xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาชี้ข้าวแพงแต่ปุ๋ย-น้ำมันแพงหูฉี่ เผยค่าเช่านาขยับกว่าเท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ...ตีแผ่ชีวิตชาวนาไทยยุควิกฤตข้าว(1)

ผู้จัดการรายวัน –ตีแผ่ชีวิตชาวนายุคราคาข้าวแพง เผยพอลืมตาอ้าปากได้บ้าง แห่ไถ่ถอนข้าวในโครงการรับจำนำกันจ้าละหวั่นทุกพื้นที่ ระบุรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นำไปล้างหนี้เก่า วาดหวังจากนี้ไปชีวิตจะปลดแอกจากหนี้นอกระบบที่ขูดดอกเบี้ยโหดตั้งแต่ร้อยละ 3-20 ต่อเดือนได้ พร้อมเปิดใจยังผวากับราคาปุ๋ย-น้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว ชี้ราคาข้าวที่แพงทำให้เกิดการแย่งที่ทำนา แถมค่าเช่ายังขยับขึ้นกว่าเท่าตัว ด้านโรงสีจี้รัฐกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าวไทย การันตีรายได้เกษตรกร แทนทุ่มงบทำ SML-โครงการประชานิยม

ในห้วงที่ราคาข้าวในตลาดทั้งใน-ต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ จนเป็นที่คาดหวังกันว่า เกษตรกรชาวนาจะลืมตาอ้าปากกันได้ หลังจากที่หลายทศวรรษของการทำนาที่ผ่านมา มีแต่ทุนหาย-กำไรหด

นายประจวบ พวงเงิน อายุ 58 ปี เลขที่ 15/1 หมู่ 10 ต.วังวิทก อ.บางระกำ พิษณุโลก เปิดเผยว่า ทำนาทุกปีก็เพราะไม่รู้ทำอาชีพอะไร ที่ผ่านมาก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ ได้มาก็ใช้ไป ต้องเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) อยู่ทุกปีจะมีก็ปีนี้ที่ข้าวเปลือกราคาดี แต่ราคาปุ๋ยก็ปรับขึ้นถุงละเป็นพันบาทต่อ จากเดิมแค่ 400 บาทเท่านั้น

นายประจวบ บอกว่า มีที่นาอยู่ 50 ไร่เหลือเก็บเกี่ยวอีก 20 ไร่ก็หมดแล้ว ซึ่งเงินที่ได้จากขายข้าวมา 200,000 บาทก็ยังไม่เหลือจะต้องไปจ่ายหนี้ ธ.ก.ส.อีก หากจะทำนารอบใหม่ก็ต้องไปกู้ ธ.ก.ส.มาอีก หมุนเวียนกันไป ทำให้ไม่รู้ต้นทุนต่อไร่แน่นอน แต่ถ้าขายข้าวเกวียนละ 5-6,000 บาทเหมือนปีที่แล้ว ก็มีไม่เงินเหลือ เพราะทุกอย่างขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้เขตบางระกำไม่สามารถทำนาปีได้ น้ำท่วมทุกปี ฉะนั้นจะต้องมีค่าน้ำมันดีเซลสูบน้ำบาดาลมาทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง

ปีนี้ นับว่าดีหน่อย มีเงินที่เหลือจากชำระหนี้ ธ.ก.ส.เก็บไว้ในบัญชีส่วนหนึ่ง ส่วนเงินที่กู้จาก ธ.ก.ส.ก็ยังต้องกู้ต่อไป จะต้องสร้างเครดิตให้ดีสำหรับกู้เงินครั้งต่อไปด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ปี หากเงินขาดมือจะต้องเสียเงินนอกระบบร้อยละ 3 ต่อเดือนซึ่งไม่คุ้มกัน ฉะนั้นต้องกู้ ธ.ก.ส.ต่อ

"ส่วนจะชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น จะออกรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ก็หวังให้เป็นอย่างนั้น แต่วันนี้เงินที่ได้จากการทำนาก็ต้องเลี้ยงดูครอบครัวขนาดใหญ่อยู่ ยอมรับว่าพอมีเงินเหลือบ้าง พอมีฐานะกินเบียร์ไปพลางๆ รอรถเกี่ยวข้าว แต่ก็ยังต้องสูบยาเส้นอยู่”

เช่นเดียวกันกับนายวรรค์ อมูล ผู้ใหญ่บ้านห้วยแก้ว เลขที่ 249/3 ม. 1 ต.ห้วยแก้ว อ.บึงนาราง จ.พิจิตร บอกว่า นาที่น้ำเข้าถึง เดี๋ยวนี้ไม่มีให้ทำแล้ว กระแสราคาข้าวราคาพุ่ง ทำให้แย่งที่นากัน ทำให้ค่าเช่านาขยับขึ้นทันทีจาก 300 บาทเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นไร่ละ 500 บาทต่อ 1 ครั้งของการทำนา ล่าสุดปรับขึ้นไร่ 1,000 บาทต่อการทำนา 1 ครั้ง ซึ่งเจ้าของที่นาเป็นคนในพื้นที่ เช่น คนแก่หรือคนลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ไปกรีดยางภาคใต้ ทำให้ไม่มีใครทำนา ก็ปล่อยให้คนในหมู่บ้านเช่า สำหรับราคาที่นาจะขยับขึ้นหรือไม่นั้น คิดว่ามีบ้างจากไร่ละ 2 หมื่นเศษอาจขยับเป็นไร่ละ 3 หมื่นบาท

นายวรรค์ บอกว่า ส่วนตัวมีนาเป็นของตนเองร่วม 100 ไร่ ถือว่าฐานะดีกว่าคนอื่น แต่ก็ต้องกู้เงินจาก ธ.ก.ส.อยู่ดี เพราะต้องเอาเงินนับแสนมาหมุนเวียนทำนา ที่ผ่านาขายข้าวครั้งที่ผ่านมาเกวียนละ 11,000-12,000 บาทก็ไปปิดหนี้เก่าที่กู้มา หากได้เงินจากการปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่นี้ก็เข้าใจว่า จะมีเงินเหลือเก็บบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่จะได้ดีขึ้น

"แม้ข้าวราคาดีกว่าเดิมมากอย่างนี้ ก็ยังไม่เห็นชาวนาบึงนารางคนไหนถอยรถป้ายแดงออกมา ที่อื่นๆ ไม่รู้ แต่ที่นี่ส่วนใหญ่กำลังใช้หนี้เก่ากันหมด หลังจากนี้ทุกคนน่าจะสบายมากขึ้น ถ้าข้าวยังราคาดีอยู่อย่างนี้”

นายพายุ ศรีนวล เกษตรกรผู้ปลูกข้าว บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 9 ต.ท่าฉนวน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย บอกว่า ปีที่แล้วเขาขายข้าวได้เกวียนละ 5-6,000 บาท หักค่าน้ำมัน-ปุ๋ยแล้ว เหลือกำไรบ้างเล็กน้อย ปีนี้ (51) ราคาข้าวที่พึ่งขายไปเมื่อเดือนที่แล้ว 9,200 บาท/เกวียน เมื่อหักต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ทั้งน้ำมันและปุ๋ย ที่แต่เดิมใช้อยู่ที่ 3 พันกว่าบาท/ไร่ เป็น 5-6 พันบาท/ไร่ ก็ยังมีกำไรอยู่บ้าง

เช่น ปลูกข้าวนาปรัง 8-10 ไร่ (คำนวณผลผลิตตัวเลขกลมๆสูงสุด 100 ถังต่อไร่) จะขายข้าวได้ 80,000 บาท หักค่าปัจจัยการผลิตแล้วเหลือกำไรอยู่ 40,000 บาท ในเวลา 3 เดือน นำมาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว แต่คำว่า นาปรังที่นี่ก็ทำได้ครั้งเดียว ไม่เหมือนบางพื้นที่ ส่วนนาปีต้องเสี่ยงกับคำว่า น้ำท่วม ถ้าท่วมเมื่อไร ก็หมดตัวเมื่อนั้น ไม่เหลืออะไร ปีนี้ก็เพิ่งจะได้ดี แต่ก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย เพราะข้าวของทุกอย่างขึ้นมาแพงทั้งหมด

**ร้องรัฐช่วยด่วน-ชี้ปุ๋ย"โคตรแพง"

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เกษตรชาวนาทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้รัฐบาลช่วยลดราคาปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน และอยากเห็นราคาข้าวสัก 15,000 บาท

นายทัน ฉาวบุตร อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่ 9 ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า แม้ราคาข้าวเปลือกที่ปรับสูงขึ้น แต่ราคาปุ๋ย (ยูเรีย) ก็ขึ้นเกือบระดับ 900 บาทต่อถุง เขามีที่นาอยู่ 70 ไร่เก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงไม่ 10 ไร่เท่านั้น เพราะต้องขายไปตั้งแต่ไร่ละ 8,000 - 9,000 บาท/เกวียน ล่าสุดเพิ่งขายข้าวขาวพันธุ์ชัยนาทเกวียนละ 9,400 บาท ปัจจุบันกำลังหว่านกล้านาปรังรอบใหม่ประมาณ 17 ไร่ ลงทุนไปแล้วร่วม 2 หมื่นบาท

ปกติการทำนาไม่สามารถคำนวณต้นทุนข้าวต่อไร่ละเอียด เพราะต้องทำนาหมุนเวียนกับไปทุกปี ตัวเลขคร่าวๆ คือ ลงทุน 2 ส่วน ชาวนาได้ 1 ส่วน ต้นทุกหลักๆ ของการทำนาปรัง คือ น้ำมันดีเซลและปุ๋ย นอกจากนี้ในเขตวังพิกุล อ.วังทอง ทำนาปีไม่ได้ น้ำท่วมทุกปี ต้องทำนาปรัง แม้จะมีต้นทุนค่าสูงในการสูบน้ำบาดาลมาเลี้ยงข้าว แต่ก็ยังพอมีกำไร แต่ถ้าต้องไปเช่าที่ทำนา กำไรก็น้อยลง”

นายทัน บอกอีกว่า หลังจากที่ราคาข้าวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างนี้ตนหวังว่า การทำนารอบใหม่จะทำให้ลืมตาอ้าปากได้เสียที ล่าสุดลูกสาวที่ออกไปทำงานค้าขาย ได้กลับมาช่วยครอบครัวทำนา เพราะเห็นราคาข้าวดี โดยจะเรียกคืนผืนนาที่ให้เขาเช่าทำอยู่ในราคา 500 บาท/ไร่/ปี คืนมาทำเองด้วย รวมทั้งจะเน้นข้าวสายพันธุ์ข้าวที่ได้ราคา อย่างพันธุ์ชัยนาท ที่สามารถขายสูงว่าข้าวขาวปกติเกวียนละ 500 บาท เป็นต้น

"หากรัฐบาลต้องการช่วยชาวนาจริงๆ ก็ขอให้ช่วยหาทางลดราคาปุ๋ย เร่งรัดการขุดลอกคลองชลประทานเขื่อนแควน้อย ทำคลองซอย จาก อ.วัดโบสถ์ ไปยัง อ.วังทอง เพื่อให้การทำนาปรังครั้งต่อไปจะได้ไม่เสียต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลสูบน้ำบาดาล รวมทั้งสามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้งอย่างสบายๆ ด้วย ซึ่งเราก็หวังกันอยู่ว่า เมื่อราคาข้าวเพิ่มขึ้นอย่างนี้ จะช่วยให้ความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น พอได้กินน้ำปลาราคาแพงๆ อนาคตจะได้ก่อสร้างบ้านใหม่ได้”

นางราตรี บัญฑิต วัย 48 ปี ลูกสาวนายทัน บอกว่า เพิ่งมาช่วยครอบครัวทำนาได้ไม่ถึงปีและคงไม่กลับไปค้าขายที่ จ.สระบุรี แม้จะมีรายได้วันละพันบาทก็ตาม มั่นใจว่า ทำนาปรังเพียงแค่ 3 เดือน จะมีเงินเก็บมากกว่าค้าขาย อีกทั้งเป็นอาชีพอิสระ

1 ใน ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังในการลืมตาอ้าปากได้ ก็คือ การแห่ไถ่ถอนข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวปี 50/51 กันทุก ๆ พื้นที่ เฉพาะพิษณุโลก มีรายงานจากพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลกว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เกษตรกรไถ่ถอนข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวปี 50/51 ครบ 100% จำนวน 7,697 ตัน เพื่อนำข้าวออกขายตามราคาตลาดที่สูงกว่าราคำรับจำนำของภาครัฐ

**โชว์รูม"รถไถ"เริ่มหรูเทียบขั้นโชว์รูมเก๋ง
พนักงานงานขายรถไถนา "คูโบต้า”ที่โพทะเล 1 ใน 3 สาขาของ จ.พิจิตร บอกว่า ช่วงนี้รถไถนาขายดี เพราะข้าวราคาดี นับจากนี้ยอดขายคิดว่าไม่มีปัญหา ชาวบ้านมีกำลังซื้อมากขึ้น หลังเปิดสาขาที่นี่จำหน่ายไปแล้ว 50-60 ตัว ล่าสุดเพิ่งนำ"คูโบต้า”ลงมาใหม่อีก 4 คัน คิดว่า อีกไม่นานก็คงขายหมด ปัจจุบันชาวนามีเงินสัก 6-8 หมื่นบาทก็วางดาวน์เพื่อออกรถไถ(34แรงม้า)คันละ 300,000 บาทเศษๆได้แล้ว ถ้าเป็นคันใหญ่ (70แรงม้า) ก็ดาวน์แสนบาท เพื่อถอยรถไถป้ายแดงคันละ 800,000 บาทเศษพร้อมอุปกรณ์ได้

ขณะที่บริษัทสยามคูโบต้าอุตสาหกรรมจำกัด ที่ จ.นครสวรรค์ กำลังเร่งก่อสร้างโชว์รูมขนาดใหญ่ ก่อนถึงตัวเมืองนครสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนสายเอเชียนครสวรรค์-พิษณุโลก เทียบชั้นกับโชว์รูมรถเก๋ง รองรับกำลังซื้อของชาวนาที่เพิ่มขึ้นตามราคาข้าวเช่นกัน

**พ่อค้าจี้รัฐไทยตั้งเพดานราคาส่งออก
ยกระดับชาวนา-แทนทุ่มงบSML
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของชาวนาไทยดูเหมือนยังไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะยังต้องดูนโยบายรัฐบาล"สมัคร 1" ที่มีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ นั่งเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ ล่าสุดดูเหมือนจะยังจับทางไม่ถูกว่าจะปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อสร้างรายได้จากการส่งออกข้าวให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือจะกดราคาข้าวภายในประเทศจากนโยบาย "ข้าวธงฟ้า" เอาใจผู้บริโภคฐานเสียงทางการเมืองในประเทศ แต่อาจมีผลต่อราคาข้าวอย่างเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งล่าสุดยอมยกธงเลิกโครงการข้าวธงฟ้าไปแล้ว

ขณะที่หลายประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม และอินเดีย เลือกที่จะจำกัดปริมาณการส่งออกข้าว โดยเฉพาะอินเดีย ได้กำหนดเพดานราคาขายต่ำสุดไว้ที่ 650 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน หากต่ำกว่านี้ จะไม่ยอมขายข้าวออกนอกประเทศ

นายบุญต่อ มัตยะสุวรรณ ผู้จัดการ หสน.โรงสีไฟสิงหวัฒน์ เปิดเผยว่า ราคาข้าวเปลือกปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจากความต้องการของตลาดโลก ไม่ใช่การเก็งกำไร ดูได้จากผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลก มีปริมาณทั้งหมด 20 ล้านตัน แบ่งเป็น ไทย 9 ล้านตัน เวียดนาม 4-5 ล้านตัน อินเดีย 3 ล้านตัน รวมประมาณ 16 ล้านตัน ที่เหลือเป็นผู้ส่งออกในประเทศเล็กๆ สรุปคือ ราคาข้าวที่ขึ้นเป็นผลจากความต้องการของผู้ซื้อในตลาดโลก

อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตพลังงานที่ทำให้มีความพยายามหันมาใช้พืชเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้ผลผลิตทดแทน เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี มันสำปะหลัง มีราคาปรับตัวขึ้นทุกตัว

"ปัญหาของข้าวไทยตอนนี้ก็คือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่ากัน อย่างปลายปีที่แล้ว ราคาข้าวที่อินเดียส่งออกที่ 500 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แต่ผู้ส่งออกไทยยังขายอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ล่าสุดผู้ส่งออกข้าวเอง ซึ่งประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ยังไม่คาดคิดว่า ราคาข้าวจะขึ้นมาถึงระดับนี้ ช่วงที่ผ่านมาผู้ค้าข้าวทำสัญญาขายข้าวไปก่อน ทั้งที่ข้าวยังไม่เห็นปริมาณข้าวของจริง เพราะยังเชื่อกันว่าทุกเดือนมีนาคมก็กว้านซื้อข้าวได้ แต่พอหันกลับมาดูอีกทีกลับพบว่า หาซื้อข้าวไม่ได้แล้ว แถมราคาปรับตัวขึ้นทุกสัปดาห์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ก่อตั้งโรงสีมา”

นายบุญต่อ กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเปลือกสดที่โรงสีรับซื้อจากชาวนา นำมาปรับปรุงเป็นข้าวแห้งแล้วสีเป็นข้าวสารจะได้ผลผลิตข้าวขาวประมาณ 55-60% ที่เหลือขายเป็นข้าวท่อน ข้าวปลายและรำ ฉะนั้นราคาข้าวสารขยับขึ้นอยู่ในระดับ 20-22 บาทต่อกิโลกรัม (ตันละ 22,000 บาท) ถือว่าไม่สูง

นายบุญต่อ ชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตข้าวนาปีที่ผ่านมา ชาวนาขายในราคาต่ำ กระทั่งวันนี้ขายข้าว 25-30%หรือข้าวสดในราคา 9,000-9,200 บาทต่อตัน (เกวียน) ซึ่งเป็นข้าวที่เกี่ยวโดยใช้เครื่องจักร ส่วนข้าวแห้ง 15% จะอยู่ในระดับ 10,500 บาทเศษขึ้นไป หากเป็นข้าวพันธุ์ชัยนาทจะบวกเพิ่ม 300-500 บาทต่อเกวียน ซึ่งต้นทุนของข้าวจะอยู่ที่ระดับ 5-6,000 บาท ดังนั้นชาวนาก็มีกำไรบ้าง แต่ไม่มากเพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพก็สูงขึ้นมาก่อนแล้ว

ดังนั้น ควรปล่อยข้าวเปลือกให้มีราคาสูงขึ้นอย่างในปัจจุบันถือว่า ถูกต้องแล้วและเป็นการดี เท่ากับว่า เงินกลับไปสู่ภาคเกษตร เพิ่มเม็ดเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งประเทศ เพื่อให้นำกำไรไปใช้สอยในชีวิตประจำวัน เท่ากับว่าเพิ่มเงินหมุนเวียนในตลาด เสมือนอัดเงินเม็ดเงินสู่ระบบ หรือเรียกกว่า กระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นที่ไปคลอดโครงการ SML ให้เปล่าประโยชน์ ซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างถาวร โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณกับโครงการประชานิยมต่างๆ และอย่าไปเตือนว่า ข้าวแพง เพราะประเทศญี่ปุ่นเขายังอุ้มชาวนา

"อนาคตราคาข้าวไทยคงไม่โอกาสตกต่ำไปถึงระดับ 7,000 บาท เหมือนปีที่ผ่านมาอีกแล้ว ไม่ว่าปริมาณผลผลิตของเวียดนามจะน้อยหรือมากเท่าไร เพราะต้นทุนการผลิตของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว เพียงแต่ปริมาณการส่งออกของเวียดนามและอินเดียสูง ก็ชะลอการปรับตัวขึ้นของราคาข้าวไทยเท่านั้น"

นายบุญต่อ บอกอีกว่า เพียงแต่รัฐต้องจัดการหรือควบคุมการส่งออกให้เหมือนกับประเทศอินเดีย คือ ต่ำกว่า 650 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน อย่าขาย เพราะปัจจุบันนี้ ผู้ส่งออกจะขายข้าวราคาเท่าใดก็ได้ บางทีต้องขายถูกเพราะ ไม่รู้หรือกลัวไม่มีผู้ซื้อ ณ วันนี้ราคาข้าวที่ส่งออก ไม่มีราคากลาง มีแต่การคำนวณราคารับซื้อหรือคาดการณ์ผลผลิตปริมาณข้าวในประเทศเป็นหลัก

รัฐบาลควบคุมหรือกำหนดราคาส่งออกให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เช่น ข้าวหอมต่ำกว่า 900 เหรียญ ข้าวขาวต่ำกว่า 650 เหรียญ ห้ามขายออกนอกประเทศ และมั่นใจว่า ขณะที่ประเทศเวียดนามกำลังเก็บภาษีผู้ส่งออกข้าว หากรัฐควบคุมให้ข้าวราคาสูงขึ้นถาวร เชื่อว่าจะไม่กระทบกับการบริโภคของคนในประเทศ เพราะรัฐบาล สามารถนำข้าวในสต็อกมาช่วยผู้บริโภคในประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น