้อกฎหมายอิสลามให้กับผู้ที่ทำหน้าที่พิพากษา โดยเฉพาะตัวบทกฎหมายที่ใช้ในการพิจรณาต้องมีการกำหนดบันทึกไว้ให้ชัดเจน เพื่อจะไม่ก่อเกิดการสับสนในเรื่องข้อกฎหมาย