xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวขาวพุ่งตันละ 950 เหรียญ แนวโน้มวิกฤตลามทั่วโลก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตในตลาดข้าวโลกยังคงไม่มีทีท่าจะผ่อนคลายเมื่อวานนี้ โดยราคาข้าวชนิด 5% ในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดราคาข้าวโลก พุ่งขึ้นไปอีก 10% ภายในช่วงเพียงหนึ่งสัปดาห์ ส่วนราคาในตลาดชิคาโกก็ทำนิวไฮเช่นกัน ขณะที่การประมูลซื้อข้าวจำนวนครึ่งล้านตันของฟิลิปปินส์ ผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ปรากฏว่าได้ไปเพียงสองในสาม ทำให้เก็งกันว่าต้องเปิดประมูลกันอีก แถมประเทศผู้ซื้อรายใหญ่อื่นๆ อย่าง อิหร่าน และญี่ปุ่น จะหาซื้อเพิ่ม ขณะที่พาณิชย์ ตรวจราคาข้าวถุงห้างค้าปลีก-ผลตรวจสต๊อกข้าวไม่พบสูญหาย

ราคาข้าวชนิด 5% (ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์เกรดบี) ในกรุงเทพฯ ซึ่งหลายๆ ฝ่ายถือว่าเป็นมาตรวัดระดับราคาข้าวของโลก เมื่อวานนี้พุ่งทะลุระดับ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยเป็นราคาเอฟโอบี (ราคาที่ผู้ขายนำส่งสินค้าลงเรือหรือบนรถ) ซึ่งสูงเป็นสามเท่าตัวของราคาเมื่อต้นปี 2550 ส่วนสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าเพื่อการส่งมอบเดือนกรกฎาคม ในตลาดชิคาโก บอร์ด ออฟ เทรด ก็เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันพุธ(16) มาอยู่ที่ 23 ดอลลาร์ต่อฮันเดรดเวต อันเป็นการทำลายระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกัน 3 วันทำการแล้ว และราคานี้ก็สูงเป็นสองเท่าตัวของเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา

แกร์รี ลอว์สัน ประธานของกลุ่มซันไรซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวของออสเตรเลียกล่าวว่า โลกมีความเชื่ออย่างผิด ๆเสมอมาว่าจะสามารถผลิตอาหารมากตามที่ต้องการเมื่อไรก็ได้ แต่จริง ๆแล้วก็คือทำไม่ได้ และตอนนี้เอเชียก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอาหารไม่พอเพียงอยู่

ราคาซึ่งพุ่งลิ่วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ายังจะยังคงไต่สูงต่อไปอีกนั้น กำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่โตขึ้นทุกทีต่อรัฐบาลหลายๆ แห่งของเอเชีย ซึ่งเป็นกังวลว่าอาจเกิดการกักตุนเก็งกำไรอาหารในประเทศ และอาจตามมาด้วยการจลาจล

บรรดาผู้บริหารประเทศยังกำลังต้องปวดหัวกับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหาร ซึ่งซ้ำเติมเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่แตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน โดยล่าสุดทะลุระดับ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

เหล่ารัฐบาลของประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ อาทิ ไทยที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเวียดนามที่เป็นอันดับสอง ต่างกำลังพยายามส่งเสริมให้ชาวนาปลุกข้าวเพิ่มขึ้น ทว่าข้อเท็จจริงก็ยังมีอยู่ว่า ต้องรอกันอีกหลายเดือนกว่าที่ผลผลิตเพิ่มเติมเหล่านี้จะออกสู่ตลาด ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์มองกันว่า ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อื่นๆ ต่างกำลังต้องการซื้อหาข้าวเพิ่มขึ้นกันทั้งนั้น ตัวอย่างเช่นอิหร่าน ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะพยายามซื้อข้าวจากประเทศไทยราว 1 ล้านตันในปีนี้ ปัจจัยนี้ย่อมฉุดให้ราคาข้าวสูงขึ้นไปอีก

นางภคอร ทิพยธนเดช เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสด้านตลาดข้าวของบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดหมายว่า จะต้องมีคำสั่งซื้อจากอิหร่าน และญี่ปุ่น รวมทั้งฟิลิปปินส์ก็จะต้องเปิดประมูลซื้อข้าวอีกรอบ เหล่านี้ล้วนแต่จะดึงราคาให้สูงขึ้น "ดิฉันแน่ใจว่าเราจะไม่ได้เห็นข้าวไทยในราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันอีกแล้ว" เธอกล่าว

ฟิลิปปินส์ ซึ่งเรื่องการหาข้าวมาให้เพียงพอแก่การบริโภคในประเทศ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองนั้น จากการจัดประมูลซื้อข้าวรอบล่าสุด ได้รับข้อเสนอราคาระหว่าง 872.50 ถึง 1,220 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สูงขึ้นอย่างมากมายจากที่ประเทศนี้เคยซื้อได้ด้วยราคา 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งตันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

เพื่อแสดงความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งออกประกาศห้ามการเปลี่ยนที่ดินการเกษตรมาเป็นโครงการก่อสร้างชั่วคราว ด้วยความหวังที่ว่าจะเพิ่มเนื้อที่ปลูกข้าวให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพลเมือง 88 ล้านคนได้ในอนาคต นอกจากนี้ศูนย์อาหารแห่งชาติยังได้เปิดขายข้าวราคาถูกให้แก่ประชาชนซึ่งต้องมีทหารอาวุธครบมือมารักษาความสงบในระหว่างการซื้อขาย และทางการก็ได้ฟ้องร้องผู้ต้องหา 13 รายในข้อหากักตุนข้าวไปแล้ว

ชาวนาไทยจำนวนมากกำลังปลูกข้าวเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่อีกหลายคนก็ยังลังเลด้วยความกังวลเรื่องต้นทุน เพราะไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงก็แพงขึ้น และชาวนาทั่ว ๆไปก็ไม่สามารถจะขายข้าวให้ได้ราคาเหมือนอย่างพ่อค้าคนกลางทำได้

ส่วนชาวนาในเวียดนามก็กำลังเร่งปลูกข้าวพันธุ์พิเศษสำหรับช่วงฤดูร้อน ด้วยความหวังที่ว่าผลิตผลของพวกเขาจะออกสู่ตลาดในกลางเดือนมิถุนายน เร็วกว่าที่เคยหนึ่งเดือน

ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ที่มีอยู่ระยะหนึ่ง เป็นผู้ส่งออกถึงหนึ่งในสามของการส่งออกข้าวของโลก และราคาของข้าวทุกประเภทเวลานี้ก็ขยับขึ้นตามกันไป

พวกเทรดเดอร์เผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ไทยขายข้าวนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ เพื่อการส่งมอบเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ให้กับพวกประเทศในแอฟริกาไปในราคา 960 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์นั้นขายให้กับผู้ซื้อในฮ่องกงและสหรัฐฯด้วยราคาถึง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ทางพงษ์ลาภได้ร่วมกับบริษัทไทยฟ้า และผู้ส่งออกข้าวอีก 4 ราย คือ บริษัทนครหลวงค้าข้าว ชัยพรค้าข้าว และเอเชียโกลเด้นไรซ์ เสนอประมูลขายข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งในส่วนของพงษ์ลาภและไทยฟ้า เสนอขายข้าวขาว 25% ประมาณ 2 หมื่นตัน ในราคาเอฟโอบี ตันละ 910-930 เหรียญสหรัฐ แต่หากเป็นราคาซีไอเอฟ ก็จะบวกเพิ่มอีกตันละ 30-40 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ ทางฟิลลิปปินส์คงไม่ล้มประมูล แต่จะต่อรองราคากับผู้เสนอราคาให้ได้ราคาต่ำที่สุด

อย่างไรก็ตาม มองว่า ราคาข้าวที่ทุกประเทศเสนอขายฟิลิปปินส์ครั้งนี้ เป็นราคาที่สูงเกินไป เพราะข้าวขาว 25% ราคาขายไม่ควรเกินตันละ 900 เหรียญสหรัฐ ซึ่งผลจากเสนอราคาสูงนี้ จะทำให้ข้าวชนิดอื่นปรับราคาสูงขึ้นตามด้วย ทำให้ระบบซื้อขายลำบาก ผู้นำเข้าต่างชะลอซื้อข้าวจากไทย เช่น มาเลเซีย ล่าสุดก็ได้ชะลอซื้อข้าวจากไทย 4-5 หมื่นตันแล้ว เพราะเห็นว่าราคาขณะนี้แพงเกินไป

“ราคาที่สูงเวอร์ขณะนี้ ผู้ส่งออกก็ลำบาก แม้จะมีสต๊อกข้าวอยู่ในมือ แต่ก็ขายข้าวได้ยาก เพราะราคาผันผวนหนัก ซึ่งทุกวันนี้ผู้ส่งออกขายข้าวขาดทุนกันอยู่แล้ว แต่ที่ต้องการ เพราะรักษาฐานตลาด นอกจากนี้ผู้ส่งออกยังต้องใช้เงินมากกว่าปีที่แล้วถึง 1.5 เท่า ในการซื้อข้าวส่งออก ซึ่งราคาตอนนี้ปั่นป่วนไปหมด เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรแก้ไขมากที่สุด เพราะพืชเกษตรออกทุกเดือน หากปล่อยเป็นเช่นนี้จะทำลายระบบการค้าในที่สุด” นายสมพงษ์กล่าว

***พาณิชย์ตรวจสต๊อกข้าวไม่สูญหาย
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยผลตรวจสอบราคาข้าวถุงในห้างค้าปลีกวานนี้ (17 เม.ย.) พบว่าราคาข้าวถุงทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวขาวหลายยี่ห้อได้ปรับลดราคาลงแล้วประมาณ 5-10% หรือลดลงเฉลี่ยถุงละ 10-20 บาท ได้แก่ ข้าวหอมตราหงส์ทองขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม เดิมราคาถุงละ 159 บาท ลดเหลือ 149 บาท ข้าวขาวตราดอกบัวเดิมถุงละ 115 บาท ลดเหลือ 95 บาท อย่างไรก็ตาม ห้างค้าปลีกต่างๆ ยังจำกัดการซื้อของประชาชนไม่เกินคนละ 3 ถุง ซึ่งการปรับลดราคาข้าวครั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับลดค่าธรรมเนียมของห้างต่างๆ และการปรับลดระยะเวลาในการชำระเงินให้กับผู้ประกอบการข้าวถุงจาก 60 -90 วัน เหลือ 30 วัน การปรับลดราคาข้าวครั้งนี้จะมีผลไปถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ ส่วนการตรวจสต๊อกข้าวทั้งหมดจะเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 1.9 ล้านตัน จาก 2.1 ล้านตัน ยังไม่พบปัญหาข้าวหาย มีเพียงปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพเท่านั้น

***ตลาดซื้อขายล่วงหน้าคึกคัก
นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เปิดเผยถึง ปริมาณการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ประจำวันที่ 17 เม.ย. ว่า มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารวม 1,120 สัญญา คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาข้าวและยางพารา

สำหรับรายละเอียดของการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็นการซื้อขายสัญญาข้าวขาว 5% (BWR5) จำนวน 525 สัญญา แบ่งเป็นสัญญาข้าวส่งมอบเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนจำนวน 205 และ 257 สัญญา ตามลำดับ และสัญญายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) จำนวน 595 สัญญา โดยสัญญายางที่มีการซื้อขายมากที่สุด คือ สัญญายางส่งมอบเดือนพฤศจิกายน จำนวน 438 สัญญา

"จากราคาและปริมาณการซื้อขายข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายข้าวกลับมาแย่งส่วนแบ่งใน AFET ได้เกือบร้อยละ 50 นับเป็นการส่งสัญญาณในเชิงบวกให้กับการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร"

นายนิทัศน์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ AFET เปิดทำการหลังจากหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปรากฏว่ามีปริมาณการซื้อขายล่วงหน้าอย่างคึกคัก นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาทยอยสั่งซื้อขายมากขึ้น โดยสาเหตุสำคัญที่สินค้าข้าวมีการซื้อขายสูง น่าจะมาจากผลของการประมูลข้าวในประเทศฟิลิปปินส์ ที่นักลงทุนจับตามองมาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน และนโยบายในการส่งออกข้าวของไทย ทำให้มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่งผลให้ราคาข้าวสำหรับเดือนส่งมอบพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน ราคาสูงขึ้นถึงระดับราคาเพดาน (Ceiling Price) โดยมีราคาอยู่ในช่วง 31.00-31.99 บาท/กก.
กำลังโหลดความคิดเห็น