xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่ชีวิตชาวนาไทยยุควิกฤตข้าว(1) วันนี้ได้ปลดหนี้ธ.ก.ส.-หนี้นอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการ ทำให้วันนี้ ชาวนาไทยได้เริ่มปลดนี้จากธ.ก.ส.แล้ว
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ตีแผ่ชีวิตชาวนาไทยยุควิกฤตข้าว ชี้วันนี้เริ่มได้ลิ้มรสเบียร์กลางทุ่ง ระหว่างรอเกี่ยวข้าว รวมถึงน้ำปลายี่ห้อดัง พร้อมทยอยปลดหนี้เก่า ธ.ก.ส.ได้กันเสียที วาดหวังหลังจากนี้ชีวิตชานาจะสามารถปลดแอกจากหนี้นอกระบบ ที่ขูดดอกเบี้ยโหดตั้งแต่ร้อยละ 3-20 ต่อเดือนได้ หลังราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนยังหวาดหวั่นกับปัญหาราคาปุ๋ย-น้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัวจะแซงหน้าราคาข้าว จนต้องกลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง ขณะที่ “คูโบต้า” ขายดิบ ขายดีในภาคเหนือตอนล่าง จี้รัฐกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าวไทย การันตีรายได้เกษตรกร แทนทุ่มงบทำ SML-โครงการประชานิยม

ชาวนาวันนี้-จิบเบียร์รอเกี่ยวข้าว
ลุยปิดหนี้ ธกส.-หวังหนีเงินนอกระบบได้

ในห้วงที่ราคาข้าวในตลาดทั้งใน – ต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ จนเป็นที่คาดหวังกันว่า เกษตรกรชาวนาจะลืมตาอ้าปากกันได้ หลังจากที่หลายทศวรรษของการทำนาที่ผ่านมา มีแต่ทุนหาย-กำไรหด
นายประจวบ พวงเงิน อายุ 58 ปี เลขที่ 15/1 หมู่ 10 ต.วังวิทก อ.บางระกำ พิษณุโลก เปิดเผยว่า ทำนาทุกปีก็เพราะไม่รู้ทำอาชีพอะไร ที่ผ่านมาก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ ได้มาก็ใช้ไป ต้องเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ( ธ.ก.ส.)อยู่ทุกปี จะมีก็ปีนี้ ที่ข้าวเปลือกราคาดี แต่ราคาปุ๋ยก็ปรับขึ้นถุงละเป็นพันบาทต่อ จากเดิมแค่ 400 บาทเท่านั้น

เขาบอกว่า มีที่นาอยู่ 50 ไร่ เหลือเก็บเกี่ยวอีก 20 ไร่ก็หมดแล้ว ซึ่งเงินที่ได้จากขายข้าวมา 200,000 บาทก็ยังไม่เหลือ จะต้องไปจ่ายหนี้ ธ.ก.ส.อีก หากจะทำนารอบใหม่ก็ต้องไปกู้ ธ.ก.ส.มาอีก หมุนเวียนกันไป ทำให้ไม่รู้ต้นทุนต่อไร่แน่นอน แต่ถ้าขายข้าวเกวียนละ 5-6,000 บาทเหมือนปีที่แล้ว ก็มีไม่เงินเหลือ เพราะทุกอย่างขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้เขตบางระกำไม่สามารถทำนาปีได้ น้ำท่วมทุกปี ฉะนั้นจะต้องมีค่าน้ำมันดีเซลสูบน้ำบาดาลมาทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง

ปีนี้ นับว่าดีหน่อย มีเงินที่เหลือจากชำระหนี้ ธ.ก.ส.เก็บไว้ในบัญชีส่วนหนึ่ง ส่วนเงินที่กู้จาก ธ.ก.ส.ก็ยังต้องกู้ต่อไป จะต้องสร้างเครดิตให้ดีสำหรับกู้เงินครั้งต่อไปด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ปี หากเงินขาดมือจะต้องเสียเงินนอกระบบร้อยละ 3 ต่อเดือนซึ่งไม่คุ้มกัน ฉะนั้นต้องกู้ ธ.ก.ส.ต่อ

ส่วนจะชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น จะออกรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ก็หวังให้เป็นอย่างนั้น แต่วันนี้เงินที่ได้จากการทำนาก็ต้องเลี้ยงดูครอบครัวขนาดใหญ่อยู่

“ยอมรับว่าพอมีเงินเหลือบ้าง พอมีฐานะกินเบียร์ไปพลางๆ รอรถเกี่ยวข้าว แต่ก็ยังต้องสูบยาเส้นอยู่”

เช่นเดียวกันกับนายวรรค์ อมูล ผู้ใหญ่บ้านห้วยแก้ว เลขที่ 249/3 ม. 1 ต.ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง จ.พิจิตร บอกว่า นาที่น้ำเข้าถึง เดี๋ยวนี้ไม่มีให้ทำแล้ว กระแสราคาข้าวราคาพุ่ง ทำให้แย่งที่นากัน ทำให้ค่าเช่านาขยับขึ้นทันทีจาก 300 บาทเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นไร่ละ 500 บาทต่อ 1 ครั้งของการทำนา ล่าสุดปรับขึ้นไร่ 1,000 บาทต่อการทำนา 1 ครั้ง ซึ่งเจ้าของที่นาเป็นคนในพื้นที่ เช่น คนแก่หรือคนลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ไปกรีดยางภาคใต้ ทำให้ไม่มีใครทำนา ก็ปล่อยให้คนในหมู่บ้านเช่า สำหรับราคาที่นาจะขยับขึ้นหรือไม่นั้น คิดว่ามีบ้างจากไร่ละ 2 หมื่นเศษอาจขยับเป็นไร่ละ 3 หมื่นบาท
แม้ราคาข้าวจะสูงลิ่ว สร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวนา แต่ปัญหาที่กำลังตามมา คือ ราคาปุ๋ย ที่ขยับตัวตามราคาข้าวแล้ว
นายวรรค์ บอกว่า ส่วนตัวมีนาเป็นของตนเองร่วม 100 ไร่ ถือว่าฐานะดีกว่าคนอื่น แต่ก็ต้องกู้เงินจาก ธ.ก.ส.อยู่ดี เพราะต้องเอาเงินนับแสนมาหมุนเวียนทำนา ที่ผ่านาขายข้าวครั้งที่ผ่านมาเกวียนละ 11,000-12,000 บาทก็ไปปิดหนี้เก่าที่กู้มา หากได้เงินจากการปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่นี้ ก็เข้าใจว่า จะมีเงินเหลือเก็บบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่จะได้ดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวราคาดีกว่าเดิมมากอย่างนี้ ก็ยังไม่เห็นชาวนาบึงนารางคนไหนถอยรถป้ายแดงออกมา ที่อื่นๆไม่รู้ แต่ที่นี่ส่วนใหญ่กำลังใช้หนี้เก่ากันหมด หลังจากนี้ทุกคนน่าจะสบายมากขึ้น ถ้าข้าวยังราคาดีอยู่อย่างนี้”

นายพายุ ศรีนวล เกษตรกรผู้ปลูกข้าว บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 9 ต.ท่าฉนวน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย บอกว่า ปีที่แล้วเขาขายข้าวได้เกวียนละ 5-6,000 บาท หักค่าน้ำมัน – ปุ๋ยแล้ว เหลือกำไรบ้างเล็กน้อย ปีนี้ (51) ราคาข้าวที่พึ่งขายไปเมื่อเดือนที่แล้ว 9,200 บาท/เกวียน เมื่อหักต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ทั้งน้ำมัน และปุ๋ย ที่แต่เดิมใช้อยู่ที่ 3 พันกว่าบาท/ไร่ เป็น 5-6 พันบาท/ไร่ ก็ยังมีกำไรอยู่บ้าง

เช่น ปลูกข้าวนาปรัง 8-10 ไร่ (คำนวณผลผลิตตัวเลขกลมๆสูงสุด 100 ถังต่อไร่) จะขายข้าวได้ 80,000 บาท หักค่าปัจจัยการผลิตแล้วเหลือกำไรอยู่ 40,000 บาท ในเวลา 3 เดือน นำมาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว แต่คำว่า นาปรังที่นี่ก็ทำได้ครั้งเดียว ไม่เหมือนบางพื้นที่ ส่วนนาปีต้องเสี่ยงกับคำว่า น้ำท่วม ถ้าท่วมเมื่อไร ก็หมดตัวเมื่อนั้น ไม่เหลืออะไร ปีนี้ก็เพิ่งจะได้ดี แต่ก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย เพราะข้าวของทุกอย่างขึ้นมาแพงทั้งหมด

ร้องรัฐช่วยด่วน-ชี้ปุ๋ย “โค-ต-ร”แพง

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เกษตรชาวนาทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้รัฐบาลช่วยลดราคาปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน และอยากเห็นราคาข้าวสัก 15,000 บาท
ทัน ฉาวบุตร ชาวนา อ.วังทอง พิษณุโลก กับนาข้าวที่แกหวังว่า จะทำให้วันนี้ได้ลืมตาอ้าปากกับคนอื่นเขาบ้าง
นายทัน ฉาวบุตร อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่ 9 ต.วังพิกุล อ.วังทอง พิษณุโลก เปิดเผยว่า แม้ราคาข้าวเปลือกที่ปรับสูงขึ้น แต่ราคาปุ๋ย(ยูเรีย)ก็ขึ้นเกือบระดับ 900 บาทต่อถุง เขามีที่นาอยู่ 70 ไร่เก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงไม่ 10 ไร่เท่านั้น เพราะต้องขายไปตั้งแต่ไร่ละ 8,000 – 9,000 บาท/เกวียน ล่าสุดเพิ่งขายข้าวขาวพันธุ์ชัยนาทเกวียนละ 9,400 บาท ปัจจุบันกำลังหว่านกล้านาปรังรอบใหม่ประมาณ 17 ไร่ ลงทุนไปแล้วร่วม 2 หมื่นบาท

“ปกติการทำนาไม่สามารถคำนวณต้นทุนข้าวต่อไร่ละเอียด เพราะต้องทำนาหมุนเวียนกับไปทุกปี ตัวเลขคร่าวๆ คือ ลงทุน 2 ส่วน ชาวนาได้ 1 ส่วน ต้นทุกหลักๆ ของการทำนาปรัง คือ น้ำมันดีเซลและปุ๋ย นอกจากนี้ในเขตวังพิกุล อ.วังทอง ทำนาปีไม่ได้ น้ำท่วมทุกปี ต้องทำนาปรัง แม้จะมีต้นทุนค่าสูงในการสูบน้ำบาดาลมาเลี้ยงข้าว แต่ก็ยังพอมีกำไร แต่ถ้าต้องไปเช่าที่ทำนา กำไรก็น้อยลง”

นายทัน บอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ราคาข้าวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างนี้ เขาหวังว่า การทำนารอบใหม่จะทำให้ลืมตาอ้าปากได้เสียที ล่าสุดลูกสาวที่ออกไปทำงานค้าขาย ได้กลับมาช่วยครอบครัวทำนา เพราะเห็นราคาข้าวดี โดยจะเรียกคืนผืนนาที่ให้เขาเช่าทำอยู่ในราคา 500 บาท/ไร่/ปี คืนมาทำเองด้วย รวมทั้งจะเน้นข้าวสายพันธุ์ข้าวที่ได้ราคา อย่างพันธุ์ชัยนาท ที่สามารถขายสูงว่าข้าวขาวปกติเกวียนละ 500 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการช่วยชาวนาจริง ๆ ก็ขอให้ช่วยหาทางลดราคาปุ๋ย เร่งรัดการขุดลอกคลองชลประทานเขื่อนแควน้อย ทำคลองซอย จาก อ.วัดโบสถ์ ไปยังอำเภอวังทอง เพื่อให้การทำนาปรังครั้งต่อไปจะได้ไม่เสียต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลสูบน้ำบาดาล รวมทั้งสามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้งอย่างสบายๆด้วย

“ก็หวังกันอยู่ว่า เมื่อราคาข้าวเพิ่มขึ้นอย่างนี้ จะช่วยให้ความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น พอได้กินน้ำปลาราคาแพงๆ อนาคตจะได้ก่อสร้างบ้านใหม่ได้”

เช่นเดียวกับนางราตรี บัญฑิต วัย 48 ปี ลูกสาวนายทัน บอกว่า เพิ่งมาช่วยครอบครัวทำนาได้ไม่ถึงปี และคงไม่กลับไปค้าขายที่จังหวัดสระบุรี แม้จะมีรายได้วันละพันบาทก็ตาม มั่นใจว่า ทำนาปรังเพียงแค่ 3 เดือน จะมีเงินเก็บมากกว่าค้าขาย อีกทั้งเป็นอาชีพอิสระ

1 ใน ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังในการลืมตาอ้าปากได้ ก็คือ การแห่ไถ่ถอนข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวปี 50/51 กันทุก ๆ พื้นที่ เฉพาะพิษณุโลก มีรายงานจากพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลกว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เกษตรกรไถ่ถอนข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวปี 50/51 ครบ 100% จำนวน 7,697 ตัน เพื่อนำข้าวออกขายตามราคาตลาดที่สูงกว่าราคำรับจำนำของภาครัฐ

โชว์รูม“รถไถ”เริ่มหรูเทียบขั้นโชว์รูมเก๋ง

พนังงานงานขายรถไถนา “คูโบต้า”ที่โพทะเล 1 ใน 3 สาขาของจังหวัดพิจิตร บอกว่า ช่วงนี้รถไถนาขายดี เพราะข้าวราคาดี นับจากนี้ยอดขายคิดว่าไม่มีปัญหา ชาวบ้านมีกำลังซื้อมากขึ้น หลังเปิดสาขาที่นี่จำหน่ายไปแล้ว 50-60 ตัว ล่าสุดเพิ่งนำ “คูโบต้า”ลงมาใหม่อีก 4 คัน คิดว่า อีกไม่นานก็คงขายหมด ปัจจุบันชาวนามีเงินสัก 6-8 หมื่นบาทก็วางดาวน์เพื่อออกรถไถ(34แรงม้า)คันละ 300,000 บาทเศษๆได้แล้ว ถ้าเป็นคันใหญ่(70แรงม้า) ก็ดาวน์แสนบาท เพื่อถอยรถไถป้ายแดงคันละ 800,000 บาทเศษพร้อมอุปกรณ์ได้

ขณะที่บริษัทสยามคูโบต้าอุตสาหกรรมจำกัด ที่จังหวัดนครสวรรค์ กำลังเร่งก่อสร้างโชว์รูมขนาดใหญ่ ก่อนถึงตัวเมืองนครสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนสายเอเชียนครสวรรค์-พิษณุโลก เทียบชั้นกับโชว์รูมรถเก๋ง รองรับกำลังซื้อของชาวนาที่เพิ่มขึ้นตามราคาข้าวเช่นกัน
นางราตรี บัญฑิต วัย 48 ปี ลูกสาวนายทัน
พ่อค้าจี้รัฐไทยตั้งเพดานราคาส่งออก
ยกระดับชาวนา-แทนทุ่มงบSML


อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของชาวนาไทย ดูเหมือนยังไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะยังต้องดูนโยบายรัฐบาล “สมัคร 1” ที่มี “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” นั่งเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ ซึ่งล่าสุดดูเหมือนจะยังจับทางไม่ถูก ว่า จะปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อสร้างรายได้จากการส่งออกข้าวให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือจะกดราคาข้าวภายในประเทศ จากนโยบาย “ข้าวธงฟ้า”เอาใจผู้บริโภค-ฐานเสียงทางการเมืองในประเทศ แต่อาจมีผลต่อราคาข้าวอย่างเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งล่าสุดยอมยกธง เลิกโครงการข้าวธงฟ้าไปแล้ว

ขณะที่หลายประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม และอินเดีย เลือกที่จะจำกัดปริมาณการส่งออกข้าว โดยเฉพาะอินเดีย ได้กำหนดเพดานราคาขายต่ำสุดไว้ที่ 650 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน หากต่ำกว่านี้ จะไม่ยอมขายข้าวออกนอกประเทศ

นายบุญต่อ มัตยะสุวรรณ ผู้จัดการ หสน.โรงสีไฟสิงหวัฒน์ เปิดเผยว่า ราคาข้าวเปลือกปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากความต้องการของตลาดโลก ไม่ใช่การเก็งกำไร ดูได้จากผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลก มีปริมาณทั้งหมด 20 ล้านตัน แบ่งเป็น ไทย 9 ล้านตัน เวียดนาม 4-5 ล้านตัน อินเดีย 3 ล้านตัน รวมประมาณ 16 ล้านตัน ที่เหลือเป็นผู้ส่งออกในประเทศเล็กๆ สรุปคือ ราคาข้าวที่ขึ้นเป็นผลจากความต้องการของผู้ซื้อในตลาดโลก

อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตพลังงาน ที่ทำให้มีความพยายามหันมาใช้พืชเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้ผลผลิตทดแทน เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี มันสำปะหลัง มีราคาปรับตัวขึ้นทุกตัว

“ปัญหาของข้าวไทยตอนนี้ก็คือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่ากัน อย่างปลายปีที่แล้ว ราคาข้าวที่อินเดียส่งออกที่ 500 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แต่ผู้ส่งออกไทยยังขายอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ล่าสุดผู้ส่งออกข้าวเองซึ่งประชุมเมื่อเร็วๆนี้ก็ยังไม่คาดคิดว่า ราคาข้าวจะขึ้นมาถึงระดับนี้ ช่วงที่ผ่านมาผู้ค้าข้าวทำสัญญาขายข้าวไปก่อน ทั้งที่ข้าวยังไม่เห็นปริมาณข้าวของจริง เพราะยังเชื่อกันว่าทุกเดือนมีนาคม ก็กว้านซื้อข้าวได้ แต่พอหันกลับมาดูอีกทีกลับพบว่า หาซื้อข้าวไม่ได้แล้ว แถมราคาปรับตัวขึ้นทุกสัปดาห์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ก่อตั้งโรงสีมา”

นายบุญต่อ กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเปลือกสดที่โรงสีรับซื้อจากชาวนา นำมาปรับปรุงเป็นข้าวแห้งแล้วสีเป็นข้าวสาร จะได้ผลผลิตข้าวขาวประมาณ 55-60% ที่เหลือขายเป็นข้าวท่อน ข้าวปลายและรำ ฉะนั้นราคาข้าวสารขยับขึ้นอยู่ในระดับ 20-22 บาทต่อกิโลกรัม (ตันละ 22,000 บาท) ถือว่าไม่สูง

“รัฐควรปล่อยให้ข้าวสูง เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้”

นายบุญต่อ ชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตข้าวนาปีที่ผ่านมา ชาวนาขายในราคาต่ำ กระทั่งวันนี้ขายข้าว 25-30%หรือข้าวสดในราคา 9,000-9,200 บาทต่อตัน(เกวียน) ซึ่งเป็นข้าวที่เกี่ยวโดยใช้เครื่องจักร ส่วนข้าวแห้ง 15% จะอยู่ในระดับ 10,500 บาทเศษขึ้นไป หากเป็นข้าวพันธุ์ชัยนาทจะบวกเพิ่ม 300-500 บาทต่อเกวียน ซึ่งต้นทุนของข้าวจะอยู่ที่ระดับ 5-6,000 บาท ดังนั้นชาวนาก็มีกำไรบ้าง แต่ไม่มากเพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพก็สูงขึ้นมาก่อนแล้ว

ดังนั้นควรปล่อยข้าวเปลือกให้มีราคาสูงขึ้นอย่างในปัจจุบันถือว่า ถูกต้องแล้ว และเป็นการดี เท่ากับว่า เงินกลับไปสู่ภาคเกษตร เพิ่มเม็ดเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งประเทศ เพื่อให้นำกำไรไปใช้สอยในชีวิตประจำวัน เท่ากับว่าเพิ่มเงินหมุนเวียนในตลาด เสมือนอัดเงินเม็ดเงินสู่ระบบ หรือเรียกกว่า กระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นที่ไปคลอดโครงการ SML ให้เปล่าประโยชน์ ซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างถาวร โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณกับโครงการประชานิยมต่างๆ และอย่าไปเตือนว่า ข้าวแพง เพราะประเทศญี่ปุ่นเขายังอุ้มชาวนา

“อนาคตราคาข้าวไทยคงไม่โอกาสตกต่ำไปถึงระดับ 7,000 บาท เหมือนปีที่ผ่านมาอีกแล้ว ไม่ว่าปริมาณผลผลิตของเวียดนามจะน้อยหรือมากเท่าไร เพราะต้นทุนการผลิตของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว เพียงแต่ปริมาณการส่งออกของเวียดนามและอินเดียสูง ก็ชะลอการปรับตัวขึ้นของราคาข้าวไทยเท่านั้น

เขาบอกอีกว่า เพียงแต่รัฐต้องจัดการหรือควบคุมการส่งออกให้เหมือนกับประเทศอินเดีย คือ ต่ำกว่า 650 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน อย่าขาย เพราะปัจจุบันนี้ ผู้ส่งออกจะขายข้าวราคาเท่าใดก็ได้ บางทีต้องขายถูกเพราะ ไม่รู้หรือกลัวไม่มีผู้ซื้อ ณ วันนี้ราคาข้าวที่ส่งออก ไม่มีราคากลาง มีแต่การคำนวณราคารับซื้อหรือคาดการณ์ผลผลิตปริมาณข้าวในประเทศเป็นหลัก

รัฐบาลควบคุมหรือกำหนดราคาส่งออกให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เช่น ข้าวหอมต่ำกว่า 900 เหรียญ ข้าวขาวต่ำกว่า 650 เหรียญ ห้ามขายออกนอกประเทศ และมั่นใจว่า ขณะที่ประเทศเวียดนามกำลังเก็บภาษีผู้ส่งออกข้าว หากรัฐควบคุมให้ข้าวราคาสูงขึ้นถาวร เชื่อว่าจะไม่กระทบกับการบริโภคของคนในประเทศ เพราะรัฐบาล สามารถนำข้าวในสต็อกมาช่วยผู้บริโภคในประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น