xs
xsm
sm
md
lg

นายกออสซีชี้สัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน กุญแจความสำเร็จศตวรรษแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ แห่งออสเตรเลียเรียกร้องให้สหรัฐฯ และจีนบริหารจัดการด้านความสัมพันธ์อย่างรอบคอบ เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของ “ศตวรรษแปซิฟิก”

รัดด์กล่าวในการประชุมที่สถาบันบรูคกิงส์ในวอชิงตันว่า “สำหรับออสเตรเลียแล้ว เรามีคำถามหลักเพียงข้อเดียวก็คือ เราจะเป็นศตวรรษแปซิฟิกได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญยิ่งนี้ในระยะยาว”

ก่อนหน้านี้ คำว่า “ศตวรรษแปซิฟิก” เคยถูกนำมาใช้อธิบายถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นห้วงเวลาที่ประเทศในแถบชายฝั่งแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จะมีบทบาทครอบงำโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการบัญญัติศัพท์ “ศตวรรษเอเชีย” ขึ้นมาเพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศในเอเชียมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย

ทั้งนี้ รัดด์ได้แสดงความเห็นด้งกล่าวในระหว่างเยือนวอชิงตันเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว โดยเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ของเขานับแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตามกำหนดการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เป็นเวลา 18 วันนี้ ยังรวมถึงการเยือนจีนด้วย

รัดด์กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่า ควรจะมี “การบริหารจัดการที่ดีต่อไป” แต่เขาก็ได้กล่าวถึงการที่จีนเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการทหารอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดคำถามสำคัญในเรื่อง “ความโปร่งใส” และ “ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว” ด้วย

ด้านสหรัฐฯ ก็ได้กล่าวเตือนในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า จีนได้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการทหารในปี 2007 สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึงสองเท่าตัว และกล่าวว่าการขาดความโปร่งใสของรัฐบาลจีนจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ

“เราไม่มีทางกะเกณฑ์ล่วงหน้าได้เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนในอนาคต” รัดด์ผู้พยายามผลักดันให้ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับจีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กล่าวเสริมอีกว่า “เราจะตัดสินอนาคตของเราได้ก็ด้วยการกระทำของเราในวันนี้”

รัดด์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนคนหนึ่งและมีความฝักใฝ่จีน ได้พยายามแสวงหา “พื้นฐานร่วม” ระหว่างจีนกับประชาคมโลก เพื่อทำให้ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่างจีนเป็น “ผู้ถือหุ้นที่มีความรับผิดชอบ” ในการสร้างระเบียบอัน “ประสานกลมกลืน” ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค

นอกจากนั้น เขายังได้กล่าวถึงแผนการขยายการเจรจาร่วมหกประเทศที่มีจีนเป็นประธาน เพื่อที่จะยุติความพยายามของเกาหลีเหนือในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ให้กลายเป็นกลไกด้านความมั่นคง โดยชี้ว่าการเจรจาดังกล่าวควรจะช่วยลดความตึงเครียดในภูมิภาคที่มี “ความเปราะบางเชิงยุทธศาสตร์” นี้ได้

รัดด์กล่าวว่า เวทีการประชุมด้านความมั่นคงของอาเซียนก็ควรถูกใช้เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้มากขึ้นในประเด็นการสนองตอบด้านมนุษยธรรมต่อปัญหาภัยธรรมชาติและความมั่นคงด้านพลังงานที่รวมเอาจีนเข้ามาด้วย

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เออาร์เอฟ) จะ “สร้างกลไกเชิงสถาบันเพื่อดึงเอาจีนเข้ามาร่วมมือให้มากขึ้นในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้อย่างสร้างสรรค์และไม่เกิดการเผชิญหน้ากัน ทั้งนี้เออาร์เอฟได้ประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก17 ฝ่าย ซึ่งรวมถึงรัสเซีย จีน อินเดีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย

รัดด์บอก “ยังมีโอกาสเปิดกว้างอีกมากผ่านทางสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค ในการที่เราจะสร้างมาตรการที่เป็นตัวอาคารแห่งความมั่นใจอันแท้จริง” และเสริมว่า “เรารู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นในยุโรปในอดีต และมีลักษณะที่ขนานกันบางอย่างกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกในอนาคต”

ทั้งนี้ รัดด์ต้องการให้จีนมีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้การเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลกประสบความสำเร็จ รวมทั้งให้จีนมี “บทบาทที่แสดงถึงความสามารถขั้นสูง” ในการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น