xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อข้าวถุงถูกในห้างได้ 2 เดือน“พาณิชย์”ลุยตรวจสต็อกทุกวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกข์คนไทย มีโอกาสได้ซื้อข้าวถุงราคาถูกในห้างแค่ 2 เดือน หลัง “มิ่งขวัญ”ทำได้แค่นี้ กล่อมยักษ์ค้าปลีกลดกำไรหลังร้านและเร่งจ่ายเงินค่าข้าวให้ผู้ผลิตข้าวถุง แทนที่จะแก้ทั้งระบบ เผยจากนั้น ก็ตัวใครตัวมัน เพราะจะกลับเข้าสู่วงจรเดิม ขณะที่“พาณิชย์”ลุยตรวจสอบสต๊อกทั้งของรัฐและเอกชน โดยพื้นที่เสี่ยง ตรวจทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ด้านผู้ส่งออกชี้ราคาข้าวมีแนวโน้มพุ่งต่อ แฉพ่อค้าตุนข้าวยอมถอยหวั่นข้าวนาปรังออกผล อินเดีย-เวียดนาม ทยอยออกมาอีกหวั่นราคาข้าวตลาดโลกลดลงฟันกำไรเหนาะๆในประเทศดีกว่า

นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยถึงการที่ห้างค้าปลีกยอมที่จะปรับลดกำไรหลังร้าน (แบ็ก มาร์จิน) ให้กับผู้ผลิตข้าถุงลง 3-10% เพื่อให้ราคาขายข้าวถุงลดลงในช่วง 2 เดือนนี้ ตามที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ขอความร่วมมือว่า ขณะนี้ทางผู้ผลิตข้าวถุงกำลังรอตัวเลขจากห้างค้าปลีกอยู่ว่าจะยอมปรับลดการเรียกเก็บค่าใช่จ่ายจากผู้ผลิตในส่วนใดลงมาบ้าง ซึ่งห้างบิ๊กซีน่าจะทราบผลเร็ว แต่เทสโก้โลตัส และคาร์ฟูร์ จะแจ้งผลให้ทราบในอีก 1 สัปดาห์

“การที่ห้างยอมปรับลดกำไรหลังร้านลง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะผู้ผลิตข้าวถุงเรียกร้องมานานแล้ว และที่ผ่านมา ได้ขอให้กรมการค้าภายในช่วยเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนต้องมีการยกร่างสัญญามาตรฐานสำหรับห้างค้าปลีกกับผู้ผลิตข้าวถุง เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตถูกห้างเอารัดเอาเปรียบ”

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตข้าวถุงยอมรับว่าการลดกำไรหลังร้าน และการลดระยะเวลาในการชำระค่าข้าวให้กับผู้ผลิตข้าวถุงเร็วขึ้นเป็น 30 วันนั้น จะช่วยลดต้นทุนของข้าวถุงมาลงได้ แต่ห้างจะดำเนินการเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.นี้เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าของห้างกับผู้ผลิต แต่ทางสมาคมฯ อยากให้มีการใช้สัญญามาตรฐานที่กรมการค้าภายในยกร่างโดยเร็ว เพื่อให้การค้ามีความเป็นธรรม และตรงนี้ช่วยลดต้นทุนได้มาก

รายงานข่าว แจ้งว่า สำหรับปัญหาข้าวถุงที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีราคาแพงนั้น เพราะผู้ผลิตข้าวถุงจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ แพงมาก ทั้งค่าแรกเข้า (เอนทรานซ์ฟี) ค่าส่วนลดการค้า (ดีเบต) และค่าโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตข้าวถุงเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้นานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งนายมิ่งขวัญได้ขอความร่วมมือจากร้านค้าปลีกสำเร็จ แต่ก็มีระยะเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น และหลังจากพ้นระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว ก็จะกลับเข้าสู่วงจรเดิม ทำให้ข้าวถุงมีราคาแพงเช่นเดิม ซึ่งจริงๆ แล้ว นายมิ่งขวัญควรจะแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแค่ 2 เดือน

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สำหรับการดูแลเพื่อไม่ให้ข้าวภายในประเทศขาดแคลนนั้น นายมิ่งขวัญได้สั่งการให้กรมฯ ออกตรวจสอบสต๊อกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวทั้งในสต๊อกของรัฐบาล และเอกชนจะมีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และการส่งออก โดยในพื้นที่สีแดง ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ที่มีการปลูกข้าวมาก มีสต๊อกจำนวนมาก และผู้ประกอบการโรงสีเป็นเครือข่ายเดียวกัน เช่น จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร ชัยนาท สุพรรณบุรี อยุธยา เป็นต้น จะออกตรวจสอบทุกวัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ อย่างในภาคอีสาน หรือภาคใต้ จะตรวจสอบทุกสัปดาห์

ส่วนสต๊อกของเอกชนนั้น ได้รับรายงานว่า มีทั้งสิ้น 2.16 ล้านตัน แบ่งเป็น ของผู้ส่งออก 835,000 ตัน โรงสี 1.63 ล้านตัน และท่าข้าว/ขายส่ง อีก 72,000 ตัน กรมฯ จะออกตรวจสอบด้วยเช่นกัน จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ส่งออก และโรงสีจะต้องรายงานปริมาณข้าวที่มีไว้ในครอบครองให้กรมฯ ทราบทุกเดือน โดยที่กรมฯ ไม่ได้ไปตรวจสอบสต๊อกว่ามีจริงตามที่รายงานมาหรือไม่ เพราะไม่ต้องการแทรกแซงการดำเนินงานของเอกชน แต่ปัจจุบัน จำเป็นต้องทำ เพื่อให้แน่ใจว่า ไทยจะมีข้าวบริโภคภายใน และส่งออกอย่างเพียงพอ แต่ผู้ส่งออกจะมีหน้าที่เพิ่มเติม คือ จะต้องดำรงสต๊อกไม่ต่ำกว่า 500 ตัน ในช่วงเวลาส่งออก หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่แจ้งสต๊อกต่อกรม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ นายยรรยงได้มีการเดินทางไปตรวจสอบสต๊อกข้าวของบริษัท ไทยฟ้า (2511) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าว ที่ย่านถนนสุขสวัสดิ์ โดยนายยรรยง กล่าวว่า บริษัทได้รายงานสต๊อกในครอบครองให้กรมทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีสต๊อกทั้งสิ้น 100,300 ตัน

นายพงษ์ชัย เศรษฐีวรรณ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยฟ้า (2511) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ส่งออกไทยไม่กล้ารับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในจำนวนมาก และขายล่วงหน้านานหลายเดือน อย่างมากที่สุดจะขายล่วงหน้าเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น เพราะราคาข้าวผันผวนมาก หากขายล่วงหน้านานก็จะขาดทุนมาก เชื่อว่า หากราคาข้าวยังปรับตัวสูงขึ้นอีก ผู้ซื้อต่างประเทศก็จะชะลอการสั่งซื้อจากไทย

ทั้งนี้ ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลซื้อข้าวสารจากต่างประเทศเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ จำนวน 500,000 ตัน บริษัทก็จะเข้าร่วมประมูลด้วย ซึ่งต้องเสนอราคาขายที่สูงขึ้นอีก จากครั้งก่อนที่บริษัทเสนอราคาซีแอนด์เอฟ (ราคาส่งออกรวมค่าประกันภัย และค่าระวางเรือ) ที่ตันละ 600 กว่าเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบัน ข้าวขาว 5% ตันละเกือบ 800 เหรียญ จากเมื่อเดือนม.ค.ที่ประมาณตันละ 350 เหรียญเท่านั้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวในประเทศและราคาส่งออกยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง และอาจจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป เพื่อรอดูสถานการณ์การประมูลซื้อขายข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 5 แสนตัน ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ผ่านพ้นไปก่อน เพราะผู้สต๊อกข้าวในประเทศจะใช้เป็นราคามาตรฐานของการส่งออกข้าวในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.

ในเดือนเม.ย. การส่งออกข้าวในแง่ปริมาณมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 6-7 แสนตัน/เดือน แต่ราคาเฉลี่ยส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ที่ส่งออกข้าวเฉลี่ยตันละ 900 เหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 1,200 เหรียญสหรัฐ ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ ณ วันที่ 9 เม.ย.2551 ราคาข้าวหอมมะลิในประเทศตันละ 34,000 บาท เพิ่มจาก 30,000 บาทในต้นสัปดาห์ ราคาส่งออก(FOB) 1,130 เหรียญสหรัฐ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ตันละ 26,000 บาท เพิ่มขึ้นอีกตันละ 2,000 บาทจากต้นสัปดาห์ ราคาส่งออก(FOB) 854 เหรียญสหรัฐ

รายงานแจ้งอีกว่า นางสาวณัฐฐิรา ลิ่ววรุณพันธ์ รองผู้อำนวยการองค์กรคลังสินค้า(อคส.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการอคส. ได้ออกคำสั่งห้ามหัวหน้าคลังสินค้ากลางอคส.เดินทางออกนอกพื้นที่หรือจนกว่าจะได้รับอนุญาต รวมทั้งให้เพิ่มความถี่และความเข้มงวดในดูแลสต๊อกข้าวภายในพื้นที่ หากละเมิดจะมีโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด โดยมีความกังวลต่อปัญหาความต้องการข้าวสูงและอาจเกิดการทุจริตหรือลักขโมย

เบื้องหลังพ่อค้าตุนข้าวยอมถอย

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าว กล่าวถึงการประชุมแก้ปัญหาข้าวถุงของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ขอความร่วมมือจากห้างโมเดิร์นเทรด ขอให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินมาเป็น 30 วันและยกเว้นค่าส่วนลดเพื่อหวังว่าต้นทุนราคาข้าวถุงจะลดลง 3-10 % ในช่วงเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งในที่ประชุมนายมิ่งขวัญ ได้พยายามชี้แจงข้อมูลให้กับผู้ประกอบการข้าวส่งออกซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับ ผู้ผลิตข้าวถุงที่มีการสต็อกหรือกักตุนข้าวไว้เพื่อส่งออก และเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาขายข้าวที่ส่งออกไปต่างประเทศถึง 2 เท่าตัว ทำให้ผู้ผลิตข้าวถุงไม่ยอมส่งข้าวถุงให้กับห้างโมเดิร์นเทรด โดยอ้างเงื่อนไขการชำระเงิน จึงต้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และให้ผู้สต็อกข้าวได้ทราบข้อมูลว่าในปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีข้าวนาปรังรุ่นที่ออกสู่ตลาดในรูปของข้าวเปลือกออกมาอีกกว่า 6 ล้านตัน และประเทศอินเดียและเวียดนามก็จะมีผลผลิตเริ่มออกมาอีก ทำให้ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศลดลง ส่งผลให้ราคาตลาดโลกลดลงด้วย จึงเป็นเหตุผลให้ผู้สต็อกข้าวยอมระบายข้าวออกมาในท้องตลาดในช่วงนี้

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าผู้ส่งออกข้าว จะต้องมีขั้นตอนส่งออกที่ยุ่งยาก ต้องของเปิดแอลซีการส่งออก และยังไม่รู้ว่าจะขายข้าวได้เงินเมื่อไหร่ แต่ถ้านำข้าวในสต้อกออกมาขายในประเทศทันที ก็จะทำให้ผู้ขายข้าวได้เงินทันที

“เหตุผลที่นายมิ่งขวัญกล่าวถึงข้าวนาปรังที่จะออกมา 6ล้านตันในปลายเดือนเมษายนนี้และผลผลิตของดินเดียและเวียดนามจะออกมาอีกเช่นกัน ทำให้ปริมาณต้องการข้าวในตลาดลดลงราคาจะลดลง แต่ถ้าขายในประเทศได้เงินสดแถมราคาดีทำให้ผู้กักตุนข้าวยอมระบายข้าวออกมาในท้องตลาดก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกมา”แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว

ผู้ว่าฯอุดรฯคาดข้าวจะมีราคาแพงสูงขึ้นอีก

นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปริมาณความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย จนเป็นเหตุให้ราคาข้าวโลกดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ราคาข้าวใน จ.อุดรธานี ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยตันละ 14,800-15,000 บาท และราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดขาว (ข้าวใหม่) มีราคาเฉลี่ยตันละ 11,000-11,200 บาท คาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นอีกจากความต้องการที่มีมากขึ้น

โดยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคเกษตรนับได้ว่ามีสัดส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากภาคค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งนอกจากราคาข้าวที่มีราคาสูงขึ้นแล้วในส่วนของพืชผลหลัก ๆ ทางการเกษตรของจังหวัดมีราคาปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อาทิ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน

จึงทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าเพิ่ม (Value Added) สาขาเกษตรเพิ่มสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) มีมูลค่าเพิ่มตามไปด้วย จากสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นนี้ ทำให้รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น เมื่อรายได้มากขึ้นการบริโภค การจับจ่ายใช่สอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ เกิดการลงทุนและการจ้างงานตามมา ส่งผลเศรษฐกิจของจังหวัดมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น