xs
xsm
sm
md
lg

Asset Allocation(2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ดร. สมจินต์ ศรไพศาล บลจ. วรรณ จำกัด


ในตอนที่แล้ว พวกเราได้ทำความเข้าใจและได้เห็นความสำคัญของการทำ Asset Allocation (การจัดหมวดทรัพย์) ว่าเป็นกระบวนการตัดสินใจลงทุนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากและมีประโยชน์อย่างแท้จริง และได้เห็นถึงตัวอย่างจริงของผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น พันธบัตร และเงินฝาก ของตลาดทุนไทยในเก้าปีที่ผ่านมา (1999 – 2007) ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 13.04% 5.86% และ 3.13% ตามลำดับ และถ้าใครสามารถทำ Perfect Asset Allocation (Market Timing) โดยจัดพอร์ตการลงทุนได้อย่างสมบูรณ์ ผลที่ได้คือสินทรัพย์ที่ลงทุนจาก 100 บาทจะกลายเป็น 745 บาท ในเวลาเก้าปีเท่านั้น99

เป็นที่แน่นอนและต้องยอมรับความจริงว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะจับจังหวะของตลาดทั้งหลายได้สมบูรณ์ ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่ามีผู้คนมากมายที่พยายามจับจังหวะเข้าออกในการลงทุน โดยโยกย้ายการลงทุนทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ในหมวดสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งที่เชื่อว่าจะดี แต่แล้วผลกลับเป็นตรงกันข้าม... ดังนั้น คำแนะนำปกติจึงไม่ใช่การให้โยกเงินไปมาอย่างสุดโต่ง แต่เป็นการแนะนำให้ผู้ลงทุนหันกลับมามองตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด แล้วจัด Asset Allocation ให้สอดคล้องกับบุคลิกและลักษณะของตนเป็นหลัก ซึ่งในตอนนี้ เราจะคุยกันเรื่องโมเดล Asset Allocation ให้สอดคล้องกับบุคลิกและความสามารถในการรับความเสี่ยงต่างๆ ด้วย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมขึ้น

ทั้งนี้ ตามที่ผมให้ข้อมูลไว้... เนื่องจาก การเลือกหุ้นเลือกตัวหลักทรัพย์นั้นมีผลน้อยกว่าการจัดหมวดทรัพย์ ดังนั้น แทนที่จะต้องไปพยายามเลือกหุ้นเองเป็นตัวๆ นักลงทุนสามารถจะก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้เลย แล้วใช้ตัวช่วยอย่าง กองทุนดัชนีหุ้น เช่น กองทุนรวม SET หรือ SET50 หรือ ThaiDEX SET50 ETF (TDEX) เป็นตัวแทนของหุ้นทุน และใช้กองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมประเภทตลาดเงินแทนหมวดทรัพย์อีกสองประเภทได้ในทำนองเดียวกัน

ตัวอย่าง หุ้น30/พันธบัตร70 (Conservative Portfolio)

ในการแนะนำการทำ Asset Allocation เบื้องต้น มักแนะนำให้มีองค์ประกอบทั้งสามหมวดทรัพย์เพื่อเอาประโยชน์จากคุณลักษณะที่แตกต่างของแต่ละหมวดทรัพย์ คือ 1)หุ้น เพื่อให้ได้โอกาสผลตอบแทนที่สูงเพื่อสร้างความมั่งคั่ง 2) พันธบัตร(และตราสารหนี้)เพื่อ ให้ได้ผลตอบแทนแบบกลางๆมีโอกาสได้กระแสเงินที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากดอกเบี้ย แต่ที่สำคัญคือให้มีการกระจายความเสี่ยงเพราะพันธบัตรกับหุ้นมีสหสัมพันธ์กันน้อย เมื่อลงทุนร่วมกันจึงช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้มาก กับ 3)เงินฝากหรือเงินลงทุนระยะสั้นอื่นๆ แม้ดอกผลไม่มากนัก แต่ให้สภาพคล่องได้ดี และในบางโอกาสก็เป็นเสมือนที่พักเงินที่รอคอยโอกาสของการลงทุนในหมวดหุ้นหรือพันธบัตรในเวลาเหมาะสมได้อีกด้วย

คำถามสำคัญก็คือแล้วจะจัดแบ่งลงทุนตามหมวดทรัพย์เหล่านี้อย่างไรดีล่ะ ผมอยากเสนอแนวคิดในเชิงปฏิบัติการดังนี้ คือ ขั้นแรกคิดเรื่องเงินฝากเงินลงทุนระยะสั้นเสียก่อน... ผมคิดว่าในยามทั่วไปอาจจัดไว้เผื่อให้พอใช้สักประมาณ 6 เดือน ก็น่าจะเหมาะสม โดยอาจมีการลงทุนแบบระยะสั้นทำนองนี้เพิ่มก็ต่อเมื่อ เห็นว่าทั้งหุ้นและพันธบัตรอยู่ในภาวะที่แพงเกินไป จึงต้องการหลีกเลี่ยงชั่วคราว

เมื่อเราจัดแบ่งส่วนเงินลงทุนระยะสั้นไว้แล้ว ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนหลักที่สามรถลงทุนได้นานๆ และตั้งใจจะใช้เป็นส่วนที่สร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และเมื่อสามารถลงทุนระยาวได้ ความผันผวนของราคาในระยะสั้นก็กลายเป็นเรื่องเล็ก ไม่เป็นที่น่ากังวลจนเกินไป ศักยภาพของผลตอบแทนระยะยาว และกระแสรายได้อย่างเงินปันผลและดอกเบี้ยที่จะได้รับในช่วงของการถือครองกลับมีความสำคัญมากกว่า ด้วยธรรมชาติของการเป็นการลงทุนระยะยาว การจะจัดเงินก้อนนี้ในกองหุ้นและกองตราสารหนี้จึงมีความสอดคล้องเหมาะสม

ผมขอเริ่มต้นด้วยตัวอย่างของการลงทุน 30/70 ก่อน คือ ลงทุนในกองหุ้น (เช่น TDEX หรือกองทุนดัชนีหุ้นทุนอื่น) 30% และลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ (รวมทั้ง ABFTH ซึ่งเป็น ETFพันธบัตรของไทยในตลาดตราสารหนี้ BEX) 70% ถ้าสมมุติว่าเงินที่ลงทุนในหุ้นได้ผลตอบแทนอย่างดัชนีหุ้นและที่ลงทุนในกองตราสารหนี้ได้ผลตอบแทนอย่างดัชนีพันธบัตร เราจะได้ผลตอบแทนในช่วงเก้าปีที่ผ่านมาดังนี้ครับ

ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้รับคือ 9.62% ซึ่งไม่เลวเลยทีเดียว ทั้งที่ความเสี่ยงก็ไม่ได้มากจนน่าตกใจ ผมอยากชวนให้ลองดูการลงทุน 30/70 เทียบกับการลงพันธบัตรอย่างเดียวดู จะพบว่าการมีหุ้นอยู่ 30% แทนที่จะมีเพียงพันธบัตรนั้นทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยดีขึ้นอย่างมีสาระสำคัญจาก 5.86% เป็น 9.62% โดยที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ซึ่งอาจดูประเด็นความเสี่ยงนี้จากปีที่แย่ที่สุดของทั้งสองกรณีว่า ปีที่ติดลบมากสุดของกลยุทธ 30/70 คือปี 2000ได้ -2.95 แต่ถ้าลงพันธบัตรล้วนจะได้ผลตอบแทนต่ำสุดในปี 2003 คือ -2.49% ครับ ตัวอย่างนี้ผมตั้งใจแสดงให้ท่านที่ไม่เคยชอบความผันผวนของหุ้นเลย ได้ดูเพื่อให้เห็นภาพของการเริ่มต้น ซึ่งอาจไม่ต้องเริ่มที่ 30% ก็ได้ท่านอาจเริ่มต้นจาก 10/90 หรือ 20/80 ก็ไม่ผิดกติกา และอย่าลืมว่า เราคุยกันแต่แรกแล้วถึงธรรมชาติความผันผวนของหุ้น การรู้จักใช้ตัวช่วยที่เสี่ยงน้อยอย่างกองทุนหุ้น กองทุนดัชนีหุ้น หรือ อีทีเอฟอย่าง TDEX และความอดทนรอคอยผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจึงเป็นท่าทีที่สำคัญที่จะช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนนะครับ

เรื่องสำคัญอย่าง Asset Allocation อย่างไรก็ไม่สามารถจบลงง่ายๆ คราวต่อๆ ไปผมจะพูดถึงกลยุทธ์ 70/30 และเรื่องการปรับน้ำหนักตามความคาดหวังของสภาวะตลาดครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น