xs
xsm
sm
md
lg

“มิ่งขวัญ” ฟุ้งเตรียมจับเข่าคุย อินเดีย-เวียดนาม ตั้งโอเปกข้าวกำหนดราคาโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.พาณิชย์
“มิ่งขวัญ” เรียกผู้ค้าข้าวหารือเสาร์นี้ ฟุ้งเตรียมจับเข่าคุย อินเดีย-เวียดนาม ตั้งโอเปกข้าวกำหนดราคาโลก อ้างรูปแบบตลาดหุ้น ยุชาวนาชิงขายข้าวก่อนราคาจะตก โยน กขช.กำหนดราคาข้าวถุงก่อนทยอยขายข้าวให้ ปชช.ได้ภายในเดือนหน้า

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสด นาย มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รมว.พาณิชย์ เรื่อง การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ข้าวขาดตลาดและราคาสูง ว่า การที่ รมว.พาณิชย์ ออกมาส่งสัญญาณถึงราคาข้าวที่จะสูงถึง 3 หมื่นบาทต่อตัน ทำให้เกิดการกักตุนข้าว รวมทั้งส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นและข้าวขาดตลาด รวมถึงมาตรการที่จะนำข้าวในสต๊อกมาจำหน่ายให้ประชาชน 2.1 ล้านเป็นเป็นอย่างไร จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร ไม่ให้สภาพตลาดข้าวมีการกักตุน หรือเกิดภาวะข้าวขาดตลาด

นายมิ่งขวัญ ชี้แจงว่า ไทยมีผลผลิตข้าวสารต่อปี 20-20.5 ล้านตันต่อปี โดยคนไทยบริโภคประมาณ 6.6 ล้านตัน และอีก 4 ล้านตันเก็บไว้เพื่อสำรองเวลาขาดแคลนข้าว รวมถึงทำเป็นข้าวต้นพันธุ์ จึงยังเหลือข้าวที่สามารถส่งออกได้อีกประมาณ 8-9 ล้านตัน และเนื่องจากอินเดียและเวียดนามซึ่งเป็นประเทศส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2และ 3 ของโลกรองจากไทยประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ประเทศต่างๆ วิ่งมาหาข้าวในตลาดของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การที่ออกมาแนะนำให้ชาวนาขายข้าว เมื่อราคาสูงถึงตันละ 3 หมื่นบาท เนื่องจากตนมองเหมือนตลาดหุ้นว่าขณะนี้ราคาถึงจุดที่คุ้มค่าจะขายแล้วจากเดิมที่ราคาอยู่ที่ตันละ 6.5-7 พันบาทต่อตัน ซึ่งมีกำไรพอสมควร จึงไม่ควรรอต่อไป อีกเนื่องจากฤดูการเก็บเกี่ยวครั้งใหม่กำลังมาถึงอาจส่งผลให้ราคาข้าวต่ำลง ขณะที่ อินเดีย เวียดนามก็กำลังจะมีผลผลิตออกมาจำนวนมากจนอาจส่งผลต่อราคาขายข้าวไทยในปัจจุบันได้

“การที่ผมออกมาพูดเรื่องราคาข้าว เพราะอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างอย่างสุจริตโปร่งใส ทุกคนได้รู้ข้อมูลทั้ง 3 กลุ่ม คือ พ่อค้าผู้ส่งออก ชาวนา และ ประชาชนทั้งประเทศ โดยก่อนที่จะเปิดเผยเรื่องนี้ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญเรียบร้อยแล้ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมทำด้วยความบริสุทธิ์โปร่งใส ผมก็พร้อมที่จะทำแม้จะถูกตำหนิ” นายมิ่งขวัญ กล่าว

นายสาธิต ถามต่อว่า รัฐบาลจะสามารถขายข้าวให้โรงสี ได้ในราคาเท่าใดและผู้ส่งออกจะขายข้าวได้ในราคาเท่าไหร่ เนื่องจากปัจจุบันข้าวเปลือกความชื้น 15% มีราคาตันละ 1.2 หมื่นบาท ส่วนความชื้น 24% ตันละ 1.1 หมื่นบาท แต่ปัญหา คือ ชาวนาไม่มีสถานที่จัดเก็บและตากแห้งให้ได้ความชื้นมาตรฐาน รวมถึงต้นทุนการผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะราคาปุ๋ย และกระทรวงเกษตรยังห้ามเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังโดยอ้างว่าขาดแคลนน้ำ ซึ่งโดยตรรกะแล้วเป็นไปไม่ได้เพราะขณะที่ข้าวมีราคาดีกลับสั่งให้หยุดปลูกข้าว จึงอยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการวางแผนระยะยาวอย่างไรให้ราคาข้าวสูงเช่นนี้ตลอดไป

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่สิ่งที่ต้องคำนึง มี 5 ปัจจัย คือ 1.ราคาขายปลีก 2.การส่งออก 3.ปริมาณการข้าวที่ออกในฤดูการใหม่ 4.ข้าวที่จะต้องสำรองเพื่อให้คนในประเทศบริโภค และ 5.ปริมาณข้าวที่จะส่งออกเป็นอย่างไร ซึ่งในวันเสาร์ที่ 5 เม.ย.ตนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวทั้งหมดมาหารือ เพื่อหามาตรการรายละเอียดต่างๆ ต่อไป ส่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรในเรื่องปุ๋ยนั้น เราได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะดูแลชาวนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ขายข้าวได้ในราคาดีที่สุด และถ้าเป็นไปได้อาจจะมีการประชุมร่วมระหว่างไทย อินเดีย และ เวียตนาม และหากโชคดีอาจทำแบบโอเปค ที่จะเป็นผู้กำหนดราคาข้าวโลก

นายสาธิต ถามต่อว่า ในส่วนของข้าวในสต๊อก 2.1 ล้านตัน ที่รัฐบาลรับจำนำมาจากเกษตรกร และรัฐบาลจะนำมาบรรจุถุงขายให้ประชาชนบริโภค มีนโยบายอย่างไรในการนำข้าวไปจำหน่าย โดยเฉพาะการบริหารเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตและผลประโยชน์ตกอยู่กับคนบางกลุ่ม และจะทำอย่างไรเพื่อทำให้กำไรที่ได้จากการขายกลับคืนมายังชาวนา

นายมิ่งขวัญ ชี้แจงว่า กรณีข้าวที่อยู่ในสต๊อก 2.1 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลจะนำออกมาจำหน่ายให้ประชาชนนั้น ขณะนี้ได้บรรจุถุงแล้วรอจำหน่ายให้ประชาชน โดยจะขายในราคาต้นุทน ไม่บวกกำไร ส่วนการจัดจำหน่ายจะไม่ตั้งตามห้างสรรพสินค้า แต่จะผ่านทางมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด อบต. อบจ. และให้พาณิชย์จังหวัด และ ส.ส.ในพื้นที่ช่วยกันตรวจสอบความโปร่งใส

“มาตรการที่ง่ายที่สุด คือ การเปิดประมูล แต่จะมีอันตรายและเสี่ยงต่อปัญหาความไม่โปร่งใส แต่หากไม่ใช้วิธีการประมูลจะใช้วิธีการแยกข้าวออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งเก็บไว้ อีกส่วนหนึ่งบรรจุขายให้ประชาชน โดยจะจัดจำหน่ายในราคาทุนและทำให้เกิดความโปร่งใสและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนจะจัดจำหน่ายในราคาเท่าใด นั้น จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง เพราะราคาข้าวที่รับจำนำมามีสองช่วง ทั้งรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีราคาไม่เท่ากันจึงต้องนำมาถัวเฉลี่ยเพื่อกำหนดเป็นราคาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน”
กำลังโหลดความคิดเห็น