ศูนย์ข่าวขอนแก่น – เปิดละครชีวิตชาวนา “ทุ่งกุลาร้องไห้” วันนี้ยังอับโชค แม้ราคาข้าวพุ่งแต่กลับไม่มี “หอมมะลิ” ขาย ทั้งยังต้องผจญกับ “แล้งซ้ำซาก” ทำลายนาข้าวรอบใหม่ อาจต้องก้มหน้าแบกหนี้กันต่อ ต่างจากชีวิตชาวนาในเขตชลประทานหลายพื้นที่ ล่าสุดเริ่มลืมตา อ้าปากได้บ้าง พร้อมความหวังในชีวิตใหม่
แม้ราคาข้าวทั้งตลาดใน-ต่างประเทศ จะพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ก็ตาม แต่สำหรับเกษตรกรชาวนาที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่กินพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคอีสาน ทั้งสุรินทร์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย บางส่วนกลับไม่ได้ดีขึ้นเหมือนราคาข้าว วงจรชีวิตของพวกเขาส่วนใหญ่ ยังต้องวนเวียนกับ “หนี้สิน” เมื่อต้องผจญกับต้นทุนที่พุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว – ภัยแล้งที่รุนแรง แถมยังไม่มีข้าวจะขาย ต้องตั้งตารอความหวังในการทำนารอบใหม่ปีนี้
ดูเหมือนจะมีเพียงชาวนาในเขตชลประทานเท่านั้น ที่พอลืมตา อ้าปากได้สำหรับวิกฤตราคาข้าวเที่ยวนี้ ที่ไร้ต้นทุนค่าสูบ – ซื้อน้ำเข้านา เช่น ที่เมืองน้ำดำ : กาฬสินธุ์ ที่เกษตรกรชาวนาหลายคนมีความหวังกันมากขึ้น ที่จะปลดเปลื้องหนี้สิน มีทุนส่งลูกเรียนสูง ๆ พร้อม ๆ กับความฝันที่ว่า อาชีพชาวนา ของพวกเขา จะเป็นอาชีพที่ “ทรงเกียรติ” ยิ่งขึ้น
ทุ่งกุลาฯวันนี้ยังมีเสียงร่ำไห้
นายวิจิตร เพ็ญจันทร์ ชายวัยกลางคนที่ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรมาหลายสิบปี ในพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เล่าว่า เขามีที่นาข้าวหอมมะลิทั้งหมดประมาณ 40 ไร่ ฤดูทำนาที่ผ่านมาสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด 3 อุ้ม เฉลี่ยอุ้มละ 20-25 กระสอบ กระสอบละ 90 กิโลกรัม รวมผลผลิตทั้งหมดประมาณ 6,700 กว่ากิโลกรัม แต่ต้องขายไปตั้งแต่ราคาข้าวอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาทแล้ว
ทั้งนี้ หากขายข้าวในราคากิโลกรัมละ 10 บาท หักค่าความชื้นแล้ว เหลือเงินประมาณ 7 บาท/กิโลกรัม เมื่อนำมาหักต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าขนส่งต่าง ๆ ชาวนาก็ไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว กลุ่มที่ไม่มีหนี้สิน หรือมีน้อย ก็พออยู่ได้ แต่คนที่มีหนี้สินมาก ก็หนักเหมือนเดิม
“แม้วันนี้ ข้าวหอมมะลิจะมีราคาสูงถึง 16 บาท/กก. แต่ข้าวส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรแล้ว เพราะส่วนมากเมื่อได้ผลผลิต ก็จะขายกันทันทีเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ให้ทันตามกำหนด จะเหลือเพียงพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้เพื่อปลูกในฤดูต่อไปเท่านั้น”
เขาบอกว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่าราคาข้าวพุ่งสูงอย่างนี้ ชาวนาได้ดีแน่ แต่สำหรับเกษตรกรทุ่งกุลาร้องให้ ส่วนใหญ่แล้ว ยังหนีไม่พ้นวงจรหนี้สิน เพราะนอกจากจะไม่มีข้าวในมือมาขายช่วงที่ราคาพุ่งแล้ว หลายครอบครัวต้องเอาข้าวที่เก็บไว้ทำพันธุ์ออกมาขายไปก่อน เพื่อหาเงินมาใช้หนี้เก่า เมื่อถึงฤดูปลูกข้าว ก็ต้องวิ่งไปซื้อข้าวแพงๆ มาทำพันธุ์แทน จะหวังพึ่งรัฐก็ไม่ได้ เพราะพันธุ์ข้าวรัฐก็ต้องซื้อในราคาสูงเหมือนกัน
นายวิจิตร บอกว่า สิ่งที่เขาอยากเห็นก็คือ ให้รัฐบาลช่วยผลักดันราคาข้าวขึ้นสูงในช่วงจังหวะที่เกษตรกรมีข้าวอยู่ในมือ ซึ่งถ้าสถานการณ์ราคาข้าวยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ในฤดูทำนาต่อจากนี้ ชาวนาในทุ่งกุลาร้องไห้ ก็อาจจะเห็นหน้า เห็นหลังกันได้ เพราะที่ผ่านมาคนที่ได้ดีก็มีเฉพาะพ่อค้าคนกลางเท่านั้น
ปี 51 แล้ง/หอมมะลิพยัคฆภูมิพิสัยสูญแล้วร่วม 50%
ไม่เพียงเท่านั้น อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 1 ใน 13 อำเภอ ของจังหวัดมหาสารคาม ยังเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดอำเภอหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่การทำนาทั้งหมด 14 ตำบล รวมกว่า 339,159 ไร่ เฉพาะในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ครอบคลุม 9 ตำบล พื้นที่กว่า 130,000 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของมหาสารคาม ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเกือบทั้งหมด
โดยเฉพาะฤดูกาลผลิตปี 2550/2551 เสียหายไปแล้วกว่า 5.6 หมื่นไร่ คงเหลือพื้นที่นาข้าวหอมมะลิที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เพียง 5.4 หมื่นไร่เศษเท่านั้น ได้ผลผลิตประมาณ 1.9 หมื่นตัน ผลกระทบที่ชัดเจนคือผลผลิตต่อไร่ลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อปีก่อนที่ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ อ.พยัคฆภูมิพิสัย ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ - ระดับโลก ในฐานะที่เป็นแหล่งที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง
นายวีรพล สุพรรณไชยมาตย์ นายอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ปีนี้ส่อเค้าจะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 14 ตำบล กว่า 200 หมู่บ้าน มีชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยกว่า 80,000 ราย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอำเภอได้ทุ่มงบ 2 ล้าน 7 แสนบาทให้ความช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นอกจากนี้ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ครอบคลุม 9 ตำบลของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เนื้อที่กว่า 1.2 แสนไร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญที่และมีชื่อเสียงของจังหวัด เกษตรกรก็ยังต้องผจญกับปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวฤดูต่อไปจะสูงขึ้น จากความผันผวนของราคาน้ำมัน - ปุ๋ยเคมี จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด สถานีพัฒนาที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ จึงได้รณรงค์ให้เกษตรกรหันไปใช้น้ำหมัก ปุ๋ยหมักชีวภาพ และไถกลบตอซัง เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมต่อการปลูกข้าวและเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยาวต่อไป
ขณะที่นายณรงค์ งามพริ้ง ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการเก็บเกี่ยวข้าวรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2550/2551 แต่จากสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกโดยทั่วไปมีราคาสูงและใกล้เคียงกับราคาเปิดรับจำนำ ส่งผลให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพียง 698 ราย มีปริมาณข้าวเปลือก 3,900 กว่าตัน
อย่างไรก็ตาม จากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิพุ่งไม่หยุด ขยับราคาซื้อขายเป็นรายวัน ล่าสุดราคารับซื้อที่โรงสีและแหล่งรับซื้อในพื้นที่ สูงถึงตันละ 16,000 บาท ส่งผลให้เกษตรกรแห่นำข้าวไปจำหน่าย รวมถึงไถ่ถอนข้าวที่จำนำแบบยุ้งฉางไว้กับ ธ.ก.ส.ไปจำหน่าย ก่อนนำเงินไปชำระหนี้ ที่ธ.ก.ส.โดยมีหนี้สินเฉพาะเกษตรกรที่เป็นลูกค้าในพื้นที่ของปีนี้รวมทั้งสิ้น 3,512,004,640 บาท ล่าสุดเกษตรกรสามารถชำระหนี้สินไปแล้ว กว่าร้อยละ 96 ของยอดหนี้สิน
ชลประทานไทยคือลมหายใจชาวนา
ขณะที่เมืองน้ำดำ – กาฬสินธุ์ ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วจังหวัด 500,000 กว่าไร่ กลับโชคดี เมื่อช่วงจังหวะที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับผลผลิตข้าวนาปรังของชาวนาอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่เริ่มเห็นอนาคต หลังจากที่ต้องขาดทุนซ้ำซากมาหลายชั่วคน พร้อม ๆ ความหวังใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในใจว่า จากนี้ไป “เกษตรกรชาวนา” จะเป็นอาชีพที่น่าอภิรมย์ - มีเกียรติมากขึ้นเรื่อยๆ
นายชัย ภูนาชัย อายุ 50 ปี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวบ้านเลขที่ 36 บ้านตูม ม.4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า เขาเองไม่มีที่ดินทำกิน ต้องเช่าที่นาคนอื่นทำมาเป็นเวลากว่า 10ปีแล้วในอัตราค่าเช่า 1 ใน 3 ของผลผลิตที่ได้ ซึ่งพื้นที่นาแปลงดังกล่าวมีจำนวน 15 ไร่ โชคดีที่อยู่ในเขตชลประทาน จึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปี - นาปรัง ได้ผลผลิตครั้งละประมาณ 600 ถัง โดยข้าวที่ได้นั้น จะแบ่งขายส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เก็บไว้กิน
นายวินัย ญาณสาร ชาวนาอ.เมืองกาฬสินธุ์ กับแปลงข้าวนาปรัง 40 ไร่ ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นหลังข้าวเปลือกขึ้นราคา ช่วงปีก่อน ๆ การทำนาประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งค่าน้ำมันรถไถเดินตาม ค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ค่าแรงถอนต้นกล้า-ปักดำ-เกี่ยวข้าว ผลผลิตที่ได้จึงไม่คุ้มทุน และราคาข้าวก็ตกต่ำ โดยจะนำไปจำหน่ายที่ตลาดกลางรับซื้อข้าวในราคาตันละ 6-8 พันบาทเท่านั้น รายได้จึงไม่พอที่จะเหลือเก็บ ต้องกู้เงิน ธ.ก.ส.มาเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เช่น ค่าเทอมลูกที่กำลังเรียนระดับอนุปริญญาและชั้นมัธยม 2 คน ซึ่งขณะนี้ยังเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านจำนวน 1 หมื่นบาทและเป็นหนี้ธ.ก.ส.อีก 5 หมื่นบาท
แต่พอทราบว่าข้าวขึ้นราคา ก็มีความหวังว่าอนาคตคงจะดีขึ้น โดยจะนำข้าวนาปรังที่มีอยู่ไปขาย เหลือไว้พอกินบ้างเท่านั้น เชื่อว่าในราคาระดับนี้ จะทำให้มีเงินพอที่จะเหลือเก็บ - เป็นทุนการศึกษาให้ลูกต่อไป
ขณะที่นายวินัย ญาณสาร อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 196 บ้านโนนแพง หมู่ 15 ต.ลำพาน อ.เมือง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกรายหนึ่งกล่าวว่า มีที่นา 40 ไร่ โดยจะทำทั้งนาปี - นาปรัง ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละประมาณ 600 ถัง รวมประมาณ 24,000 ถัง ที่ผ่านมาผลผลิตที่ได้จะแบ่งขายที่ตลาดกลางรับซื้อข้าวบ้าง และจำหน่ายให้กับพ่อค้าเร่ที่มารับซื้อถึงที่บ้าง เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือน – ใช้หนี้ ธ.ก.ส.และเป็นทุนการศึกษาของลูก 3 คน
แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูง โดยเฉพาะราคาปุ๋ยที่ปีนี้ราคาแพงถึงถุงละ 800-900 บาท ค่าแรงวันละ 120-150 บาท เมื่อรวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ยยาแล้ว จะตกไร่ละประมาณ 1 หมื่นบาท เป็นต้นทุนที่สูงมาก บางปีประสบปัญหาภัยแล้งก็ทำให้ขาดทุน ในระยะ 4-5 ปีหลัง ๆ จึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากการทำนาดำเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็หันมาทำแบบนาหว่าน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ก็พอที่จะประยัดค่าใช้จ่ายลงบ้าง
“ถ้าข้าวราคาสูงอย่างนี้ต่อไป ถือเป็นโชคดีของชาวนา และจะทำให้อาชีพเกษตรกรทำนา เป็นอาชีพที่น่าทำ มั่นคงมากขึ้น เพราะมีรายได้แน่นอน มีกำไร สามารถก่อร่าง สร้างตัวได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ไม่ต้องมีหนี้สินพอกพูนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา”
นายวินัย บอกว่า ในมุมมองของเขา เชื่อมั่นว่า อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพราะสามารถที่จะสร้างผลผลิตคือข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนทั้งโลก นำไปหล่อเลี้ยงชีวิตคนทั้งโลกได้ แต่ถ้าจะให้ดีนั้น ขณะที่ราคาข้าวขึ้นสูงอย่างนี้ รัฐต้องเข้ามาช่วยควบคุมเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ช่วยพลิกฟื้นฐานะชาวนาไทยได้ เพราะกว่า 90%ของชาวนาไทยมีฐานะยากจน – หนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาราคาข้าวตกต่ำมาตลอดสูงสุดไม่เคยเกิน 9 พันบาท/ตัว แต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไม่หยุด
“ถ้าราคาข้าวยืนอยู่อย่างนี้ตลอด ก็คงช่วยให้พวกเขาปลดหนี้ได้ จะทำให้อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มีความสุข มีเกียรติ เป็นอาชีพที่สามารถสร้างให้สังคมแข้มแข็ง มีแรงส่งเสียลุกเรียนสูง ๆ ได้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ”
สำหรับตัวเขาเอง ไม่ขออะไรมาก หากปีนี้ขายข้าวได้กำไร ก็จะนำเงินมาใช้หนี้สินที่ค้างชำระกับ ธ.ก.ส. และแบ่งบางส่วนมาซ่อมแซมบ้านที่ทรุดโทรม และซื้อวัวมาเลี้ยงสัก 2-3 ตัว เหลือจากนั้นก็จะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกได้เล่าเรียน – ใช้สอยในครอบครัวยามเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น
ด้านนายอภิเดช ธรรมโนจิต ผู้จัดการตลาดกลางรับซื้อข้าวจังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวว่า หลังจากข้าวตลาดโลก มีการปรับขึ้นราคา ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าว ทั้งข้าวสารและข้าวเปลือกตามท้องตลาดทั่วไป ในส่วนของตลาดกลางรับซื้อข้าวฯแห่งนี้ ที่เป็นแหล่งรับซื้อขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ปกติเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ชาวนาจะนำข้าวนาปีที่เหลือในยุ้งฉาง รวมทั้งจะนำข้าวนาปรังที่เพิ่งเก็บเกี่ยว มาจำหน่ายที่ตลาดกลางฯเป็นจำนวนมาก แต่ช่วงนี้กลับเงียบเหงา ปริมาณข้าวที่นำมาจำหน่ายลดลงกว่าระดับปกติถึง 50% เนื่องจากชาวนาเริ่มกักตุนข้าวเปลือก เพื่อรอดูทิศทางตลาด ที่คาดว่าราคาจะไต่ระดับขึ้นอีกเล็กน้อยในอีก 2-3 สัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการตลาดกลางรับซื้อข้าวตลาดกลางฯกล่าวว่า เพื่อที่ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาดี มีกำไร ควรควบคุมคุณภาพข้าวด้วยตนเอง โดยคัดเลือกพันธุ์ข้าวปลูกที่มีคุณภาพ ไม่มีการปลอมปนระหว่างสายพันธุ์ ก่อนนำมาจำหน่ายควรตากให้ข้าวแห้ง - มีความชื้นน้อยที่สุด เพื่อจะได้ไม่ถูกหักราคาและทำให้คุณภาพข้าวลดลง