ผู้จัดการออนไลน์ — ผู้เชี่ยวชาญข้าวในเวียดนาม ชี้ รัฐบาลผิดพลาด การลดส่งออกข้าวปีนี้ได้เข้าทางผู้ส่งออกในประเทศไทย ซึ่งปลายเดือน เม.ย.นี้ ขายข้าวได้ 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวไทยกำลังโกยเงินแบบมหาศาล ขณะที่เวียดนามได้รับประโยชน์อะไรจากตลาดโลกในขณะนี้
ราคาข้าวมีส่วนน้อยมากในการผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงในขณะนี้ การหยุดส่งออกยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวนาเกษตรของประเทศอีกด้วย
“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเก็บเกี่ยวผลกำไรจากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น (ไทย) ต้องขอบคุณการตัดสินใจของรัฐบาลเวียดนามในการลดปริมาณส่งออกข่าวลง” นายหวอต่งซวน (Vo Tong Xuan) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวในนครโฮจิมินห์ กล่าวกับสำนักข่าวเวียดนามเน็ต
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์ นางกลอเรีย อาร์โรโย (Gloria Arroyo) มาร์คาปากัล ได้ขอซื้อข้าวจากเวียดนามในราคา 700 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากเดือน ก.พ.
เดือนที่แล้วเวียดนามได้ประกาศหยุดการส่งออกข้าวเป็นการชั่วคราวไปจนถึงเดือน มิ.ย.เพื่อคำนวณปริมาณข้าวสำรองใหม่หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังฤดูร้อนแล้วเสร็จ ขณะเดียวกัน ก็ได้ลดเป้าส่งออกทั้งปีลงเหลือเพียง 3.5-4 ล้านตัน จากเป้าเดิม 4-4.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ข้าวหายไปจากตลาดโลกอีก 500,000-1,000,000 ตัน
ทั่วโลกกำลังมีความต้องการอย่างสูงขณะที่ธนาคารโลกกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ออกเตือนให้ทั่วโลกระวังสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์อาหารทั่วโลก”
ประธานแบงก์โลก นายโรเบิร์ต เซลลิค (Robert Zoellick) กล่าวว่า ราคาอาหารได้เริ่มพุ่งขึ้นสูงมา 3 ปีแล้ว อันเป็นเหตุการณ์ที่อาจจะทำให้ผู้คนอีกราว 1000 ล้านคนทั่วโลกดำดิ่งลงไปสู่ความยากจนอย่างล้ำลึก
ที่ผ่านมา สื่อต่างๆ รายงานการประท้วงที่เกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่อียิปต์ กับ มาดากัสการ์ ในแอฟริกา ไปถึง อินโดนีเซีย กับ ฟิลิปปินส์ ประเทศเพื่อนบ้านของเวียดนามเอง
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลต้องให้ทหารไปรักษาโกดังเก็บข้าว หลังจากทหารได้เข้าทำหน้าที่คุ้มครองหน่วยจำหน่ายข้าวราคาถูกของรัฐบาลมาตลอด ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่นำเข้าอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากประชากรเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและประเทศเกาะแห่งนี้ไม่มีที่ปลูกข้าวพอเลี้ยงประชาชนเกือบ 100 ล้านคน
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า การเพิ่มของประชากรทั่วโลก การขาดแคลนเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการผันพืชอาหารไปผลิตพลังงานทอดแทนได้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ราคาข้าวและพืชอาหารต่างๆ พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้
เนื่องจากเวียดนามนั้นเป็นประเทศส่งออกข้าวใหญ่อันดับสองของโลกรองจากประเทศไทย จึงมีคำถามกันจากหลายฝ่ายว่าต่อหน้าสถานการณ์ที่โลกกำลังขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เป็นการฉลาดหรือไม่ที่เวียดนามหยุดการส่งออก?
ปีกลายเวียดนามส่งออกข้าวราว 4.5 ล้านตัน ทำรายได้ราวเกือบ 1,600 ล้านดอลลาร์ ถ้าหากส่งออกในปริมาณเท่าเดิมปีนี้ข้าวเวียดนามจะทำรายได้เข้าประเทศได้ 2-3 เท่าตัว คิดเป็นเงินมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทางการนำไปคิดคำนวณดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งใช้เป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ และในปีนี้ราคาข้าวสารที่จำหน่ายในประเทศพุ่งสูงขึ้นกว่า 26% และ เพิ่มขึ้นกว่า 18% ในเดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียว
ทางการมองว่า การหยุดส่งออกข้าวชั่วคราวจะช่วยกดดันราคาอาหารในประเทศให้ลดลง ในความพยายามแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อซึ่งทางการได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
แต่ นายต่งซวน กล่าวว่า การลดปริมาณข้าวส่งออกนั้นเป็นผลร้ายต่อชาวนามากกว่าที่จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วราคาข้าวในตลาดไม่ได้เป็นปัจจัยหลักแต่อย่างไรในการดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น หากแต่เป็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรเอาใจใส่ต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ไปจนถึงการใช้เงินงบประมาณเข้าลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นต้นเหตุอันแม้จริงที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อท่วงทันกับเวลา
เดือนที่แล้วรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท นายกาวดึกฟ๊าต (Cao Duc Phat) ได้แสดงความห่วงใยต่อการพัฒนาเมืองที่รุกล้ำพื้นที่การเกษตรอย่างรวดเร็วมาก ที่ผ่านมาเวียดนามได้สูญเสียนาข้าวไปแล้วราว 2 ล้านไร่ จากการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาการผลิตอุตสาหกรรม
นายฟ๊าต กล่าวว่า ภายใน 5 ปีนี้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้ เวียดนามจะสูญเสียที่นาที่สามารถปลูกข้าวได้กับปริมาณที่ส่งออกอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายความว่าเวียดนามจะไม่ใช่ประเทศส่งออกข้าวอีกต่อไป และยังจะส่งผลต่อความมั่นคงอาหารของชาติในระยะยาวอีกด้วย
นายต่งซวน พยากรณ์ว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะยังคงพุ่งต่อไป แต่จะไม่ใช่ในอัตราสูงอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าวขาวคุณภาพดีจากประเทศไทยจะจำหน่ายได้ราคาถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ราคาก็จะไม่คงอยู่ในระดับนี้ต่อไป ในขณะที่เวียดนามควรจะคิดให้ดีว่าสมควรจะเข้าไปร่วมเก็บเกี่ยวผลกำไรในตลาดโลก ต่อหน้าสถานการณ์ขาดแคลนอาหารเช่นปัจจุบันนี้หรือไม่
ปลายปีที่แล้วนักวิชาการร่วมกับสมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood (Vietnam Food Association) ได้ประชุมหารือและเห็นพ้องกันว่าควรจะชะลอการส่งออกช่วงปลายปีและต้นปีเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้จำหน่ายข้าวได้ราคาเท่าๆ กับข้าวไทย
แต่สถานการณ์อาหารโลกในปีนี้ได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง